ครั้งหนึ่งบนถนนราชดำเนิน

เวลาล่วงไปกว่า 120 ปีจนถึงปัจจุบัน ถนนราชดำเนิน ทั้งราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน ได้เป็นฉากหลังของเหตุการณ์และชีวิตทั้งที่มีความหมายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเป็นพื้นที่ความทรงจำร่วมของประชาชนในหลากหลายกิจกรรม ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์หอภาพยนตร์ได้คัดสรรภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในความทรงจำเหล่านั้นมานำเสนอเพื่อร่วมรำลึกและจินตนาการต่อถึงอนาคตของถนนราชดำเนินต่อไปจากนี้ 

-------------------


โดย ฝ่ายอนุรักษ์


[พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดชแข่งรถ ณ ถนนราชดำเนิน]

ความยาว 2.18 นาที ขาวดำ/เงียบ

ปีที่สร้าง 2480

[คลิกดูภาพยนตร์]



ครั้งหนึ่งถนนราชดำเนินได้เคยถูกจัดเตรียมสำหรับจัด “การแข่งขันรถยนต์ระหว่างชาติ รางวัลใหญ่กรุงเทพ ฯ” (Bangkok Grand Prix)  โดยกำหนดให้เป็นการแข่งรถขนาด 1,500 ซีซี ใช้ถนนบริเวณรอบสนามหลวงและรอบพระบรมมหาราชวัง รวมระยะทางรอบละ 2 ไมล์ จำนวน 60 รอบ แม้การแข่งขันนั้นซึ่งถูกวางกำหนดการไว้ในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2482 จะไม่เคยถูกจัดขึ้นจริง เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน แต่ได้เคยมีการจัดการประลองความเร็วขึ้นเป็นตัวอย่างและเพื่อประโคมการแข่งรถ “รางวัลใหญ่กรุงเทพ ฯ” ขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2480  โดยกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ปิดถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลา จนถึงลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นส่วนของถนนที่จะใช้สำหรับการแข่งขันจริงในปี 2482 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีระพงศ์ภาณุเดช หรือ “พ. พีระ เจ้าดาราทอง” วีรบุรุษของชาวไทย ซึ่งเคยกวาดรางวัลจากการแข่งขันรถยนต์มากมายหลายรางวัล  จนคว้าตำแหน่ง “ดาราทอง” ของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษมาครองได้ถึง 3 ปีซ้อน ทรงขับรถรอมิวลุสโลดแล่นผ่านถนนราชดำเนิน ประลองความเร็วกับรถอื่น ๆ ให้ประชาชนได้รับชมเป็นขวัญตา แม้จะเกิดเหตุการณ์รถหลุดโค้งออกไปหาผู้ชม ก็ไม่เป็นเหตุร้ายแรงหรือสูญเสีย การประลองครั้งนี้ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อยแก่ชาวไทยที่มารอชมกันอย่างแน่นขนัดตลอดสองฝั่งของถนนราชดำเนินนอก  


ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ่ายโดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ นับเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในความทรงจำของชาติ และเป็นเหตุการณ์ตำนานในประวัติศาสตร์การแข่งรถของไทยและของโลก


การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย

ความยาว 4.35 นาที ขาวดำ/เงียบ

ปีที่สร้าง 2488

[คลิกดูภาพยนตร์]





พิธีสวนสนามกองกำลังเสรีไทย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร เกิดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2488 บนถนนราชดำเนินกลาง เหตุการณ์สวนสนามนี้ มีนัยความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศในเวลานั้นเป็นอย่างมาก 


เนื่องจาก ในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นร่วมกับคนไทยในต่างประเทศ ติดต่อประสานในทางลับกับสัมพันธมิตร เพื่อร่วมมือต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน เมื่อสัมพันธมิตรได้ชัยชนะเด็ดขาด โดยกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ เมื่อ 6 สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการได้ประกาศสันติภาพของประเทศไทยทันทีในวันที่ 16 สิงหาคม ยกเลิกภาวะสงคราม และให้ถือว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ ทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม โดยได้รับการรับรองจากทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษราวเดือนกว่าจากเหตุการณ์นั้น นายปรีดีได้จัดให้มีการรวมพลเสรีไทยติดอาวุธจากสายต่าง ๆ และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณแปดพันคนกระทำพิธีสวนสนาม ขบวนสวนสนามเคลื่อนผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำความเคารพต่อนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าเสรีไทย พร้อมผู้นำขบวนการทั้งหลาย ซึ่งยืนรับการสวนสนามอยู่ที่ฐานอนุสาวรีย์เพื่อเป็นการประกาศต่อโลกว่า ประเทศไทยยังมีเอกราชเหนือแผ่นดินตนเองโดยสมบูรณ์ ยังมีเกียรติศักดิ์ศรี มิได้ถูกยึดครองและถูกปลดอาวุธแต่อย่างใด


โลหะปราสาท 

ความยาว 20.33 นาที 

ขาวดำ/เงียบ

ปีที่สร้าง 2507


ภาพยนตร์สารคดีเรื่องโลหะปราสาท ในชุด “มรดกของไทย” ผลิตขึ้นโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำเสนอวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 3 วัดซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ประกอบด้วยวัดราชนัดดา วัดโสมนัส และวัดมกุฎกษัตริยาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บันทึกโลหะปราสาทขณะที่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2506 


ภาพแรกของภาพยนตร์เป็นภาพของโลหะปราสาทปรากฏพร้อมชื่อเรื่อง จากนั้นจึงเป็นวัดราชนัดดาที่มีโครงไม้ก่อสร้างจากมุมมองภายนอก บริเวณกำแพงวัดมีป้ายรับบริจาควัสดุก่อสร้างจากประชาชน ต่อจากนั้นจึงเป็นบริเวณของพระอุโบสถของวัดราชนัดดา ท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาโสภณ เจ้าอาวาสวัดราชนัดดาเดินนำขึ้นบันไดส่วนก่อสร้างเข้าสู่บริเวณของโลหะปราสาทที่กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ โดยช่องทางเดินข้างในที่มีถึง 6 ชั้นนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมตามรูปของโลหะปราสาท จากช่องทางเดินนี้สามารถตรงไปยังใจกลางของโลหะปราสาทซึ่งเป็นช่องกลวงทรงกลมและมีต้นซุงต้นใหญ่ปักอยู่สำหรับเสียบขั้นบันไดตั้งแต่พื้นล่างไปจนถึงยอดของโลหะปราสาท ผู้ชมจะได้เห็นช่างกำลังก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่งานโครงสร้าง จนถึงงานตกแต่งภายใน ลวดลายตลอดจนงานปูนปั้นลายหัวเสาภายในโลหะปราสาทได้ถูกจำลองขึ้นใหม่ ด้วยความระมัดระวังและพยายามให้เหมือนของเดิมที่สุด ในส่วนนี้เนื้อหาจะจบลงที่รูปจำลองของโลหะปราสาทเมื่อบูรณะเสร็จสิ้นที่จำลองขึ้นโดยกรมศิลปากร โดยแสดงลักษณะสำคัญของการบูรณะครั้งนี้คือ สีของยอดปราสาทที่มีรวมทั้งสิ้น 37 ยอดนั้นเป็นสีขาว โดยโลหะปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี เช่นเดียวกับการก่อสร้างวัดราชนัดดา 


ส่วนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนำเสนอวัดโสมนัส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนา ในฐานะพระมเหสีองค์แรกของพระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังได้รับการสถาปนาเป็นมเหสีเพียงปีเดียว และวัดมกุฎกษัตริยารามซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเพื่อให้คู่กับวัดโสมนัส และเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์เองแม้วัดทั้งสามมิได้ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินใด ๆ เว้นแต่วัดราชนัดดา ซึ่งอยู่ใกล้เกือบติดถนนราชดำเนินกลาง โดยมีอาคารโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยอันใหญ่โตบดบังไว้ และที่สำคัญบดบังโลหะปราสาท ซึ่งแต่เดิมดูเหมือนสร้างยังไม่เสร็จ ดูเป็นเศษรกร้าง แต่เมื่อได้รับการบูรณะตามที่เห็นในภาพยนตร์นี้ และได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี 2532 จนสวยงามขึ้น จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลขณะนั้นมีมติให้รื้อเฉลิมไทยลง


กีฬาสี สตรีวิทยา

ความยาว 13.47 นาที ขาวดำ/เงียบ

ปีที่สร้าง 2502 (สันนิษฐานจากรหัสบนฟิล์มซึ่งระบุปีที่ผลิต)



โรงเรียนสตรีวิทยา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2443 เดิมตั้งอยู่ที่วังพระองค์เจ้าอลังการ หลังโรงหวย ก ข ตำบลสามยอด  มิสลูสี ดันแลป เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ตึกสองชั้น ถนนเจริญกรุง สมัยนั้นคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “โรงเรียนแหม่มสี” เปิดรับทั้งชายและหญิง ซึ่งนักเรียนชายต้องอายุไม่เกิน 12 ปี ต่อมา มิสลูสี ดันแลปแจ้งความประสงค์ยกโรงเรียนสตรีวิทยาให้แก่กระทรวงธรรมการ จนกระทั่งปี 2444 กระทรวงธรรมการมีคำสั่งให้ลงแจ้งความเปิดโรงเรียนสตรีวิทยาประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นโรงเรียนของรัฐบาลให้สอนตามหลักสูตรของกรมศึกษาธิการ และได้จัดการเรียนการสอนจนถึงระดับมัธยมศึกษา ต่อมาในปี 2482  ได้ย้ายที่ตั้งจากมุมถนนดินสอและถนนราชดำเนินกลาง (ปัจจุบันคือบริเวณบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด) มายังที่ตั้งปัจจุบันคือ ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ริมถนนดินสอ พื้นที่ 9 ไร่โดยอยู่ตรงข้ามสถานที่เดิม


ในภาพยนตร์เรื่องกีฬาสี สตรีวิทยานี้ ส่วนที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดตั้งแต่เริ่มคือ ตึกเรียนสองชั้นที่มีจารึกชื่อโรงเรียนสตรีวิทยา ในสนามมีเด็กนักเรียนในชุดเสื้อขาวกางเกงขาสั้นสีขาวสำหรับแข่งกีฬาเข้าแถวต่อกัน ระหว่างพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่เสา บรรดาคณาจารย์และนักเรียน

ร่วมกันยืนตรงเคารพธงชาติ ผู้อำนวยการโรงเรียนในขณะนั้น (คุณหญิงกรองทอง สุรัสวดี) กล่าวหน้าเสาธง มีการแจกซองซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทุนการศึกษาจากตัวแทนสมาคมศิษย์เก่า ต่อจากนั้นจึงเป็นการสวนสนามโดยนักเรียนและเข้าสู่ช่วงการแข่งขัน ซึ่งมีหลากหลายชนิดกีฬาตั้งแต่วิ่งเดี่ยว วิ่งผลัด กระโดดไกล ทุ่มน้ำหนัก พุ่งแหลนสลับกับการรับมอบเหรียญรางวัล ด้วยความสนุกสนานเป็นอย่างยิ่งของเหล่ากองเชียร์ ก่อนจะจบลงด้วยการมอบรางวัลและของที่ระลึกแก่บรรดาตัวแทนของสีต่าง ๆ


บรรดานักเรียนของโรงสตรีวิทยานับแต่ได้มาอยู่ที่ริมถนนราชดำเนิน จึงมีความผูกพันและความทรงจำต่อถนนราชดำเนินกลางมายาวนาน  ผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนราชดำเนินกลางตรงจุดนี้ ก็ต้องมีความทรงจำถึงบรรยากาศคึกคักของโรงเรียนสตรีชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศ


โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย

ความยาว 18.25 นาที สี/เสียง

ปีที่สร้าง 2532

[คลิกดูภาพยนตร์]


ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์การเข้าไปขนย้ายสิ่งของจากโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยของเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ อันเป็นผลมาจากมติของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 15 มกราคม 2532 ให้รื้อถอนโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ด้านหน้าและบดบังการมองเห็นโลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร


ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่การบันทึกภาพทั้งภายในและภายนอกของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ตั้งแต่บนห้องฉายอันเต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับฉายภาพยนตร์ต่าง ๆ เลาะเรื่อยลงมาตามบันไดขณะที่ชายกลุ่มหนึ่งขนย้ายเครื่องฉาย 35 มม. และ 70 มม. ขนาดใหญ่ เพื่อนำมาจัดเก็บที่หอภาพยนตร์ รวมไปถึงบรรยากาศหน้าโรงภาพยนตร์และท้องถนนราชดำเนินอันขวักไขว่ไปด้วยการจราจร


โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย มีอายุนับแต่เปิดให้บริการเป็นโรงมหรสพในปี 2492 และเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ในปี 2496 เป็นแลนด์มาร์กสำคัญหนึ่งในกรุงเทพฯ จนถึงวันที่สิ้นสุดลงเป็นเวลาเกือบ 40 ปี และได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญของประเทศ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้เป็นที่หลบภัยของประชาชน และมีร่องรอยอันเป็นอนุสรณ์อย่างรอยกระสุนในห้องจำหน่ายตั๋ว อย่างที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย


ในช่วงเวลาสุดท้ายนั้น ได้มีคณะบุคคลหนึ่งรวมตัวกันจัดงานเพื่อเป็นอนุสรณ์ส่งท้ายศาลาเฉลิมไทย โดยจัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” จำนวนทั้งสิ้น 16 รอบ ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 12 มีนาคม 2532 ในการนี้ได้มีการจัดรอบมหากุศลเป็นการส่งท้ายในวันที่ 15 มีนาคม 2532 และออกอากาศสดทางไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าชมบันทึกการแสดงละครเวทีนี้ได้เช่นกัน ณ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด