เบื้องหลังงานสร้าง พระเจ้าช้างเผือก ภาพยนตร์ไทย ปี พ.ศ. 2484 ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่เต็มไปด้วยทีมงานระดับบุคคลสำคัญของประเทศ ทั้ง ประสาท สุขุม ตากล้องผู้เป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (A.S.C.) และ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) อาจารย์ใหญ่ทางวิชาดนตรีสากลของสยาม
---------
โดย “ข้าพเจ้าเอง”
*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารหนัง: ไทย ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2544
ผู้กำกับการแสดง
ในกรณีของหนังสือหรือวรรณกรรม ผู้ประพันธ์ คือ เจ้าของงานเสมอ ไม่ว่าวรรณกรรมนั้นจะกลายอยู่ในลักษณะใด เช่น บทละคร ผู้แต่งบทละครก็คือเจ้าของงาน แม้เมื่อนำไปเล่นหรือแสดงบนเวที ผู้กำกับการแสดง คงเป็นเพียงผู้ตีความหรือผู้นำเสนอ เพราะเนื้อหาสำคัญของละครยังอยู่ที่บทเจรจา ซึ่งเป็นภาษาของการพูดหรือเขียน ผู้รับยังคงต้องใช้การฟังเป็นใหญ่
หรือกรณีของงานคีตกรรม ผู้ประพันธ์เพลง คือ เจ้าของงานเสมอ หากมีการนำไปเล่นหรือแสดง นักดนตรีคือผู้ตีความ ผู้ควบคุมวงหรือวาทยกรก็คล้ายกับผู้กำกับการแสดง คือ ทำหน้าที่ตีความและนำเสนอ
แต่ในกรณีของภาพยนตร์ แม้ภาพยนตร์นั้นทำขึ้นจากบทภาพยนตร์หรือจากวรรณกรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นผู้ตีความหรือนำเสนอวรรณกรรมมาเป็นภาพยนตร์ มักได้รับการนับถือให้เป็นเจ้าของงานภาพยนตร์ทีเดียว นี้อาจเป็นเพราะว่าการนำเสนอเป็นภาพยนตร์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากภาษาวรรณกรรมไปเป็นภาษาของภาพยนตร์โดยเฉพาะ คือ ผู้รับมิได้อาศัยการฟังบทเจรจาเป็นใหญ่ แต่ต้องดูภาพ ฟังเสียงและติดตามการตัดต่อซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเล่าเรื่อง สรุปว่าเป็นภาษาของภาพยนตร์เอง และโดยปกติผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ จะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดควบคุมภาษาของภาพยนตร์ที่ว่านี้ จึงได้รับการนับถือเป็นเจ้าของงาน
แต่บทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์นี้ ในความเป็นจริงเราย่อมอาจพิจารณาได้เป็นกรณีไป เช่น กรณีของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ คือ สัณห์ วสุธาร ผู้ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันเลยในวงการภาพยนตร์ เพราะท่านมิได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อาชีพ และตลอดชีวิตท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไว้เพียงเรื่องเดียว คือ พระเจ้าช้างเผือก
จึงน่าสนใจใคร่รู้ว่าเหตุใด นายปรีดี พนมยงค์ ผู้อำนวยการสร้างจึงเลือก สัณห์ วสุธาร มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ในขณะที่ตำแหน่งอื่นที่สำคัญ เช่น ผู้กำกับการถ่ายภาพ ผู้ตัดต่อ ผู้บันทึกเสียง ผู้กำกับดนตรี ล้วนเป็นมืออาชีพทั้งนั้น
เหตุใดผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ซึ่งปกติถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญสูงสุดในการสื่อภาษาของภาพยนตร์ จึงเป็นมือสมัครเล่น
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยเล่าให้ข้าพเจ้าว่า เหตุที่ สัณห์ วสุธาร เข้ามาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์นี้ เพราะ ประสาท สุขุม ผู้กำกับการถ่ายภาพเป็นผู้แนะนำมา ทั้งสองเป็นเพื่อนเกลอกันมาแต่ครั้งไปร่ำเรียนวิชาที่สหรัฐอเมริกา
ต่อมาข้าพเจ้าได้พบ ลำยอง วสุธาร บุตรชายคนเดียวของสัณห์ วสุธาร ได้เล่าว่าบิดาไปเรียนวิชาแพทย์ที่อเมริกาและอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของเจ้าฟ้ามหิดล แต่สุขภาพไม่ดีจึงเรียนไม่จบ และไม่ทราบว่าบิดาเรียนวิชาอื่นใดอีก แต่เมื่อกลับมาแล้ว ได้เข้าทำงานกรมสาธารณสุขแล้วทำโรงไฟฟ้าหลวง ก่อนจะไปเป็นหัวหน้ากองคลัง กรมโยธาธิการ คุณลำยองเล่าว่า บิดาชอบเล่นเครื่องไฟฟ้า เครื่องเสียง และเล่าว่ามีอุปนิสัยเป็นคนคุยสนุก ชอบเล่าเรื่องสนุกขบขัน ชอบงานสังคม มีเพื่อนฝูงเป็นอันมาก และชอบการแสดง มักเล่นละครการกุศลของสมาคมนักเรียนเก่าอเมริกา โด่งดังในบทตลกเจ๊ก คู่กับประสาท สุขุม ซึ่งเล่นบทคนบ้านนอก
ข้าพเจ้าเดาว่า สมัยที่ สัณห์ วสุธาร ร่ำเรียนอยู่ที่อเมริกา เป็นเกลอกับประสาท สุขุม ทั้งยังอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของเจ้าฟ้ามหิดลด้วยกัน เมื่อประสาท สุขุมไปเข้าเรียนและฝึกงานการถ่ายภาพยนตร์อยู่ในโรงถ่ายพาราเมาท์ ที่ฮอลลีวูด ประสาทคงจะชวน สัณห์ เข้าไปคลุกคลีอยู่ในวงการภาพยนตร์บ้างเป็นแน่ และเมื่อได้เห็นรูปถ่ายของสัณห์ วสุธาร ในวัยรุ่นหนุ่มอันหล่อเหลา อยากจะคิดว่า บางทีสัณห์ วสุธาร อาจได้เคยเป็นตัวแสดงในหนังฮอลลีวูดมาบ้างก็เป็นได้ คุณลำยองยังเล่าว่า บิดาคุยเสมอว่าเป็นเพื่อนกับ ยอห์นนี่ ไวส์ มุนเลอร์ ดาราทาร์ซาน เป็นต้น
ดังนั้น นอกจากความเป็นเกลอแล้ว คงจะเป็นด้วยมีน้ำใจรักการแสดงและนิยมการแสดง ประสาท สุขุม จึงแนะนำ สัณห์ วสุธาร มาเป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ทั้งนี้นอกเหนือไปจากความสามารถใช้ภาษาอังกฤษ อันจำเป็นสำหรับหนังที่พูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่องนี้ และที่สำคัญ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้างภาพยนตร์ตกลงรับ
แต่น่าสังเกตว่า ยังมีผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงอีกสองท่าน คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และ ใจ สุวรรณทัต โดยเฉพาะหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หรือ ประดิษฐ์ สุขุม น้องชายของประสาท สุขุม ซึ่งเคยไปร่ำเรียนในอเมริกา และมีความสามารถโดดเด่นรอบตัว ทั้งด้านสังคม กีฬา และดนตรี นับเป็นดาราของมหาวิทยาลัย
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประสาท สุขุม กับ สัณห์ วสุธาร คงมีรสนิยมหรือทัศนะทางด้านภาพยนตร์เข้ากันได้หรือไปด้วยกันได้ และน่าจะเป็นรสนิยมไปในทางฮอลลีวูด
แต่เฉพาะกรณีของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง เป็นผู้อำนวยการสร้าง และเป็นผู้ควบคุมการผลิต และเหนืออื่นใด เพราะท่านเป็น นายปรีดี พนมยงค์ จึงไม่น่าสงสัยว่าบทบาทของท่านก็คือเจ้าของงานของภาพยนตร์นี้โดยดุษฎี และจากหลักฐานภาพถ่ายเบื้องหลังการถ่ายทำก็ดี จากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องในการถ่ายทำก็ดี เห็นได้ชัดว่าท่านผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่กำกับการเกือบทุกอย่างจริง ๆ และท่านควบคุมอยู่แทบทุกฉากที่ถ่ายทำ
การที่ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เป็นการผสานระหว่างสองทฤษฎี คือสมจริงแบบฮอลลีวูดและสมมติแบบไทย ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะอยู่ภายใต้การควบคุมเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเพราะการไปเรียนนอกส่วนหนึ่ง และสายเลือดข้างในส่วนหนึ่ง
แต่หากกรองหยาบ ๆ เพื่อตรวจดูการกำกับการแสดงของสัณห์ วสุธาร ที่ตกอยู่ในภาพยนตร์นี้ อาจเป็นได้ว่า มุขตลกและอารมณ์ขันในหนังคือส่วนที่เป็นตัวตนของสัณห์ วสุธาร ไม่มากก็น้อย
น่าสังเกตว่า การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ ร่วมงานเป็นผู้กำกับเฉพาะทางและเป็นที่ปรึกษา เช่น วงศ์ แสนศิริพันธ์ เป็นผู้กำกับการโขลงช้าง พระยาเทวาธิราช เป็นที่ปรึกษาด้านพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะท่านหลังนี้นับเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องพระราชพิธีและพระราชสำนักโดยตรง แต่เราจะเห็นว่าระเบียบพิธีการต่าง ๆ ในราชสำนักเมื่อปรากฏในภาพยนตร์ มิใช่เป็นการติ๊งต่างเท่านั้น แต่เป็นการกลายกลืนเป็นธรรมเนียมออกฝรั่ง เช่นการยืนเข้าเฝ้าก็ดี การปรบมือก็ดี พระราชพิธีและการแต่งกายเหล่านี้จึงอยู่ในท่วงทำนองที่เรียกว่าพอเป็นพิธี และไม่ถือความสมจริง
ภาพ
การถ่ายภาพและการตัดต่อภาพ เป็นส่วนที่โดดเด่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก แม้แต่นักแนะนำภาพยนตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของฝรั่งอย่างน้อยสองราย ซึ่งเขียนถึงเมื่อได้ดู พระเจ้าช้างเผือก ที่ออกฉายที่นิวยอร์กในวันเปิดรอบปฐมทัศน์โลก 4 เมษายน พ.ศ. 2484 ทั้งคู่ต่างเขียนเยาะหยันว่า พระเจ้าช้างเผือก ช่างเป็นหนังที่ได้แต่พยายามลอกเลียนแบบฮอลลีวูดอย่างป่วยการ และนอกจากการเป็นหนังเสียงซึ่งพอจะถือได้ว่าทันสมัยแล้ว นอกนั้นนับเป็นหนังที่ล้าหลังหรือถอยหลังไปสัก 25 ปีของสมัยนั้น รายหนึ่งเขียนหยันว่าการแสดงใน พระเจ้าช้างเผือก เป็นการแสดงที่ล้นหรือเกินปกติที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย อีกรายหนึ่งติว่า ไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้สร้างจึงเอาเรื่องราวธรรมดาของความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์โบราณสององค์ องค์หนึ่งรักช้างและรักสันติ อีกองค์ก้าวร้าวกักขฬะ แล้วมาแต่งเติมให้มีการไล่ล่าและต่อสู้กันเลียนแบบหนังคาวบอย เพียงแต่ขี่ช้างแทนม้า ลงท้ายก็สรุปว่าจัดเป็นหนังระดับทำเล่นในบ้าน โดยพวกเด็ก ๆ ที่แก่แดด แต่ก็ต้องยอมรับอย่างน่าทึ่งว่า การถ่ายภาพและจัดแสงทำได้ดี
เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อเขียนเหล่านั้น แรกก็รู้สึกขึ้ง แต่แล้วก็รู้สึกขำ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในทุกอย่าง อย่างเช่นเรื่องการถ่ายภาพและจัดแสง เห็นด้วยว่าทำได้ดี แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ใช่ดีแต่ดีมาก และดีเลิศ โดยเฉพาะการถ่ายช้าง นี่คือ ภาพยนตร์ที่ถ่ายช้างได้งามวิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก
ประสาท สุขุม ตากล้องผู้อำนวยการถ่ายทำหรือกำกับภาพเรื่องนี้ คือ ตากล้องถ่ายภาพยนตร์ระดับมืออาชีพ และระดับสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer : A.S.C.) ซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวในประเทศไทย ท่านผู้นี้ได้ไปเรียนและฝึกงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงถ่ายภาพยนตร์พาราเมาท์ที่ฮอลลีวูดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 รุ่นเดียวกับ เจมส์ หว่อง โห ตากล้องชาวจีนที่ไปโด่งดังอยู่ในฮอลลีวูด และไปดูงานเพิ่มเติมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2480 เพื่อติดตามให้ทันความก้าวหน้าของวงการ ก่อนจะกลับมาทำหน้าที่เป็นตากล้องของโรงถ่ายไทยฟิล์ม ทุ่งมหาเมฆ ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงถ่าย ปี 2481 จนปิดกิจการเมื่อ 2483 และในช่วงเวลาที่โรงถ่ายไทยฟิล์มว่างงานนี้เอง นายปรีดี พนมยงค์ได้สร้าง พระเจ้าช้างเผือก ขึ้นโดยอาศัยโรงถ่ายอุปกรณ์ และบุคลากรของไทยฟิล์มเป็นฐานสำคัญ นั่นคือได้ ประสาท สุขุม เป็นผู้อำนวยการถ่ายภาพ ชาญ บุนนาค เป็นผู้บันทึกเสียง ซึ่งท่านผู้นี้เป็นช่างบันทึกเสียงของไทยฟิล์ม และเคยไปดูงานการบันทึกเสียงที่ฮอลลีวูดพร้อมกับประสาท สุขุม เมื่อปีพ.ศ. 2480 ได้ บำรุง แนวพานิช เป็นผู้ตัดต่อ ท่านผู้นี้เป็นช่างตัดต่อผู้มีความชำนาญสูงของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นผู้ก่อตั้งโรงถ่าย น.น.ภาพยนตร์ มาก่อนหน้านี้หลายปี ได้ สัณห์ วสุธาร นักเรียนเก่าอเมริกา ผู้เป็นสหายของประสาท สุขุม มาเป็นผู้กำกับการแสดง มี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งโรงถ่ายไทยฟิล์ม นักเรียนเก่าอเมริกา ผู้สามารถในทางกีฬา การแสดงและดนตรีกับ ใจ สุวรรณทัต มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดท่านหนึ่งคือ พระเจนดุริยางค์ ครูใหญ่ทางดนตรีสากลของสยาม แห่งกรมศิลปากร มาเป็นผู้กำกับดนตรี
สรุปความว่า พระเจ้าช้างเผือก ได้รวมเอาบุคลากรชั้นเอกในด้านต่าง ๆ ของชาติมาร่วมทำงานครั้งนั้น และเหตุที่ต้องระดมบุคลากรเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า ท่านผู้สร้างต้องการความเป็นเลิศทางผลงาน เพื่อเสนอสู่โลกได้อย่างไม่อายใคร
ความโดดเด่นของการถ่ายภาพยนตร์โดยประสาท สุขุม ซึ่งใครปฏิเสธไม่ได้นั้น ขอยกตัวอย่างที่ประจักษ์ได้ชัด อย่างหนึ่งคือการถ่ายใกล้ผู้แสดงที่เรียกว่าถ่ายโคลสอัป ซึ่งต้องจัดแสงหรือเลือกมุมของแสงเงาให้เหมาะ โดยเฉพาะสำหรับการถ่ายภาพขาว-ดำ เราจะเห็นว่าโคลสอัปของประสาท สุขุม ให้ภาพผู้แสดงที่เด่นและดึงดูดใจอย่างยิ่ง เช่น เราจะเห็นโคลสอัพ พระเจ้าจักรา ผู้งามสง่าน่าขามเกรงจากมุมต่ำหรือกล้องเงยเสมอ ในขณะเห็นเรณูผู้สวยผ่องไร้เดียงสาจากมุมสูงหรือกล้องก้ม
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการถ่ายฉากภายนอก โดยเฉพาะว่าถึงการถ่ายช้าง อย่างที่ข้าพเจ้ายกเยินให้ว่าเป็นการถ่ายช้างที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ในภาพยนตร์นี้ ครั้งแรกที่เราเห็นช้าง เป็นฉากการจับช้างป่า เราจะเห็นช้างบ้านกำลังทำงานในป่า จากมุมมองไกล ๆ และดูธรรมดา แล้วใกล้เข้าไปเห็นอิริยาบถของช้าง ขณะทำงานชักลากซุงไปในลำน้ำเพื่อนำไปสร้างเพนียด จากนั้นเราเห็นการจับโขลงช้างป่า จากมุมมองห่าง ๆ เห็นการไล่ต้อนช้างป่า ช้างป่าเข้าเพนียด เป็นภาพธรรมดาเหมือนการบันทึกเหตุการณ์อย่างข่าวสารคดี ตามด้วยการเสนอภาพของช้างเผือกซึ่งถูกจับได้ในครั้งนั้น เมื่อช้างเผือกได้ขึ้นระวางหรือสถาปนาเป็นช้างสำคัญ เป็นภาพขบวนแห่ชักแถวนำช้างเข้ากรุง
จนกระทั่งมาถึงฉากที่พระเจ้าจักราทรงยกกองทัพ ยาตราไปรับมือกองทัพพระเจ้าหงสาผู้รุกราน ทั้งสองกองทัพต่างมีช้างศึกเป็นหลักชัย เมื่อทัพพระเจ้าช้างเผือกเคลื่อนมาใกล้ถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าหงสา ทัพหงสาซึ่งบัญชาการโดยเจ้าบุเรงจึงยกกองออกมาปะทะด้วย เราจะเห็นการตัดภาพสองฉากสองทัพเข้าชนกันบนจอ ทัพหงสาเคลื่อนจากซ้ายไปขวาซึ่งดูไหลลื่นในขณะที่ทัพอโยธยาเคลื่อนจากขวาไปซ้ายซึ่งดูขัดต้านระหว่างนี้เอง เราได้เห็นมุมกล้องที่พิสดารและพลิกโผนอย่างยิ่ง เมื่อ ประสาท สุขุม ปล่อยให้ขบวนช้างศึกเดินหน้าถั่งโถมเข้าใส่กล้องซึ่งแอบซ่อนอยู่ในหลุมใต้พื้นดิน ด้วยอานุภาพของเลนส์มุมกว้างที่ให้ระยะชัดลึกมาก เมื่อเริ่มเปิดภาพเราจะเห็นกองทัพช้างศึกนับสิบเชือกโผล่ขึ้นมาจากระดับพื้นดินระยะไกลมาก แล้วเคลื่อนตรงเข้ามาหากล้อง ในระยะชัดตลอด แล้วเท้าอันมหึมาของช้างก็ย่างเหยียบผ่านหัวเราไปอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการแสดงให้เห็นอำนาจข่มขวัญอันน่าเกรงขามของมัน สำทับด้วยเสียงร้องก้องกัมปนาทของช้างแต่ละตัวกลบทั่วบรรยากาศ ภาพตัดชนกับเหล่าไพร่พลทั้งสองฝ่ายถืออาวุธโถมเข้าใส่กล้องและกระโดดข้ามหัวเราไปอีก
ภาพ : การซ่อนกล้องในหลุมใต้พื้นดิน เพื่อถ่ายฉากกองทัพช้าง
แล้วทั้งสองกองทัพก็เข้าตะลุมบอนหรือประจัญบานกัน ด้วยอาวุธประจำกาย ถ่ายให้เห็นทั้งในระยะไกลและระยะปานกลาง ทึ้งสองฝ่ายต่างล้มตายกันเป็นเบือ น่าสังเกตว่าในการถ่ายฉากการรบซึ่งมีการเคลื่อนไหวสับสนวุ่นวายมาก และรวมทั้งการเคลื่อนไหวของช้างในบางฉาก ประสาท สุขุม ใช้วิธีถ่ายด้วยสปีดกล้องต่ำกว่าปกติ เพื่อผลในการเร่งความเร็ว ซึ่งทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนกลไกไร้ชีวิตและดูประหลาด ข้าพเจ้าเห็นภาพไพร่พลเข้าห้ำหั่นกันล้มตายดูคล้ายมดปลวก
ยังมีฉากที่น่ากล่าวถึง คือ ฉากการรบที่ทัพหงสาเข้าตีกานบุรี ซึ่งมีกำแพงเมืองเป็นที่มั่นตั้งรับ ประสาท สุขุม ตั้งกล้องถ่ายแบบภาพกว้างหรือไกลสุด เปิดให้เห็นฉากภูมิประเทศเป็นทุ่งนาร้างข้าวและภูเขาทึมเป็นฉากหลัง หลังไพร่พลยุบยับอยู่ลิบ ๆ คล้ายมดปลวก กำลังคืบคลานไปสู่กำแพงเมือง เห็นควันปืนที่ยิงมาจากกำแพงเมืองลอยขึ้นในอากาศเป็นจุด ๆ ซ้อนอยู่กับเสียงโห่ร้องอึงมี่ของไพร่พลและเสียงระเบิดของดินกระสุนประปราย ทั้ง ๆ ที่เป็นภาพไกลสุด และเคลื่อนไหวช้า ๆ เงียบ ๆ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสามารถสร้างความน่าสะพรึงกลัวและน่าสยดสยองได้ยิ่งกว่าภาพการฆ่าฟันกันเลือดกระฉูดด้วยโคลสอัพและด้วยเสียงที่บรรจงประโคมเกินเลยในภาพยนตร์สมัยใหม่บางเรื่องเสียอีก ข้าพเจ้าเห็นว่านี้เป็นฉากสงครามที่ดีที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
มาถึงฉากที่เป็นไคลแม็กซ์หรือจุดสุดยอดของเรื่อง คือ การกระทำยุทธหัตถีบนคอช้างระหว่างพระเจ้าจักรากับพระเจ้าหงสา เป็นฉากที่ผู้ชมรอคอยและคาดหวัง ถ้าเป็นหนังกำลังภายในประเภทจอมยุทธ์ซึ่งใช้ทฤษฎีสมจริงหรือทฤษฎีโกหก ก็คงจะฟาดฟันกันเป็นสิบเป็นร้อยท่ากระบวนยุทธ์ แต่ผู้สร้าง พระเจ้าช้างเผือก ยอมให้เราเห็นเพียงหนึ่งหรือสองกระบวนท่า พระเจ้าหงสาก็เสียทีถูกพระแสงของ้าวของพระเจ้าจักราฟันเข้าพระศอตกจากคอช้างสวรรคตทันที ภาพดูคล้ายบันทึกข่าว ปุบปับไม่ทันตั้งตัว หรือว่า ณ บัดนั้นทฤษฎีติ๊งต่างไม่ทำงาน เพราะข้าพเจ้าดูเห็นว่าฉากนี้ช่างสมจริง ไม่มีลีลาขยายการตายอย่างนาฏกรรม และตกใจกับขณะที่ร่างของพระเจ้าหงสาตกจากคอช้างลงกระแทกดิน ท่านอัครมหาเสนาบดีและเจ้าบุเรงวิ่งเข้าไปดูพระองค์ซึ่งกำลังเสด็จสู่สวรรคต เป็นฉากการตายที่น่าตกใจ น่าสมเพช เป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
หลังจากนั้นเราจึงเห็นว่า สาระสำคัญของหนังมิได้อยู่ที่ความเก่งกล้าสามารถในการยุทธของพระเจ้าช้างเผือก แต่อยู่ที่การประกาศสันติภาพของพระองค์ต่อโลกซึ่งทรงตั้งพระทัยอย่างจริงจังและกระทำทันทีที่ทรงเผด็จทรราช
ดนตรี
สุดท้าย ข้าพเจ้าอยากกล่าวถึงดนตรี ซึ่งเห็นว่ามีบทบาทโดดเด่นเป็นเอกไม่แพ้การถ่ายภาพ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นบุตรของครูดนตรีฝรั่งเยอรมันซึ่งเข้ามารับราชการในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 มารดาเป็นชาวมอญ ท่านได้รับราชการเป็นครูสอนดนตรีและควบคุมวงเครื่องสายฝรั่งหลวงในรัชกาลที่ 6 ซึ่งภายหลังได้กลายไปเป็นวงดนตรีสากลของกรมศิลปากร ซึ่งท่านทำหน้าที่เป็นครูสอนและควบคุมวงเช่นกัน นับว่าเวลานั้นท่านมีบทบาทเสมือนอาจารย์ใหญ่ทางวิชาดนตรีสากลของสยาม จึงไม่น่าสงสัยว่าช่างเหมาะสมแล้วที่ พระเจ้าช้างเผือก ได้ท่านมาเป็นผู้กำกับการดนตรี เพราะดนตรีในภาพยนตร์นี้จะต้องเป็นดนตรีไทยบรรเลงฝรั่งหรือสำเนียงฝรั่งนั่นเอง
นี้น่าจะเป็นผลงานกำกับดนตรีให้ภาพยนตร์งานแรกของคุณพระ ก่อนที่ต่อมาท่านจะต้องมีหน้าที่ทำดนตรีให้ภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ของกองทัพอากาศ ซึ่งซื้อกิจการโรงถ่ายไทยฟิล์มที่ทุ่งมหาเมฆ และพระเจนดุริยางค์ได้โอนไปช่วยงานที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อท่านอยู่กับกรมศิลปากร ท่านได้เคยทำดนตรีให้ละครอยู่แล้ว
แม้ว่าภาพยนตร์เสียงเพิ่งเกิดมีขึ้นมาได้ราวสิบปีเศษก่อนหน้า พระเจ้าช้างเผือก แต่การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์มีมาก่อนหน้านั้น คือมีมาแต่เริ่มมีภาพยนตร์แล้ว นั่นคือการบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์สมัยหนังเงียบ ซึ่งกล่าวได้ว่าดนตรีหนังเงียบนั้นมีบทบาทมาก เพราะหนังเงียบย่อมไม่มีเสียงพูดเสียงเจรจา ดนตรีจะชักโยงอยู่กับภาพบนจอตลอด อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดภาพยนตร์เสียงขึ้นแล้ว บทบาทของดนตรีประกอบภาพยนตร์ก็มิได้ด้อยลงไป แต่ว่าได้คลี่คลายเป็นดนตรีในภาพยนตร์ ซึ่งทำหน้าที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
ดนตรีที่โดดเด่นใน พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือประกอบภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เมื่อออกฉายครั้งแรก มีอยู่ 6 เพลง คือ
เพลงที่ 1 คือ เพลงบรรเลง King of the White Elephant หรือ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ได้พบทำนองเพลงนี้ในหนังสือจดหมายเหตุของลาลูแบร์ บาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเคยเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ และได้บันทึกตัวอย่างเพลงของอยุธยาเพลงหนึ่งไว้เป็นโน้ตดนตรี ชื่อเพลง “สายสมร” ท่านได้นำทำนองนี้มาให้พระเจนดุริยางค์เรียบเรียงเสียงประสานขึ้น เป็นเพลงที่ใช้ชื่อว่า King of the White Elephant คือ ใช้เป็นเพลงนำประจำภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ทีเดียว นับเป็นเพลงเอกที่โดดเด่นของภาพยนตร์ด้วย ใช้เป็นเพลงไตเติ้ลเปิดภาพยนตร์ การเดินเรื่องฉากสำคัญ และใช้ปิดฉากสุดท้ายเพื่อจบภาพยนตร์
เพลงที่ 2 คือ เพลงบรรเลง Ayudhya Eternal หรือ “อโยธยาคู่ฟ้า” เป็นเพลงที่ทำขึ้นจากเพลงไทยเดิม “ขับไม้บัณเฑาะว์” ใช้เปิดฉากแรกหรือเบิกตัวภาพยนตร์นำเรื่องเข้าสู่แผ่นดินอโยธยา และใช้อีกครั้งหนึ่งในฉากท้ายเมื่อเสร็จศึกแล้ว พระเจ้าจักราทรงประกาศสันติภาพและปล่อยกองทัพหงสากลับไป ทัพของพระองค์ก็เสด็จคืนกลับกรุงอโยธยา เพลงนี้ขึ้นมาเตือนและสดุดีอโยธยา ชาวธรรมศาสตร์ควรรู้จักเพลงนี้ดี เพราะเป็นทำนองเพลงประจำมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน
เพลงที่ 3 คือ เพลงบรรเลง His Majesty King Chakra หรือ “พระเจ้าจักรา” เป็นเพลงที่พระเจนดุริยางค์แต่งทำนองขึ้นมาสำหรับบรรเลงประจำตัวละครพระเจ้าจักราโดยเฉพาะ มีท่วงทำนองอ่อนหวานและลุ่มลึก บรรเลงให้ได้ยินแต่บาง ๆ เป็นฉากหลังเมื่อเปิดตัวพระเจ้าจักราแล้ว และมีบทเจรจาซ้อนทับอยู่และใช้ในฉากปิดเรื่องตอนจบอีกครั้งหนึ่ง
เพลงที่ 4 คือ เพลงฟันแฟร์ The King is Here! ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อเพลงในภาษาไทย แต่ฟังดูคล้ายว่า “พระเจ้าอยู่หัวเสด็จแล้ว!” อะไรอย่างนั้น เป็นเพลงประโคมแต่โบราณของราชสำนักนัยว่าต้นตอมาจากฝรั่งเศส ใช้ประโคมประดับพระเกียรติยศเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก ใช้เป็นเพลงตรง คือ เห็นมาจากวงดนตรีมีปี่มีมโหระทึกที่ประโคมอยู่ในฉากพระเจ้าจักราเสด็จออกท้องพระโรงเมื่อเปิดเรื่อง และใช้อีกครั้งในฉากส่งท้ายปิดเรื่อง เห็นตรงจากวงดนตรีที่ประกอบอยู่ในกระบวนแห่พระเจ้าจักราบนพระราชยานคานหามมายังลานหน้าพระราชวัง
เพลงที่ 5 คือ เพลงร้อง A Maiden’s song of hope ข้าพเจ้าไม่รู้ชื่อไทย ก็คงเข้าทำนอง “เพลงความหวังของนางสาว” เป็นเพลงร้องที่ใช้ทำนองเพลงพื้นเมืองเก่า คือ ลาวครวญ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ท่านนำมาทำเป็นโน้ตสากลให้นางเอกเรณูร้องส่งในหนังตรง ๆ ทีเดียว คือ ฉากที่สมุหราชมณเฑียรเลี้ยงดูปูเสื่อเพื่อนขุนนางเพื่ออวดลูกสาว มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทยซึ่งนับเป็นบทภาษาไทยเพียงบทเดียวของภาพยนตร์นี้ด้วย
เพลงที่ 6 คือ เพลงบรรเลง March of the Men of the North ข้าพเจ้าไม่ทราบชื่อไทย คงแปลได้เลา ๆ ว่า “เพลงเชิดของคนจากภาคเหนือ” เป็นเพลงที่พระเจนดุริยางค์ทำขึ้นเป็นดนตรีสากลจากเพลงไทยเดิม “เชิดจีน” ของ พระประดิษฐ์ไพเราะ แต่ครั้งรัชกาลที่ 2 ใช้สำหรับบรรเลงเป็นเพลงประจำฝ่ายหงสาโดยเฉพาะตัวเจ้าบุเรง ปรากฏครั้งแรกในฉากที่เจ้าบุเรงเป็นทูตพระเจ้าหงสามาถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าจักรา ทูนพระราชสาส์นเดินเข้ามาอย่างองอาจ และใช้อีกครั้งเมื่อเจ้าบุเรงจำใจนำทัพหงสาไปรับมือทัพพระเจ้าจักรา
นอกจากเพลงทั้ง 6 นี้แล้ว พระเจนดุริยางค์ยังนำเพลงสำเร็จ คือเพลงอื่นที่มีอยู่แล้วมาใช้อีกสามสี่เพลง แต่ที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าสนใจมีอยู่สองสามเพลง เช่น
เพลงสรหม่า คือ เพลงปี่มวยที่เรารู้จักกันดี ใช้เป็นเพลงประโคมแห่ช้างเผือกที่เพิ่งจับได้ คนไทยเราได้ยินแล้วรู้สึกคึกคักจะขึ้นเวทีหรือออกศึกได้ทันที อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงบรรเลง วิลเลียมเทล โอเวอร์เจอร์ พระเจนดุริยางค์ท่านเอามาใช้ประกอบฉากยกทัพของพระเจ้าหงสา ว่าตั้งแต่เริ่มเดินทัพ ข้ามชายแดน จนมาตีเมืองกานบุรีแตก เป็นเพลงพลิกผันหลายกระบวนลีลา แต่ฟังดูเป็นนัยออกไปทางหยอกล้อกองทัพของจอมทัพที่เมาสุราเคล้านารี ส่วนกองทัพของพระเจ้าจักรา เริ่มต้นท่านก็ครอบด้วยเพลง พระเจ้าช้างเผือก เสียก่อน และเมื่อให้พระองค์ทรงประกาศเหตุผลการทำสงครามและปลุกใจทหารทั้งกองทัพแล้ว ก็ใส่เพลงระบำโป๊แคนแคน ที่เราคุ้นกันดี ประโคมกับภาพการเคลื่อนทัพของพระเจ้าจักรา หลายมุมหลายส่วนจนจบเพลงพอดี ฟังดูน่าพิศวงว่าพระเจนฯ ท่านคิดอย่างไรหนอ แต่สำหรับคนดูทั่วไป อาจจะได้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวย คึกคัก น่าสนุกใหญ่
นอกจากการใส่เพลงลงในฉากต่าง ๆ ดังนี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใส่เสียงอื่น ๆ ลงในฉาก ที่โดดเด่นคือเสียงต่าง ๆ ในฉากรบ มีที่สำคัญอยู่สองสามอย่าง คือ เสียงโห่ร้องของเหล่าทหารสองฝ่ายในสนามรบ เสียงลั่นร้องของเหล่าช้างในสนามรบเช่นกัน และเสียงปืนยาว ที่น่าสังเกตคือ เสียงเหล่านี้จะปรากฏขึ้นมามีบทบาทอย่างยิ่งในฉากซึ่งท่านจะไม่ใช้เสียงดนตรีเลย ดูเหมือนเราจะลืมไปด้วยซ้ำว่าเสียงดนตรีหายไปเมื่อไรไม่รู้ และสรรพเสียงเหล่านี้ได้เข้ามาทำหน้าที่ดุจแทนเสียงดนตรี เป็นเสียงที่มีอำนาจครอบงำไปทั่วทั้งบรรยากาศ โดยไม่ต้องอาศัยระบบเซ็นเซอร์ราวนด์หรือระบบอักษรย่ออะไรต่อมิอะไรทั้งหลายเลย
แม้ฉากยุทธหัตถีบนคอช้างซึ่งเป็นฉากไคลแม็กซ์ ท่านก็จงใจไม่ใส่เสียงดนตรีใด ๆ เลย คงปล่อยให้เป็นเสียงในวิสัยอย่างธรรมชาติ
ยังมีที่น่าสนใจในท้ายที่สุด คือ การที่เกือบไม่ใช้เสียงประกอบอะไรเลย คือเกือบจะเป็นความเงียบอย่างสิ้นเชิง เช่น ฉากที่ทหารยามหงสาแอบย่องเปิดหม้อข้าวของอัครมหาเสนาบดี เงียบจนเราได้ยินแต่เสียงกรนของท่านอัครมหาเสนาบดีเท่านั้น ความเงียบงำนั้นมีอำนาจเช่นเดียวกับเสียง
ข้าพเจ้าเคยดูภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ยิ่งใหญ่แบบอัครมหากาพย์ยุคหนังเงียบ เรื่อง อขันติ (INTOLERLANCE) ของ เดวิด วาร์ค กริฟฟิธ ซึ่งสร้างออกฉายสู่โลกตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2459 (เมื่อเข้ามาฉายในสยาม ทางโรงตั้งชื่อว่า ความกดขี่ ) ภาพยนตร์พรรณนาถึงการกดขี่ข่มเหงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การเข่นฆ่าล้างเผ่าล้างชาติกัน ไปจนถึงการทำสงครามกัน โดยสร้างสรรค์ศิลปวิทยาแห่งภาพยนตร์ที่สลับซับซ้อนขึ้นถึงขีดสูงสุด ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และเกิดความเคลื่อนไหวทางปัญญา ตามด้วยความอิ่มสุขที่เรียกว่าปีติ เป็นปีติจากการได้ดูภาพยนตร์ที่วิจิตรล้ำลึกด้วยศิลปวิทยา บวกกับความแรงกล้าของเจตนาเชิงอุดมคติของผู้สร้างสรรค์
เมื่อได้ดูภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ในแผ่นดินญี่ปุ่นครั้งนั้นก็ก่อให้ข้าพเจ้าเกิดความปีติอย่างเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นความปีติที่เกิดจากความเรียบง่าย ซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ของงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์เล็ก ๆ แต่เบื้องหลังคืออุดมคติอันแรงกล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
อ่านตอนอื่น ๆ ได้ที่