คำโฆษณาหนังโปรแกรมสุดท้ายที่สกาลา ของ สุชาติ วุฒิวิชัย

รู้จักกับ สุชาติ วุฒิวิชัย ครีเอทีฟคนสำคัญของเมืองไทย ผู้ร่วมงานกับบริษัทเอเพกซ์มายาวนานกว่า 50 ปี ทั้งในฐานะคนจัดโปรแกรมหนังและประชาสัมพันธ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการนำพาโรงภาพยนตร์สกาลาเดินทางฝ่ามรสุมมาได้ไกลกว่าเพื่อนร่วมรุ่นทุกโรง

---------


โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนมาจากบทความ “ตำนานการเปลี่ยนผันของโรงหนังเครือเอเพ็กซ์” ในจดหมายข่าวหหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 45 พฤษภาคม-มิถุนายน 2561 




ท่ามกลางเอกลักษณ์มากมายของโรงภาพยนตร์สกาลา หนึ่งในความโดดเด่นที่แฟนหนังหลายคนคอยติดตาม คือข้อความโฆษณาหนังที่เข้าฉายในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งให้อารมณ์หรือรสชาติแปลกต่างไปจากโปรแกรมที่อื่น มาตั้งแต่ยุคที่พี่น้องร่วมสยามแสควร์อย่าง สยาม และ ลิโด ยังคงอยู่เคียงข้าง


หลายคนอาจไม่รู้ว่า ถ้อยคำที่มีเสน่ห์เหล่านี้สร้างสรรค์โดย สุชาติ วุฒิวิชัย ครีเอทีฟคนสำคัญของเมืองไทย วัยเหยียบ 80 ปี ผู้ร่วมงานกับเอเพ็กซ์มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ  ทั้งยังเป็นเจ้าของชื่อหนังดัง ๆ อย่าง วิ่งสู้ฟัด, ผู้หญิงข้า ใครอย่าแตะ รวมถึงน้ำเสียงทุ้มลึกในหนังตัวอย่างหลายเรื่องที่คุ้นเคย 


สุชาติคลุกคลีอยู่ในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังมาตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูของโรงหนังสแตนด์อโลน  ซึ่งแข่งขันกันอย่างดุเดือดเข้มข้น เขาเคยเล่าบรรยากาศการโปรโมตหนังในตอนนั้นให้หอภาพยนตร์ฟังว่า สมัยนั้นยังไม่มีการกำหนดวันฉายที่แน่นอนจากต่างประเทศ เมื่อได้หนังมา โรงหนังเครือเอเพ็กซ์จะคัดเลือกว่าจะนำหนังเรื่องอะไรฉายช่วงไหน โดยดูจังหวะกับสถานการณ์ และสิ่งสำคัญคือโปรแกรมการฉายของคู่แข่ง


“เราจะคอยดูกิจกรรมที่คู่แข่งทำ อย่างเช่นแต่ก่อน มันจะมีบิลบอร์ดโฆษณาหนังใหญ่เท่าตึกรามบ้านช่อง ติดทั่วกรุงเทพ ผมก็จะคอยขับรถออกไปดูตอนตีสอง เพราะเขาขึ้นป้ายกันดึก ๆ บางทีเห็นเขาขึ้นหนังเรื่องนี้มาแล้ว เราต้องขับรถกลับออฟฟิศไปปรับโปรแกรมหนังเราใหม่ ปรับแคมเปญกันใหม่ วุ่นวายกันพอสมควร” 



นอกจากงานประชาสัมพันธ์  สุชาติยังมีหน้าที่เลือกหนังเข้าโปรแกรมฉาย ซึ่งในยุคโรงหนังสแตนด์อโลนนั้น บริษัทเอเพกซ์ได้ออกไปซื้อหนังจากเทศกาลหรือตลาดหนังต่างประเทศเข้ามาจัดฉายเอง คราวละหลายสิบเรื่อง แม้สุดท้ายแล้วจะไม่ได้นำมาฉายครบทุกเรื่อง แต่บางครั้งก็กลายเป็นเรื่องดี เช่นเรื่องหนึ่งที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของเขา


“ตอนนั้นจำได้ว่า ต้องหาหนังเข้าเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลที่ทำเงินให้แก่โรงหนัง จริง ๆ เรามีหนังเรื่องหนึ่งซึ่งวางแผนจะฉายแต่มาไม่ทัน วุ่นวายมาก ผมก็ไปดูที่โกดังเก็บหนัง ไปเจอหนังชุดหนึ่งชื่อ Crazy Boy of the Game เป็นหนังตลกฝรั่งเศส ก็เลยลองเอามาดู ปรากฏว่าใช้ได้ เลยเอามาตั้งชื่อไทยว่า บ๊องส์”  


ผลลัพธ์ก็คือ บ๊องส์ หนังตลกฝรั่งเศสที่เกือบจะถูกลืมเรื่องนี้ ได้รับความนิยมอย่างไม่คาดฝัน จนสามารถยืนโรงฉายอยู่เป็นเดือน ๆ


ไม่เพียงแต่งานด้านหนังต่างประเทศ สุชาติยังเคยรับหน้าที่กำกับหนังไทย  เมื่อครั้งที่บริษัทจากฮอลลีวู้ดงดส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย เพื่อต่อต้านการขึ้นภาษีฟิล์มภาพยนตร์ของรัฐบาลไทยในช่วงปี พ.ศ. 2521 ทำให้บริษัทเอเพ็กซ์จึงต้องผลิตหนังไทยขึ้นมาฉายเข้าโรงเองอยู่ประมาณ 20 เรื่อง  หนึ่งในนั้นคือผลงานการกำกับของ สุชาติ วุฒิวิชัย เรื่อง น้ำค้างหยดเดียว ที่ทั้งท้าทายสังคมและงดงามสมชื่อ กลายเป็นตำนานเล่าขานเรื่องหนึ่งของวงการหนังไทย 


จากยุครุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลน ผันผ่านเข้าสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ที่มาพร้อมกับรูปแบบและระบบการนำเสนอต่อคนดูที่เปลี่ยนไป สุชาติก็ยังเป็นผู้คิดไอเดียหาช่องทางอยู่รอดให้โรงหนังเครือเอเพกซ์ สามารถต่อสู้กับโรงแบบแบบสมัยใหม่เหล่านี้ได้ 


“ถ้าเราขืนปล่อยไปตามยถากรรม คงไม่รอด ก็เลยเอาหนังที่เป็นนอกกระแส หนังทางเลือก มาฉายให้คนดูให้เขาได้สัมผัสรสชาติที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นโปรดักชั่นใหญ่ ๆ อย่างฮอลลีวู้ด นั่นคือที่มาของการฉายหนังนอกกระแส เราตั้งโครงการนี้ว่า Apex Exclusive คือ Exclusive จริง ๆ  มีแค่ที่เราที่เดียว พอตอนหลังเครืออื่นเขาก็เลยเอาคำว่า Exclusive ไปใช้ บางครั้งเราก็เลยต้องเปลี่ยนเป็น Siam Square Solo”


โปรแกรม Apex Exclusive เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2543 ที่โรงหนังลิโด ที่ตอนนั้นแปรสภาพเป็นมัลติเพล็กซ์เนื่องจากโรงเดิมไฟไหม้ และแบ่งออกเป็นโรงเล็ก 3 โรงแล้ว ประเดิมเรื่องแรกด้วยหนังอิหร่านเรื่อง Children of Heaven  ซึ่งสุชาติตั้งชื่อไทยว่า วิ่งสู้เขา หัวใจเราคือสวรรค์  หนังสร้างความประทับใจจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ยืนโรงฉายอยู่นานหลายเดือน นอกจากนี้ โปรแกรม Apex Exclusive  ยังก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวต่อหนังญี่ปุ่นยุคใหม่ เช่น Be with You, Nobody Knows  รวมทั้งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโรงหนังเครือเอเพกซ์ จากโรงที่ฉายหนังโปรแกรมใหญ่ ๆ ในอดีต กลายมาเป็นบ้านของนักดูหนังทางเลือกยุคแรก ๆ ของเมืองไทย




เวลาผ่านไป พร้อมกับการจากไปของโรงสยามกับลิโด และวัยเกษียณของตัวเองที่ผ่านพ้นไปหลายปี แต่สุชาติยังคงผูกพันกับโรงหนัง หลายคนที่ไปดูหนังที่สกาลาในช่วงหลัง ๆ อาจจะเคยเห็นชายชราร่างเล็ก สวมแว่นหนา ไว้ผมยาวสีเดียวกับชุดขาวที่เขาใส่เป็นประจำ เดินผ่านไปมาอยู่อย่างสงบเสงี่ยม นั่นล่ะคือเขา สุชาติ วุฒิวิชัย ผู้มีส่วนสำคัญในการนำพาโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งนี้เดินทางฝ่ามรสุมมาได้ไกลกว่าเพื่อนร่วมรุ่นทุกโรง


เมื่อถามถึงไฟแห่งการสร้างสรรค์ที่ยังคงไม่ดับมอด สุชาติให้เหตุผลว่า


“ผมคิดว่าเพราะเรารักมัน มันอยู่ในวิญญาณ ในสายเลือด วิญญาณของหนังมันคงอยู่ในสายเลือดผมโดยไม่รู้ตัว และวิญญาณนี้คงจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน” 


ในวาระที่หอภาพยนตร์นำหนังเข้าฉายเป็นโปรแกรมสุดท้ายของโรงหนังสกาลา เราจึงขอให้คุณสุชาติช่วยคิดข้อความโฆษณาหนังในโปรแกรมครั้งนี้ เพื่อให้วิญญาณในสายเลือดของเขาได้ออกมาทิ้งทวน และให้บรรดาแฟน ๆ ที่เคยติดตามโปรแกรมของโรงในเครือเอเพ็กซ์ ได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกในความทรงจำ



“BLOW-UP” ผนึกหัวใจแห่งศิลป์ อารมณ์นี้ต้อง Blow…

“THE SCALA” ภาพยนตร์สารคดีที่สะท้อนเรื่องราวของ “ฅนสกาลา”...

“นิรันดร์ราตรี” ภาพยนตร์ที่โด่งดังจากหลายเทศกาล

“CINEMA PARADISO” “โรงหนังที่ผูกพัน พวกเขาเป็นเพื่อน เป็นบ้าน เป็นชีวิต...นาน...ตลอดไป”

- สุชาติ วุฒิวิชัย -

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด