สถานการณ์ภาพยนตร์ในเมืองไทย ท่ามกลาง New Normal หรือ “ความปรกติใหม่” ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกฎระเบียบของสังคม การเว้นระยะห่าง และมาตรการการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังทางสาธารณสุขและป้องกันการกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคโควิด-19
---------
โดย ก้อง ฤทธิ์ดี และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563 (บทความนี้เขียนก่อนการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน)
ที่มาภาพปก: เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป
ถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในประเทศไทย สถานประกอบการในลักษณะต่าง ๆ เริ่มเปิดให้บริการตามระยะการผ่อนคลายมาตรการ หรือ “ปลดล็อก” ของรัฐบาล แต่แรงกระเพื่อมอันสืบเนื่องจากไวรัสยังคงอยู่กับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน คำศัพท์ยอดนิยมแห่งปีคือ New Normal หรือ “ความปรกติใหม่” อันหมายถึง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกฎระเบียบของสังคม การเว้นระยะห่าง และมาตรการการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังทางสาธารณสุขและป้องกันการกลับมาระบาดอีกครั้งของเชื้อโรค
หลังจากที่จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ในฉบับเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ได้นำเสนอบทความว่าด้วยผลกระทบของโรคโควิด-19 มาในวันนี้เราขอนำเสนอบทความต่อเนื่องว่าด้วยโลก New Normal ของวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่โรงภาพยนตร์ต้องเริ่มใช้ สถานการณ์ของโรงหนังขนาดเล็ก หนังไทยที่เริ่มกลับเข้าฉายในโรง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของกองถ่ายหนัง
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากเสมอไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำหรือการรับชม แต่ทั้งนี้ โลก New Normal ไม่ควรเป็นโลกที่ผู้คนหวาดกลัวหรือหลีกหนีโรงภาพยนตร์ แต่เป็นโลกที่ทุกคนควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางกาย ใจและสาธารณสุขเพื่อนำประสบการณ์ร่วมที่สำคัญของมนุษย์กลับมา และทำให้ภาพยนตร์สามารถยังให้เกิดปัญญาได้อีกครั้ง
<<ย้อนอ่านสถานการณ์ภาพยนตร์ในเมืองไทยท่ามกลางวิกฤติโควิด-19>>
กองถ่ายในยุคไวรัส
ในช่วงประมาณวันที่ 11 พฤษภาคม เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเริ่มนิ่ง บรรดาคนทำงานกองถ่ายหนังไทยเริ่มมีความหวังว่าจะกลับมาทำงานและเปิดกองหนัง กองละครได้อีกครั้ง แต่ข่าวที่สร้างความสับสนและอาจจะเสียงหัวเราะแค่น ๆ คือการที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (2019) หรือ ศบค. ประกาศว่าอนุญาตให้กองถ่ายหนังกลับมาเริ่มงานได้ แต่ห้ามมีทีมงานรวมตัวกันเกิน 5 คน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
จากนั้น บัณฑิต ทองดี และ อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้เป็นตัวแทนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในการหารือและทำงานร่วมกับทางการเพื่อกำหนดมาตรการใหม่ของกองถ่าย ออกมาชี้แจงว่า กฎห้ามมีทีมงานเกิน 5 คน เป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากความคลาดเคลื่อนทางเอกสาร โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม มีการแก้ประกาศจากทางการใหม่ ว่าการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ซึ่งเมื่อรวมคณะทำงานหน้าฉากและทุกแผนกแล้วต้องมีจำนวนไม่เกิน 50 คน และต้องไม่มีผู้ชมเข้าร่วมรายการ ก่อนที่ตัวเลขจะเปลี่ยนไปเมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ระยะที่ 4 ออกมา ซึ่งได้กำหนดเพิ่มให้มีคณะทำงานได้ไม่เกินคราวละ 150 คน และผู้ชมไม่เกิน 50 คน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป
นอกจากเรื่องจำนวนคน กฎเกณฑ์อื่น ๆ ของกองถ่าย มีตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น การมีจุดคัดกรองเพื่อวัดอุณหภูมิร่างกาย การที่กองต้องมีทางเข้าออกทางเดียว ความเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย การเช็กอินในระบบไทยชนะ ไปจนถึงรายละเอียดที่ฟังดูแล้วอาจจะขบขัน แต่กลับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะปรกติใหม่ เช่นการห้ามถ่ายฉากต่อสู้ หรือฉากกอดจูบ เพราะเป็นฉากที่นักแสดงต้องใกล้ชิดถึงเนื้อถึงตัวอันเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อโรค
กฎเกณฑ์ของกองถ่ายในยุคไวรัส มีขึ้นเพื่อสวัสดิภาพทางสาธารณสุขของคนทำงานกองถ่ายเป็นสำคัญ แต่ไม่ช้ามันกลายเป็นจุดตั้งต้นให้มีการพูดถึงสภาพการทำงานอื่น ๆ ที่ดูเหมือนคนกองจะอึดอัดมานาน ที่สำคัญที่สุดคือเมื่อมีการเรียกร้องให้กองถ่ายหนังและละครไม่หามรุ่งหามค่ำทำงานเกิน 12 ชั่วโมง (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่เวลาในการถ่ายยามกลางคืนลดลงอันเนื่องมาจากการมีเคอร์ฟิวในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ก่อนจะถูกยกเลิกไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน) ทำให้มีการเรียกกองมาตั้งแต่ตีสามหรือตีสี่เพื่อชดเชย และอีกส่วนดูเหมือนว่า การถ่ายทำยาว ๆ แบบข้ามวันข้ามคืน เป็น “Old Normal” หรือสิ่งที่ทำกันมาเก่าก่อนในแวดวงการถ่ายหนังแบบไทย ๆ การมีกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันไวรัส จึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดมาตรฐานด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของคนทำงานกองถ่ายในระยะยาว
นอกจากนี้ การที่กองถ่ายต้องหยุดไปประมาณสองเดือนในช่วงหยุดเชื้อเพื่อชาติ ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อบุคลากรที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติร่วมมือกับ Netflix ประกาศเปิดกองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นจำนวนเงิน 16 ล้านบาท (หรือ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในแวดวง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นลูกจ้างอิสระในกระบวนการการผลิตภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ในไทยที่แสดงให้เห็นได้ว่างานที่ตนทำอยู่ได้รับผลกระทบ และเมื่อเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ในวันที่ 4 มิถุนายน ปรากฏว่ามีผู้เข้าไปลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเต็มจำนวนตั้งแต่วันแรก แสดงให้เห็นถึงภาวะเดือดร้อนแทบทุกหย่อมหญ้าในวงการถ่ายหนังและละครเมืองไทย ซึ่งถึงแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์จะค่อย ๆ ฟื้นกลับมา แต่กว่าทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมคงต้องใช้เวลาอีกสักพักทีเดียว
โรงหนังหลังพายุโควิด
โรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อพายุโรคระบาดได้ซัดเข้ามาถล่มโลกทั้งใบอย่างไม่ทันตั้งตัว ในประเทศไทย โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศต้องปิดทำการมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมตามข้อเสนอของ ศบค.
หลังหยุดชะงักไป 2 เดือนครึ่ง จอหนังทั่วประเทศก็ได้รับอนุมัติให้รูดม่านเปิดอีกครั้ง ในช่วงการผ่อนคลายระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป นอกจากที่นั่งที่ถูกจำกัดให้ไม่เกิน 200 คน สิ่งที่ทั้งเจ้าของกิจการและผู้ชมให้ความสนใจคือ New Normal ของโรงหนังที่กำลังจะเกิดขึ้นคืออะไร หากอ้างอิงจากคำกล่าวของ พญ.พรรณพิมล
วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ซึ่งกลายเป็นข่าวแทบทุกสำนักในวันแรกเปิดโรงนั้น สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือ กำหนดที่นั่งติดกันได้ไม่เกิน 2 คน และต้องเว้นระยะห่าง 3 ที่นั่ง แต่ละแถวที่นั่งไม่ต้องเว้น แต่ต้องนั่งเยื้องสลับกัน และต้องไม่ฉายภาพยนตร์แต่ละรอบในเวลาติดกันเหมือนที่เคย เพื่อเว้นรอบให้มีการทำความสะอาด รวมทั้งห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มโดยเด็ดขาด
แต่ดูเหมือนว่าคำแนะนำนี้จะไม่ใช่มาตรการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากโรงภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ก็มีวิธีการเว้นระยะที่นั่งแตกต่างไปจากที่อธิบดีกรมอนามัยชี้แจง แต่สิ่งที่สร้างความสับสนและเป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุด คือเรื่องรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เพราะโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่อย่างเครือเมเจอร์และเอสเอฟก็ไม่ได้มีการห้ามกินและดื่มในโรงหนัง จนสุดท้าย พญ.พรรณพิมล จึงต้องออกมาอธิบายว่า สามารถนำป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มเข้าไปในโรงภาพยนตร์ได้ แต่เมื่อรับประทานแล้วก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรกจาก New Normal ไม่ได้เกิดขึ้นภายในโรง หากแต่เกิดขึ้นด้านหน้าโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งจัดกิจกรรมพบปะแฟนคลับให้แก่ “หยิ่น-วอร์” ดาราชายขวัญใจวัยรุ่น 2 คนจากซีรีส์ดัง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เกิดการรวมตัวของแฟนคลับจำนวนมากและมีการถ่ายภาพหมู่ที่ไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง ภาพที่ออกไปก่อให้เกิดกระแสโจมตี เพราะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทำให้ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนต้องสั่งปิดโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7-9 มิถุนายน เพื่อทบทวนมาตรการความปลอดภัย
นอกจากเรื่องมาตรการต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่โรงภาพยนตร์ในเมืองไทยต้องปรับตัวในช่วงนี้ คือภาพยนตร์ที่ถูกป้อนเข้าโรงนั้นมีจำนวนน้อยกว่าช่วงเวลาปรกติ โดยเฉพาะเมื่อหนังฮอลลีวูดใหม่ ๆ ยังไม่พร้อมเข้าฉายเนื่องจากสหรัฐอเมริกายังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในระยะแรกนี้ ส่วนมากจึงเป็นหนังที่ตกค้างหรือฉายมาตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาด เช่น สุขสันต์วันโสด (Low Season), พี่นาค 2, Bloodshot ฯลฯ รวมทั้งมีการนำหนังดังในอดีตกลับมาฉายใหม่ทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น Your Name, Begin Again, แสงกระสือ, ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2, ขุนพันธ์ 2 ฯลฯ แต่เรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ พจมาน สว่างคาตา ของผู้กำกับ พชร์ อานนท์ ที่ควรต้องบันทึกไว้ว่าเป็นหนังเรื่องแรกที่กล้าเสี่ยงเปิดตัวฉายรอบปฐมทัศน์หลังโรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้งเพียง 3 วันเท่านั้น (3 มิถุนายน) ซ้ำยังดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์จนส่งผลให้ พจมาน สว่างคาตา ได้ขึ้นแท่นเป็นหนังทำเงินอันดับหนึ่งติดกันในสองสัปดาห์แรก แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังทำรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตกต่ำไปจากความน่าจะเป็นหากอยู่ในสถานการณ์ปรกติ
ทางด้านโรงหนังขนาดเล็กหรือโรงหนังทางเลือกในกรุงเทพมหานคร หลายแห่งก็เริ่มทยอยเปิดให้บริการทั้งลิโด้ คอนเน็คท์, เฮ้าส์ สามย่าน, บางกอก สกรีนนิ่ง รูม แต่บางที่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น ซิเนม่าโอเอซิส อย่างไรก็ตาม ขณะที่เขียนบทความนี้ ศบค. เพิ่งประกาศผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 เริ่มมีผลในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งอาจจะส่งผลให้สถานการณ์ของโรงหนังทั้งกระแสหลักและทางเลือกต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น