เรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นของ เนย วรรณงาม คนภาพยนตร์ 5 แผ่นดิน ผู้ยืนหยัดต่อสู้อยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบเก่า ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากช่างเขียนป้ายโฆษณา จนกลายมาเป็นผู้บุกเบิกโรงหนังในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเป็นเจ้าของสายหนังเฉลิมวัฒนาที่เคยโด่งดัง
-----------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ปรับปรุงข้อมูลจากฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 19 พฤษภาคม-มิถุนายน 2556
ผู้ที่เคยมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย คงจะคุ้นเคยดีกับโรงหนังอลังการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ โรงหนังขนาดเล็กที่ตั้งชื่อตามโรงละครหม่อมเจ้าอลังการ สถานที่ที่มีการฉายภาพยนตร์ในฐานะมหรสพ เก็บเงินค่าเข้าชมจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม เมื่อ 10 มิถุนายน 2440 อันเป็นเหตุการณ์ที่กำลังจะมีอายุครบ 123 ปีในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากจะมีขึ้นเพื่อรำลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดภาพยนตร์ในเมืองไทย โรงหนังอลังการแห่งนี้ยังนับเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรงหนังไทยในอดีตของผู้ที่มาเข้าชม ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเปรียบเสมือนภาพแทนขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญ หนึ่งในนั้น คือ ห้องผู้จัดการโรงหนังของนายเนย วรรณงาม ผู้ที่มักได้รับการแนะนำให้รู้จักเพียงสั้น ๆ ด้วยเวลาอันจำกัดว่า เป็นบุคคลสำคัญผู้บุกเบิกโรงหนังทางภาคเหนือและภาคอีสาน
ภาพ : รูปถ่ายนายเนย วรรณงาม (ในกรอบรูปทางขวามือ) และโต๊ะทำงานพร้อมด้วยเอกสารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเขา จัดแสดงอยู่ในห้องผู้จัดการโรงหนังอลังการ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย
แต่ในความเป็นจริง เรื่องราวของชายผู้นี้ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจอีกมากมายเกินกว่าคำจำกัดความที่เอ่ยไป เช่นเดียวกับบางส่วนในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทยที่ถูกละเลยเพราะขาดการบอกเล่า เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดของภาพยนตร์ในเมืองไทยที่กำลังจะมาถึงนี้ หอภาพยนตร์จึงขอนำบางช่วงแห่งชีวิตของนายเนย จากเรื่องเล่าของบุคคลในครอบครัวมาเรียบเรียงใหม่ให้ได้ลองศึกษา แม้การส่งต่อประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าเหล่านี้อาจมีรายละเอียดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง แต่อย่างน้อยก็คงช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงบรรยากาศเก่า ๆ ของวงการหนังไทย สำหรับใครหลายคนที่ไม่เคยได้รับรู้
นายเนย วรรณงาม (นามสกุลเดิม เลียบทวี) เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2441 ที่วัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม บิดาเป็นชาวจีน แซ่เลี้ยบ อพยพมาประกอบกิจการร้านขายของชำ ด้วยความที่เป็นเด็กหัวดี นายเนยจึงสามารถสอบได้ทุนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้ต้องย้ายเข้ามาใช้ชีวิตเป็นลูกศิษย์พระที่วัดสระเกศ ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่อายุ 13 ปี
หลังจากจบระดับชั้น ม.8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ นายเนยได้สอบเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงออกมารับราชการเป็นเสมียนอยู่ในกรมแผนที่ แต่อยู่ได้เพียงประมาณ 2 ปี ก็ต้องลาออกเพราะความเบื่อหน่ายต่อการวางท่าใหญ่โตของพวกลูกเจ้าขุนมูลนาย เมื่อออกจากราชการ ชีวิตของเขาได้ผันเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วยการไปเป็นลูกจ้างของโรงหนังพัฒนากร
โรงหนังพัฒนากรแห่งนี้ นับเป็นโรงหนังลำดับแรก ๆ ของสยาม และเป็นโรงหนังมีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงเวลานั้น เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ภายหลังเจ้าของกิจการได้จัดตั้งบริษัทพยนต์พัฒนากรขึ้น โดยมีนายเซียวซอง อ๊วน สีบุญเรือง เป็นผู้จัดการ ปี พ.ศ. 2462 พยนต์พัฒนากรได้รวมตัวกับบริษัทคู่แข่งคือ รูปพยนต์กรุงเทพฯ ในนามว่า สยามภาพยนตร์บริษัท ผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และโรงหนัง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ภาพ : ตลับเมตรสำหรับใช้วัดพื้นที่สร้างโรงหนังของนายเนย วรรณงาม
ดังนั้นหากคำนวณจากอายุ นายเนยจึงน่าจะเข้าทำงานที่โรงหนังพัฒนากรในช่วงที่อยู่ภายใต้ชื่อของสยามภาพยนตร์บริษัทแล้ว โดยนายเซียวซองอ๊วน ยังคงเป็นผู้จัดการใหญ่ และเป็นกำลังสำคัญในการขยายกิจการของบริษัท หน้าที่แรกของนายเนยคือการเป็นช่างเขียนป้ายโฆษณา ต่อมา จึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นพนักงานฉายประจำอยู่ห้องฉาย แต่เนื่องจากมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ทำให้เขาสามารถรับหน้าที่อื่น ๆ นอกจากการฉาย เช่น อ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษของหนังเงียบ ให้น้องชายนายเซียวซองอ๊วนผู้ตาบอด แปลเป็นภาษาจีนกลางให้คนดูซึ่งโดยมากเป็นคนจีนฟัง เพื่อให้เข้าใจเรื่องราว รวมทั้งยังรับหน้าที่เขียนบทพากย์ให้แก่ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) หลานชายของนายเซียวซองอ๊วน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักพากย์หนังคนแรกของไทย
ครั้งหนึ่ง นายเนยเคยได้รับโอกาสไปฉายภาพยนตร์แบบกลางแปลง ถวายให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรถึงในวัง ขณะที่กำลังฉายอยู่นั้น ฟิล์มได้เกิดลุกไหม้ ด้วยเพราะฟิล์มในยุคนั้นยังเป็นฟิล์มไนเตรตซึ่งไวไฟ นายเนยเห็นท่าไม่ดีจึงตัดสินใจปลดฟิล์มออก แล้วรีบคว้าลงสระน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เพลิงลุกลาม เป็นที่พอพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 อย่างมาก และได้พระราชทานผ้าม่วงให้เป็นรางวัลแก่การตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
ภาพ : ภาพโรงภาพยนตร์พิพัฒนจันทร จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นายเนยเคยเป็นผู้จัดการ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2472
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนให้เห็นความสามารถด้านอื่น ๆ และปฏิภาณไหวพริบของนายเนย ซึ่งผู้จัดการใหญ่อย่างนายเซียวซองอ๊วนก็คงจะเห็นเช่นเดียวกัน จึงได้เลื่อนขั้นให้เขาขึ้นมาอยู่ในสายธุรกิจ เริ่มจากการมอบจักรยานให้ปั่นไปแอบนับยอดผู้ชมตามโรงหนังในเครือ เพื่อคอยจับผิดว่าสายส่งหนังหรือเช็คเกอร์นั้น โกงเงินค่าตั๋วบริษัทหรือไม่ จากนั้นเขาจึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้จัดการสายหนัง โดยได้รับมอบหมายจากนายเซียวซองอ๊วนให้ขึ้นไปขยายสาขาของบริษัทตามจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือ
ที่แรกที่นายเนยขึ้นไปบุกเบิกคือ จ.เชียงราย แล้วค่อย ๆ ขยายไปตามจังหวัดอื่น ๆ เช่น นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ เขามุ่งมั่นทำงานด้วยความทุ่มเท เพื่อหวังทำกำไรให้แก่บริษัท จนเป็นที่พึงพอใจของนายเซียวซองอ๊วน ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพนักงานคนโปรดของนายห้าง ครั้งหนึ่ง เมื่อหนังที่นำไปฉายไม่สามารถทำกำไรได้ นายเนยตัดสินใจกลับมาหาเจ้านายเพื่อขอลาออก แต่กลับถูกนายเซียวซองอ๊วนทัดทาน ซ้ำยังให้เลือกหนังไปฉายเองได้เลย ทั้ง ๆ ที่ โดยปรกติแล้ว หากรู้ว่าสายหนังคนไหนนำบัญชีที่ขาดทุนมาส่ง นายห้างใหญ่แห่งพัฒนากรผู้นี้ จะโยนบัญชีทิ้งไปอย่างไม่ไยดี
นายเนยรับหน้าที่เป็นตัวแทนขยายสาขาให้แก่สยามภาพยนตร์บริษัท จากภาคเหนือเรื่อยมาจนถึงภาคอีสาน ซึ่งได้ตั้งเป็นศูนย์ใหญ่อยู่ที่ จ.นครราชสีมา โดยมีหนังจากบริษัทอยู่ในบัญชีกว่า 30 เรื่อง ปี พ.ศ. 2471 เค้าลางแห่งความตกต่ำของสยามภาพยนตร์บริษัทก็มาถึง เนื่องจากหัวเรือใหญ่อย่าง นายเซียวซองอ๊วนได้ถึงแก่กรรมลง และในปี พ.ศ. 2472 ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับโรงหนังพัฒนากร เมื่อฟิล์มไนเตรตที่อยู่ในคลังเก็บฟิล์ม เกิดลุกไหม้จนวอดวาย ทันทีที่ทราบข่าว นายเนยรีบนำฟิล์มในความรับผิดชอบกลับไปให้ที่กรุงเทพฯ แต่ทางพัฒนากรก็ตอบแทนความดีความชอบของเขาด้วยการโอนมอบฟิล์มชุดดังกล่าวรวมทั้งอุปกรณ์เครื่องฉายต่าง ๆ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ เป็นรางวัลแห่งการทำงานเพื่อบริษัทด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดมา
ภาพ : นายเนย วรรณงาม (ขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) ในขบวนแห่โฆษณาหนังหน้าโรงหนังที่ จ.อุตรดิตถ์
ด้วยฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอยู่ในมือ นายเนยได้กลับมาตั้งต้นกิจการภาพยนตร์ของตนเองที่โคราช ทำทุกอย่างด้วยตนเองทั้งเขียนป้าย แห่โฆษณา และฉายหนัง เขาเริ่มต้นจากการเร่หนังฉาย ต่อมาจึงพยายามสร้างหรือเช่าโรงหนังตามเมืองใหญ่ ๆ ให้ทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อส่งหนังไปป้อนเข้าโรง ซึ่งเป็นระบบแบบเดียวกับนายเซียวซองอ๊วนแห่งพัฒนากร ใช้ชื่อสายหนังว่า เฉลิมวัฒนา อันเป็นชื่อของโรงภาพยนตร์ของเจ้าเมืองโคราช ที่เขาอาศัยเช่าประกอบกิจการ
สายหนังเฉลิมวัฒนาของนายเนย จึงค่อยๆ ขยายสาขาออกไปทั่วทั้งภาคอีสาน จากเด็กเขียนป้ายโฆษณาของโรงหนังพัฒนากรในวันวาน เขาสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาอยู่ในฐานะเดียวกับนายห้างเซียวซองอ๊วนผู้ที่เคารพรัก มีโรงหนังอยู่ในเครือนับร้อยโรง และสร้างโรงหนังขึ้นมาเป็นของตนเอง ถึง 3 โรง คือ โรงหนังเฉลิมวัฒนา อุดรธานี โรงหนังเฉลิมวัฒนา อุบลราชธานี และโรงหนังเฉลิมวัฒนารามา นครราชสีมา