จาก ปยุต เงากระจ่าง ถึง เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผู้ส่งต่อความฝันให้เกิดหนังการ์ตูนไทย

ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยบันทึกไว้ว่า ปยุต เงากระจ่าง เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพการ์ตูนเคลื่อนไหว หรือ “หนังการ์ตูน” ได้สำเร็จเป็นคนแรกของไทย ด้วยผลงานเรื่อง เหตุมหัศจรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2498 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งเขาจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 ปยุตไม่เคยปิดบังว่า ความสำเร็จนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากปณิธานที่เขาอยากจะสานต่อความฝันของ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ศิลปินผู้เริ่มต้นกรุยทางการทำการ์ตูนมาก่อน แต่ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะขาดการสนับสนุน

ปยุตได้เคยเขียนเล่าความทรงจำที่กลายมาเป็นแรงดลใจนี้ไว้ใน วารสารหนังไทย ฉบับที่ 3 เดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2541 ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องเล่าที่น่าประทับใจและชวนให้น้ำตาซึมมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึง ความฝัน ฉันทะ และวิริยะ ของ “จินตนากร” 2 คน ที่ส่งต่อให้กันจนบรรลุถึงเส้นชัย นอกจากนี้ ในบทความดังกล่าว ปยุตยังได้บอกเล่าถึงเส้นทางของการเป็นนักทำหนังการ์ตูนของเขาตั้งแต่ต้นจนจบควบคู่ไปด้วย

เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการจากไปของ ปยุต เงากระจ่าง หอภาพยนตร์จึงขอนำข้อเขียนสำคัญนี้มาลงไว้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวอันเป็นที่มาของหนังการ์ตูนไทยเรื่องแรก รวมทั้งชีวิตของศิลปินคนสำคัญทั้งสองคน ซึ่งอาจกลายเป็นแรงดลใจครั้งใหม่ แก่อนุชนผู้กำลังคิดก้าวเดินในรอยทางที่ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน และ ปยุต เงากระจ่าง ได้บุกเบิกเอาไว้

-----------

คนแปลกหน้า และ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผู้จุดประกายหนังการ์ตูนไทย

เขียนโดย ปยุต เงากระจ่าง 

ภาพปกโดย ชลิดา เอื้อบำรุงจิต

*ตีพิมพ์ครั้งแรก ในวารสารหนังไทยฉบับที่ 3 เดือนตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2541



ภาพ : ปยุต เงากระจ่าง


นิสสัยอยู่บ้านไม่ติด ตามประสาเด็กชายบ้านนอกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อหกเจ็ดสิบปีก่อน เป็นเรื่องปกติเด็กอย่างผมจะชอบเที่ยวซอกแซกไปทั่วไม่ว่าจะมีเฮไหน ฮาไหน จะเป็นงานวัด งานบ้านงานประจําปีต่างๆ ผมจะรู้สึกตื่นเต้นรีบไปดูก่อนใครๆ คือ ไปดูตั้งแต่เขากําลังเตรียมงาน ผูกโรงผูกร้าน ผมนั้นชอบเรื่องการวาดรูปเขียนรูปเป็นชีวิตจิตใจ ชอบไปดูเวลาเขาวาดรูปแต่งร้าน บางทีก็เสนอหน้าไปช่วยเขา 


ตอนผมอายุได้สิบสองย่างสิบสามขวบปี ปี พ.ศ. 2484 เมื่อต้นเดือนธันวาคม กําลังจะมีงานใหญ่ประจําปีของจังหวัดคือ งานรัฐธรรมนูญที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัด ผมก็ตื่นเต้นไปดูตั้งแต่เขากําลังปลูกร้าน มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนต่างๆ มาปลูกโรงร้านกันมากมาย ยิ่งใกล้วันงานยิ่งไปถี่ขึ้นเพราะยิ่งเป็นรูปร่าง ไปดูว่าเขาแต่งร้านกันอย่างไร ทาสีอะไร วาดรูปอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะร้านของทหารอากาศ บน.5 เขาจะมีคนวาดเครื่องบินรบกัน มีทิ้งลูกระเบิดซึ่งเด็กชายเราชอบกันนัก ร้านของอําเภอมีวาดรูปราชสีห์ และรูปคนในท่าทางต่างๆ ร้านของเรือนจําราชทัณฑ์ก็ทําเป็นป้อมค่ายสวยงาม ผมดูเพลิดเพลิน 


มีอยู่ร้านหนึ่ง ปลูกเป็นโรงมุงจากกันฝาไว้เรียบร้อยแล้ว ผมเดินผ่านหลายหนแล้วก็ไม่เห็นจะตกแต่งอะไรเสียที แต่เอ๊ะ! วันหนึ่งผมเดินผ่านเห็นมีใครคนหนึ่งกําลังปีนตอกป้ายอะไรอยู่นั่น จึงแวะเข้าไปดูเสียหน่อยเห็นชายร่างสูงโปร่ง ตัวดํา ผมหยิกหยักศก ผมยังจําเขาได้แม่น วันนั้นเขาสวมเสื้อกล้ามตัวเดียว นุ่งกางเกงสีขาวขายาวอย่างที่เรียกว่าขา ทรงซิการ์ กําลังยักแย่ยักยันปีนบันไดซึ่งพาดกับไม้คร่าวใต้หลังคามือซ้ายจับกรอบป้ายที่ทําเป็นแผงขึงผ้าดิบ มือขวาถือฆ้อนคอยตอกตาปูติดป้ายนั้นอยู่โป้ง ๆ 


ผมเดินเข้าไปใกล้ แหงนหน้าดูป้าย อ๋อ เป็นป้ายโฆษณาแป้งน้ำซึ่งวาดเป็นรูปหน้าผู้หญิงยิ้ม ข้างหน้ามีรูปขวดเครื่องสําอางค์ มีตัวหนังสือเขียนว่า “แป้งน้ำบาหยัน กลิ่นเสน่ห์รัญจวนใจ” 


ภาพ : ภาพความทรงจำวัยเด็ก วันที่พบกับชายแปลกหน้า วาดโดย ปยุต เงากระจ่าง


ผมเห็นรูปหน้าผู้หญิงบนป้ายแล้วก็สะดุดตา นึกถึงฝีมือวาดของช่างเขียนต่างๆ ที่อยู่ในหัวใจผม เอ๊ะเขียนอย่างนี้ ยังกะฝีมือเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน อีตาคนที่กําลังตอกป้ายโป้งๆ นี่จะเขียนได้อย่างนี้เชียวเรอะ คงจะรับจ้างมาติดป้ายมากกว่า 


ผมยืนเท้าสะเอวแหงนหน้าดูป้าย แล้วยังไงไม่รู้ดันสะแอ๋งพูดออกไปดังๆ ตามอารมณ์คะนองว่า  


“แหม ! วาดรูปหน้าผู้หญิงสวยจัง ยังก๊ะเสน่ห์วาดเองแน่ะ” 


ชายที่กําลังตอกตะปูอยู่บนบันไดได้ยินเด็กทัก แกชะงักหันขวับมามองผม ผมเห็นแกเม้มปากที่ยังคาบตะปูอยู่สองสามตัว แล้วแกก็ถอนตะปูออกพลางถามผมว่า 


    “นี่ รู้จักเสน่ห์ด้วยเรอะ”

    “ไม่รู้จักหรอกน้า” ผมตอบ 

    “อ้าว แล้วทําไมรู้ว่าเหมือนรูปเสน่ห์เขียน?” ถามลงมาอีก 

    “ทําไมจะไม่รู้ ผมชอบเขียนรูป ผมเห็นฝีมือเสน่ห์เขียนรูปหน้าปกหนังสือและในหนังสือเยอะ เสน่ห์เขียนหน้าผู้หญิงแบบนี้แหละ" ผมว่า 

    “อือ....แล้วรู้จักรูปของใครอีก" ชายคนนั้นชักจะสนใจผมกระมัง 

    “ก็อีกหลายคน เฉลิมวุฒิ เม๋ แล้วก็ สงบ..." ผมออกชื่อช่างเขียนที่อยู่ในใจ 

    “แล้วเธอชอบรูปของใครมากที่สุดละ?” ถามอีก 

    “ผมชอบเม๋” ตอบอย่างมั่นใจ 

    “ใครนะเม๋ของเธอ" น้าคนนั้นถามกลับมางง ๆ 

    “ก็เม๋ เวชกรไง” ผมตอบ 

    “เฮ่ย เขาอ่านว่า เหม เว้ยไม่ใช่เม๋” เขาชะโงกหน้าลงมาบอกอย่างนึกขําเต็มที

    “เอ...แล้วเสน่ห์ล่ะ เธอไม่ชอบเรอะ” เขาถามผมอีก 

    “ก็ชอบอยู่ครับ เสน่ห์เขียนรูปพลนิกรกิมหงวนดี เขียนรูปสวยแต่ไม่มีชีวิต เม๋เขียนรูปมีชีวิต” ผมตอบไปตามตรง


ไม่รู้ชายรับจ้างติดป้ายนั้นถูกชะตาอะไรผมหรือจะถูกคออย่างไรก็ไม่รู้ เขาทํางานต่อไปและชวนผมคุยไปพลางอย่างยึดยาวและเพลิดเพลิน ยิ่งเมื่อเขารู้ว่าผมชอบเขียนรูป เขียนลวดลาย ลายไทยต่าง ๆ ผมเขียนเล่นบนหาดทรายได้อย่างพิสดาร ใครผ่านไปมาเป็นหยุดยืนดูฝีมือผม เป็นที่รู้กันในละแวกนี้ ผมยังชอบเขียนการ์ตูน ผมเขียนเลียนแบบตัวขุนหมื่นของสวัสดิ์ จุฑะรพ เขียนตัวมิกกี้เมาส์ของดิสนีย์ ได้สบาย 


ชายคนนั้นคงจะสนใจความชอบเขียนรูปและเขียนการ์ตูนของผม ถึงขนาดออกปากชวนผมไปกรุงเทพฯ เขาบอกว่าถ้าอยากเรียนเขียนรูป เขียนการ์ตูนต้องไปกรุงเทพฯ เขาจะพาผมไปหาเสน่ห์ เขาเล่าว่ากําลังคิดทําหนังการ์ตูน ต้องการคนช่วย ผมจะได้หัดเขียนการ์ตูนและช่วยเสน่ห์ทําหนังการ์ตูนไทย


    “น้ารู้จักเสน่ห์เหรอ” ผมถามอย่างตื่นเต้น ทั้งเรื่องเสน่ห์และเรื่องทําหนังการ์ตูน 


    “โอ๊ย รู้จักดี รู้จักทั้งนั้นแหละทั้งเสน่ห์ ทั้งเหม ใครต่อใครจะพาไปหาหมด ถ้าอยากจะรู้จักใคร ไปไหมละ ไปกรุงเทพฯ กับน้า ?” 


    “ไปไม่ได้หรอก ผมกําลังเรียนหนังสือ ม.1 จะขึ้น ม.2 แล้ว" ผมตอบแต่ในใจก็ตื่นเต้น ฝันว่าจะวิเศษเพียงใดหนอหากได้ไปพบเสน่ห์ พบเม๋ และช่างเขียนใหญ่ ๆ ทั้งหลายที่เคยแต่ได้ยินชื่อเสียงและเห็นฝีมือ ผมฝันว่าผมจะได้ช่วยเสน่ห์ทําหนังการ์ตูน 


วันนั้นผมคุยกับชายแปลกหน้าที่ได้แต่เรียกแกว่าน้า จนใกล้ค่ำจึงจากกัน แกยังสั่งแล้วสั่งอีกว่าให้ผมหัดเขียนการ์ตูนให้เก่ง ๆ จะได้ไปช่วยทําหนังการ์ตูนกับเสน่ห์ และหากไปกรุงเทพฯ เมื่อใดให้ไปหาแกให้ได้ แกอยู่ที่หน้าวัดแก้วฟ้าสี่พระยา บ้านอยู่ตรงข้ามประตูวัดเผงเลยหาไม่ยาก ผมก็สัญญาว่าจะไปช่วยแน่ ๆ 


ภาพ : ผลงานวาดเส้นของ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ที่ปยุตชื่นชอบมากที่สุด


จากวันนั้นผมไม่มีโอกาสได้พบแกอีก และไม่กี่วันต่อมาก่อนงานรัฐธรรมนูญจะเริ่มขึ้น ก็เกิดเหตุใหญ่คือเมื่อเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลบุกไทย ได้ยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์ด้วย กองบิน บน.5 และตํารวจได้ต่อต้าน เกิดยิงสู้กันถึงสามวันสามคืน ตายเกลื่อนทั้งสองฝ่าย งานรัฐธรรมนูญงด บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนก็เปิด ๆ ปิด ๆ ระหว่างปี พ.ศ. 2484 ถึง 2486 แต่ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนจบมัธยม 6 ได้ในปีการศึกษา 2488-89 พอดีกับที่สงครามเลิก ด้วยความอยากเรียนต่อ ผมขอก๋งและย่าซึ่งเลี้ยงดูผมมาแต่เล็ก ๆ เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาโอกาสเรียนต่อและสัญญาคุณย่าและก๋งว่า จะพยายามเรียนฝึกหัดครูที่เพาะช่างให้ได้ 


ผมเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกในชีวิต แรก ๆ ลําบากนักเพราะเพิ่งเสร็จสงครามบ้านเมือง ยังอัตคัตขาดแคลนไปทุกอย่าง ผมต้องตระเวนขออาศัยนอนวัดบ้างอะไรบ้างอยู่เป็นแรมเดือน จึงมาขออาศัยพักที่บ้านคุณดิลก ธีระธร ซึ่งเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “วันจันทร์” รายสัปดาห์ ซึ่งผมเคยเป็นสมาชิก แต่ตอนนั้นหยุดกิจการแล้ว คุณย่ามีญาติเป็นสารวัตรอยู่สถานีตํารวจบางคอแหลม ท่านจึงทําจดหมายฝากฝังให้ผมนําจดหมายนี้ไปหาเพื่อขออาศัยอยู่ด้วย วันหนึ่งผมจึงถามทางไปโรงพักบางคอแหลม เขาว่าอยู่ถนนตก ผมต้องไปขึ้นรถอย่างรถสองแถวที่บางลําพู ไปถนนตก ระหว่างทางที่รถเลี้ยวไปตามถนนต่าง ๆ ผมก็คอยชะเง้อมองไปเรื่อยเพราะใหม่ต่อกรุงเทพฯ และตื่นตาตื่นใจ 


บังเอิญรถผ่านหน้าวัด ผมเห็นป้ายอ่านว่า “วัดแก้วฟ้า” พอดีกระเป๋ารถร้องบอกว่า “สี่พระยา ๆ” ผมก็นึกถึงชายแปลกหน้าเมื่อสี่ปีก่อนขึ้นมาทันที เคยสัญญากันว่าถ้ามากรุงเทพฯ จะไปหาเขา จะได้รู้จักเสน่ห์และช่างเขียนใหญ่ ๆ จะได้ทําหนังการ์ตูน ผมรีบสอดสายตามองหาบ้านตรงข้ามประตูวัด ก็เห็นเป็นกําแพงยาว ไม่มีบ้าน ในกําแพงมีตึกเตี้ย หลังคากระเบื้องเป็นแถวยาว แต่ไม่เห็นทีท่าว่าจะเข้าไปได้ยังไง ดูแล้วรู้สึกว่าเหลวไหล ผมก็ชักเปลี่ยนความสนใจจากจุดนั้น รถก็เคลื่อนไปช้า ๆ เด็กกระเป๋าก็เรียกหาผู้โดยสารว่า “ถนนตก ๆๆ”  พอดีรถแล่นมาถึงประตูวัดอีกประตูหนึ่ง ซึ่งห่างจากประตูแรกมากพอสมควร ผมรีบมองไปทางฝั่งตรงข้ามประตูวัดอีก นั่น...นั่น สายตาปะเข้ากับชายคนหนึ่ง น้าคนนั้นเอง ผมจําได้แม่นแกยังใส่เสื้อกล้ามแบบเดิม แต่วันนั้นนุ่งกางเกงเวสปอยท์ ไม่ใช่กางเกงขาวขาทรงซิการ์ แกกําลังยืนอยู่บนเก้าอี้ มือซ้ายถือถาดจานสี มือขวาถือพู่กันสีน้ำมัน กําลังวาดรูปโปสเตอร์บนแผงสังกะสีแผงใหญ่ เป็นรูปหน้าผู้หญิงกับผู้ชาย ผมสังเกตเห็นว่าเป็นร้านรับทํางานศิลป์ มีป้ายบอกชื่อร้านว่า “เสน่ห์ศิลป์” ไม่รู้ทําไมแต่ผมฉุกใจขึ้นมาทันทีว่า นี่ไงเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน นี่ไงจิตรกรเอกที่ผมอยากพบคนหนึ่ง ที่แท้ชายแปลกหน้าคนที่ผมเคยคุยด้วยคือ เสน่ห์! ผมมัวตื่นเต้นตกตะลึงเพราะนึกไม่ถึง และมัวเงอะงะรถก็แล่นเร็วผ่านหน้าร้านไป และเลี้ยวเข้าถนนเจริญกรุงไปแล้ว กว่าจะได้สติคิดว่าทําไมไม่บอกให้รถหยุดก็เลยไปไกลแล้ว ใจก็กังวลว่าจะไปธุระอยู่ จึงคิดว่าวันหน้าให้พร้อมกว่านี้ค่อยหาโอกาสมาใหม่เพราะรู้ทางมาแล้ว 

ภาพ : เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน


เมื่อไปถึงโรงพักบางคอแหลม เอาจดหมายฝากฝังจากคุณย่าให้นายตํารวจผู้นั้น เขาฉีกซองอ่านแล้วก็บอกผมว่าอย่ามาอยู่เลยไม่มีที่พอ ลําพังเขากับครอบครัวก็ไม่สะดวกอยู่แล้ว ผมจึงกลับไปบ้านคุณดิลก กว่าจะถึงก็ค่ำมืดแล้ว 


จากนั้นอีกไม่นานนักผมเตรียมพร้อม หิ้วส้มเป็นของฝาก ไปขึ้นรถที่บางลําพูตามเส้นทางเดิม พอถึงหน้าประตูวัดแก้วฟ้า ที่หมายตาไว้ก็ลงไปหาร้านเสน่ห์ศิลป์ที่เคยเห็นครั้งก่อน แต่เอ๊ะ ! ร้านหายไปไหนเจอแต่ร้านปิดประตูเงียบ ป้ายก็ไม่มีแล้ว ผมก็เดินเล็ม ๆ เที่ยวถามใคร ๆ แถวนั้นเขาก็บอกว่าไม่รู้ย้ายไปไหน เมื่อไปถามร้านกาแฟได้ความว่า ดูเหมือนย้ายไปอยู่แถวเสาชิงช้า ผมรู้สึกเสียดายที่คลาดเจอกันอีก ตั้งใจว่าจะต้องไปหาที่เสาชิงช้าต่อไป 


ต่อมาผมไปเดินวนเวียนหาร้านเสน่ห์ศิลป์ ที่ร้านรวงแถวเสาชิงช้าอยู่หลายคราวแต่ไม่พบ รู้สึกเสียใจยิ่งขึ้นว่าได้เห็นแล้วก็ยังคลาดแคล้วจนได้ คงหมดหวังเสียแล้ว 


ผมรู้สึกเคว้งคว้างอยู่ในกรุงเทพ ฯ ไม่รู้จักใครและยังไม่ได้เรียนต่อ โรงเรียนเพาะช่างซึ่งถูกภัยสงครามยังไม่เปิดสอน ระหว่างนั้นผมได้เข้าไปหาคุณพระเทวาภินิมมิต ที่กรมศิลปากร ช่วยท่านฝนหมึกจีนและลงเส้นหมึกการ์ตูนรามเกียรติ์ที่ท่านเขียนดินสอไว้แล้วอยู่หลายวัน และต่อจากนั้นท่านแนะนำให้ผมไปช่วยเขียนลายฮ้อบนหัวโขนเล็กกับหลวงเทพลักษณ์ เลขาแถวบางซื่อ พองานน้อยผมก็ไปทํางานกับละครเร่ คณะมณีศิลป์ นําโดยคุณสมัย เมษะมาน ผมเป็นคนเขียนฉาก ต้องลงเรือเดินทางตะลอนไปกับคณะแวะแสดงตามหัวเมือง กลางวันตื่นนอนต้องเตรียมฉากและเขียนฉาก ซึ่งใช้กระดาษหนังสือพิมพ์แปะบนเสื่อลําแพนเป็นฉาก เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวไม่ใช้ผ้าเพราะหายากและแพงมาก ตกกลางคืนต้องคุมจัดฉากและรื้อถอนเมื่อเลิกแสดง ทําอยู่เก้าเดือน อดหลับอดนอนพักผ่อนไม่พอ ร่างกายผอมโซ รายได้ก็น้อย ก็ต้องหาทางหยุดงาน หลบเข้ากรุงเทพฯ ได้โอกาสลงเรือเมล์แดงเข้ากรุง ถึงท่าพระจันทร์ เรือเทียบท่าส่งคน ผมก็ถือโอกาสลงด้วยอย่างไร้จุดหมาย เดินเรื่อยเปื่อยมาที่ป้ายแดงดาวขาว ที่จอดรถรางท่าพระจันทร์ บังเอิญหรือเป็นโชควาสนาไม่รู้ ผมเห็นครูใหญ่โรงเรียนของผมเมื่อปีญี่ปุ่นขึ้น ตอนนี้ท่านลาออกจากราชการแล้ว มาเป็นนักเขียนหนังสือและบทหนังบทละครนามป. พิมล ผมคารวะท่าน ท่านจําได้เพราะเคยใช้ไหว้วาน ท่านถามว่าไปยังไงมายังไงดูโทรมมาเชียว ผมเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็เลยดึงผมขึ้นรถรางไปด้วย ท่านว่าดี ไปกับครูพอดีกําลังต้องการช่างเขียน ท่านพาผมเปลี่ยนรถรางไปลงแถวโรงเลี้ยงเด็ก พาไปพบคุณพินิต อังกินันท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน “หลักเมือง” ท่านให้งานผมเขียนการ์ตูนการเมือง บทบรรณาธิการ และเขียนภาพประกอบในชุดเรื่อง “บุญเพ็งหีบเหล็ก”  ซึ่งเป็นเรื่องยาวประจำและยังเขียนหัวเรื่องต่างๆ ของหนังสือนั้น 


ผมได้เงินเดือนพออยู่ได้ และได้ที่นอนบนโรงพิมพ์ หลังจากวาดรูปและรับใช้บรรณาธิการแล้วก็มีเวลาว่าง ผมก็นึกถึงเรื่องเรียนหนังสือ พอดีได้ข่าวว่าโรงเรียนเพาะช่างสร้างโรงมุงจากเป็นที่เรียนชั่วคราวกันแล้ว ประกอบกับตอนเย็น ๆ เวลาล้อมวงกับคนในกองบรรณาธิการ ท่านบรรณาธิการมักพูดเสมอว่าท่านสนับสนุนคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ โอกาสดีวันหนึ่งผมเห็นท่านอารมณ์ดี ผมก็เข้าหาท่าน เรียนท่านว่าตอนนี้พอมีเวลา ผมอยากเรียนฝึกหัดครูตามที่สัญญาไว้กับคุณย่าและก๋ง ผมจะไม่ให้เสียงานจะทําให้ทัน แม้กลางค่ำกลางคืน มีงานด่วนก็จะลาโรงเรียน 


คุณพินิตท่านมีเมตตาสูง ยิ่งท่านอนุญาตให้ผมไปเรียนได้ ผมก็รีบวิ่งเต้นสมัครเข้าเรียนที่เพาะช่าง ทั้ง ๆ ที่เขาเรียนกันไปนานแล้ว บังเอิญท่านผู้อํานวยการซึ่งสัมภาษณ์ผม ท่านเห็นผลงานการ์ตูนของผมใน “หลักเมือง” ท่านจึงรับผม 


ผมจึงได้เรียนสมใจและได้ทํางานไปด้วย นับว่าเป็นโชคของชะตาชีวิตที่น่าพึงใจอย่างยิ่งสําหรับเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ถ้าผมไม่นึกถึงโชคชะตาที่เล่นตลกชักนําให้ได้พบคุณเสน่ห์ แต่เหมือนไม่ได้พบ 


เย็นวันหนึ่งสมัยสอบไล่ปีหนึ่ง ผมเสร็จจากการสอบวิชาปั้น คุมสอบโดยอาจารย์ ไวซาเซะ ชาวญี่ปุ่น ผมส่งงานปั้นให้อาจารย์ แล้วก็สบายอกสบายใจเดินกลับที่พัก ไม่รู้นึกอะไร ดันเดินเล่นเถลไถลไปทางถนนวรจักร เมื่อเดินผ่านหน้าวัด พระพิเรนทร์ บังเอิญมองเข้าไปเห็นในวัดกําลังมีงานเผาศพ ผมเห็นคนนั่งกันเป็นแถว เห็นครูเหม เวชกร นั่งอยู่แถวหน้าและเห็นช่างเขียนรูปลูกศิษย์ครูเหมที่ผมรู้จักและจําได้หลายคน ผมจึงเดินเลียบเคียงเข้าไป จึงรู้ว่าเป็นงานเผาศพ คุณเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผมเห็นรูปถ่ายคุณเสน่ห์ หรือชายแปลกหน้าคนนั้นนั่นแหละตั้งอยู่หน้าหีบศพบนเชิงตะกอน ผมรู้สึกใจหาย ใจคอ เศร้า หดหู่ และงง จะเข้าไปกว่านี้ก็รู้สึกประหม่า ผมเป็นเด็กยังนุ่งกางเกงดําขาสั้น เสื้อเชิ้ตขาวก็มอมแมมดินเหนียวจากการปั้นงานสอบ พอดีได้เวลาผู้คนลุกขึ้นเตรียมพิธีเผา ผมก็ค่อยๆ เดินถอยหลังกลับ เดินกลับที่พัก ใจคอนึกถึงแต่ชายแปลกหน้าที่ได้พูดคุยกันที่บ้านนอกเมื่อสี่ห้าปีก่อนโน้น นึกถึงที่เขาคะยั้นคะยอให้ไปกรุงเทพฯ นึกถึงสัญญาว่าจะพาไปพบเสน่ห์ จะช่วยเสน่ห์ทําหนังการ์ตูน นึกถึงชายคนนั้นที่กําลังยืนบนเก้าอี้เขียนป้ายโฆษณาที่หน้าร้านเสน่ห์ศิลป์ ผมรู้สึกเสียดายและรู้สึกอยู่อย่างนี้ทุกครั้งที่นึกถึงเขา ผมอยากจะยืนต่อหน้าเขาอีก และบอกว่าผมนี่ไงเด็กชายคนนั้น ผมมาแล้ว น้านี่เองคือเสน่ห์ ผมมาช่วยน้าทําหนังการ์ตูนไง 


ต่อมาผมได้เห็นหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ตีพิมพ์เรื่องของคุณเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ว่าท่านได้พยายามทดลองทําหนังการ์ตูนไทย จนสําเร็จเป็นหนังม้วนสั้นๆ แล้วท่านพยายามเสนอขอความสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านทางกองภาพยนตร์ทหารอากาศ จะทําหนังการ์ตูนไทยเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนะนําการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายส่งเสริมการเกษตรของหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ นัยว่ารัฐบาลเห็นว่าทําหนังการ์ตูนไม่มีใครดู สู้ทําหนังคนดีกว่า ดูเหมือนว่าคุณเสน่ห์ท่านผิดหวังมาก ประกอบกับสุขภาพก็ทรุดโทรม ด้วยท่านเป็นโรคปอด (จากการทำงานหนัก และตรากตรํางานเกี่ยวกับการทําบล๊อก ซึ่งต้องอยู่กับสารเคมีตลอดนานๆ) ที่สุดท่านจึงเสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2490 ตายไปพร้อมกับความฝันที่จะทําหนังการ์ตูนไทย หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ยังได้ลงรูปจากฟิล์มหนังการ์ตูน ที่คุณเสน่ห์ทดลองทําให้เห็นด้วย เป็นภาพชาวนากําลังเกาะรั้ว และภาพฝูงไก่กําลังจิกหาอาหารกินตามพื้น (ซึ่งต่อมา ผมได้ไปขอรูปนี้จากพรรคพวกที่ “พิมพ์ไทย” มาเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ และยังเก็บไว้ถึงวันนี้) 


ภาพ : ภาพบางส่วนของการ์ตูนที่ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน พยายามขอการสนับสนุนจากรัฐแต่ไม่สำเร็จ 


ตั้งแต่นั้นมา ผมยิ่งคิดถึงคุณเสน่ห์ คิดถึงความฝันที่ท่านจะสร้างหนังการ์ตูนไทยแต่ฝันค้าง ผมได้แต่ให้สัญญาในใจว่าผมจะสานต่อฝันของท่าน จะหาทางสร้างหนังการ์ตูนไทยให้สําเร็จให้จงได้ 


หลังจากเรียนจบฝึกหัดครูการช่าง จากโรงเรียนเพาะช่าง ทีแรกผมตั้งใจจะเป็นครูตามที่คุณย่าอยากให้เป็น ผมสอบครูได้ของกระทรวง ต้องไปบรรจุต่างจังหวัดไกลสุดกู่ แต่เขายังไม่มีค่าพาหนะ ต้องรอค้างอยู่ ผมจึงเข้าทํางานตามร้านทําบล็อกหลายแห่ง แล้วไปได้ทํางานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นช่างศิลป์ เป็นอันไม่ได้เป็นครูและต่อมาก็ได้เข้าทํางานที่สํานักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ เป็นช่างศิลป์เช่นเดิม 


ผมยังนึกถึงการทําหนังการ์ตูนอยู่เสมอ ได้เก็บหอมรอมริบเงินทอง หาซื้อกล้องถ่ายหนัง ซื้อฟิล์มมาหัดถ่ายหนัง จนพอจะชํานาญแล้ว แต่เรื่องการทําหนังการ์ตูนนี้ ได้พยายามขวนขวายถามใครก็ยังไม่ได้การ ได้แต่เดากันไปต่าง ๆ นานา แรก ๆ ผมก็นึกเอาเองว่า คงคล้าย ๆ กับหนังตะลุง ซึ่งผมเห็นว่าคือต้นตระกูลการ์ตูนไทยนั่นเอง ผมคิดว่าหนังการ์ตูนก็คงคล้าย ๆ กับหนังตะลุง แต่นึกไม่ออกว่าจะเขียนและถ่ายทําให้เคลื่อนไหวในภาพยนตร์ได้ยังไง พยายามหาหนังสือมาอ่าน ก็ยังไม่มีเล่มใดบอกวิธี ได้แต่นึกถึงคุณเสน่ห์ ว่าท่านได้ทดลองทําได้แล้วแม้เป็นม้วนสั้น ๆ มาวันหนึ่งผมได้คุยกับช่างทําบล็อกซึ่งเคยทํางานอยู่กับร้านคุณเสน่ห์ ผมถามเขาว่ารู้ไหมว่า คุณเสน่ห์ทําหนังการ์ตูนอย่างไร ช่างคนนั้นก็บอกว่าเขาไม่เคยเห็นตอนทํา แต่เห็นคุณเสน่ห์เขียนรูปการ์ตูนลงบนแผ่นเซลลูลอยด์ คือแผ่นพลาสติกใส ๆ ผมได้ยินเท่านี้แหละก็รู้สึกเหมือนเส้นผมบังภูเขา ตาสว่างมองทะลุ เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาเองทันทีว่าทําอย่างไร เหมือนเคล็ดลับที่ขบไม่ออกอยู่นาน ขบแตกแล้ว ผมจึงเริ่มเสาะหาแผ่นเซลลูลอยด์ ซึ่งปรากฏว่าหายากเข็ญในภาวะหลังสงครามใหม่ ๆ อะไร ๆ ก็ยังขาดแคลนไปทั้งนั้น บังเอิญวันหนึ่งไปเยี่ยมญาติป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เดินผ่านกองขยะเห็นฟิล์มเอกซ์เรย์ทิ้งปนอยู่ในกองขยะ ผมได้ความคิดก็เลือกเก็บเอาแผ่นที่ไม่ยับมาได้จํานวนหนึ่ง เอามาหาทางลอกภาพออกให้เหลือแต่แผ่นใส ได้ลองหลายวิธี ที่สุดมีคนแนะให้แช่น้ำด่างขี้เถ้า ได้ผลภาพลอกออกได้แผ่นใส ผมลองเอามาเขียนการ์ตูนและลองถ่ายเป็นภาพยนตร์ดู ได้ความรู้ว่าทําอย่างนี้แน่แต่ฟิล์มเอกซ์เรย์มีเนื้อหนาและพื้นก็ออกเป็นสีฟ้าบลูไม่ใสขาว พยายามหาแผ่นเซลลูลอยด์ต่อไปทั่วกรุงเทพฯ ที่สุดไปพบที่ร้านตัดหมวกและเครื่องแบบตํารวจทหาร เขาไม่ขายต้องอ้อนขอแบ่ง เขาทนวอนไม่ไหวจึงแบ่งให้บ้าง 


ผมจึงเริ่มตั้งต้นสร้างหนังการ์ตูนเรื่องแรก เวลานั้นได้ทํางานอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แผนกประกันชีวิต พอเลิกงานก็รีบกลับบ้านมาเขียนการ์ตูนจนดึกดื่นทําอยู่แปดเก้าเดือนจึงเสร็จ เป็นปี พ.ศ. 2498 แล้ว 


นั่นคือหนังการ์ตูนเรื่อง “เหตุมหัศจรรย์” เป็นภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร สีโกดักโครม กินเวลาฉาย 12 นาที เป็นหนังไม่มีเสียง ต้องพากย์ขณะฉายอย่างเดียวกับหนังไทยสมัยนั้น 


ได้ออกฉายอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์บรอดเวย์ สามแยก (เวลานี้ถูกทุบทิ้งไปหลายปีแล้ว) ฉายประกอบกับหนังไทยเรื่อง “ทุรบุรุษทุย” ของ ส.อาสนจินดา 


เวลานั้นผมได้เข้าทํางานที่สํานักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ แล้ว สื่อมวลชนและผู้ชมหนังไทยตื่นเต้นกันใหญ่ว่า คนไทยทําหนังการ์ตูนได้แล้ว แม้จะเป็นหนังสั้น 


สํานักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ได้ให้ทุนผมไปดูและฝึกงานทําภาพยนตร์การ์ตูนที่โตเกียว ญี่ปุ่น และต่อมาให้ผมทําหนังการ์ตูนอีกเรื่อง คือ “หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่)”  ยาวประมาณ 20 นาที เมื่อปี พ.ศ. 2500 (ออกฉาย พ.ศ. 2503) และต่อมาได้ทําหนังการ์ตูนเรื่อง “เด็กกับหมี”  พ.ศ. 2503 


ภาพ : สำนักข่าวสารอเมริกัน มอบรางวัลให้ปยุต จากความสำเร็จในการทำการ์ตูนไทยเรื่องแรกเรื่อง เหตุมหัศจรรย์


ผมได้รับความสําเร็จในการทําหนังการ์ตูน มีผู้มาว่าจ้างให้ผมทําหนังการ์ตูนเป็นอันมาก แต่มักเป็นหนังโฆษณาสินค้า ซึ่งเป็นหนังสั้น ๆ นิดเดียว กิจการดีจนผมต้องลาออกจากงานประจํามาตั้งบริษัท ชื่อ“เท็มเพิลฟิล์ม” ได้สร้างงานหนังการ์ตูนไทยไว้เป็นจํานวนมาก และหลากหลาย ทั้งที่ทําเป็นการ์ตูนวาดรูประบายสี เป็นวาดเส้น เป็นหุ่นนิ่ง ที่น่าจะอยู่ในความทรงจําของคนไทยในสมัยนั้นเช่น หนูหล่อแสนซน สโนไวท์กับแป้งน้ำ เจ้าหญิงนิทรา เทพารักษ์กับคนตัดไม้ โจโจ้ เจ้าเงาะ รจนา 


ผมพยายามเก็บงําฟิล์มภาพยนตร์ผลงานเหล่านี้ไว้ เพราะทํามาด้วยความรักและวิสาหะ เมื่อไม่นานมานี้ได้รื้อค้นออกมา เพื่อมอบให้หอภาพยนตร์แห่งชาติ นําไปอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ ต้องเสียดายว่าได้ชํารุดเสียหายจนสุดจะเยียวยาได้ไปเยอะ 


ความฝันอย่างยิ่งของผมคือการทําหนังการ์ตูนไทยเรื่องยาว ซึ่งผมคิดจะทําตั้งแต่เมื่อแรกทําหนังการ์ตูนได้สําเร็จแล้ว แต่การทําหนังการ์ตูนเรื่องยาวเป็นงานใหญ่ต้องมีคนเป็นทีมงานและต้องมีทุน ผมก็ได้แต่รอหาโอกาสมาเรื่อย


จนมาถึงปี พ.ศ. 2519 ผมเห็นว่าตัวเองอายุมากขึ้น ถ้ามัวรอต่อไปจะทําหนังการ์ตูนเรื่องยาวไม่สําเร็จแน่ เพราะเป็นงานหนักต้องทุ่มเทมาก จึงรวบรวมกําลังตั้งใจทำ คือเรื่อง “สุดสาคร” ทั้ง ๆ ที่ทุนจํากัดและขาดแคลน กับมีอุปสรรคมากมาย ผมได้พยายามเข็นจนสําเร็จ หลังจากใช้เวลาสร้างไปถึงสองปีเต็มกับต้องเสียสายตาไปข้างหนึ่ง 


แม้จะไม่ได้อย่างใจแต่ “สุดสาคร” ก็ถือกําเนิดในโลกภาพยนตร์การ์ตูน เป็นหนังการ์ตูนไทยขนาดยาวเรื่องแรก ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2522 เสียดายว่ามาจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทําเรื่องที่สอง ที่สามออกมาได้อีก


มาในระยะหลัง ๆ นี้ ผมได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ไปสอนเรื่องการเขียนและทําหนังการ์ตูน ได้เป็นครูตามที่ก๋งและคุณย่าปรารถนาแล้ว 


เมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้กรุณามอบรางวัลอนุสรมงคลการ ซึ่งเพิ่งจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกให้แก่ผม ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการทําหนัง การ์ตูนไทยและพัฒนาหนังการ์ตูนไทยมาตลอดจนปัจจุบัน 


ผมรู้สึกขอบคุณและซาบซึ้ง แต่ผมนึกถึงชายแปลกหน้าที่ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเกือบหกสิบปีก่อน นึกถึงชายที่จุดประกายให้ผมอยากทําหนังการ์ตูน ผมจึงอุทิศรางวัลนั้นแด่ คุณเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน นักทําหนังการ์ตูนไทยที่อาภัพ ผู้บุกเบิกมาก่อนหน้าผม 


ผมยังคิดถึงคุณเสน่ห์ ยังจําภาพของชายแปลกหน้าที่กําลังตอกป้ายได้ชัดเจน จำช่างเขียนที่ยืนเขียนแผ่นป้ายอยู่บนเก้าอี้ได้ชัด จําหีบศพบนเชิงตะกอนในวันนั้นได้ชัด 


และผมยังเสียดาย เสียดายที่ไม่ได้รู้จักเสน่ห์...


แต่บางที...วันหนึ่งผมอาจจะได้พบชายแปลกหน้าคนนั้นอีก ผมจะรีบบอกเขาว่า “ น้า คุณเสน่ห์ ผมเองครับ จําผมได้ไหม ผมคือเด็กคนนั้นไง...”



ภาพ : ต้นฉบับร่างแรกของบทความ ลายมือของ ปยุต เงากระจ่าง 



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด