นักวิจารณ์อเมริกันวิจารณ์ พระเจ้าช้างเผือก ว่าล้าหลังไป 25 ปี ในขณะที่ ส.ธรรมยศ บอกว่านี่คือเรื่องที่สิ้นทางศิลปะอย่างที่สุด ส่วน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ไม่อยากให้ฉาย พระเจ้าช้างเผือก ที่อเมริกา นี่คือบางแง่มุมของปฏิกิริยาที่เคยมีต่อภาพยนตร์จากการสร้างของ ปรีดี พยมยงค์
------------
โดย ก้อง ฤทธิ์ดี และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
สถานะของภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ในปัจจุบันนั้นถือเป็นมรดกภาพยนตร์เรื่องสำคัญของชาติ ทั้งในแง่การเป็นภาพยนตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่หลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นผลงานการสร้างของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและผู้นำการเปลี่ยนเปลี่ยนการปกครองของไทย และที่สำคัญที่สุด คือเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นด้วยอุดมการณ์อันเป็นอุดมคติสูงสุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือการประกาศสันติภาพแก่โลกและมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม กว่าที่คุณค่าของ พระเจ้าช้างเผือก จะกลายเป็นที่ประจักษ์ ต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยกาลเวลาอันยาวนาน หลักฐานซึ่งเป็นข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในอดีต โดยเฉพาะในแง่ “ศิลปะภาพยนตร์”
หลักฐานชิ้นแรกสุด เกิดขึ้นตั้งแต่ที่ พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 พร้อมกันสามประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยที่อเมริกานั้นเข้าฉายที่โรง Belmont นครนิวยอร์ก ซึ่งหนังสือพิมพ์ The New York Times ในตอนนั้น ได้ลงข่าวถึงภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ถึงสองวันติดกัน
วันแรกคือฉบับวันศุกร์ที่ 4 เมษายน ในหน้า Amusements มีข่าวประกาศใต้คำพาดหัวว่า Of Local Origin เนื้อข่าวสั้น ๆ พูดถึงการจัดฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก หรือ The King of the White Elephant โดยข้อมูลบอกว่านี่เป็นหนัง “dramatic feature” (หรือหนังยาวที่มีนักแสดง) เรื่องแรกที่ผลิตในประเทศไทย (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของไทยนั้นสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2470) และการฉายรอบปฐมทัศน์โลกในคืนวันนี้ จะมีขึ้นที่โรง Belmont Theatre โดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ จะเข้าร่วมงานด้วย
ต่อมาในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน หนังสือพิมพ์ The New York Times ตีพิมพ์บทวิจารณ์ภาพยนตร์ The King of the White Elephant เขียนโดย บอสลี่ โครวเธอร์ นักวิจารณ์หนังคนสำคัญของอเมริกา ใต้คำพาดหัวว่า Made in Siam เป็นบทวิจารณ์สั้นความยาว 3 ย่อหน้า ที่ออกไปในทางติติงคุณภาพของหนัง โดยมีเนื้อหาคร่าว ๆ ว่า
ภาพจาก New York Times online archive
“นี่คือของแปลกน่าขัน ความน่าสนใจอย่างเดียวอยู่ตรงที่เป็นหนังขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างในประเทศไทย (หรือสยาม) The King of the White Elephant ออกฉายเมื่อคืนนี้ที่โรง Belmont และก็ตามคาดหวังที่เราพึงมีต่อหนังเรื่องแรกของประเทศใด ๆ ก็ตาม หนังมีความหยาบและเห็นได้ว่าเลียนแบบหนังเรื่องอื่น ๆ ใช้นักแสดงท้องถิ่นพูดภาษาอังกฤษแบบแข็ง ๆ แต่เสน่ห์ของหนังก็อยู่ที่ความไร้เดียงสาของมันเอง ตัวหนังราวกับมาช้าไป 25 ปี ยกเว้นเพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้มีเสียงพูด เสียงวิจารณ์ที่เราพึงมีต่อหนัง คือทำไมศิลปินชาวสยามจึงเลียนแบบฮอลลีวูดในการพูดถึงประเทศตัวเอง ทำไมพวกเขาถึงเอาเรื่องราวพื้น ๆ ของการเป็นอริกันระหว่างกษัตริย์โบราณสององค์ องค์หนึ่งเป็นผู้รักสันติและนิยมชมชอบในช้าง อีกองค์เป็นนักเลงที่ชอบรังแกผู้อื่น ทำไมถึงเล่าเรื่องนี้ด้วยการใส่ฉากต่อสู้และไล่ล่าราวกับหนังคาวบอยอเมริกัน เอาล่ะ พวกเขาใช้ช้างสู้กันแทนที่จะเป็นม้า นั่นก็ทำให้ดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจใช้ได้ แต่ทำไมหนังที่สร้างในสยามจึงไม่แสดงความเป็นท้องถิ่น จะแสดงเป็นละครใบ้ไปเลยก็ยังได้ และทำให้แตกต่างจากสูตรสำเร็จของฮอลลีวูดไปเลย”
นี่เป็นบทวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาแบบตะวันตก ซึ่งอาจจะไม่เข้าใจบริบทของหนัง และไม่ทราบถึงสารสำคัญที่ ปรีดี พนมยงค์ ต้องการสื่อถึงแนวคิดสันติภาพและการให้อภัย เพื่อยับยั้งการต่อสู้ฟาดฟันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นอาจยังดูเป็นเรื่องไกลตัวของคนอเมริกัน และเป็นหนังที่สร้างออกมาโดยหวังให้เผยแพร่กับคนทุกชาติทุกภาษา ไม่ใช่แค่กับคนไทย แต่ในขณะเดียวกัน ไม่น่าแปลกใจที่นักวิจารณ์อเมริกันจะติเตียนหนังบนพื้นฐานของคุณภาพงานสร้างและมาตรฐานการเล่าเรื่อง เพราะหนังอเมริกันในยุคเดียวกันและยุคก่อนหน้า เติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง และมีหนังคลาสสิกระดับโลกออกมามากมาย เช่น Gone With the Wind หรือ Wizard of Oz ซึ่งไปไกลกว่าหนังสยามในแง่งานสร้าง
อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งยังไม่อาจยืนยันได้อย่างชัดเจน แต่มีความเป็นไปได้ว่า พระเจ้าช้างเผือก ฉบับที่เผยแพร่ในอเมริกานั้น อาจไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ซึ่งยาว ๑๐๐ นาที เพราะหลักฐานจากรายงานในนิตยสาร Variety ระบุว่าภาพยนตร์ที่ฉายนั้นยาว 66 นาที และภายหลังได้มีการค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ในฉบับที่มีความยาวเพียง ๕๓ นาที ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลที่ระบุดังกล่าว ภาพยนตร์ฉบับนี้แตกต่างจากฉบับสมบูรณ์ ตั้งแต่ไตเติลเรื่อง หลายฉากถูกตัดออกไป รวมทั้งดนตรีที่เปลี่ยนไปเกือบจะทั้งเรื่อง ซึ่งได้ลดทอนคุณค่าของภาพยนตร์ลงไปอย่างน่าเสียดาย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคำดูหมิ่นจากนักวิจารณ์ต่างชาติ
ในเมืองไทย แม้จะไม่พบบทวิจารณ์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก อย่างเป็นทางการ เมื่อครั้งออกฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาฉลิมกรุง เมื่อ พ.ศ. 2484 แต่อีก 6 ปี ต่อมา ส.ธรรมยศ นักปรัชญาและนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย ได้เขียนบทวิจารณ์หนัง เรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม หรือ Anna and the King of Siam ในปี พ.ศ. 2490 โดยชื่นชมผลงานจากฮอลลีวูดเรื่องนี้ว่าเป็น “เรื่องที่มีค่าเรื่องหนึ่ง ควรฉายตามโรงเรียนชั้นสูงและมหาวิทยาลัยทั่วไป” ในตอนหนึ่งเขาได้กล่าวเทียบถึงภาพยนตร์ไทย โดยยกตัวอย่างถึง พระเจ้าช้างเผือก ว่า
“หัวข้อที่ขอกล่าว ณ ที่นี้คือ ทำไมเราสามารถทนทานกันได้ที่ส่งเรื่องที่สิ้นทางศิลปะอย่างที่สุดเช่นเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ออกไปแสดงถึงต่างประเทศได้? ทำไมจึงไม่รู้สึกละอายแก่ใจในการอดกลั้น อวดความน่าอดสูเช่นนั้นเล่า? ข้าพเจ้าดูหนังหลายร้อยหลายพันเรื่อง เกือบกล่าวได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่ดูถึงหลง เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ แก่ข้าพเจ้ามากมาย หนังไทยบางเรื่องไม่ผิดหรือเลวไปกว่าละครชาติชาตรี เราก็ยังอุตส่าห์เสียสตางค์ไปดูกันได้ด้วยความเศร้าสลด ศิลปินในเมืองไทยก็เป็นที่รู้ทั่วกันว่า อยู่ในวงแคบเพียงไร และเท่าที่ดำรงกันอยู่ได้ทุกวันนี้ ได้เป็นสภาพที่ปราศจากอุปการะและแห้งแล้งกันอย่างไรในสายตาโลก?”
คำวิจารณ์อันรุนแรงของ ส.ธรรมยศ อาจจะพอเป็นมาตรวัดอุณหภูมิความรู้สึกที่คนไทยบางส่วนมีต่อ พระเจ้าช้างเผือก ในเวลานั้น นอกจากนี้ ปัญญาชนไทยซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ พระเจ้าช้างเผือก โดยตรงอย่าง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ผู้เป็นเสมือนทูตผู้นำ พระเจ้าช้างเผือก ไปเผยแพร่ให้คนอเมริกันรู้จัก ในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ได้กล่าวถึง พระเจ้าช้างเผือก ไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2532 ในหนังสือชีวลิขิต ที่มีลักษณะเป็นบันทึกชีวิตย้อนหลังจากวัย 84 ปีให้ลูกหลานได้อ่าน ความว่า
“ความคิดของผู้มีอำนาจในเมืองไทยเช่น ปรีดี บางทีก็ชอบกล ระหว่างปู่เป็นทูตที่อเมริกา ปี 2484 ก่อนสงคราม ปรีดีส่ง ประสาท สุขุม นำภาพยนตร์พระเจ้าจักรา ไปฉายที่นิวยอร์ค ก่อนนั้นเราได้ดูกัน มีภาพคนกินข้าวด้วยมืออย่างสกปรก พระเอก พระเจ้าจักรารบชนะพระเจ้าหงสาบนหลังช้าง เพราะหงสาเมาเหล้า ก่อนขึ้นช้างปีนตกๆ ปู่เห็นว่าแย่ ไม่ควรฉาย แต่พูดไม่ออกเพราะคุณประสาท ลูกน้องปรีดียืนยันว่าของแกดี เช่าโรงภาพยนตร์ที่นิวยอร์คได้ราว 7-8 วัน เจ้าของโรงภาพยนตร์เลิกสัญญา ไม่ยอมให้ฉายต่อ เพราะไม่มีคนดู เสียชื่อโรงภาพยนตร์ ก็ทำนองเดียวกันที่ปรีดีแต่งเครื่องแบบทหารเรือ ติดหนวดเครานำทหารเรือยึดวังหลวงจนคนจำได้ ”
แต่อย่างที่ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยทราบกันดีว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ปรีดี พนมยงค์ นั้น มีข้อขัดแย้งกันมายาวนาน แม้จะอยู่ร่วมขบวนการเสรีไทยด้วยกันในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ก็ตาม ซึ่งอาจมีผลถึงทัศนคติต่อ พระเจ้าช้างเผือก ดังที่ได้บันทึกไว้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการสร้างขึ้นในบริบทพิเศษ การพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจำต้องนำบริบทแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์หรือองค์ประกอบทางการเมือง โดยข้อวิจารณ์เหล่านี้เป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญที่ปรากฏให้เห็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ และนำออกเผยแพร่ให้ได้ชมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะให้คนรุ่นหลังได้พิสูจน์คุณค่าของ “ช้างเผือก” แห่งภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
อ้างอิง
- หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 4 และ 5 เมษายน พ.ศ. 2484
- หนังสือชีวิตและผลงาน ส.ธรรมยศ โดย อสิธารา พ.ศ. 2551
- บทความเรื่อง “การหลอมความหลากหลายเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันของขบวนการเสรีไทย” โดย กษิดิศ อนันทนาธร ในนิตยสารปาจารยสาร ฉบับที่ 3 กันยายน-พฤศจิกายน 2555