จอน อึ๊งภากรณ์ กับเบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า

ความเป็นมาของภาพยนตร์บันทึกการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า เมื่อปี พ.ศ. 2518-2519 สร้างโดย จอน อึ๊งภากรณ์ และเพื่อน ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่เคยถ่ายหนังมาก่อน แต่กลับกลายเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ และหนังสารคดีที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์แรงงานไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย

----------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู



ภายหลังชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนในการต่อสู้กับเผด็จการทหารเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” เมื่อบรรยากาศการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพได้แผ่ขยายไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมอย่างคึกคักและต่อเนื่อง ก่อนที่ทุกอย่างจะต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 


หนึ่งในการต่อสู้ที่ได้รับความสนใจที่สุดในยุคทองของเสรีภาพอันแสนสั้นนี้ คือ การนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า ตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เมื่อเดือนตุลาคม 2518 เพื่อขอขึ้นค่าแรงและให้นายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแล ซ้ำยังมีคำสั่งไล่ผู้ประท้วงออก การเรียกร้องจึงบานปลายไปสู่การยึดโรงงานเพื่อผลิตเสื้อผ้าออกมาเองของบรรดาคนงาน โดยขายหุ้นให้ประชาชน และขายสินค้าในราคาถูก ตั้งชื่อโรงงานว่า “สามัคคีกรรมกร

ภาพ : บรรยากาศในโรงงานสามัคคีกรรมกร



ระหว่างการต่อสู้อันยืดเยื้อดุเดือด กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวน 4 คน ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นสำหรับฟิล์ม 8 มม. แบบซูเปอร์ 8 ไปบันทึกภาพและสัมภาษณ์กรรมกรในโรงงาน โดยที่ไม่มีใครมีประสบการณ์การถ่ายทำภาพยนตร์กันมาก่อน และคงไม่ได้คิดว่าวันหนึ่ง ผลงานชิ้นนี้จะกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของไทยเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา 


จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในทีมผู้สร้าง ได้เล่าถึงเบื้องหลังของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไว้ในงานวันหนังบ้าน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2558  ที่หอภาพยนตร์ ว่า “ช่วงนั้นผมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาจารย์ 6 สถาบันนะครับ จากการทำงานในสภาคณาจารย์ ในตอนนั้นผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และก็มีเพื่อนอาจารย์เป็นกลุ่มศึกษาร่วมกัน และติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ  


“เดิมคุณแม่ผมเป็นคนชอบถ่ายหนัง 8 มม. ธรรมดา ไม่มีเสียง ตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็ก ๆ พอผมทราบเรื่องเกี่ยวกับหนังซูเปอร์เอจ ก็เลยขอคุณพ่อว่า ไปต่างประเทศช่วยซื้อกล้องมาให้หน่อยได้ไหม  จำไม่ได้ว่าบอกว่าจะผ่อนให้ หรือไม่ผ่อน คุณพ่อก็ไปเอามาให้ คิดว่าเป็นยี่ห้อ Sankyo นะครับราคาประมาณสี่พันบาท แล้วผมก็กะว่าช่วงนั้นก็จะใช้ร่วมกัน ถ้ามีเหตุการณ์อะไร ใครอยากจะถ่ายอะไรก็ไปถ่าย



ภาพ : กล่องฟิล์มภาพยนตร์การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าของ จอน อึ๊งภากรณ์ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

“แต่พอทีนี้ เพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ชื่ออาจารย์สุดาทิพย์ อินทร เป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์สมัยนั้น เชิญผมเข้าไปดูในโรงงานฮาร่า ซึ่งน่าสนใจมาก เข้าไปดูแล้วคนงานเขาจัดระบบการผลิตของเขาเอง แล้ววันเสาร์อาทิตย์ เขาจะไปขายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขายกางเกงยีนส์ คล้าย ๆ แบบเดียวกับที่เขาเคยผลิตให้กับนายจ้าง แต่สมัยนั้นเขาถูกนายจ้างรังแกหลายอย่าง ผมเลยร่วมกับอาจารย์สุดาทิพย์ และก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ท่าน อาจารย์สมโภช กับอาจารย์ลาวัลย์ อุปอินทร์ ร่วมกันผลิตหนังเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีประสบการณ์มาก่อน  ถ้าดูการตัดต่อดูอะไรต่ออะไร ก็จะเห็นว่าเป็นแบบสมัครเล่นมาก ๆ เลยนะครับ แต่คิดว่า ประโยชน์อยู่ที่ว่าอย่างน้อยได้เก็บบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์


“ส่วนตัวหนังนั้นถ้าจำไม่ผิดจะต้องไปส่งที่โกดัก สมัยนั้นผมเข้าใจว่าล้างที่ออสเตรเลีย แล้วกลับมายังไงผมก็จำไม่ได้ว่าเข้าไปรับที่ร้านหรือเขาส่งถึงบ้าน หลังจากนั้น ผมได้ขอคุณพ่อช่วยหาเครื่องตัดต่อ เครื่องฉาย ซึ่งมันแพงกว่ากล้องนะครับ เครื่องฉายเครื่องตัดต่อนั้นราคาเข้าใจว่าเกือบหนึ่งหมื่นบาทในสมัยนั้น ตอนนี้ก็คงเป็นสองสามหมื่นบาท แต่อย่างน้อยก็ถือว่าสามารถที่จะพอซื้อได้ ถ้าเทียบกับเครื่อง 16 มม. หรืออย่างอื่น คงไม่มีปัญญาที่จะใช้ และผมก็ได้ร่วมกับอาจารย์อีก 3 ท่าน ตัดต่อหนังเรื่องนี้ขึ้นมา


“ผมเป็นคนตัดต่อเป็นหลัก ส่วนการสัมภาษณ์นั้นอาจารย์สุดาทิพย์เป็นคนดูแล เขาเป็นคนเตรียมกับคนงาน ว่าจะถามอะไรบ้าง ก็สัมภาษณ์ไป ด้านอาจารย์ลาวัลย์ อาจารย์สมโภช จะช่วยกันเรื่องสคริปต์ แล้วอาจารย์สมโภชก็เป็นคนอ่านเป็นผู้บรรยายในภาพยนตร์”


ในภาพยนตร์ เหตุการณ์จะแบ่งเป็น 2 ช่วงหลัก ๆ ช่วงแรกเป็นช่วงที่บรรดากรรมกรหญิงเข้ายึดโรงงานได้แล้ว ซึ่งคณะผู้สร้างได้ให้คนงานนำโดย ชอเกียง แซ่ฉั่ว และ นิยม ขันโท ผู้นำในการประท้วง ร่วมกันบอกเล่าถึงการต่อสู้ตั้งแต่เริ่มต้น และสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอย่างแสนสาหัส โดยบันทึกเสียงสดระหว่างสัมภาษณ์ และนำไปเติมเสียงดนตรีกับเสียงบรรยายในภายหลัง นอกจากนี้ จอนซึ่งลงทุนซื้อฟิล์มเอง ยังตามไปเก็บภาพที่พวกเธอนำเสื้อผ้าไปขายที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงได้บันทึกภาพช่วงเวลาที่มีพลังที่สุดช่วงหนึ่งของหนัง นั่นคือ ภาพขณะที่วง “กรรมาชน” วงดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กำลังร้องเพลงขับกล่อมบรรดากรรมกรหญิงหลายสิบคนที่ก้มหน้าตรากตรำผลิตสินค้าเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเธอ ในโรงงานที่ยึดครองมาจากการขูดรีดของนายจ้าง


ภาพ : ชอเกียง แซ่ฉั่ว และ นิยม ขันโท ผู้นำการต่อสู้กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า


“เวลาถ่ายมีกล้องตัวเดียว เพราะฉะนั้นเพลงนี้ ก็ถ่ายแบบต่อเนื่องเลย คือถ่ายแบบหันกล้องไปทางนู้นบ้างหันไปทางนี้บ้าง และมันก็มีเรื่องแปลกๆ ที่ไม่คาดเช่น เด็กตีหัวกัน ระหว่างที่กำลังดู หรือคนเย็บผ้าก็ลุกขึ้นมาเอากรรไกรมาวาง สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรเตรียมไว้ คือถ่ายแบบธรรมชาติ


“ช่วงแรกนี้ถ่ายไม่น่าจะเกินอาทิตย์กว่านะครับ คือช่วงที่หนึ่ง แต่ว่าเคยกลับไปฉายให้เขาดูในโรงงาน ฉายครั้งแรกก็คือฉายในโรงงานนี้ ฉายให้คนงานดู และก็ในโรงงานนั้นมีนักศึกษาที่สนับสนุนก็คือคุณวนิดา หรือ คุณมด  (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์  นักต่อสู้เพื่อประชาชนคนสำคัญของไทยผู้ล่วงลับ– ผู้เขียน) เป็นนักศึกษาที่ไปช่วยคนงานในเรื่องนี้ ซึ่งสนิทสนมกับคนงานฮาร่าทุกคน”


เมื่อล่วงเข้าสู่ปี 2519 ท่ามกลางบรรยากาศการต่อต้านของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ วันที่ 13 มีนาคม ตำรวจได้เข้าไปบุกจับกุมนักศึกษาและกรรมกร เพื่อยึดโรงงานคืน จอนและเพื่อน ๆ อาจารย์ จึงได้กลับไปสัมภาษณ์คนงานอีกครั้งถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกลายเป็นช่วงที่ 2 ของสารคดี ในขณะที่การตัดต่อหนังก็เป็นไปอย่างยากลำบาก 


“สมัยนั้นมันมีบรรยากาศเหมือนกันนะ ผมไม่สะดวกตัดต่อที่บ้าน ก็ไปตัดต่อที่บ้านเพื่อน แต่บ้านเพื่อน พอเขาเริ่มมาเห็นว่าเป็นเรื่องอะไร เขาก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะระหว่างตัดต่อเสียงมันออก คือมันจะได้ยินเสียงตลอดเวลาตัดต่อ รู้สึกจะต้องไปตัดต่อรวมทั้งหมดสองสามที่”


ภาพยนตร์จบลงด้วยภาพกรรมกรหญิงร่วมกันร้องเพลงปลุกใจ ในขณะที่การเจรจาฟ้องร้องกับนายจ้างยังไม่สิ้นสุด สิ่งแรกที่ผู้ชมถามจอนหลังชมหนังสารคดีเรื่องนี้จบในงานวันหนังบ้านเมื่อ 5 ปีก่อน จึงเป็นคำถามว่า สุดท้ายใครเป็นผู้ชนะ ซึ่งจอนตอบว่า “คงไม่มีใครชนะนะครับ ในที่สุดลูกจ้างก็ไม่ได้กลับเข้าทำงาน แล้วก็หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาบางส่วนก็ไปเข้าป่ากับนิสิตนักศึกษา  อีกส่วนหนึ่ง เช่น คุณชอเกียง  เข้าใจว่าเขาไปทำกิจการเล็กๆ ของเขาเองที่บ้าน และคนงานบางส่วนก็มาเย็บผ้าเหมือนกัน แต่ว่ายังไงก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่โรงงานเดิม”


ในขณะที่ตัวจอนเองนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากกรณี 6 ตุลาไม่น้อยกว่าใคร พ่อของเขา - ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เป็นคนซื้อกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์จนทำให้เกิดหนังสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมา ในตอนนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ ก็ต้องลี้ภัยไปในวันที่เกิดการนองเลือด  โดยก่อนหน้านั้นจอนได้ไปเยี่ยมแม่ คือ มาร์กาเร็ต สมิธ ที่ประเทศอังกฤษ เขาจึงจำต้องอยู่ที่นั่นยาว ก่อนที่จะได้กลับเมืองไทย เมื่อประมาณปี 2523 และได้พบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง แต่กล้องซูเปอร์ 8 ซึ่งสุดท้ายแล้วได้ใช้ถ่ายเพียงเรื่องเดียวนั้น จอนได้ฝากไว้ที่นักศึกษาที่สนิทก่อนจะจากเมืองไทยไป แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่ากล้องประวัติศาสตร์ตัวนี้ได้ตกไปอยู่ที่ใด

ภาพที่ 1 :  บรรยากาศการจัดฉายที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เมื่อ พ.ศ. 2537

ภาพที่ 2 : (ผู้หญิงจากซ้าย) นิยม ขันโท,ชอเกียง แซ่ฉั่ว, อดีตเพื่อนกรรมกร และวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย


ด้วยความผันผวนทางการเมือง ภาพยนตร์บันทึกการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า จึงถูกเก็บงำไว้ไม่ได้ฉายที่ไทยในวงกว้าง โดยบางส่วนของภาพยนตร์นั้นได้รับการตัดต่อรวมในภาพยนตร์สารคดีของญี่ปุ่นปี 2520 ที่เล่าถึงบรรยากาศการเมืองไทยระหว่างกรณี 14 ตุลา– 6 ตุลา 19 เรื่อง THEY WILL NEVER FORGET  จนกระทั่งวันที่ 24 สิงหาคม 2537 หอภาพยนตร์จึงได้รับการแนะนำจาก ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน ถึงการมีอยู่ของหนังนี้ และประสานการติดต่อ จนได้รับมอบฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้จาก จอน อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ที่เขาเคยใช้ในการบันทึกเสียงและฉายให้กรรมกรดู 


ในปีเดียวกันนั้นเอง หอภาพยนตร์ ได้นำหนังสารคดีนี้ไปฉายในกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยมี ชอเกียง แซ่ฉั่ว กับ นิยม ขันโท และอดีตเพื่อนร่วมโรงงานสามัคคีกรรมกร รวมถึง วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ มาร่วมชมเพื่อรำลึกความหลัง นับเป็นการฉายอย่างเป็นทางการครั้งแรก ๆ ของภาพยนตร์สารคดีที่ทั้งบันทึกประวัติศาสตร์และกลายเป็นประวัติศาสตร์ในตัวเอง พร้อมได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติในเวลาต่อมา ในขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ แม้จะทำหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แต่จิตวิญญาณนักต่อสู้เพื่อสิทธิประชาชนของเขาก็ยังสืบสานออกมาให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่องในผลงานด้านอื่น ๆ ตราบจนทุกวันนี้


จากจุดเริ่มต้นของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการบันทึกเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ด้วยฟิล์มภาพยนตร์ขนาดเล็กเพียง 8 มิลลิเมตร ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้หลอมรวมกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวแห่งสัจธรรมที่มีพลังมหาศาล และเป็นประจักษ์พยานของการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แรงงานไทยและประวัติศาสตร์การเมืองไทย


คลิกชมจอน อึ๊งภากรณ์ คุยเรื่องการต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าในงานวันหนังบ้านครั้งที่ 8 เสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2558


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด