ภาพยนตร์และจินตภาพแห่งสภาวะวิกฤติ

ท่ามกลางสถานการณ์โรคไวรัสระบาด ขอแนะนำหนังสือและองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์และจินตนาการของคนสร้างหนังต่อสถานการณ์วิกฤติรูปแบบต่าง ๆ ที่ท้าทายมนุษยชาติ

---------------

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาและโรคโควิด-19 เป็นภัยคุกคามที่สั่นสะเทือนวงการภาพยนตร์ในทุกระดับ และในทุกพื้นที่ของโลก นับได้ว่าเป็นสภาวะวิกฤติที่ส่งผลต่อทั้งคนสร้างหนัง โรงหนัง และบุคลากรในวงการทุกประเภท เป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมายและอาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งในช่วงชีวิตเท่านั้น 

ในเชิงประวัติศาสตร์ คำถามคือภาพยนตร์มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ความหายนะ ภัยพิบัติ โรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม หรือกระทั่งวันสิ้นโลกอย่างไร ทั้งในภาพยนตร์ที่อิงจากสภาพความจริงและที่เป็นจินตนาการ หอภาพยนตร์ขอแนะนำหนังสือหลายเล่มในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่ว่าด้วยเรื่องราวของภาพยนตร์กับสภาวการณ์ยากลำบากในรูปแบบต่าง ๆ กัน ถึงแม้หนังสือเหล่านี้จะใช้ตัวอย่างจากต่างประเทศเป็นหลัก (งานศึกษาของไทยในประเด็นนี้แทบยังไม่เห็น) แต่เรื่องราวจากข้อเขียนเหล่านี้ล้วนให้ข้อคิดอันน่าสนใจต่อผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และการตีความหายนะที่มนุษย์ประสบในแง่มุมต่าง ๆ

หายนะทางเศรษฐกิจและสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังสือเล่มแรกที่ขอแนะนำคือ Cartoons in Hard Times: The Animated Shorts of Disney and Warner Brothers in Depression and War 1932-1945 ตามที่ชื่อเรื่องว่าไว้ นี่เป็นงานวิเคราะห์หนังการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ และวอร์เนอร์ ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 


ผู้เขียนคือ Tracey Louise Mollet ย้อนไปดูความสัมพันธ์ระหว่างหนังแอนิเมชันยุคแรกกับวิกฤติเศรษฐกิจ และกับนโยบาย The New Deal ของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ตัวอย่างของการ์ตูนในช่วงนี้เช่น Mickey’s Nightmare (1932) ซึ่งมิกกี้ เมาส์ และภรรยา มินนี่ เผชิญกับฝันร้ายเมื่อ “ความฝันแบบอเมริกันชนชั้นกลาง” กลายเป็นภาระของการหาเลี้ยงลูก ๆ และการกระเสือกกระสนเพื่อมีชีวิตรอด การ์ตูนอีกเรื่องที่เป็นตัวอย่างในงานศึกษานี้คือ The Three Little Pigs (1933) อันเป็นการ์ตูนที่นักประวัติศาสตร์สนใจตีความมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งการถกเถียงว่าการต่อสู้ของลูกหมูสามตัวกับหมาป่าใจร้าย เป็นการตอกย้ำค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมที่เน้นการพึ่งพาตัวเองของปัจเจก หรือเป็นการแสดงถึงความปรีดาที่อเมริกาในตอนนั้นได้ประธานาธิบดีคนใหม่ (รูสเวลต์) ที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ส่วนการ์ตูนเรื่อง The Wise Little Hen (1934) ถูกตีความว่าโยงใยถึงนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาลและการช่วยเหลือเกษตรกรในชนบทในช่วงเวลาแห่งความแร้นแค้น โดยรวมหนังสือทำให้เห็นว่า หนังการ์ตูนที่เรามักคิดว่ามีแต่ความชวนหัวและดูเพื่อฆ่าเวลา จริง ๆ แล้วเชื่อมโยงกับสภาวะจิตใจและบรรยากาศทางการเมืองของสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง


หนังสือเล่มถัดมา พูดถึงหายนะของสงครามแบบตรง ๆ Britain Can Take It: British Cinema in the Second World War โดย Anthony Aldgate และ Jeffrey Richards ศึกษาวงการภาพยนตร์อังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือ ถึงแม้เมื่อเกิดสงคราม โรงหนังในอังกฤษจะถูกสั่งปิด (เหมือนตอนนี้ที่แทบทั้งโลกเผชิญ) และจำนวนหนังอังกฤษที่ออกฉายก็ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 ถึงกลางทศวรรษ 1940 แต่กลายเป็นว่าจำนวนคนดูหนังกลับเยอะขึ้น จนเกือบจะเป็น “ยุคทอง” ของโรงภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งผู้เขียนเชื่อว่า อาจจะเพราะมหรสพอื่น ๆ ซบเซาลงไป 


หนังสือเล่มนี้ยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับกระทรวงข่าวสาร ว่าง่าย ๆ คือบทบาทของหนังในฐานะโฆษณาชวนเชื่อในยามสงคราม ทั้งการสร้างขวัญกำลังใจให้พลเรือนและการโจมตีศัตรูทางจิตวิทยา นอกจากนี้คนทำหนังยังสร้างหนังปลุกใจออกมามากมายในช่วงนี้ เช่น The Lion Has Wings (1939), 49th Parallel (1941), The Young Mr. Pitt (1942) และอื่น ๆ อีกมาก


โรคระบาดและซอมบี้

หลังจากนี้ไม่นานเราอาจจะได้ดูภาพยนตร์ที่มีวิกฤติโควิดเป็นฉากหลัง แต่ที่ผ่านมา โรคร้ายที่ดูเหมือนจะได้รับการพูดถึงในภาพยนตร์มากที่สุดน่าจะเป็นโรคเอดส์ ด้วยเพราะความที่เป็นโรคใหม่ในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นโรคที่ตอนนั้นยังไม่มียารักษา แถมยังเป็นโรคที่มีภาพพจน์น่ากลัวและเกี่ยวพันกับพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก


หนังสือ The AIDS Movie: Representing a Pandemic in Film and Television เขียนโดย Kylo-Patrick R. Hart และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 เป็นงานศึกษาในศาสตร์สื่อสารมวลชนและมนุษยศาสตร์ ถึงการเสนอภาพผู้ป่วยโรคเอชไอวีหรือเอดส์ในภาพยนตร์อเมริกัน (ซึ่งบางอย่างดูคลับคล้ายคลับคลากับสถานการณ์โรคโควิดในปัจจุบัน) ทฤษฎีหนึ่งที่ผู้เขียนใช้คือแนวคิดว่าด้วย “การเป็นอื่น” (Otherness) หรือการกีดกันผู้ป่วยให้เป็น “พวกเขา” อันต่างจาก “พวกเรา” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มักเกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว อีกบทวิเคราะห์พูดถึงผู้ติดเชื้อที่เป็นเกย์ และการถูกโดดเดี่ยวแปลกแยกโดยครอบครัวและสังคม หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างหนังอเมริกันมากมาย ส่วนใหญ่เป็นหนังในช่วงทศวรรษที่ 1990 ขณะที่โรคเอดส์เป็นภัยคุกคามของทั้งโลก เช่น Longtime Companion (1990), Phildelphia (1993), Boys on the Side (1995), And the Band Played On (1993), Kids (1995), Something to Live For (1992) และอื่น ๆ อีกมาก ถึงแม้หนังสือจะไม่ได้พูดถึงหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ แต่การจับทฤษฎีเชิงโครงสร้างทำให้เกิดความเข้าใจในภาพใหญ่


ถัดมา โรคระบาดอีกแบบที่ไม่ได้ถูกรองรับทางวิทยาศาสตร์และเป็นเชื้อที่นิยมแพร่กันมากในภาพยนตร์ คือโรคระบาดซอมบี้ หนังสือ Zombies: A Cultural History โดย Roger Luckhurst ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2015 ถึงแม้หนังซอมบี้จะฮิตต่อเนื่องในช่วงสี่ห้าปีหลัง ทั้งในหนังโรงและซีรีส์ แต่หนังสือเล่มนี้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ทางสังคมและจุดกำเนิดของผีดิบที่แพร่เชื้อได้  ผ่านแว่นหลากหลายมิติทั้งทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ


หนังสือวิเคราะห์ปรากฏการณ์ซอมบี้ในสื่อภาพยนตร์ โดยย้อนไปถึงการกำเนิดซอมบี้ในประเทศยากจนอย่างเฮติ (เมื่อทาสถูกฟื้นชีพด้วยมนตร์ดำเพื่อให้กลับมาทำงานถึงแม้จะตายไปแล้ว) โยงใยไปถึงการที่ซอมบี้เป็นปฏิกิริยาต่อต้านระบอบอาณานิคมและการใช้แรงงานทาส อ้างอิงไปถึงคาร์ล มาร์กซ์ และการที่ระบบบริโภคนิยมสุดโต่งสร้างปีศาจขึ้นมาในหมู่มวลประชาชนด้วยกันเอง ผู้เขียนยังพูดถึงหนังซอมบี้เรื่องแรก White Zombies (1932) ไล่เรียงมาถึงหนังแดรกคูลา ลงมาถึงบิดาแห่งหนังซอมบี้ในยุค 1970 จอร์จ โรเมโร ที่สร้างหนังซอมบี้คลาสสิกอย่าง Night of the Living Dead (1968) และ Dawn of the Dead (1978) อีกทั้งยังมีบทที่ว่าด้วยหนังซอมบี้ในประเทศอื่น ๆ อย่างอิตาลีและญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นงานศึกษาที่ครอบคลุมแต่ก็ไม่เยิ่นเย้อ และไม่ใช่เป็นงานวิชาการจ๋าจนอ่านไม่สนุก


วันสิ้นโลก

ภาพยนตร์จินตนาการวันสิ้นโลกไว้หลากหลายแบบ ทั้งที่มาจากความหวาดกลัวอันมีเหตุผล และจากความตระหนกที่มาจากฝันร้ายล้วน ๆ เช่น โลกจะแตกด้วยไวรัสที่ไร้ทางรักษา ซอมบี้ล้างโลก ภัยสงครามนิวเคลียร์ อุกาบาตถล่ม แผ่นดินไหวรุนแรง น้ำท่วมกลืนทุกสิ่ง หรือแม้แต่มนุษย์ต่างดาวบุก ฯลฯ


Apocalypse in Contemporary Japanese Science Fiction โดย Motoko Tanaka พาเราย้อนดูจินตนาการวันสิ้นโลกในหนังญี่ปุ่น ตรวจสอบประวัติศาสตร์ของฝันร้ายแบบเอเชียตั้งแต่ยุคโบราณ จนมาถึงยุคสงครามโลก ที่ญี่ปุ่นหลังโดนระเบิดนิวเคลียร์เข้าใกล้สภาพวันสิ้นโลกจริง ๆ อย่างที่ไม่มีประเทศใดมีประสบการณ์เทียบเคียงได้ ผู้เขียนพูดถึงปรากฏการณ์ผ่านหนัง การ์ตูน และเรื่องเล่าต่าง ๆ ทั้ง Gojira (1954), Akira (1988), The End of Evangelion (1997) รวมทั้งนิยายเรื่องดังของฮารูกิ มูราคามิ Hard-boiled Wonderland and the End of the World 


สุดท้ายที่เราจะแนะนำคือ Film on the Faultline ที่มี Alan Wright เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้พูดถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเน้นไปที่แผ่นดินไหว เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติและความสัมพันธ์กับสื่อภาพยนตร์ รวมทั้งบาดแผลทางความทรงจำที่ภัยพิบัติสร้างขึ้น และถูกถ่ายทอดอีกครั้งผ่านทางภาพยนตร์


ในช่วงนี้ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ยังคงปิดให้บริการเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปรกติห้องสมุดฯ จะกลับมาเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00–17.00 น. เว้นวันหยุดราชการ เพื่อความสะดวกผู้ใช้บริการสามารถนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 02 482 2014 ต่อ 104 หรือ 121 เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและจัดเตรียมข้อมูลให้กับท่านในวันที่ท่านมาใช้บริการ

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด