แท่นมหัศจรรย์ของ ปยุต เงากระจ่าง หนึ่งในวัตถุชิ้นเอกในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

เรื่องราวของแท่นถ่ายภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของไทย เรื่อง "สุดสาคร" ที่ปยุต เงากระจ่าง ออกแบบและจ้างช่างไทยประดิษฐ์ขึ้น  เป็นแท่นมหัศจรรย์แห่งความรัก ความรู้ ความมานะบากบั่น พอ ๆ กับความทุกข์ทรมาน

---------

โดย โดม สุขวงศ์


ปยุต เงากระจ่าง เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2472 ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวัยเด็ก ปยุตมีความชื่นชอบวิชาวาดเขียนเป็นชีวิตจิตใจ ฝึกฝนการวาดลวดลายเส้นสายด้วยปากกาก้ามปูบนผืนหาดทรายริมทะเลบ้านเกิด วันหนึ่งโชคชะตาพาให้เด็กชายปยุตได้พบกับ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ช่างเขียนรูปจากพระนครซึ่งใฝ่ฝันจะทำภาพยนตร์การ์ตูน และเอ่ยปากชวนเด็กชายว่า ถ้าไปกรุงเทพฯ อย่าลืมไปช่วยเขาทำหนังการ์ตูน 


ปยุต เข้ากรุงเทพมาเรียนเพาะช่าง และพยายามตามหาเสน่ห์ซึ่งคลาดเคลื่อนกันตลอด แต่วันที่ตามหาพบคือวันที่เสน่ห์นอนอยู่บนเชิงตะกอน และปยุตทราบว่าเสน่ห์จากโลกไปโดยฝันของเขายังไม่สำเร็จ ทำให้ปยุตตัดสินใจสานฝันของเสน่ห์ คิดทำหนังการ์ตูนไทยให้สำเร็จ ด้วยการฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น ในที่สุดเขาก็สร้างความฝันให้เป็นจริงขึ้นได้ในปี พ.ศ. 2498 กับผลงานการ์ตูนขนาดสั้น “เหตุมหัศจรรย์” เป็นภาพยนตร์การ์ตูนไทยเรื่องแรก 


หลังจากที่สร้างผลงานการ์ตูนเรื่องแรกได้สำเร็จ สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) ซึ่งปยุตได้ทำหน้าที่เป็นช่างเขียนอยู่ จึงส่งเขาไปศึกษาดูงานการทำการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นทำให้ปยุตได้เรียนรู้กระบวนการผลิตงานการ์ตูนตามมาตรฐานสากล และได้รู้จักกับเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในการสร้างสรรค์งานแอนิเมชั่น นั่นก็คือ แท่นถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งใช้ในการถ่ายทำภาพวาดการ์ตูนทีละภาพ และเมื่อถ่ายทำจนครบทุกภาพแล้ว จากการ์ตูนภาพนิ่งธรรมดาก็จะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีชีวิตได้อย่างมหัศจรรย์


ต่อมา ปยุต ได้ลาออกจากงานประจำมาก่อตั้งบริษัทรับผลิตภาพยนตร์โฆษณา คือ บริษัท ทริปเปิลฟิล์ม เขาได้จัดหาอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์ การพิมพ์-ล้างฟิล์มภาพยนตร์ เพื่อสามารถทำงานได้ครบกระบวนการ ด้วยความที่มีหัวทางช่างและใฝ่รู้ ปยุตได้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์บางอย่างขึ้นใช้เอง โดยเฉพาะแท่นถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาแพงเกินกว่าที่เขาจะจ่ายได้ ปยุตจึงออกแบบเองและจ้างช่างเหล็กในเมืองไทยสร้างให้ สามารถใช้งานได้แม้ไม่ดีวิเศษเท่าของต่างประเทศ แต่ก็ดีพอที่เขาจะใช้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทย โดยเฉพาะใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย คือ “สุดสาคร” เมื่อปี พ.ศ. 2522


แท่นถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูนของปยุต นับว่าเป็นเครื่องขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็สามารถทำลูกเล่นการถ่ายภาพยนตร์การ์ตูนได้ครบครันเช่นเดียวกับเครื่องใหญ่ ๆ ลักษณะของเครื่องจะมีฐานสำหรับวางรูปภาพที่เป็นฉากหลังของเรื่อง สามารถปรับเลื่อนภาพฉากในแนวนอนได้ ถัดขึ้นมาจะเป็นพื้นที่สำหรับรองรับแผ่นเซล (Cel คือ แผ่นใสที่ใช้สำหรับวาดตัวการ์ตูนที่มีอิริยาบถต่อเนื่องกัน โดย 24 ภาพ เท่ากับ 1 วินาที) ในส่วนนี้จะมีหมุดเป็นตัวกำหนดจุดที่วางแผ่นเซล ซึ่งแผ่นเซลทุกแผ่นจะต้องเจาะรูในตำแหน่งเดียวกัน เมื่อนำแผ่นเซลมาวางตรงหมุดก็จะได้ภาพที่ตรงตำแหน่งเดียวกันทุกภาพ ฐานสำหรับวางรูปฉากหลังนี้ สามารถปรับลดระดับลงไป เพื่อถ่ายแบบมีฉากหน้าให้รู้สึกเป็นสามมิติได้อีกด้วย ส่วนด้านบนสุดของแท่นจะติดตั้งกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. โดยปยุตออกแบบให้ใช้กับกล้อง เบลแอนด์โฮเวลล์ รุ่น อัยโม ไขลาน ซึ่งถ่ายทีละเฟรมได้เพื่อถ่ายทำแผ่นเซลไปทีละเฟรมตามลำดับของเนื้อเรื่องจนจบ 


เมื่อครั้งปยุตถ่ายทำสุดสาครนั้น เขาประสบปัญหาอุปสรรคมากมายและหนักหน่วงแสนสาหัส ทั้งเรื่องเงินทุนที่ต้องกู้ยืม เรื่องเวลาที่เนิ่นนานออกไปเรื่อย ๆ ถึงสองปีก็ยังไม่แล้วเสร็จ การคร่ำเคร่งกับงานที่มีปัญหาหนักหน่วงนี้ทำให้สุขภาพโดยเฉพาะประสาทสายตาเสื่อม จนถึงกับแพทย์สั่งให้เขาหยุดทำงานหากไม่อยากตาบอด สุดสาครจึงจำต้องจบเรื่องลงก่อนที่จะถึงฉากสุดท้ายจริง ๆ แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้ปยุตพ้นจากความทุกข์ทรมานเกี่ยวกับสายตาเสื่อมในบั้นปลายชีวิต


เมื่อเลิกกิจการทำภาพยนตร์แล้ว ปยุตเก็บรักษาแท่นถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูนของเขาไว้ในสภาพอย่างดีที่บ้านพัก ยามแขกไปใครมาเยี่ยม โดยเฉพาะพวกนักเรียนนักศึกษาที่ชอบมาขอวิชาความรู้ เขาจะพาไปชมแท่นมหัศจรรย์นี้ ปยุตเคยเล่าว่าเวลาพวกแขกต่างเมืองในแวดวงวิชาการทำภาพยนตร์การ์ตูนมาเยี่ยม ได้เห็นแท่นนี้เข้า ก็ทึ่งและอึ้ง ออกปากว่า ปยุตเป็นวันแมนโชว์ คนเดียวเป็นทั้งเอ็นจิเนียร์และอาร์ติสต์


ปยุตจึงภูมิใจและหวงแหนแท่นมหัศจรรย์ของท่านยิ่งนัก หอภาพยนตร์ซึ่งชอบแวะเวียนไปขอความรู้และขอให้ท่านช่วยเหลือทำการบางอย่าง ได้พยายามจีบขอบริจาคแท่นวิเศษนี้เข้าพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย กว่าท่านจะใจอ่อนยอมยกให้ก็ใช้เวลาเป็นแรมปี คือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 ซึ่งวันนั้นชาวหอภาพยนตร์เป็นฝ่ายต้องทำใจแข็งขนแท่นมหัศจรรย์มาจากเจ้าของที่นั่งมองน้ำตาคลอ


แท่นถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูนของ ปยุต เงากระจ่าง ที่ตั้งแสดงคู่มากับพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยตั้งแต่วันแรกเปิด จึงเป็นวัตถุจัดแสดงชิ้นเอกที่สุดชิ้นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์และในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เป็นแท่นมหัศจรรย์แห่งความรัก ความรู้ ความมานะบากบั่น พอ ๆ กับความทุกข์ทรมาน 


พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยเป็นวิหารแห่งปัญญา แท่นมหัศจรรย์ของ ปยุต เงากระจ่าง เป็นวัตถุที่ให้แรงดลบันดาลใจโดยเฉพาะแก่เยาวชน และให้อนุสติแก่ผู้ไปเยือนให้เห็นสัจธรรมแห่งชีวิต


ปยุต เงากระจ่าง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 ด้วยวัย 81 ปี


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด