ชีวิตหลังภาพยนตร์ของนักแสดงสามัญชนใน ทองปาน

 เรื่องราวของชาวบ้านชายหญิง 2 คน ที่ได้มาแสดงภาพยนตร์อันเกิดจากความร่วมมือของปัญญาชนยุคหลัง 14 ตุลา เรื่อง “ทองปาน” ซึ่งไม่เพียงแต่จะกลายเป็นหนังไทยที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่ง หากแต่ยังส่งผลต่อฉากและชีวิตในเวลาต่อมาของพวกเขาทั้งคู่

-----------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู 



ทองปาน เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของชายชาวอีสานชื่อเดียวกัน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามอง จนต้องพาครอบครัวย้ายที่ทำกิน และได้รับเชิญให้ไปร่วมสัมมนาถึงปัญหาของการสร้างเขื่อนกับบรรดาข้าราชการและนักวิชาการ ในปี พ.ศ. 2518


ความ “พิเศษ” ของ ทองปาน ที่มักได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ คือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจกันของหลายฝ่ายทั้ง นักกิจกรรม นักข่าวต่างชาติ นักวิชาการ และศิลปิน อีกทั้งบางส่วนยังได้มาร่วมแสดงในฉากหลักของเรื่อง คือฉากจำลองเวทีสัมมนาวิชาการเรื่องการสร้างเขื่อน เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เสน่ห์ จามริก, พัทยา สายหู, คำสิงห์ ศรีนอก, เทพศิริ สุขโสภา, ทรงยศ แววหงษ์ ฯลฯ 


แต่นอกจากสถานะการเป็นผลงานชิ้นสำคัญของบรรดาปัญญาชนไทย ยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ทองปาน ยังมีอีกมิติหนึ่ง ที่บอกเล่าถึงชีวิตของ ทองปาน และครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างความกระทบใจและนำพาคนดูไปเห็นถึงใจความสำคัญของปัญหาที่แท้จริง มิตินี้นำแสดงโดย องอาจ มณีวรรณ์ และ ผมหอม พิลาสมบัติ นักแสดงสามัญชนที่อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางเหมือนกับปัญญาชนในรายชื่อข้างต้น แต่ความเป็นไปของชีวิตพวกเขาภายหลังจากแสดง ทองปาน นั้น ต่างมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน


ปี พ.ศ. 2556 ผู้เขียนในฐานะผู้จัดกิจกรรมของหอภาพยนตร์ ได้มีโอกาสออกเดินทางไปสืบหาเรื่องราวของทั้ง 2 คน ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำ ทองปาน  และนี่คือบางแง่มุมของนักแสดงนำทั้ง 2 คน ที่ตัดทอนออกมาจากบทความ “ตามหาทองปาน” ซึ่งเล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นและเคยตีพิมพ์ในวารสารหนังไทย ฉบับที่ 18 พฤศจิกายน 2556  เพื่อนำมาให้ผู้ชมได้รู้จักพวกเขาอีกครั้ง เนื่องในวาระที่ ทองปาน ฉบับรีมาสเตอร์ใหม่ ได้รับการเผยแพร่ในช่องยูทูบของหอภาพยนตร์ให้ได้ชมอย่างทั่วถึง เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา 


องอาจ มณีวรรณ์




โดม สุขวงศ์  เคยกล่าวว่า องอาจ มณีวรรณ์ ไม่เพียงเป็นนักแสดงคนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย  แต่เพราะภาพยนตร์ที่เขาแสดงนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ  เขาจึงเป็นนักแสดงของโลก  แบบเดียวกับ  Lamberto  Maggiorani  กรรมกรโรงงานผู้กลายเป็นที่จดจำของผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกจากการรับบทนำใน Bicycle Thieves หนังนีโอเรียลิสม์เรื่องดังของอิตาลี 


ชายชาวอีสานที่กลายเป็นนักแสดงของโลกผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2491  ที่บ้านโนนสัง ตำบลโพนทอง นครราชสีมา ในครอบครัวที่มีพ่อแม่และบรรพบุรุษเป็นชาวนา หลังเรียนจบระดับชั้นประถมสี่ที่วัดโนนสัง  เขาก็ออกมาช่วยครอบครัวทำนา เช่นเดียวกับพี่น้องทุกคน โดยไม่เคยความคิดฝันว่าจะได้ก้าวเข้ามาเป็นนักแสดงภาพยนตร์เลยสักครั้ง


สิ่งเดียวที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของเขาอย่างจริงจัง ก็คือการเป็นนักมวย  เขาเริ่มหัดชกมวยตั้งแต่อายุ  15 ปี  ที่ค่ายมวยแถวบ้าน จวบจนอายุได้ 17 ปี  จึงได้เริ่มตระเวนขึ้นชกตามงานวัดต่าง ๆ  ปีละประมาณ 10 – 20 ครั้ง ในชื่อ “เอกจักร สิงห์บ.ส.”  จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากเพื่อนนักมวยด้วยกัน ให้ไปสมัครชกมวยในกรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ประมาณ 21 ปี เขาจำได้ว่าเคยขึ้นชกในรุ่นเฟเธอร์เวท บนเวทีใหญ่ ๆ อย่าง ราชดำเนิน และลุมพินี โดยใช้ชื่อว่า “ฐานทัพ สิงห์ทรงพล”  อยู่ได้ประมาณ 1-2  ครั้ง ก็ถึงคราวต้องกลับไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งระหว่าง 2 ปีที่อยู่ในค่ายทหารนั้น เขาก็ยังคงชกมวยควบคู่ไปด้วย  ปลดประจำการแล้วก็ยังออกมาเป็นนักมวยอยู่อีกประมาณ 1 ปี  จนเมื่อแต่งงานกับภรรยาเมื่ออายุ  25 ปี  จึงได้เลิกชก และกลับมาใช้ชีวิตเป็นชาวนาอย่างเต็มตัว


หลังจากยุติชีวิตนักมวยได้ประมาณ 2 ปี  วันหนึ่งใน พ.ศ. 2519  ขณะที่เขากำลังนอนพักอยู่ที่บ้าน  เพื่อนบ้านคนหนึ่งก็ได้มาชักชวนให้ไปคัดตัวเพื่อแสดงหนังเรื่อง ทองปาน ที่กำลังหาตัวนักแสดงที่ชกมวยเป็น  เมื่อกองถ่ายเห็นรูปร่างหน้าตาและรู้ว่าเคยเป็นนักมวย ก็ตกลงให้มาเป็นนักแสดง  เขาจึงกลับไปบ้านเพื่อปรึกษาภรรยา เมื่อได้รับการสนับสนุน เขาจึงอยากลองดู เพราะเกิดมายังไม่เคยได้เล่นหนังกับเขาสักที 



ภาพ : องอาจ กับบทบาทนักมวย ใน ทองปาน  ที่พ้องพานกับชีวิตจริง


องอาจเล่าว่า เขาเองไม่รู้เลยว่ากองถ่ายเป็นใคร  และเนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร รู้แต่เพียงว่าตนได้รับบทเป็นพ่อ มีชื่อว่าทองปาน มีฉากที่ต้องชกมวย ถีบสามล้อ เข้าร่วมการประชุม  และอื่น ๆ ตามที่กองถ่ายบอกให้ทำเท่านั้น  เขาคิดตามประสาชาวบ้านแค่ว่า “บอกให้ทำอะไร ก็ทำไปอย่างนั้น” โดยที่ยังคงเข้าใจว่าหนังที่ตัวเองเล่นคงจะเป็นเหมือนหนังที่มาฉายกลางแปลงตามงานวัด ซึ่งเขาเคยไปดูอยู่บ้างเป็นบางครั้งก็เท่านั้นเอง


เขาจำได้ว่าใช้เวลาถ่ายหนังเรื่อง ทองปาน อยู่ไม่ถึงหนึ่งเดือน กลางวันก็ออกไปถ่ายทำตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในโคราชและในกรุงเทพฯ (ฉากสัมมนา) กลางคืนก็กลับมานอนที่บ้าน  เพื่อนบ้านบางคนที่ไปร่วมแสดงด้วย ปัจจุบันก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่เพื่อนนักมวยที่มาเล่นฉากชกมวยด้วยกันยังคงมีชีวิตอยู่ วันเวลาที่ผ่านไปเนิ่นนานเกือบสี่สิบปี ทำให้ความทรงจำในช่วงเวลาเหล่านี้ของเขาช่างพร่าเลือน  เขาจำแทบไม่ได้แล้วว่าตนเองแสดงอะไรไปบ้าง หรือได้รับค่าตัวเท่าไหร่ ทั้งยังไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้ว ทีมงานบางคนต้องหลบหนีเข้าป่าหรือออกไปต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น และสุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ออกฉายตามโรงใหญ่หรือกลางแปลงอย่างที่เขาเคยเข้าใจ  เมื่อไม่ได้ดู  เขาเองก็ไม่ได้ติดใจอะไร  คิดแค่ว่าถ่ายเสร็จแล้วก็แล้วกันไป  จบจากการเล่นหนังก็กลับไปดำรงชีพด้วยการทำไร่ไถนาเช่นเดิม 


เวลาผ่านไป 6 ปี  พ.ศ. 2525 กระแสความนิยมออกไปค้าแรงงานที่ต่างประเทศได้เข้ามาถึงหมู่บ้าน  เขาและบรรดาเพื่อนบ้านแทบทุกหลังคาเรือน จึงต่างพากันไปสมัครเป็นแรงงาน เพื่อหวังแสวงโชคยังต่างแดน  ระหว่างรอเรียกตัวอยู่ที่บ้าน  วันหนึ่ง ญาติผู้อยู่ที่ อ.บัวใหญ่ ก็ได้พาคนจากกรุงเทพฯ มาชักชวนให้ไปแสดงหนังอีกครั้ง คราวนี้รู้ว่าชื่อ ลูกอีสาน ซึ่งต้องการใช้คนอีสานจริง ๆ มาเป็นนักแสดง  เมื่อยังไม่ได้ถูกเรียกตัวไปต่างประเทศ ประกอบกับอยู่ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงพักจากการทำนา เขาจึงตกปากรับคำและลงไปให้ดูตัวถึงบริษัทไฟว์สตาร์ เมื่อไปถึง วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้มาพร้อมกับ ทองปอนด์ คุณาวุฒิ  คู่ชีวิต ก็บอกให้เขาถอดเสื้อและหมุนตัว เพื่อดูรูปร่างท่าทางจนเห็นเป็นที่พอใจจึงเอ่ยปากชวนให้มาแสดงหนังด้วยกัน  และตั้งชื่อในการแสดงให้ใหม่เป็น ทองปาน โพนทอง  โดยนามสกุลนี้ได้มาจากชื่อตำบลของเขาที่เรียนให้ “คุณาวุฒิ” ทราบ เมื่อถูกถามว่ามาจากที่ไหน




ทำไมยอดผู้กำกับแห่งวงการต้องจำเพาะเจาะจงให้มาตามตัว องอาจ มณีวรรณ์  ถึง ต.โพนทอง?  คณิต คุณาวุฒิ  ผู้เป็นลูกชาย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสืองานศพของวิจิตร คุณาวุฒิว่า วันหนึ่ง เมื่อ เขานำหนังเรื่อง ทองปาน  มาฉายให้นักศึกษาวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ชม จู่ ๆ วิจิตร คุณาวุฒิ และ เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารใหญ่ของบริษัทไฟว์สตาร์ ก็ได้ชวนกันมาดูด้วย โดยไม่ทราบเจตนา หลังจากนั้นหลายเดือน วิจิตร คุณาวุฒิ จึงได้เอ่ยปากว่าต้องการชาวนาที่รับบทนำในเรื่อง ทองปาน นี้ มาแสดงในบทพ่อสุดของเด็กชายคูน ซึ่งเป็นบทนำของหนังเรื่อง ลูกอีสาน ที่เขากำลังเตรียมสร้างให้กับไฟว์สตาร์    


เมื่อถึงเวลา  องอาจ จึงตามขึ้นไปสมทบกับทีมงานถ่ายทำ ลูกอีสาน  ซึ่งได้ยกกองไปปักหลักอยู่ที่ จ. อุบลราชธานี  คราวนี้เขาต้องพบกับกองถ่ายหนังของบรมครูผู้กำกับ ผู้ถ่ายหนังมาแล้วกว่าสามสิบเรื่อง  ต้องร่วมแสดงกับนักแสดงอาชีพอย่าง ศรินทิพย์ ศิริวรรณ และ ไกรลาศ เกรียงไกร  ทั้งบทที่เขาได้รับนั้นยังเป็นบทนำของเรื่อง เป็นผู้นำของครอบครัวที่ยากลำบาก และเป็นผู้นำของชาวบ้านในการออกป่าล่าสัตว์เพื่อดำรงชีพท่ามกลางความแห้งแล้งของธรรมชาติ   งานของเขาจึงหนักกว่าคราวที่เล่น ทองปาน หลายเท่านัก  แม้หลายอย่างที่ต้องแสดงจะเป็นสิ่งที่ลูกอีสานโดยแท้อย่างเขาได้สั่งสมเรียนรู้จากบรรพบุรุษมาตลอดทั้งชีวิต เช่น การทำนา ดักนกคุ่ม  ทำธนู ยิงหน้าไม้ จับงู ขับเกวียน  ไปจนถึงแสดงท่าทางการเป่าแคน แต่เขาก็ยอมรับว่าการทำสิ่งเหล่านี้ให้ปรากฏอยู่ในหนังนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับชาวบ้านธรรมดาอย่างเขา  อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้สึกว่ายากแสนยาก  เขาก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างมากสำหรับตัวเขาเอง


เขาจำได้ว่าคลุกคลีอยู่กินกับกองถ่าย ลูกอีสาน นานร่วม 2 เดือน  เป็นกองถ่ายที่สะดวกสบายพร้อมสรรพทั้งอาหารการกิน ไม่เคยมีอะไรให้ลำบากใจ จะลำบากใจก็ต่อเมื่อจะต้องเข้าฉากเท่านั้น เพราะทั้งกลัวลืมบท กลัวทำไม่ถูกจังหวะ ทำไม่ได้อย่างที่ตนตั้งใจ และที่สำคัญคือไม่ถูกใจผู้กำกับ จน วิจิตร คุณาวุฒิ จะต้องคอยปลอบใจเขาอยู่เสมอ ให้ใจเย็น ๆ  โดยฉากที่เขาคิดว่ายากและน่าประทับใจที่สุด  คือ ฉากไล่ล่าพังพอน เพราะต้องใช้นักแสดงหลายคนและซ้อมคิวกันอยู่นาน  ซึ่งหากใครได้เคยดู ลูกอีสาน  ย่อมรู้ดีว่านี่คือฉากที่น่าอัศจรรย์และน่าจดจำมากที่สุดฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้


ภาพ : องอาจ มณีวรรณ์ (ขวาสุด) ในรูปถ่ายจากเรื่อง ลูกอีสาน ที่เขานำมาใส่กรอบประดับไว้ที่บ้าน


แม้จะจำอะไรไม่ได้มากนักเช่นเดียวกับ ทองปาน  แต่ความรู้สึกที่ได้ร่วมแสดงหนัง ลูกอีสาน  ก็ยังคงประทับแน่นอยู่ในใจเขาเสมอมา เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับชาวบ้านธรรมดาสามัญผู้ไม่เคยคิดฝันว่าจะมาได้เป็นนักแสดง  หลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้น เขาได้เก็บเอารูปที่ถ่ายร่วมกับนักแสดงคนอื่น ๆ  ไว้กับตัวหนึ่งใบ เพื่อนำมาขยายใหญ่ใส่กรอบประดับไว้ที่บ้าน  เป็นเครื่องระลึกถึงวันวานและเพื่อนร่วมงานทุกคนที่ต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิต  โดยที่ตัวเขาเอง เมื่อหนังออกฉาย ก็ได้กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น  และปลายปีเดียวกันนั้น โชคชะตาก็ได้พัดพาให้ออกไปเป็นแรงงานก่อสร้างอยู่ที่ประเทศลิเบีย  ตามที่สมัครเอาไว้ตั้งแต่ก่อนถ่ายทำภาพยนตร์


ระหว่างอยู่ที่ลิเบีย วันหนึ่ง เขาได้อ่านหนังสือพิมพ์ที่ญาติฝากมาให้กับเพื่อนคนงานที่กลับไปอีสาน จึงทราบว่าภาพยนตร์ที่ตนแสดงนั้น ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม และตัวเขาเองก็ได้ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม   เขารู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด  แต่ไม่สามารถกลับมารับได้ เพราะยังไม่หมดสัญญา  นั่นทำให้เขาระลึกถึง วิจิตร คุณาวุฒิ และเขียนจดหมายบรรยายความรู้สึกส่งมาให้ที่เมืองไทย เมื่อกลางปี 2526 เนื้อความนอกจากจะบอกเล่าถึงความ “ตื้นตันใจจนพูดอะไรไม่ออก” แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความรักและเคารพในตัว วิจิตร คุณาวุฒิ  เป็นที่ยิ่ง อย่างที่เขาบอกกับเราในวันสัมภาษณ์ว่าครูคุณาวุฒินั้นคือ“ผู้ให้ความสว่างแก่ชีวิตที่ผมเกิดมา”   ซึ่งปัจจุบัน  หอภาพยนตร์ได้นำสำเนาจดหมายฉบับประวัติศาสตร์นี้ มาจัดแสดงให้ผู้คนได้เรียนรู้ ณ มุม "คุณาวุฒิ" ภายในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


เมื่อกลับมาเมืองไทยหลังจากออกไปใช้ชีวิตเป็นแรงงานอยู่ที่ลิเบียนานกว่า 2 ปี  องอาจก็รีบลงไปรับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำนี้ด้วยตนเองถึงบริษัทไฟว์สตาร์   เพื่อนำมาเก็บรักษาไว้อย่างดีที่บ้าน  เป็นเกียรติยศแห่งชีวิตที่เขาต้องยกมือไหว้ทุกวัน  ด้วยความนับถือว่าเป็นเกียรติประวัติอันสำคัญยิ่งของวงศ์ตระกูล



ภาพ : องอาจ มณีวรรณ์ กับ รางวัลสุพรรณหงส์ จากเรื่อง ลูกอีสาน


จบจากการไปแสวงโชค  องอาจก็กลับมาเป็นชาวนาดั่งเดิม  ดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างเงียบ ๆ และเรียบง่ายตามธรรมดาจวบจนทุกวันนี้  สามสิบกว่าปีที่ผ่านไป เขาไม่เคยได้ติดต่อกับผู้ที่เคยร่วมงานภาพยนตร์อีกเลย  เท่าที่จำได้มีเพียง คำพูน บุญทวี เจ้าของบทประพันธ์ ลูกอีสาน ซึ่งร่วมแสดงในเรื่องด้วยเท่านั้น ที่เคยมาเยี่ยมครอบครัวที่บ้านโนนสังระหว่างเขาอยู่ที่ลิเบีย แม้กระทั่งข่าวการเสียชีวิตของ วิจิตร คุณาวุฒิ  เขาเองก็เพิ่งมาทราบเอาภายหลัง  ด้วยความที่อยู่ห่างไกลและไม่มีช่องทางที่จะได้ติดต่อพบเจอ  มิพักต้องเอ่ยถึงความสำคัญนานัปการที่ถูกหยิบยกมาพูดกันอยู่เสมอของ ทองปาน และ ลูกอีสาน ซึ่งเขาเองไม่เคยได้รับรู้   



ผมหอม พิลาสมบัติ



ในขณะที่ องอาจ มณีวรรณ์ แทบจะมีสถานะเดียวกับตัวละครที่เขาแสดงใน ทองปาน นั่นคือการเป็นชาวนาซึ่งไม่ประสากับกิจกรรมของบรรดาปัญญาชน แต่ ผมหอม พิลาสมบัติ ผู้รับบทภรรยาผู้มีชะตาชีวิตอันน่ารันทดของเขาในเรื่องนั้น ชีวิตจริงของเธอกลับอาศัยอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลาง และคลุกคลีกับนักศึกษาปัญญาชน ผ่านความกว้างขวางของสามี คือ ลำพอง พิลาสมบัติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครราชสีมา


ในปี 2556 ที่ผู้เขียนเดินทางไปสืบหาเรื่องราวของเธอ ผมหอมได้เสียชีวิตไปแล้วราว 3 ปี แต่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ *ลำพอง พิลาสมบัติ ซึ่งขณะนั้นอายุ 77 ปี และได้บอกเล่ารายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิตที่โชคชะตานำพาให้มามีส่วนร่วมกับหนังเรื่อง ทองปาน จนส่งผลต่อคนในครอบครัวมากเกินไปกว่าแค่การที่มีภรรยาและลูก ๆ ไปร่วมเป็นนักแสดง


ลำพองเล่าว่า เดิมเขามีชื่อว่า คำพอง พิลาสมบัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2479  เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับราชการครูที่ อ.ประทาย ซึ่งเป็นบ้านเกิด ปี พ.ศ. 2514 เขาตัดสินใจสมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้ได้รู้จักกับนักศึกษาปัญญาชนที่กำลังเริ่มต้นเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง  ก่อนจะเกิดเหตุการณ์มหาวิปโยคขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516  อันเป็นผลให้เกิดภาวะประชาธิปไตยเบ่งบานในเมืองไทย และส่งอิทธิพลมายัง อ.ประทาย แห่งนี้  จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รู้จักและสนิทสนมนับถือเป็นพี่น้องกับ คำสิงห์ ศรีนอก หรือลาว คำหอม นักคิดนักเขียนคนสำคัญแห่งอีสาน ผู้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่ปัญญาชน   ส่งผลให้บ้านของเขากลายมาเป็นศูนย์พักของบรรดานักศึกษาที่แวะเวียนกันขึ้นมาทำกิจกรรมช่วยเหลือชาวอีสานที่เดือดร้อน  อาทิเช่น  สุนัย จุลพงศธร  สมชาย หอมลออ ฯลฯ   และเมื่อมีการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้นในปี 2518 เขาก็ได้รับการชักชวนจาก คำสิงห์  ศรีนอก และพันเอกสมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรค ให้มาเข้าร่วมด้วยกัน  ลำพองตัดสินใจออกจากราชการมาสมัครผู้แทนราษฎร  แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ภายหลังจึงกลับมารับราชการครูดังเดิม


ภาพ : ผมทิพย์ (ผมหอม) และ ลำพอง พิลาสมบัติ


ความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับปัญญาชนทั้งหลายนี่เอง  เป็นเหตุให้เมื่อ คำสิงห์ ศรีนอก และ ไพจง ไหลสกุล ต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน ในปี พ.ศ. 2519 แต่ยังหานักแสดงมารับบทภรรยาและลูก ๆ ของทองปานในเรื่องไม่ได้ ทั้งคู่จึงไปขอตัว ผมหอม พิลาสมบัติ และลูก ๆ บางคนของลำพอง ให้มารับบทนี้ นอกจากนั้น เขายังทำหน้าที่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ทีมงาน ซึ่งมาปักหลักกันถ่ายทำกันอยู่ที่บ้านเกิด ทั้งคอยประสานงานกับชาวบ้านให้มาช่วยเป็นตัวประกอบ และหาสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการถ่ายทำ


อย่างที่ทราบกันดีว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น ครอบครัวพิลาสมบัติเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน ความใกล้ชิดกับผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองอันก้าวหน้า ทั้งยังเป็นแกนนำสำคัญของท้องถิ่นในการร่วมสร้างหนังเรื่อง ทองปาน ทำให้เขาถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่ อ.ประทายในเวลานั้นก็ถูกขีดให้เป็นพื้นที่สีชมพู ลำพองและภรรยาจึงถูกทางการคุกคามอย่างหนัก จนต้องแอบไปนอนบ้านญาติอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งยังตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก คำพอง เป็น ลำพอง เนื่องจากชื่อเดิมนั้นไปพ้องกับชื่อของหัวหน้าคอมมิวนิสต์ ในหนังโฆษณาชวนเชื่อที่ทางรัฐนำออกมาฉายกลางแปลงให้ชาวบ้านชม และให้ภรรยาเปลี่ยนชื่อใหม่เช่นกันจาก ผมหอม เป็น ผมทิพย์


ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ไม่นานหลังจากเกิดการฆาตกรรมหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากนครราชสีมา ก็ได้นำเฮลิคอปเตอร์ มาลงที่ อ.ประทาย เพื่อค้นหาธงแดงและเอกสารคอมมิวนิสต์ ภายในบ้านของเขา สร้างความแตกตื่นให้กับคนในครอบครัวและชาวบ้านในละแวกนั้น ขณะนั้นเขากำลังออกไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนกับหัวหน้าอำเภอ จึงถูกตามไปจับกุมและนำตัวไปสอบสวนในข้อหาคอมมิวนิสต์ที่ศาลากลางจังหวัด นานร่วม 2 ชั่วโมง กว่าได้รับการปล่อยตัวให้กลับบ้าน จากนั้นจึงถูกส่งตัวไปอบรมในกองทัพเป็นเวลา 2 เดือน เรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


แต่แม้จะต้องประสบกับภัยคุกคามนานาภายหลังจากการมีส่วนร่วมกับ ทองปาน ลำพองก็ยังคงย้ำว่า เขาและครอบครัวภาคภูมิใจมากที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่หนังเรื่องนี้ และยังมีส่วนให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะการได้รู้จักคลุกคลีกับนักคิดนักเขียนปัญญาชนทั้งหลายนั้นถือเป็นการเปิดโลกทางความคิด ส่งผลให้เขากลายเป็นครูนักพัฒนาที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวด้านต่าง ๆ จนได้รับความรักใคร่นับถือจากชาวบ้าน กระทั่งได้รับการคัดเลือกจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเพิ่งจัดตั้งพรรคชาติไทยในปี 2525 ให้เป็นตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งในสายครู ผลพวงจากการคลุกคลีจนเข้าถึงจิตใจของประชาชน ทำให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรมาต่อเนื่องยาวนานติดต่อกันถึง 5 สมัย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดอย่างมากมาย รวมทั้งยังได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในเวลาต่อมา

ภาพ : คมแสน พิลาสมบัติ ลูกชายของผมหอม ที่มาร่วมแสดงเป็นลูกของเธอในเรื่อง


นอกจากตนเอง เขายังเชื่อว่าการที่ลูก ๆ ทั้ง 6 คน ได้คอยมาช่วยต้อนรับขับสู้กับบรรดานักศึกษาที่แวะเวียนมาอยู่เสมอ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการจัดแจงช่วยเหลือกองถ่ายหนังเรื่อง ทองปาน  นั้น   เกิดเป็นผลดีให้พวกเขาได้ซึมซับกับวิธีคิดแบบปัญญาชน และมีความคิดฝันอยากเป็นอาจารย์หรือนักวิชาการตามรอยผู้มาเยือนที่เคยได้คลุกคลี  โดยลูกสาวผู้แสดงเป็นลูกของทองปาน ปัจจุบันคือ รศ.ดร.คมแข พิลาสมบัติ  อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  อีกคนคือ  คมแสน พิลาสมบัติ  ผู้รับบทเป็นลูกชายตัวน้อย ซึ่งเป็นที่จดจำจากฉากที่เขารีบวิ่งไปหาพ่อทองปานในวันที่กลับมาจากการสัมมนา และบอกกับพ่อว่า “แม่ตายแล้ว”  อันเป็นฉากที่น่าสะเทือนใจที่สุดฉากหนึ่งของเรื่อง ไม่น่าเชื่อว่า จากเด็กน้อยซึ่งบังเอิญได้มาเล่นหนังที่ว่าด้วยผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เกือบสี่สิบปีผ่านไป เขาจะเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับวิถีชีวิตชุมชนหลังการสร้างเขื่อน ราวกับได้รับการถ่ายทอดจิตวิญญาณมาจากภาพยนตร์ที่ตนแสดง  นับเป็นโชคชะตาที่ช่างบังเอิญมาพ้องพานกันจนน่าประหลาดใจ 


ทองปาน จึงนับเป็นหนังแห่งความทรงจำของครอบครัวพิลาสมบัติอย่างแท้จริง  แม้พวกเขาจะเพิ่งได้ชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ เมื่อ ไพจง ไหลสกุล ได้นำดีวีดีมาแจกจ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงศพของผมหอม หรือ ผมทิพย์ พิลาสมบัติ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยหลังการฉาย ทองปาน ทางช่องยูทูบหอภาพยนตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไพจง ได้กล่าวถึงงานศพของผมหอมไว้ในช่วงสนทนาหลังชมว่า เป็นงานศพที่มีผู้มาร่วมงานนับเป็นพัน ๆ คน แสดงให้เห็นถึงสถานะความเป็นบุคคลสำคัญของพื้นที่ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากฉากงานศพอันน่าสะเทือนใจของตัวละครที่เธอเล่นใน ทองปาน


*ผู้เขียนได้ข้อมูลเพิ่มเติมจาก อำนวย ปองนาน นายอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือประสานงานในการเดินทางครั้งนั้น ว่าปัจจุบัน ลำพอง พิลาสมบัติ ได้บวชเป็นพระภิกษุมานานแล้ว ราว 5 ปี 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด