โรคระบาดในภาพยนตร์

ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังอยู่กับสังคมไทย ร่วมย้อนชมเรื่องราวของโรคระบาดต่าง ๆ ในอดีต ผ่านภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้

----------


โดย ฝ่ายอนุรักษ์ 

*ปรับปรุงเนื้อหาจากฉบับที่เผยแพร่ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 57 พฤษภาคม-มิถุนายน 2563



ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โควิด-19 คือโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดไปแล้วสำหรับคนในยุคนี้ จากผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นกับคนทั้งด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงอยากจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับโรคระบาดต่าง ๆ ในอดีตผ่านภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ทำการอนุรักษ์ ภาพยนตร์ที่นอกจากจะทำให้เราได้เห็นและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยซึ่งรุนแรงพอจะทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่องหนึ่งขึ้นมา ยังทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอีกด้วย


หมายเหตุ: ปีสร้างที่อยูใน [...] เป็นปีที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน


การบริการสาธารณสุข 

ปีสร้าง: 2526

ผู้สร้าง: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช



ก่อนหน้าโรคระบาดอย่างโควิด-19 โรคระบาดที่ติดต่อกันทางอากาศจากคนสู่คน ซึ่งกลืนกินมนุษยชาติมายาวนานนับพันปี ที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ วัณโรค โรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ที่ยังคงคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้านในทุกปี โรคซึ่งยังเป็นอันตรายที่อยู่รอบตัวเราและมีการกลายพันธุ์อันน่าประหวั่นพรั่นพรึง มีคนไทยที่ยังเสียชีวิตด้วยโรคนี้นับพันรายต่อปี  ในประเทศไทยนั้นมีการตระหนักรู้ถึงภัยร้ายของโรคนี้มาเนิ่นนาน จากหลักฐานในสื่อรณรงค์ต่าง ๆ ซึ่งที่หอภาพยนตร์เองพบว่ามีภาพยนตร์เรื่อง การบริการสาธารณสุข ภาพยนตร์เพื่อการศึกษาซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ให้ความรู้เรื่องวัณโรคและการรักษา ในสมัยที่คนไทยเริ่มเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น แต่การรักษาพยาบาลที่ดีก็ยังถูกจำกัดอยู่แค่ในเขตเมืองหลวงมากกว่าในต่างจังหวัดหรือชนบทอันห่างไกล ซึ่งหากมองย้อนดูการเข้าถึงการแพทย์ที่ดีของคนไทยในเวลานั้นกับเวลานี้ สิ่งที่น่ากังวลกว่าวัณโรคคือการกระจายความเจริญด้านการแพทย์ที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเวลานั้นเท่าใดนัก


มรดกพระจอมเกล้า 

ปีสร้าง : 2497

ผู้สร้าง : สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ




ในบรรดาโรคระบาดที่น่ากลัวในอดีต โรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ คือโรคที่น่ากลัวมากที่สุดโรคหนึ่ง ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยนับพันนับหมื่นทุกครั้งที่เกิดการระบาดตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในช่วงของรัชกาลที่ 3 ที่โรคนี้มีบันทึกถึงการระบาดที่รุนแรง จนครั้งหนึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกนำมาบอกเล่าเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกันเรื่อง มรดกพระจอมเกล้า เพื่อให้คนไทยในยุคสงครามเย็นได้เห็นถึงวิกฤติโรคร้ายท่ามกลางความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาในอดีต โดยภาพยนตร์ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้ง

พระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมา) ทรงงานร่วมกับหมอบรัดเลย์ นายแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกัน ในการคิดค้นวิธีการปลูกฝีเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากภัยไข้ทรพิษระบาด นับเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนไทยในสมัยก่อนได้ตระหนักรู้ถึงโรคร้ายและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์ของรัชกาลที่ 4 แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการใช้ภาพยนตร์และเรื่องราวในอดีตมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองชวนเชื่อให้คนไทยโอบรับมหามิตรจากอเมริกา เพื่อเข้าข้างอุดมการณ์ที่จะต่อสู้กับภัยที่กำลังระบาดหนักราวกับโรคร้ายในช่วงเวลานั้นอย่างคอมมิวนิสต์ได้อย่างแนบเนียน


แสงช่วยเราอย่างไร

ปีสร้าง :   [2498]

ผู้สร้าง :  สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ

ชมภาพยนตร์     <คลิก>



ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังการพัฒนากล้องจุลทรรศน์และค้นพบจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อยู่ในสถานที่ทุกหนแห่ง เช่น ในบ่อน้ำฝน ปาก ลำไส้ และในอุจจาระ โดย Antoni van Leeuwenhoek นักประดิษฐ์ชาวเนเธอร์แลนด์ ในช่วงทศวรรษ 1650-1660 มนุษย์ได้ศึกษา ทดลอง เรียนรู้ และหาหนทางแก้ไขในสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยอันเกิดขึ้นจากเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา 


ภาพยนตร์เรื่องแสงช่วยเราอย่างไร เป็นการนำภาพยนตร์ที่สร้างสำหรับหลายประเทศมาลงเสียงพากย์ภาษาไทย  อธิบายถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่อยู่รอบตัวเราและเป็นสาเหตุหนึ่งของความเจ็บป่วย โดยใช้การนำเสนอผ่านลายเส้นสะอาดตาและการยกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ชมภาพยนตร์ได้คำนึงถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้สุขาที่ได้มาตรฐาน การระมัดระวังการปนเปื้อนของอาหาร การล้างมือ การงดใช้ห้องและสถานที่ร่วมกับผู้ป่วย การใช้มุ้งป้องกันยุงและแมลงกัด การต้มน้ำเพื่อดื่ม และการออกแบบบ้านให้อากาศถ่ายเทและแสงแดดส่องถึง


อวสานของโรคร้าย 

ปีสร้าง : [2500]

ผู้สร้าง : สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ



ยุงเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่กลับอันตรายและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกได้นับแสนรายต่อปีจากโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือโรคมาลาเรีย โรคที่มักพบการติดต่อและระบาดในประเทศเขตร้อน เช่นในประเทศไทยที่พบการระบาดของโรคนี้อย่างมากในอดีต อย่างที่จะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง อวสานของโรคร้าย ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในสมัยที่พิษภัยของมาลาเรียนั้นระบาดหนักในไทยอยู่หลายสิบปี มีผู้ติดเชื้อนับล้านคนต่อปีและคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 30,000 คนต่อปี จากตัวร้ายอย่างยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคจากคนสู่คน ทำให้ในปี พ.ศ. 2493 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับทางองค์การบริหารการร่วมมือกับต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจัดตั้งหน่วยควบคุมไข้มาลาเรียขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่ออกให้ความรู้เรื่องโรคมาลาเรียกับชาวบ้าน มีการตรวจ การรักษา และการช่วยชาวบ้านป้องกันด้วยการพ่นยาดีดีทีตามบ้าน จนทำให้ตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ลดลงเรื่อยมานับแต่นั้น  


A Pilot Project for the Control of Filariasis in Thailand

ปีสร้าง:  2505

ผู้สร้าง: คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์



จำนวนผู้ป่วยโรคเท้าช้างในประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่มียอดผู้ป่วยสะสมกว่า 300 คนต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีภูมิประเทศเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของพาหะสำคัญ คือยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิตัวกลม ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดทำโดยสถาบันอายุรศาสตร์เขตร้อนและโรคประจำถิ่น คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นการบันทึกโครงการนำร่องเพื่อควบคุมโรคเท้าช้างในประเทศไทย โดยมีหมู่บ้านใน อ. กาญจนดิษฐ์ จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เป็นเป้าหมายที่ถูกเลือกเพื่อปฏิบัติการ คณะผู้วิจัยนำโดยคณบดีนายแพทย์จำลอง หะริณสุต โดยสารรถไฟลงที่สถานีสุราษฎร์ธานี และต่อเรือซึ่งเป็นวิธีเดินทางเดียวไปที่หมู่บ้าน ใช้อาคารไม้จารึกชื่อ “หน่วยวิจัยโรคเท้าช้าง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็นฐานการทำงาน คณะวิจัยทำงานตรวจเลือดคนในหมู่บ้านซึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 1,023 คน เช่นเดียวกับสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับมนุษย์และสามารถเป็นพาหะของพยาธิได้เช่นกัน ผู้มีผลเลือดระยะตัวอ่อนพยาธิและผู้ป่วยจะได้รับยาในขนาดและระยะเวลาที่กำหนด ในตอนท้ายเป็นการสรุปผลซึ่งสามารถลดได้ทั้งอัตราผู้มีผลเลือดระยะตัวอ่อนของพยาธิและระยะติดเชื้อพยาธิ นับเป็นก้าวหนึ่งของการศึกษาวิธีป้องกันโรคเท้าช้างของประเทศไทยมาจนปัจจุบัน



Surveying on Leptospirosis in Southern Thailand on March 28 to April 6 1964

ปีสร้าง:  2507

ผู้สร้าง: คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์




ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2507 คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในวิชาการรักษาและป้องกันโรคเขตร้อนได้จัดตั้งคณะสำรวจการติดเชื้อเลปโตสไปโรสิสในเขตภาคใต้ ขบวนสำรวจใช้รถแลนด์โรเวอร์ 2 คัน เดินทางสู่จุดหมายต่าง ๆ ในเส้นทางภาคใต้เพื่อเก็บข้อมูลและตรวจเลือดประชาชน ตามลำดับของสถานที่ที่ปรากฏ คือ โรงพยาบาลชุมพร โรงแรมรัตนสิน จ. ระนอง โรงพยาบาลตะกั่วป่า โรงพยาบาลกระบี่ โรงพยาบาลตรัง แวะพักผ่อนบริเวณน้ำตกกะช่อง โรงพยาบาลพัทลุง ศูนย์อนามัยชนบท จ. สงขลา ข้ามด่านชายแดนสะเดา ศาลาว่าการเมืองปีนัง โรงแรม Pathe วัดถ้ำ Perak ก่อนจะสิ้นสุดการเดินทางที่ด่านพรมแดนเบตง 


จนถึงปัจจุบัน โรคไข้ฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิสยังเป็นโรคประจำถิ่นที่สำคัญของไทย โดยมีหนูเป็นพาหะที่สำคัญ ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000- 4,000 ราย แต่ก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทั้งอัตราการป่วยและอัตราการตาย อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่มีส่วนเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อได้คือการเกิดอุทกภัย ซึ่งจะเพิ่มอัตราการรับเชื้อจากการแช่น้ำที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด