ครบรอบ 10 ปี ลุงบุญมีระลึกชาติ

ช่วงสัปดาห์นี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เทศกาลเมืองคานส์ต้อนรับหนังไทย “ลุงบุญมีระลึกชาติ” หนังเล็กนอกสายตาที่สุดท้ายคว้ารางวัลปาล์มทอง สร้างประวัติศาตร์หน้าใหม่และเปิดขอบฟ้าภาพยนตร์ไทย ถึงเทศกาลเมืองคานส์จะจัดไม่ได้ในปีนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 หอภาพยนตร์ชวนย้อนไปสัมผัสบรรยากาศและเรื่องราวของหนังไทยเรื่องสำคัญเรื่องนี้

-----------


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี



วันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของภาพยนตร์ไทยเกิดขึ้นที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ของผู้กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กลายเป็นม้ามืดที่ฝ่าด่านอรหันต์ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) รางวัลใหญ่ที่สุดของเทศกาล และถือเป็นรางวัลภาพยนตร์ที่มีเกียรติยศมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก


การประกาศรางวัลมีขึ้นตอนหัวค่ำที่เมืองคานส์ ตรงกับเวลาประมาณตีหนึ่งที่เมืองไทย ประธานกรรมการตัดสินปีนั้นได้แก่ผู้กำกับอเมริกัน ทิม เบอร์ตัน หลังจากชื่อหนังและชื่อผู้กำกับไทยถูกประกาศท่ามกลางเสียงปรบมือจากแขกในงานและผู้สื่อข่าว รวมทั้งท่ามกลางความแปลกใจของแขกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าหนังประหลาดนอกสายตาเรื่องนี้จากเมืองไทยจะได้รับรางวัลใหญ่ ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ในชุดทักซิโดขาวเดินยิ้มกว้างขึ้นไปรับรางวัลบนเวที และเริ่มกล่าวคำรับรางวัลด้วยการแซวทิม เบอร์ตัน “ผมชอบทรงผมของคุณครับ” เรียกเสียงหัวเราะได้จากทั้งโรง จากนั้นผู้กำกับชาวไทยกล่าวต่อว่า


“ผมขอขอบคุณผีและวิญญาณทั้งหลายในเมืองไทยที่ทำให้ผมมายืนอยู่ตรงนี้” 


เดือนพฤษภาคมในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งเป็นหนังไทยเรื่องแรก และหนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำอันเป็นหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์ไทย เปิดขอบฟ้าและความเป็นไปได้แห่งมิติใหม่ และกระพือความตื่นเต้น อิ่มเอิบ และภูมิใจให้บุคลากรให้วงการหนังไทยทุกองคาพยพ อย่างที่ไม่มีใครกล้าฝันมาก่อนหน้านี้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง 


เหตุการณ์คู่ขนานที่ควรจดจำคือ ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น เกิดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ มีการเคลื่อนกำลังทหารปิดล้อม และเกิดเหตุรุนแรงและวุ่นวายต่อเนื่อง อภิชาติพงศ์ต้องวิ่งวุ่นเพื่อหาทางทำวีซ่า และเดินทางไปถึงฝรั่งเศสได้อย่างเฉียดฉิวก่อนหนังจะฉาย ซึ่งเป็นวันท้าย ๆ ของเทศกาลแล้ว


ในช่วงเวลานั้น สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เพิ่งเริ่มต้นได้รับความนิยมในประเทศไทย และไม่ได้เป็นสื่อหลักเหมือนในตอนนี้ แต่ถึงกระนั้น ข่าวดีว่าหนังไทยได้ปาล์มทองคำแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วในสื่อดังกล่าว วันต่อ ๆ มาข่าวยิ่งกระจายออกไปทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ปฏิกิริยามีทั้งความตื่นเต้นและความงุนงง เพราะอภิชาติพงศ์ไม่ได้เป็นชื่อที่คนดูหนังส่วนใหญ่คุ้นหู และสื่อในไทยเองก็ยังไม่เข้าใจว่าการได้รางวัลปาล์มทองคำนั้นสำคัญขนาดไหน ตัวอภิชาติพงศ์เองก็ไม่ได้กลับเมืองไทยทันที แต่เดินทางไปทำงานต่อที่อื่นในยุโรปอีกหลายสัปดาห์



กระแสความดังของหนังค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น รวมทั้งคำถามที่ว่า เมื่อไรคนไทยจะได้ดู ลุงบุญมีฯ 


ในที่สุดเมื่ออภิชาติพงศ์เดินทางกลับถึงเมืองไทย ผู้กำกับหนังคนดังพร้อมกับนักแสดงครบทีม (เช่น ธนภัทร สายเสมา, ศักดา แก้วบัวดี, เจนจิรา พงพัศ) เดินทางมายังหอภาพยนตร์ ในวันที่ 13 มิถุนายน เพื่อร่วมฉลองความสำเร็จของหนังเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทีมนักแสดงประทับรอยมือ-รอยเท้าที่ลานดาราในบรรยากาศครึกครื้น ร่วมพูดคุยกับแฟน ๆ ในโรงภาพยนตร์ ถึงแม้จะยังไม่มีการฉาย ลุงบุญมีฯ ในวันนั้นก็ตาม และตบท้ายวันแห่งความชื่นมื่นด้วยงานเลี้ยงที่ลานของหอภาพยนตร์ 


ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ลุงบุญมีระลึกชาติ ออกฉายจำกัดโรงในกรุงเทพฯ ตามมาด้วยที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวของอภิชาติพงศ์ ถึงแม้จะไม่ได้ออกฉายในวงกว้างอย่างหนังไทยทั่วไป แต่หนังเรียกคนดูได้ไม่น้อย มีการพูดคุยถกเถียงถึงหนังอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ชื่นชอบในความลึกลับ การเวียนว่ายของภูติผีและวิญญาณในหนัง รวมทั้งการอ้างอิงถึงอดีตของภาคอีสานในยุคคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีคนดูที่เกาหัวแกรก ๆ ด้วยความไม่ชินกับสไตล์หนังที่ไม่ได้เดินเรื่องตามขนบหนังไทย และกับองค์ประกอบประหลาด ๆ ในหนังอย่างลิงผี ปลาดุกกับองค์หญิง และการปรากฏตัวของวิญญาณ ที่แนบเนียนและอ้อยอิ่งไม่ต่างกับญาติสนิทที่แวะมาเยี่ยมเยียนบ้านกลางทุ่งของลุงบุญมีในยามค่ำคืน


ทั้งนี้ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นชิ้นงานหลักในโครงการศิลปะขนาดใหญ่ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เรียกรวมกันว่า Primitive (ปลุกผี ในชื่อไทย) อันประกอบด้วยงานอื่น ๆ อีกนับสิบชิ้น ทั้งหนังสั้น วิดีโออินสตอลเลชัน และภาพถ่าย โดยเนื้อหาและจิตวิญญาณของงานทุกชิ้นล้วนผูกโยงกับการค้นคว้าและการเดินทางไปในภาคอีสานของผู้กำกับ เป็นการเสาะหาประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ซ้อนทับ ว่าด้วยความรุนแรง การต่อสู้ และการถูกกดขี่ที่คนท้องถิ่นเผชิญจากส่วนกลางในช่วงความวุ่นวายของสงครามเย็น แนวคิดของภาพยนตร์ ลุงบุญมีฯ มีรากมาจากหนังสือ “คนระลึกชาติได้” ที่ผู้กำกับได้รับจากเจ้าอาวาสของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ว่าด้วยเรื่องของชายผู้หนึ่งที่อ้างว่าตนมีชีวิตมาหลายชาติภพ โดยล้วนแต่กลับมาเกิดในภาคอีสานทั้งสิ้น



ถึงแม้หนังที่มีคุณค่าต่อผู้ชมจะสามารถพิสูจน์ความเป็นอมตะของตัวมันเองได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใหญ่จากต่างประเทศมาประดับหิ้งเสมอไป และถึงแม้เมืองคานส์จะไม่ได้เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวในการพิจารณาความดีงามของหนัง แต่การได้รับรางวัลปาล์มทองคำเมื่อสิบปีที่แล้วของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ความสำเร็จของหนังส่งให้อภิชาติพงศ์กลายเป็นผู้กำกับระดับโลกอย่างแท้จริง และนอกเหนือจากความโด่งดังของตัวหนังเอง การที่หนังไทยเรื่องหนึ่งไปได้ไกลขนาดนั้นยังช่วยสร้างความหวังและโอกาสให้หนังไทยเรื่องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมโดยรวม เกิดความตื่นตัวรอบด้าน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้คนดูบางกลุ่มกล้าเปิดใจทดลองและยอมรับหนังที่อยู่นอกระบบตลาดปกติ และยังส่งผลให้คนทำหนังรุ่นใหม่ ๆ และนักเรียนภาพยนตร์เกิดความหวังและความศรัทธาในงานภาพยนตร์ 


สิบปีผ่านไป ไม่ว่าโอกาสนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นความสำเร็จได้มากน้อยเท่าไร ไม่ว่าความหวังที่ถูกจุดขึ้นจะยังโชติช่วงอยู่หรือไม่ และไม่ว่าวงการหนังไทยทั้งในกระแสนอกกระแสจะยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพียงใด  แต่ ลุงบุญมีฯ กับปาล์มทองคำประวัติศาสตร์ ได้เปิดศักราชใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง


ผู้กำกับอภิชาติพงศ์ เป็นคนทำหนังผู้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในฐานะมรดกความทรงจำ และได้มอบฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ รวมทั้งหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขา ทั้งหนังยาวและหนังสั้น ให้หอภาพยนตร์เก็บรักษา อีกทั้งยังได้มอบรางวัลปาล์มทองคำ ให้พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ได้เก็บรักษาและนำออกแสดงอีกด้วย   


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด