การอยู่รอดของภาพยนตร์ไทยปี พ.ศ. 2484 เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง และสุนทรียะที่อยู่เหนือกาลเวลาจนทำให้ผู้ชมเกิดสภาวะดวงตาเห็นธรรม
---------
*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารหนัง: ไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544
มัชฌิมทัศน์ : ย้อนรอย
ข้าพเจ้าได้ยินได้รู้เรื่องภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ครั้งแรก จากข้อเขียนของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็นทูตหรือสารถีนำ พระเจ้าช้างเผือก กลับมาสู่คนรุ่นใหม่ หลังจากที่ท่านเขียนบทความเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับ พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2515 ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า ได้บังเอิญเคยเห็นภาพยนตร์เรื่องนี้บางฉากสั้น ๆ แวบหนึ่ง เป็นฉากกองทัพช้างเข้าสัปประยุทธกัน ดูเหมือนจะในรายการกองทัพไทย ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 7 ขาวดำ เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกทึ่ง และจำภาพติดตา ต่อมาจึงมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก เมื่อ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นำมาจัดฉายสู่สาธารณชนที่สยามสมาคม เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2523 เก็บค่าชมสูงถึง 60 บาท มี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มาเป็นผู้แนะนำภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ และโชว์ตัวผู้แสดงเป็นพระเอก นางเอกด้วย ปรากฏว่ามีผู้เข้าชมเต็มแน่น ต้องเพิ่มรอบฉายอีกรอบหนึ่ง เมื่อได้ชมครั้งแรกข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก และรู้สึกทึ่ง เพราะนึกไม่ถึงว่าจะมีหนังไทยที่ถ่ายทำได้ถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะการถ่ายฉากกองทัพช้างออกศึก ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการถ่ายช้างที่สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกทีเดียว จึงเลยดูเสียอีกรอบหนึ่งทันที
แต่นอกเหนือจากความตื่นตาตื่นใจแล้ว ข้าพเจ้ายังรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแสดง ที่ดูแข็งเป็นกลไก และการเจรจาเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นว่า พระเจ้าช้างเผือก ไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์ ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าเชื่อถือหรือเลื่อมใสในข้อเท็จจริงเลย แต่ในเวลาสิบปีต่อมา เมื่อได้อ่านหนังสือ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งมีการตีพิมพ์ใหม่และมีฉบับแปลเป็นภาษาไทยด้วย จึงเริ่มเข้าใจและเข้าถึงจิตวิญญาณของ พระเจ้าช้างเผือก
ลิขสิทธิ์กับการอยู่รอด
เมื่อข้าพเจ้าทำหอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้คิดอยู่เสมอว่า หอภาพยนตร์แห่งชาติ มีหน้าที่จะต้องแสวงหาฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก มาอนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นมรดกภาพยนตร์เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของชาติ เราทราบว่า แผนกภาพยนตร์และเสียงของหอสมุดรัฐสภา สหรัฐอเมริกา มีฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ มีความยาวถึง 100 นาที ซึ่งนับว่าสมบูรณ์เต็มเรื่องกว่าฉบับที่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ นำมาจัดฉายที่สยามสมาคม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนเล่าไว้ว่า เป็นฉบับที่ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ค้นพบก๊อปปี้เก่ามาก๊อปปี้หนึ่งจากสถานทูตไทยในประเทศสวีเดน แล้วนำมาตัดต่อใหม่ให้เหลือเพียงหนึ่งชั่วโมงและพิมพ์ย่อเป็นฟิล์ม 16 มิลลิเมตร สำหรับฉายให้คนไทยและนักเรียนไทยได้ชมกันที่ปารีส โดยอาจารย์ชาญวิทย์ ได้ดูเมื่อปี พ.ศ. 2515
เหตุใดสถานทูตไทยในสวีเดนจึงมีฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ไปตกค้างอยู่ 1 สำเนา ประเด็นนี้ดูจะสอดคล้องกับข้อเขียนของ จรัญ วุธาทิตย์ นักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์รุ่นเก่าแก่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ได้เขียนไว้ในวารสาร “ภาพยนตร์สาร” ฉบับ 22 มีนาคม พ.ศ. 2484 ว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก โดยตอนหนึ่งระบุว่า นายปรีดี พนมยงค์ ผู้แต่งเรื่องได้เริ่มเตรียมการแต่งเรื่องไว้ตั้งแต่ 2-3 ปีมานี้ โดยมีความประสงค์ที่จะส่งเรื่องไปประกวดรางวัลสันติภาพ เพื่อรางวัลโนเบิล (Noble Prize For Peace) ซึ่งรางวัลชนิดนี้ รัฐบุรุษยุโรปหรืออเมริกาเป็นผู้ได้รับเป็นส่วนมาก ดังเช่น ท่านวูดโร วิลสัน ท่านแชมเบอร์เลน ท่านเคลลอก แต่ในทางตะวันออกไกลนี้ยังหามีผู้ใดได้รับไม่... โดยส่งหนังสือและภาพยนตร์ไปที่กรุงสตอล์กโฮล์ม ประเทศสวีเดน เจ้าของรางวัล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484
ส่วนเหตุที่หอสมุดคองเกรสมีฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเพราะ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2483 ซึ่งตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องจัดส่งสำเนาของงานที่จดทะเบียน 1 ชุดไปเก็บไว้เป็นหลักฐานที่หอสมุดคองเกรส ซึ่งท่านก็คงส่งฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ก๊อปปี้หนึ่ง เป็นฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ไปให้หอสมุดคองเกรส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 แต่ต่อมาฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าว คงจะเสื่อมสภาพเพราะเป็นฟิล์มที่เรียกว่า ไนเตรทฟิล์ม ซึ่งไม่คงสภาพ เพราะมีอายุขัยประมาณ 50–70 ปี วิธีที่จะรักษาได้มีทางเดียว คือการพิมพ์ถ่ายทอดลงบนฟิล์มใหม่ที่เป็นฟิล์มนิรภัย น่าขอบคุณที่หอสมุดคองเกรส ยังเห็นค่าของภาพยนตร์นี้ จึงตกลงพิมพ์ถ่ายทอดเอาไว้ แล้วทำลายฟิล์ม 35 เดิมทิ้งไป แต่หอสมุดฯ เลือกที่จะพิมพ์ถ่ายทอดลงเป็นฟิล์มเล็ก 16 มิลลิเมตร ซึ่งคงเป็นเพราะเห็นว่าประหยัดค่าใช้จ่ายและเปลืองเนื้อที่เก็บน้อยลง และคงเห็นว่าไม่ใช่ฟิล์มสำคัญนักสำหรับประเทศเขา คงเป็นเพราะความเป็นปราชญ์ทางกฎหมายนั่นเอง นายปรีดี พนมยงค์ จึงจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สหรัฐอเมริกา และเพราะลิขสิทธิ์นี้เองที่ทำให้ พระเจ้าช้างเผือก รอดชีวิตมาถึงวันนี้
ข้าพเจ้าพยายามติดต่อขอทำสำเนาฟิล์ม พระเจ้าช้างเผือก จากหอสมุดคองเกรส ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่แผนกภาพยนตร์และเสียงของหอสมุดคองเกรส แต่ก็ไม่ง่ายดังที่คิด เวลาผ่านเลยไปหลายปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 หอภาพยนตร์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น ได้ติดต่อแจ้งมาว่า เขามีโครงการจะเก็บสะสมภาพยนตร์คลาสสิคของประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ขอให้ข้าพเจ้าแนะนำภาพยนตร์คลาสสิคของไทยที่เขาควรจะเก็บด้วยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง หนึ่งในภาพยนตร์ที่ข้าพเจ้าแนะนำคือ พระเจ้าช้างเผือก และแจ้งเขาว่าหอภาพยนตร์แห่งชาติของไทยไม่มีฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ ขอให้เขาติดต่อทำสำเนาจากหอสมุดคองเกรส ซึ่งหอภาพยนตร์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นได้ตกลงรับคำแนะนำ แต่เนื่องจากเวลานั้นลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ยังไม่หมดอายุ คือนับ 50 ปี จากวันแรกฉาย หรือวันจดทะเบียนในกรณีของสหรัฐอเมริกา คงยังเหลืออีกราวหนึ่งปี ทางญี่ปุ่นได้ขอให้ข้าพเจ้าช่วยประสานการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ซึ่งท่านก็ยินดีอนุญาตให้หอภาพยนตร์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นทำสำเนาได้ ข้าพเจ้าเสนอทางญี่ปุ่นว่า หากเป็นไปได้อยากให้เขาทำสั่งทำสองสำเนา เผื่อหอภาพยนตร์แห่งชาติของไทยสักสำเนาหนึ่ง แล้วการติดต่อก็เงียบหายไป จนลืมไปแล้ว
สองปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2536 จู่ ๆ ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากหอภาพยนตร์แห่งชาติของญี่ปุ่นว่า เขาได้สั่งทำสำเนา พระเจ้าช้างเผือก จากหอสมุดคองเกรส 2 สำเนา จะให้เป็นของขวัญแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติของไทย 1 สำเนา ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปรับฟิล์มที่โตเกียวและเป็นผู้แนะนำภาพยนตร์นี้ ซึ่งเขาจะจัดฉายให้สาธารณชนชมด้วย นับเป็นการจัดฉาย พระเจ้าช้างเผือก เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น
ภาพ : ปรีดี พนมยงค์ ในกองถ่าย พระเจ้าช้างเผือก
เห็นธรรม
เมื่อข้าพเจ้าได้ดู พระเจ้าช้างเผือก อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางผู้ชมชาวญี่ปุ่นเต็มห้องฉายเล็ก ๆ ในศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กรุงโตเกียว ข้าพเจ้าเริ่มมองเห็นความยิ่งใหญ่เล็ก ๆ เรื่องนี้ มองทะลุความเคอะเขินของการแสดงที่เคยเห็นว่าเป็นกลไก ไปเห็นความงดงามอย่างนาฏลักษณ์ ได้ยินและได้เห็นเสียงดนตรีวิเศษ ที่ร้อยประสานจังหวะและอารมณ์กับภาพถ่ายขาวดำอันงามละเอียด แต่เหนืออื่นใด ข้าพเจ้าได้ประจักษ์แรงดลใจอันใหญ่หลวงและบริสุทธิ์แห่งเจตนารมณ์อุดมคติของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เจตนารมณ์ของการยืนหยัดประกาศแนวคิด ขันติธรรมและสันติธรรมแก่มนุษยชาติ เป็นการประกาศอย่างตรงไปตรงมา อย่างซื่อสัตย์ สุจริตและสุดใจ จึงขอถ่ายทอดความรู้สึกที่ซาบซึ้งเมื่อเห็นธรรมในภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เท่าที่สติปัญญาข้าพเจ้าพอจะเสนอได้ ดังนี้
ว่าด้วยเรื่องหรือบท หนแรกที่ดูข้าพเจ้าเคยรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่า เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่สมจริงไม่สมเหตุสมผล แต่คราวนี้กลับเห็นว่า เป็นการแต่งเรื่อง โดยยืมเหตุการณ์อย่างน้อยสองกรณีใหญ่ในวิชาประวัติศาสตร์ไทยสำหรับเด็กนักเรียน คือ สงครามช้างเผือกและสงครามยุทธหัตถี มารวมกันเข้าเป็นเรื่องเดียว เพื่อนำเสนอความรู้และสอนให้คิดใหม่ พระเจ้าช้างเผือก จึงเป็นเรื่องแต่งแบบนิยายหรือที่ถูกน่าจะเป็นเทพนิยายหรือนิทานสอนใจสำหรับยุวชน โครงเรื่องจึงดำเนินไปอย่างเรียบง่าย เรียงเป็นลำดับไปตามปกติ ตรงไปตรงมา ดำเนินเรื่องไปได้ด้วยลูกโซ่ของสาเหตุและผลตามแบบฉบับหรือธรรมเนียมของการทำบทภาพยนตร์ฮอลลีวูด มีฉากเปิดเรื่อง คือ ท้องพระโรง กรุงอโยธยา เปิดตัวเอก พระเจ้าจักราหรือพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งทำหน้าที่เปิดประเด็นหลักของเรื่อง คือ พระเจ้าแผ่นดินหนุ่ม ซึ่งตั้งมั่นอยู่ในธรรม ไม่สนพระทัยในราชประเพณีที่ฟุ้งเฟ้อและรุงรังล้าสมัย เช่น การมีสนมมากถึง 365 นาง ทรงใฝ่พระทัยในการบำรุงความสุขแก่ราษฎรมากกว่าความสุขส่วนพระองค์ เมื่อได้ทรงทราบข่าวว่าราชอาณาจักรเพื่อนบ้านของพระองค์ คือกรุงหงสาทำสัญญาพันธมิตรกับกษัตริย์โมกุลผู้นิยมแผ่อำนาจรุกรานอาณาจักรอื่นไปทั่ว ทรงเกรงว่ากรุงอโยธยากำลังจะถูกพระเจ้าหงสารุกราน ทรงมีหน้าที่ต้องปกป้องราษฎรของพระองค์ จึงทรงปฏิเสธสมุหราชมณเฑียรซึ่งพยายามยัดเยียดให้ทรงเลือกนางสนม โดยเฉพาะธิดาของตน และในฉากสุดท้ายเมื่อเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง คือการทำสงครามที่เป็นธรรม เพื่อต่อต้านพระเจ้าหงสาที่ยกทัพมารุกรานบ้านเมืองของพระองค์ จนได้ชัยชนะและทรงประกาศหลักขันติธรรมและสันติภาพในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์แล้ว ภาพยนตร์ก็ปิดเรื่องด้วยฉากสุดท้าย ภายนอก หน้าพระราชวัง ท่ามกลางการเฝ้าแหนของราชสำนัก สมุหราชมณเฑียรทวงให้ทรงรักษาธรรมเนียมราชประเพณีอีก ทรงปฏิเสธอีก แต่ธิดาสาวสวยของสมุหราชมณเฑียรได้เพ็ดทูล ถึงวิธีที่จะแก้ไขราชประเพณี จึงทรงเห็นว่านางผู้นี้ช่างฉลาดและน่ารัก ฉลาดกว่าสมุหราชมณเฑียรผู้เป็นบิดา จึงทรงเลือกนางเป็นมเหสี ชวนเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชมณเฑียรอย่างแสนเปรมปรีดิ์ เป็นฉากอวสานสุข เพื่อปิดเรื่องอย่างลงเอยสมบูรณ์ ตามแบบฉบับฮอลลีวูดคลาสสิคนั่นเอง
อ่านตอนอื่น ๆ ได้ที่