สถานการณ์ภาพยนตร์ในเมืองไทยท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่ได้รับการตั้งชื่อในภายหลังว่าโรค “โควิด-19” ได้นำมาซึ่งความพลิกผันครั้งใหญ่ต่อวงการภาพยนตร์ เช่นเดียวกับทุกภาคส่วนในประเทศไทย เป็นวิกฤติการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยประสบมาก่อน หอภาพยนตร์จึงได้รวบรวมเรื่องราวดังกล่าวมาบันทึกไว้ นับตั้งแต่การระบาดในวงกว้างจนถึงปลายเดือนเมษายน ซึ่งสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด แต่ก็นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภาพยนตร์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ

-------------------------


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ปรับปรุงเนื้อหาจากฉบับที่เผยแพร่ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 57 พฤษภาคม-มิถุนายน 2563



เมื่อโรงหนังกลายเป็นที่เสี่ยงภัย


จากปลายกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคม เดือนที่มีประกาศพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คนแรกในเมืองไทยตั้งแต่วันที่ 1 ผลกระทบแรกจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อโรงภาพยนตร์คือ จำนวนผู้ชมที่ค่อย ๆ ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย เพราะโรงภาพยนตร์กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป แม้จะมีโปรโมชันลดราคาค่าเข้าชมออกมามากมายก็ตาม ในขณะเดียวกัน โรงหนังแต่ละโรงต่างก็เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยทางสุขอนามัยมากกว่าแค่ให้บริการเจลล้างมือ ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่ามีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้บริการ เช่นเดียวกับหอภาพยนตร์ที่ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส  และเริ่มตรวจคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม รวมถึงต้องประกาศยกเลิกกิจกรรมลานดารา เจษฎาภรณ์ ผลดี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเสี่ยงต่อการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก


แต่กระนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับการพบสถานที่แพร่ระบาดขนาดใหญ่ทั้งสถานบันเทิงในใจกลางกรุงเทพฯ และสนามมวยลุมพินี ในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก ในวันที่ 11 มีนาคม สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” หรือ Social Distancing ที่ต้องการให้ผู้คนอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1–2 เมตร เพื่อป้องกันการสัมผัสฝอยละอองอันอาจนำพาเชื้อไวรัสไปสู่กันและกัน ในช่วงนี้ จึงเกิดมิติใหม่ในการปรับตัวของโรงภาพยนตร์เพื่อสู้กับไวรัสที่มองไม่เห็น  ด้วยการเว้นที่นั่งภายในโรงให้ผู้ชมมีระยะห่างระหว่างกัน นำโดยโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ สามย่าน ที่เริ่มต้นกำหนดผังที่นั่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ตามมาด้วยโรงภาพยนตร์สกาลา และโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์


อย่างไรก็ตาม การจัดวางที่นั่งใหม่นี้มีอายุได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น เมื่อสถานการณ์ยังรุนแรงขึ้นและมียอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทะลุเกิน 100 คนเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 มีนาคม อีก 2 วันถัดมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบมาตรการตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม หนึ่งในนั้นคือการปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งรวมถึงโรงมหรสพ ตั้งแต่วันที่ 18–31 มีนาคม โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการตั้งแต่วันดังกล่าว เช่นเดียวกับหอภาพยนตร์



ภาพ : ผังที่นั่งใหม่ของโรงหนังเฮาส์

ที่มา : เพจ House Samyan


แม้มาตรการนี้จะครอบคลุมถึงแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ในช่วงแรกโรงภาพยนตร์ใหญ่อย่างเอส เอฟ ซีเนม่า ประกาศปิดแค่บางสาขาเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว แต่ต่อมาไม่นานก็ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปิดทุกสาขาทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สัปดาห์ต่อมา สถานการณ์ได้ยกระดับขึ้น เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเกิน 1,000 คน ในวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 อันมีผลจนถึง 30 เมษายน 2563 ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ทุกแห่งต้องขยายเวลาปิดทำการไปถึงสิ้นเดือนเมษายนไปโดยปริยาย


การปิดโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เคยหมุนเวียนหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องหยุดชะงักลง และเป็นโรงภาพยนตร์เองที่บาดเจ็บหนักที่สุด เพราะรายได้หลักเกือบทั้งหมดคือการที่ผู้ชมเดินทางมาดูหนัง ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องต้องห้าม  โรงหนังอิสระบางแห่งได้พยายามต่อลมหายใจ เช่น Bangkok Screening Room ที่ออกแพ็กเกจลดราคาบัตร 40% มีอายุ 12 เดือนนับตั้งแต่เปิดทำการอีกครั้ง หรือซิเนม่าโอเอซิส ซึ่งที่เจ้าของโรงคือ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ มานิต ศรีวานิชภูมิ ได้นำผลงานภาพยนตร์ของตนมาให้เช่าชมทางออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน โรงหนังที่เคยได้รับความนิยมมากในต่างจังหวัดอย่างธนาซีเนเพล็กซ์ ซึ่งก่อนหน้านี้คงเหลืออยู่ 3 สาขาที่นครปฐม พิษณุโลก และตาก กลับต้องตัดสินใจยุติกิจการชั่วคราว พร้อมกับบริษัทในเครือ ทั้งสายหนังธนาเอ็นเตอร์เทนเมนท์และค่ายหนังพระนครฟิลม์ รวมถึงปรับลดพนักงานลงกว่า 200 คน 


ผลกระทบต่อคนทำหนัง


สารพันปัญหาถาโถมบุคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยเมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เริ่มระบาดในวงกว้างตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


อันดับแรก หนังไทยจำนวนเกือบสิบเรื่องต้องเลื่อนวันฉาย ในหลายกรณียังไม่ได้กำหนดวันเข้าโรงใหม่ เริ่มต้นจาก เกมเมอร์ เกมแม่ หนังไทยเรื่องแรกที่ผู้สร้างตัดสินใจเลื่อนวันเข้าโรงจากต้นเดือนมีนาคมไปก่อน และ Love 101 เลิฟเลยร้อยเอ็ด หนังของดาราตลก หม่ำ เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา ทั้งสองเรื่องเป็นการตัดสินใจที่มาก่อนการประกาศปิดโรงภาพยนตร์ของทางการด้วยซ้ำ หลังจากรัฐบาลออกคำสั่งปิดโรงมหรสพตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม หนังใหม่หลายเรื่องต้องถอยกรูด ตั้งแต่หนังตลก หอแต๋วแตก พจมาน สว่างคาตา ตามมาด้วย มนต์รักดอกผักบุ้ง และ อีเรียมซิ่ง ซึ่งวางตัวเป็นหนังฟอร์มใหญ่ของเดือนเมษายน และตอนนี้ย้ายวันฉายไปเดือนกรกฎาคมแทน นอกจากนี้ยังมี เกมเซ่นผี, รักหนูมั้ย, ฮักเถิดเทิง และ One Take ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงหนังต่างประเทศจำนวนนับสิบ ๆ เรื่องที่ต้องเลื่อนวันออกฉายทั่วโลก เช่น James Bond: No Time To Die, Fast and Furious 9, Mulan, A Quiet Place 2 และอื่น ๆ อีกมาก  


ผลกระทบหลักของสถานการณ์โควิด-19 มีขึ้นต่อบุคลากรในส่วนการผลิตภาพยนตร์ หรือคนกองถ่ายหนัง โดยเมื่อกลางเดือนมีนาคม สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้งดการถ่ายทำภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และโฆษณา 


“การถ่ายทำภาพยนตร์, ละคร, ซีรีส์, โฆษณา ที่มีทีมงานในกองถ่ายเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อได้


เพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่นตามนโยบายและมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาล สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย จึงขอความร่วมมือให้ทุกกองที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์, ละคร, ซีรีส์, โฆษณา ในขณะนี้หยุดพักการถ่ายทำ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม 2563”


ถึงประกาศจะกำหนดวันที่ไว้เพียง 31 มีนาคม แต่ในทางปฏิบัติ กองถ่ายหนังยังคงถูกพักต่อเนื่องตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ต่อมาทางสมาคมผู้กำกับยังได้จัดทำข้อกำหนดมาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสในกองถ่ายภาพยนตร์และโทรทัศน์ (ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าเพียงการให้ล้างมือและใส่หน้ากากอนามัย) ข้อกำหนดดังกล่าวได้ถูกนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อประกาศใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรในช่วงหลายเดือนนับจากนี้เมื่อกองถ่ายกลับมาเปิดได้อีกครั้ง 



ภาพ : อนุชา บุญยวรรธนะ ตัวแทนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยร่วมทำ Face Shield ส่งให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน 

ที่มา : เพจสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย


การประกาศหยุดกองถ่ายในช่วงที่ผ่านมา ยังส่งผลทางเศรษฐกิจต่อคนทำงานจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ และได้รับค่าจ้างตามชิ้นงานหรือตามการออกกองถ่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีเสียงเรียกร้องจากคนทำงานบางส่วน ให้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา เช่นเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบในอุตสาหกรรมอื่น และเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ หรือฟิลิปปินส์ ที่เริ่มมีแนวทางจากรัฐฯ เพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะเพื่อช่วยเหลือคนทำงานที่ได้รับผลจากวิกฤตินี้ไปเต็ม ๆ การรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงของบุคคลในวงการ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในความพยายามฟื้นฟูธุรกิจภาพยนตร์ที่โดนไวรัสอัดจนซบเซาในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน วันที่ 16 เมษายน กระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ออกแบบสำรวจสถานะการได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐบาล มาให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของกระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกันแจ้งถึงผลกระทบที่ได้รับ 


ออนไลน์คือคำตอบ



ภาพ : Documentary Club เปิดให้บริการภาพยนตร์ออนไลน์

ที่มา : เพจ Documentary Club


เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม และการรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้าน กลายเป็นมาตรการหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โลกทั้งใบจึงจำต้องขับเคลื่อนด้วยช่องทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับข่าวสาร การทำงาน การประชุม รวมไปถึงการชมภาพยนตร์ 


ช่องภาพยนตร์สตรีมมิงเดิมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทยที่สุดอย่าง Netflix จึงย่อมได้รับผลกระทบในเชิงบวกอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งยังมีการโปรโมตหนังไทยที่เพิ่งมีให้บริการในช่องอีกหลายสิบเรื่อง เพื่อตอบสนองกลุ่มแฟนหนังไทยที่ไม่สามารถออกไปชมภาพยนตร์ได้ ในขณะเดียวกัน Netflix ก็ได้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนในวงการภาพยนตร์ทั่วโลกที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโรคโควิด-19


ช่องทางออนไลน์ยังกลายเป็นโอกาสในการอยู่รอดของผู้จัดจำหน่ายที่ไม่สามารถนำภาพยนตร์เข้าฉายได้ อย่างเช่นค่าย Hal และ Documentary Club ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายหนังอิสระที่ได้รับความนิยมจากแฟนหนังนอกกระแสในเมืองไทยช่วงหลายปีหลัง เมื่อโรงหนังจำต้องปิดตัว ทั้งสองค่ายได้นำภาพยนตร์ที่ตนซื้อลิขสิทธิ์ไว้ มาจัดจำหน่ายให้เลือกชมทางออนไลน์ผ่านช่อง Vimeo โดยภาพยนตร์ไทยเรื่อง กระบี่ 2562 ผลงานกำกับของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ และ เบน ริเวอร์ส ซึ่งเพิ่งเข้าฉายเมื่อต้นเดือนมีนาคม จากการจัดจำหน่ายของ Documentary Club ก็จำต้องย้ายมาฉายในช่องทางนี้ ต่อมา Documentary Club ยังนำโปรแกรมหนังสั้น/หนังสารคดีไทยเข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงปีล่าสุดที่เคยเตรียมฉายในโรง มาเปลี่ยนเป็นฉายออนไลน์แบบมีระยะเวลา (ลิงก์หมดอายุภายใน ๒๔ ชั่วโมง) รวมทั้งถ่ายทอดสดการเสวนากับคนทำหนังหลังชมภาพยนตร์ และจัดเทศกาลหนังปกาเกอะญอออนไลน์ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ระหว่างวันที่ 17-23 เมษายน นับเป็นโมเดลใหม่ ๆ ในการปรับตัวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้


ในส่วนของหอภาพยนตร์ ก็ได้นำภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์หลากหลายรูปแบบ รวมถึงหนังเรื่องยาว เช่น สันติ-วีณา (2497), เศรษฐีอนาถา (2499), เงิน เงิน เงิน (2508), ไอ้ทุย (2514) ฯลฯ ออกฉายในช่องยูทูบของหอภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหอภาพยนตร์และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ภาพยนตร์ทั่วโลก รวมถึงหนังสั้นอีกจำนวนมากที่ทยอยเผยแพร่ออกมาให้ชมทางออนไลน์อยู่เรื่อย ๆ แทบทุกวัน นอกจากนี้ยังมีการจัดรายการสดผ่านทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของบรรดาคนทำหนัง อันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางโลกภายนอกซึ่งแปรสภาพเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย โลกออนไลน์ที่ไวรัสโคโรนาไม่อาจเข้าไปได้จึงกลายเป็นสรวงสวรรค์ของนักดูหนังอย่างแท้จริง


ความเคลื่อนไหวในวงการภาพยนตร์โลก


ผลกระทบของโควิด-19 ต่อวงการภาพยนตร์ในต่างประเทศ เริ่มต้นที่เดียวกับที่ไวรัสเริ่มระบาดคือประเทศจีน เมื่อทางการสั่งปิดโรงภาพยนตร์ 70,000 โรงทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงก่อนตรุษจีน หรือปลายเดือนมกราคม ทั้ง ๆ ที่ช่วงตรุษจีนเป็นช่วงเวลาทองของหนังจีน และมีหนังใหญ่รอเข้าคิวฉายหลายเรื่อง ตลาดภาพยนตร์จีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา การปิดโรงหนังจึงเป็นสัญญาณบอกเหตุที่ทำให้ทุกคนในวงการหนังเริ่มจับตามอง






ต่อมาเมื่อโรคโควิด-19 ลุกลามไปสู่ยุโรปและอเมริกา แทบทุกประเทศสั่งปิดโรงภาพยนตร์ในเมืองใหญ่ของตน ในขณะที่กองถ่ายหนังถูกสั่งหยุดงานไม่เว้นแม้แต่กองของ Netflix และเมื่ออเมริกามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแซงทุกประเทศในโลกเมื่อต้นเดือนเมษายน โรงงานภาพยนตร์อันดับหนึ่งของโลกอย่างฮอลลีวูดต้องหยุดพักยาว หนังใหญ่ ๆ ถูกเลื่อนฉายหมด ถึงกับมีการคาดการว่าบริษัท AMC เจ้าของเครือข่ายโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาอาจประสบภาวะทางการเงินขั้นวิกฤติหากสถานการณ์ยังไม่กระเตื้องขึ้นในเร็ว ๆ นี้


ดาราฮอลลีวูดคนแรกที่ติดเชื้อ คือ ทอม แฮงส์ และภรรยา ริตา วิลสัน ติดเชื้อเมื่อประมาณวันที่ 11 มีนาคม และกลายเป็นข่าวใหญ่อันทำให้ทุกคนเกิดความตระหนกว่าเชื้อนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางแล้ว และยังมีดาราคนอื่น ๆ ที่ติดเชื้อ เช่น อิดริส เอลบา, โอลกา คูริเลนโก และนักร้อง-นักแสดง Pink  


ข่าวสำคัญที่ตามมาในเดือนมีนาคมเช่นกัน คือการที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประกาศเลื่อนการจัดงานออกไปจากเดิมที่จัดกันมาทุกปีในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม การตัดสินใจของคานส์ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายนัก เพราะขณะนั้นไวรัสกำลังเล่นงานประเทศในยุโรปจนสะบักสะบอม แต่เมื่อมีประกาศออกมาจริง ๆ วงการหนังโลกต้องระส่ำระสายเนื่องจากคานส์เป็นหัวใจที่สูบฉีดเลือดให้กับบรรดาผู้สร้างและผู้จัดจำหน่ายหนังในโลก ด้วยเพราะตลาดหนังเมืองคานส์เป็นตลาดใหญ่ที่สุดและมีการทำธุรกิจซื้อขายหนังกันอย่างคึกคักที่สุด ไม่รวมถึงการประกวดหนังที่เป็นเวทีให้กับหนังอาร์ตและหนังจากประเทศต่าง ๆ ในโลก การสะดุดของคานส์ในปีนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนธุรกิจและบุคลากรในวงการภาพยนตร์อย่างสาหัส เพราะนั่นจะทำให้วงจรการเงิน การหาทุน การถ่ายเทหนังใหม่ ๆ ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ต้องชะงัก


นอกจากเทศกาลคานส์แล้ว เทศกาลหนังขนาดกลางและเล็กอื่น ๆ ก็ยกเลิกกันถ้วนหน้า ทั้งเทศกาล South by Southwest ในอเมริกา เทศกาล Sheffield Documentary Film Festival ในอังกฤษ และเทศกาลหนังทดลอง Oberhausen Film Festival ในเยอรมนี ถึงขณะนี้ต้องรอดูว่า เทศกาลเวนิส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ของโลกที่จัดทุกเดือนสิงหาคมทางตอนเหนือของอิตาลี จะยืนระยะได้หรือไม่ เพราะล่าสุดเทศกาลก็ประกาศมาแล้วว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวทันเวลาและงานจะไม่ยกเลิก ส่วนหากเกิดขึ้นจริงแล้วคนจะมาเข้าร่วมหนาแน่นเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยังต้องรอดู

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 เมษายน มีการประกาศข่าวสำคัญว่าด้วยการจัดเทศกาลหนังออนไลน์ We Are One: A Global Film Festival หัวเรือผู้จัดคือ Tribeca Enterprises ในนิวยอร์ก โดยจะจัดฉายหนังและมีกิจกรรมที่เหมือนกับเทศกาลภาพยนตร์อื่น ๆ ทางช่อง YouTube เปิดให้ชมฟรีทั่วโลกเพื่อระดมทุนช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุขของ World Health Organization ที่สำคัญคือ มีเทศกาลดัง ๆ ในโลกร่วมจัดโปรแกรมด้วย ทั้งเทศกาลคานส์ เบอร์ลิน โตรอนโต ซันแดนซ์ ไทรเบคกา เวนิส และอื่น ๆ อีกนับ 20 เทศกาล นับเป็นครั้งแรกที่เทศกาลหนังใหญ่ ๆ รวมตัวกันมากมายขนาดนี้และยอมฉายหนังทางช่องทางออนไลน์ ตอนนี้รายชื่อหนังและรายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่ถูกเปิดเผย แต่เชื่อว่านี่จะเป็นงานเทศกาลหนังที่จะมีคนเข้าร่วมมากที่สุดในโลกอย่างแน่นอน งานจะมีตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 7 มิถุนายน

 

นี่แสดงให้เห็นว่า ช่องทางออนไลน์จะเป็นทางรอดทางเดียวของวงการหนังทั้งไทยและเทศในช่วงเวลานี้ ส่วนจะถึงขั้นมาทดแทนช่องทางฉายปกติเลยหรือไม่ จะทำให้โรงหนังเป็นสถานที่ "ล้าสมัย" หรือเปล่า นี่เป็นคำถามสำคัญทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และปรัชญา ที่คนทั้งโลก ไม่ว่าในฐานะผู้ชม คนทำหนัง นักอนุรักษ์ หรือโปรแกรมเมอร์ จะต้องร่วมกันหาคำตอบในอนาคตอันใกล้เมื่อสถานการณ์ไวรัสผ่านพ้นไป 


อดีตและอนาคตของภาพยนตร์เมื่อเผชิญวิกฤติภัยในทัศนะของ โดม สุขวงศ์



ภาพ : โดม สุขวงศ์ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์


“ไข้หวัดใหญ่สเปน ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นโรคระบาดใหญ่ครั้งแรกเมื่อโลกมีภาพยนตร์แล้ว  สยามเวลาในนั้นก็มีการระบาด แต่เท่าที่เช็กข้อมูลที่เคยค้นคว้า ไม่พบว่าตอนนั้นมีการปิดโรงหนัง  ต่างประเทศอาจจะปิด จากรูปที่เห็นผู้คนต้องใส่หน้ากาก


“โรงหนังในเมืองไทยปิดจริง ๆ ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นสนามรบ ถูกทิ้งระเบิด ไฟฟ้าดับ แต่โรงหนังก็พยายามยืนหยัดฉายหนังจนหนังไม่มีฉาย มันไม่มีหนังอเมริกัน หนังอังกฤษเข้ามา มีแต่หนังญี่ปุ่นกับเยอรมันบ้าง แต่ไม่เยอะ จริง ๆ รัฐบาลไม่ต้องการให้โรงหนังปิด ต้องการให้คนได้ผ่อนคลาย เมื่อไม่มีหนัง รัฐจึงสนับสนุนให้มีละครเวที หรือรีวิวเป็นดนตรีสลับฉาก เพื่อกล่อมขวัญประชาชน ซึ่งส่วนมากก็เข้าไปเล่นในโรงหนัง 


“หลัง 14 ตุลา ยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดปัญหาเศรษฐกิจ น้ำมันแพง มีการรณรงค์ให้ประหยัดไฟ เปิดไฟถนนดวงเว้นดวง โรงหนังแม้ไม่ได้ถูกสั่งปิด แต่ก็ถูกสั่งลดรอบ คนในวงการภาพยนตร์จึงออกมารวมตัวกันประท้วง นำโดยสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ยุคนั้นการเดินขบวนเป็นเรื่องปรกติ แต่สักพักรัฐบาลก็ผ่อนมาตรการ


“ที่ผมเคยบอกว่านับตั้งแต่พี่น้องลูมิแอร์ฉายหนังขึ้นจอเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เตาฉายหนังบนโลกไม่เคยดับ เพราะทุกวินาทีมีการฉายหนังอยู่เสมอ ณ ที่ใดที่หนึ่ง  ก็เป็นไปได้ว่าโรคระบาดคราวนี้อาจเป็นครั้งแรกที่ทำให้เตาเครื่องฉายดับทั่วโลก แต่มันก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือถือ ในอินเตอร์เน็ต เป็นไฟอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องฉาย แต่เปล่งแสงขึ้นมาได้เอง มันเปลี่ยนวัตถุไปเท่านั้นเอง แต่สปิริตยังอยู่ อาจทำให้คนดูหนังมากขึ้นด้วยซ้ำเมื่อต้องอยู่บ้าน


“คำถามว่า อนาคตจะเป็นยังไง มันก็คิดได้สองแบบ ถ้าจบในระยะใกล้ พอโรงหนังกลับมาคนก็ต้องคิดถึง แต่ถ้าหยุดยาวจนข้ามปี คนอาจจะชินกับการที่ไม่ต้องไปดูหนังที่โรง แต่ผมก็ยังคิดว่า โรงหนังเป็นกิจกรรมสังคม สำหรับไปดูกับเพื่อน ไปแสดงตัวในสังคม ไม่เหมือนนั่งดูคนเดียวในบ้าน เพราะฉะนั้นมันยังมีความจำเป็น เราไม่เชื่อว่ามันจะหมดยุคหายไปเลย อาจจะซบเซาแล้วกลับมา เหมือนแผ่นเสียง ที่ตอนแรกคิดว่าแค่กลับมาเล่น ๆ ตอนนี้กลับมีการผลิตของใหม่ออกมา หรืออย่างฟิล์ม โกดักก็กลับมาผลิตใหม่”   

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด