ศุภชัย วอทอง ช่างไทยผู้จำลอง “ซีเนมาโตกราฟ” ประดิษฐกรรมแห่งการกำเนิดภาพยนตร์โลก

เบื้องหลังการสร้างแบบจำลองซีเนมาโตกราฟ – ประดิษฐกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิกของโลกที่กลายเป็นของหายาก – อันเป็นภารกิจสุดท้าทายของ ศุภชัย วอทอง ช่างกลึงไทยผู้มีพื้นเพมาจากภาคอีสาน และหลงใหลใฝ่ฝันในความน่าอัศจรรย์ของเครื่องฉายหนังกลางแปลงมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะต้องมารับหน้าที่แกะรอยภูมิปัญญาของพี่น้องลูมิแอร์แห่งฝรั่งเศส ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนให้กำเนิดภาพยนตร์โลกอย่างเป็นทางการ

---------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู 

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 29 กันยายน-ตุลาคม 2558



เช่นเดียวกับเด็กต่างจังหวัดหลายคน เมื่อประมาณ 35 ปีก่อน ศุภชัย วอทอง หรือ ช่างเต๋อ ช่างกลึงหนุ่มใหญ่วัย 47 ปี ผู้มีพื้นเพอยู่ที่จังหวัดยโสธร ก็เคยมีความทรงจำที่ผูกพันกับหนังกลางแปลงซึ่งเป็นสีสันในยามค่ำคืน  


เพียงแต่ความผูกพันที่แตกต่างออกไปจากเด็กคนอื่น เพราะในขณะที่เพื่อน ๆ กำลังตื่นตาตื่นใจกับภาพที่ปรากฏบนจอ ความสนใจของเขากลับตกอยู่ที่เครื่องฉายหนัง หลงใหลใฝ่ฝันจนเก็บเอามาทำเล่นเองที่บ้าน 


“อย่างเด็ก ๆ นี่ ผมชอบดูหนังนะ แต่ก่อนจะเป็นหนังกลางแปลง แต่เวลาไปดู ผมชอบดูเครื่องฉายมากกว่า (หัวเราะ)  เวลาหนังขาดแต่ละที ช่างฉายหนังเขาก็จะตัดฟิล์มที่เสียทิ้ง พวกเราก็แย่งกันตามประสาเด็ก ๆ  แล้วกลับมาทำเครื่องฉายเล่นเองอยู่บ้าน ทำแบบเด็ก ๆ โดยใช้ไม้ตะเกียบสองอันเสียบเข้ากับกล่องกระดาษด้านข้างให้ทะลุอีกฝั่ง จัดให้อยู่ข้างบนตัว ข้างล่างตัว ห่างกันประมาณสามนิ้ว แล้วก็เอาฟิล์มที่แย่งมาได้มาพันเข้ากับไม้ตะเกียบตัวบน ทำเป็นที่สำหรับใช้ม้วนฟิล์ม เสร็จแล้วก็เอาปลายอีกด้านของฟิล์ม มาพันเข้ากับไม้ตะเกียบตัวล่าง เพื่อใช้หมุนเลื่อนเฟรม สุดท้ายก็เจาะช่องด้านหน้าและด้านหลังของฟิล์ม ด้านหลังสำหรับใช้ไฟฉายส่องผ่านฟิล์มทะลุช่องด้านหน้าให้เกิดภาพไปยังจอหนัง ซึ่งทำจากผ้าเช็ดหน้า แต่ก่อนผ้าเช็ดหน้าสีขาวจะมีกรอบคล้าย ๆ กับจอหนัง ก็เอาไปขึงแล้วเอาไฟฉายส่องฟิล์มเล่นกัน”


แต่เพราะการฉายหนังประสาเด็กนั้นเกิดมาจากความรักในเรื่องเครื่องยนต์กลไกเป็นที่ตั้ง เขาจึงไม่ได้คิดฝันจะมาทำงานเป็นพนักงานฉายหรืออยู่ในวงการภาพยนตร์ ช่างเต๋อเติบโตขึ้นด้วยปณิธานอันแรงกล้าว่าจะเป็นช่างมาตั้งแต่เด็ก ด้วยรักและชื่นชอบในงานช่างยนต์ แต่ภายหลังจากเรียนจบชั้น ม.3  พี่ชายซึ่งเป็นช่างกลึง ได้ชักชวนให้เขามาฝึกงานอยู่ในโรงกลึงที่กรุงเทพฯ เขาจึงต้องเบนเข็มจากความฝันในการเป็นช่างยนต์กลายเป็นช่างกลึงมานับตั้งแต่นั้น 


กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน หลังจากที่เขาได้ขยับขยายออกมาเปิดโรงกลึงของตนเองบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 4  ช่างเต๋อได้บังเอิญรับงานดัดแกนล้อฟิล์มของหอภาพยนตร์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้เข้ามาผูกพันกับเรื่องภาพยนตร์อีกครั้ง ด้วยการมีโอกาสทำงานด้านช่างให้หอภาพยนตร์อยู่เป็นระยะ จนเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557  โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ได้เสนอภารกิจใหญ่ให้แก่เขา นั่นคือการจำลอง ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph) ประดิษฐกรรมที่มีความสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก และกลายเป็นของล้ำค่าอันหาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบัน  ภายใต้เงื่อนไขเพียงข้อเดียวว่า ต้องจำลองทุกอย่างไว้ให้เหมือนของดั้งเดิมทุกประการ !


ภาพ : ภาพวาดแสดงการฉายหนังด้วยเครื่องซีเนมาโตกราฟที่ฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีก่อน



“คุณโดมเขาก็เอารูปมาให้ผมดูว่า ช่างเต๋อ ผมอยากได้แบบนี้ ทำได้ไหม ผมก็ว่ามันน่าสนใจ ก็เลยลองไปขอศึกษาดูก่อน ว่ามันมีความเป็นไปได้แค่ไหน เสร็จแล้วก็เริ่มหาข้อมูลกัน ซึ่งข้อมูลเรามีน้อย  ผมไม่มีข้อมูลอะไรเลย ก็มีคุณโดมเขาถ่ายเอกสารมาให้บ้าง แล้วก็ส่งเมลมาบ้าง ส่งเป็นคลิปยูทูบมาบ้าง” 


“ผมก็อยากทำนะ คือว่ามันมีกลไกเยอะ เราชอบเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แต่ว่าก็ไม่รับปากแกทันที เพราะก็หวั่นอยู่ว่ามันอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ อะไหล่ทุกชิ้นมันไม่มีขาย คอนเซ็ปต์ของมันก็คือ เน้นอะไหล่ทุกชิ้นให้เหมือนตัวต้นแบบมากที่สุด น็อตแต่ละตัว สกรูแต่ละตัว ต้องมีรูปทรงที่โบราณ อย่างทุกวันนี้เราจะไปหาสกรูรูปทรงเก่า ๆ แค่หนึ่งตัวนี่ก็ไม่มีแล้ว  อย่างตัวเกี่ยวบานประตูซีเนมาโตกราฟนี่ก็ต้องทำขึ้นเอง ทำขึ้นใหม่หมดเลย ทุกชิ้นจะไม่มีขายตามท้องตลาด”


หลังจากใช้เวลาศึกษาข้อมูลอยู่ประมาณ 2 เดือน ทั้งค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เพิ่มเติม รวมถึงต้องหาคนช่วยแปลข้อมูลซึ่งส่วนมากเป็นภาษาฝรั่งเศส เดือนเมษายน เขาเริ่มสะกดรอยบรรพชนนักประดิษฐ์ภาพยนตร์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ด้วยการลองร่างแบบขึ้นเพื่อหาขนาดของเครื่องและกลไกต่าง ๆ บนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขาฝึกหัดเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อภาพในหัวเริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เขาจึงตัดสินใจตกปากรับทำภารกิจที่อาจเรียกได้ว่ายากที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิต


ย้อนกลับไปที่ซีเนมาโตกราฟ ประดิษฐกรรมชิ้นนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นโดย ออกุสต์และหลุยส์ ลูมิแอร์ สองพี่น้องลูกชายเจ้าของโรงงานอุปกรณ์ถายภาพนิ่งแห่งเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ในยุคที่ภาพยนตร์โลกยังไม่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีความพิเศษกว่าประดิษฐกรรมภาพยนตร์ของนักประดิษฐ์รายอื่น ๆ ตรงที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด  ใช้งานได้สะดวกหลากหลาย เนื่องจากสามารถเป็นทั้งกล้องถ่าย เครื่องพิมพ์ และเครื่องฉายได้ในตัวเดียวกัน


ซีเนมาโตกราฟได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895  ณ ห้อง Salon Indien ใต้ถุนร้านกาแฟ Grand Café ภายในโรงแรม Scribe แห่งกรุงปารีส ด้วยการฉายภาพยนตร์เก็บค่าเข้าชมจากสาธารณชน ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับในทางสากลว่าเป็น “วันกำเนิดภาพยนตร์โลก” ผลงานของพี่น้องลูมิแอร์จึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่ง “ให้กำเนิดภาพยนตร์” รวมทั้งเมื่อพวกเขาได้ส่งพนักงานนำซีเนมาโตกราฟจาริกออกไปเผยแผ่ฉายภาพยนตร์ตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา ประดิษฐกรรมรูปทรงจัตุรัสนี้ก็ได้กลายไปเป็นจุดเริ่มต้นการกำเนิดภาพยนตร์ในประเทศต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย 



ภาพ : ศุภชัย วอทอง หรือ “ช่างเต๋อ” กับแบบจำลองซีเนมาโตกราฟที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องแรก


การได้มาจำลองแบบซีเนมาโตกราฟจึงคล้ายเป็นการสานฝันในวัยเด็กของช่างเต๋อให้เป็นจริง จากที่เคยทำแต่เครื่องฉายหนังเด็กเล่น มาวันนี้ เขากำลังจะได้ทำเครื่องฉายหนังที่ความหมายพิเศษไปกว่าเครื่องฉายหนังใด ๆ ในโลกนี้  เมื่อต้องเริ่มลงมือทำ ช่างเต๋อพบว่าปัญหาใหญ่ในการจำลองประดิษฐกรรมชิ้นนี้คือเรื่องของขนาด  เพราะตัวอย่างแบบต่าง ๆ ที่เขาค้นข้อมูลได้มานั้นต่างมีขนาดและสัดส่วนไม่เท่ากัน เนื่องจากซีเนมาโตกราฟของพี่น้องลูมิแอร์นั้น แม้จะมีอายุอยู่แค่ประมาณ 10 ปี แต่ก็มีการผลิตออกมาหลายรุ่น สุดท้าย เขาจึงยึดเอาขนาดของฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งกว้าง 35 มม. เป็นหลักในการวางสัดส่วนกลไก  


แต่ความยากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการที่ต้องจำลองทุกอย่างออกมาตามแบบต้นฉบับ ซึ่งไม่อนุญาตให้เขานำความรู้ด้านช่างมาประยุกต์เครื่องมือชิ้นนี้ทำงานง่ายขึ้นได้เลย เพราะจะผิดไปจากกลไกดั้งเดิม บางครั้งเขาจึงต้องเข้าไปสำรวจกล้องถ่ายหรือเครื่องฉายภาพยนตร์โบราณที่มีจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย เพื่อศึกษาแนวทางกลไกการทำงานของประดิษฐกรรมด้านภาพยนตร์เหล่านี้ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ในขณะที่อะไหล่ต่าง ๆ นั้น ก็ต้องผลิตขึ้นมาเองใหม่เกือบทั้งหมด 


หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นานกว่า 7 เดือน ปลายปี 2557 ซีมาโตกราฟฝีมือคนไทยชิ้นแรกจึงแล้วเสร็จ ท่ามกลางข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยเฉพาะงานไม้ที่เป็นส่วนประกอบภายนอกและเป็นงานที่เขาไม่ถนัด  ซึ่งถือเป็นบทเรียนให้ได้นำมาพัฒนาสำหรับการประดิษฐ์งานชิ้นต่อไป 


“ตัวนี้ผมไปให้ช่างไม้เขาทำให้ แต่การเข้าไม้มันก็ไม่อยู่ในคอนเซ็ปต์ของคุณโดม ของคุณโดมนี่ต้องการเข้าไม้แบบโบราณ โดยไม่ต้องใช้ตะปู เป็นลิ่ม แต่ว่าตัวนี้ด้วยความที่ว่าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับงานไม้น้อย ก็เลยให้ช่างไม้ที่รู้จักเขาทำให้ ก็ยังไม่ถูกใจเรื่องรอยต่อ ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเลยมาศึกษา เปิดดูในเน็ต เสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าไม้ จนไปเจอเว็บหนึ่งของเมืองนอก เขาจะมีเครื่องมือสำหรับเข้ามุม ผมก็เลยสร้างเครื่องมือเข้าไม้นั้นขึ้นมา เพื่อจะได้ทดลองวิธีการเข้าไม้ ถ้าพัฒนาตัวต่อไปนี่ผมน่าจะสามารถเข้าไม้เองได้แล้ว  และไม้คงจะเปลี่ยนไปใช้ไม้นอก พวกไม้วอลนัทให้สมเป็นของต่างประเทศ แต่ตัวแรกยังเป็นไม้สักอยู่


“ตัวแรกเริ่มทำจริง ๆ จัง ๆ เลยก็เดือนพฤษภา เสร็จธันวา ใช้งานได้เลย ถ้าจะทำตัวที่สองเราก็จะรู้เทคนิคแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนา อย่างตัวแรกกลไกที่เราออกแบบมา พอมาประกอบรวมกันแล้วมันค่อนข้างจะใหญ่  ตัวที่สองจะต้องลดขนาดพวกกลไกให้เล็กลง ทำเฟืองมาก็ต้องลองใส่เฟืองว่ามันขบกันดีไหม”


ช่างเต๋อบอกว่าการที่ได้มาจำลองเครื่องซีเนมาโตกราฟในครั้งนี้ ทำให้เขาอดทึ่งกับภูมิปัญญาของงานช่างในสมัยก่อนไม่ได้  โดยเฉพาะส่วนที่ช่วยให้ฟิล์มสามารถเลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างสะดวก หรือที่เรียกว่า “กวักฟิล์ม” เพราะเป็นงานต้องอาศัยความสัมพันธ์ในการทำงานของกลไกหลายส่วน และต้องผ่านการคำนวณมาอย่างแม่นยำ ชนิดที่พลาดไม่ได้แม้แต่มิลลิเมตรเดียว ซึ่งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ กวักฟิล์มนี้เองที่เป็นเคล็ดลับสำคัญในความสำเร็จอันงดงามของพี่น้องลูมิแอร์ เมื่อหลุยส์ ลูมิแอร์ ได้ดัดแปลงกลไกของจักรเย็บผ้า ให้กลายมาเป็นกวักฟิล์มในซีเนมาโตกราฟ จนสามารถใช้งานได้อย่างดี หลังจากล้มเหลวมาแล้วหลายชิ้นก่อนหน้านี้

ภาพ : (ซ้าย) แบบจำลองซีเนมาโตกราฟฝีมือช่างเต๋อ เครื่องที่ 2 จัดแสดงอยู่ที่หอภาพยนตร์  (ขวา) ซีเนมาโตกราฟของจริง ที่จัดแสดงอยู่ที่สถาบันลูมิแอร์ ประเทศฝรั่งเศส


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ ได้นำมาแบบจำลองซีเนมาโตกราฟฝีมือชาวไทยชิ้นแรกของโลกนี้มาจัดฉายภาพยนตร์ให้ผู้ชมได้ชมจริง ๆ ในห้องที่จำลองมาจากสถานที่ที่ซีเนมาโตกราฟได้ทำการฉายหนังขึ้นจอครั้งแรกต่อหน้าสาธารณชน เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว 


ต่อมาไม่นาน ช่างเต๋อได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งลุล่วง นั่นคือการพัฒนาแบบจำลองซีเนมาโตกราฟฉบับสมบูรณ์ ที่ต้องต่อยอดจากตัวแรกให้มีรูปแบบและสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด โดยคราวนี้เขาได้ใช้ไม้วอลนัทอย่างที่ตั้งใจไว้ ทำให้รูปลักษณ์ของแบบจำลองซีเนมาโตกราฟชิ้นที่ 2 นี้ คล้ายคลึงกับของจริงอย่างมาก รวมทั้งสามารถปฏิบัติการทั้งถ่ายและฉายหนังได้เหมือนของจริง


แบบจำลองซีเนมาโตกราฟทั้ง 2 ชิ้นนี้  จึงเปรียบเสมือนบทพิสูจน์ภูมิปัญญาและความเพียรของนักประดิษฐ์ภาพยนตร์ในยุคบุกเบิกภาพยนตร์โลก รวมทั้งเป็นตัวแทนแห่งความอุตสาหะ ความสามารถ และความใฝ่รู้ของช่างไทย ผู้เคยมีเครื่องฉายหนังกลางแปลงเป็นแรงบันดาลใจมาแต่วัยเยาว์




ผู้สนใจ สามารถมาชมแบบจำลองซีเนมาโตกราฟฝีมือคนไทยด้วยตัวท่านเองได้ที่ นิทรรศการ Grand Café & Salon Indien ภายในเมืองมายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02 482 2014 ต่อ 119

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด