บางส่วนของภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ ที่บันทึกชีวิตและการทำงานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
-----------
โดย ฝ่ายอนุรักษ์
*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563
ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จอมพล แปลก (ป.) พิบูลสงคราม หรือนามเดิม แปลก ขีตตะสังคะ นับว่าเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงยิ่งทั้งทางการเมืองและสังคมเป็นเวลานานตั้งแต่เป็นผู้ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายครั้งหลายสมัย ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งด้วยการยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนต้องลี้ภัยและถึงแก่อสัญกรรมในประเทศญี่ปุ่น ตลอดเวลากว่า 67 ปีแห่งชีวิต จอมพล แปลก พิบูลสงครามผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมาย หอภาพยนตร์จึงขอประมวลบางส่วนของภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นซึ่งยังไม่ค่อยถูกพบเห็นมานำเสนอ เนื่องในวันครบรอบวันเกิด 123 ปีของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม วันที่ 14 กรกฎาคม 2563
งานวันชาตะ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบ วังสวนกุหลาบ
ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เสียง
ความยาว: 6 นาที
ปีสร้าง: 2484
ผู้สร้าง: [กรมโฆษณาการ]
ผู้บริจาค: ประณีต ชาญศิลป์, สุรินทร์ ชาญศิลป์
ภาพยนตร์ซึ่งสันนิษฐานว่าถ่ายโดยกรมโฆษณาการในงานวันคล้ายวันเกิดนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2484 ซึ่งมีการตักบาตรทำบุญ มีการเจิมอาวุธสงครามที่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนรวมเงินกันซื้อให้เป็นของขวัญอย่างปืน รถถัง และเครื่องบินรบ ท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมยินดีเป็นจำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นภาพสถานะอำนาจของนายพลตรีหลวงพิบูลสงครามได้เป็นอย่างดี แต่ที่หาชมได้ยากยิ่งคือภาพระหว่างนายพลตรีหลวงพิบูลสงครามกับพระยาพหลพลพยุหเสนา นายทหารรุ่นพี่ผู้ร่วมก่อการปฏิวัติ 2475 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า ซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้เพียงราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนเดินทางมารับบิณฑบาตจากนายทหารรุ่นน้องผู้นี้ ไม่ใช่แค่เพียงในวันเกิดแต่ยังเป็นในช่วงเวลาที่รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มต้นความพยายามจะลดความขัดแย้งระหว่างนิกายสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติกนิกายที่มีมาอย่างยาวนานอย่างเป็นรูปธรรมจาก พ.ร.บ. สงฆ์ในปี 2484 แม้ความพยายามนั้นจะตั้งอยู่ดับไปในระยะเวลาอันสั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีความสำคัญไม่ใช่แค่ในแง่ที่ทำให้ได้เห็นสถานะผู้นำประเทศของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม แต่ยังทำให้เห็นสองผู้นำประเทศคนสำคัญของเมืองไทยในภาพยนตร์ ณ ช่วงเวลาที่ฝ่ายการเมืองมีความต้องการจะปฏิรูปวงการสงฆ์ครั้งใหญ่อีกด้วย
<<คลิกชมภาพยนตร์>>
พิธีประดับยศนายทหารสมัยนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม
ฟิล์ม 35 มม. / ขาวดำ / เสียง
ความยาว: 8.21 นาที
ปีสร้าง: [2484]
ผู้สร้าง: [กรมโฆษณาการ]
ผู้บริจาค: ประณีต ชาญศิลป์, สุรินทร์ ชาญศิลป์
ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์พิธีประดับยศให้แก่นายทหารและตำรวจชั้นสัญญาบัตรหลายนาย ณ ทำเนียบ วังสวนกุหลาบ ที่สันนิษฐานว่าถ่ายทำขึ้นในปี 2484 หลังไทยได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน จากเสียงบรรยายในตอนต้นของหนังที่พูดถึงการได้รับชัยชนะในสงครามและตำแหน่งของนายพลตรีหลวงพรหมโยธีที่ยังอยู่ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยการประดับยศในครั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อสนองความดีความชอบให้แก่นายทหารและตำรวจจากผลของสงคราม ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของข้าราชการคนสำคัญในฝ่ายนี้หลายคนที่ยังคงมีบทบาทต่อมาในช่วงที่นายพลตรีหลวงพิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ทั้งยังมีภาพการรับประทานอาหารร่วมกันหลังพิธีประดับยศระหว่างนายพลตรีหลวงพิบูลสงครามกับนายควง อภัยวงศ์ ในสมัยที่ยังอยู่ฟากฝั่งเดียวกัน แต่นอกเหนือไปจากนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในแบบฉบับของรัฐทหารที่ยศถาบรรดาศักดิ์คือค่านิยมสำคัญและต้องถูกนำเสนอโดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ
ภารกิจจอมพล ป. ปี 2498
ฟิล์ม 16 มม. / สี / เงียบ
ความยาว: 42.58 นาที
ปีสร้าง: 2498
ผู้สร้าง: [กรมประชาสัมพันธ์]
ผู้บริจาค: กรมประชาสัมพันธ์
ภาพยนตร์เรื่องนี้บันทึกเหตุการณ์ตรวจราชการจังหวัดภาคใต้ของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม โดยเริ่มจากการลงเรือข้ามฟากไปยังจังหวัดภูเก็ต จากนั้นเดินทางต่อไปที่จังหวัดตรังเปิดแพรคลุมป้ายชื่อสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง ต่อจากนั้นเดินทางต่อไปยังอำเภอกันตังเยี่ยมด่านศุลกากรกันตัง แล้วไปวางพวงมาลาอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดสตูล และเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ว่าการภาค 9 ศาลากลางจังหวัดสงขลา มี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจร่วมในพิธีด้วย จากนั้นโดยสารรถไฟไปที่สถานีรถไฟเทพาแล้วเดินทางต่อไปยังอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีเยี่ยมเยียนบ้านเรือนราษฎร แล้วเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาสเยี่ยมสุเหร่า ผู้แทนชาวมุสลิมมอบของที่ระลึกแก่นายกรัฐมนตรีแล้วเดินทางไปชมบริเวณชายหาดและแม่น้ำบางนรา ก่อนเดินทางโดยรถไฟไปถึงสถานีรถไฟสุไหง-โกลก แวะทักทายกับประชาชนที่มารอต้อนรับ โดยตลอดการเดินทางช่วงที่ใช้รถยนต์ จอมพล แปลกเป็นผู้ขับรถเก๋งสีเขียวด้วยตนเอง
<<คลิกชมภาพยนตร์>>
[นายกพบประชาชน]
ฟิล์ม 16 มม. / ขาวดำ / เงียบ
ความยาว: 5.30 นาที
ปีสร้าง: [2498-2500]
ผู้สร้าง: ไม่ปรากฏ
ผู้บริจาค: เรืองยศ พิบูลสงคราม
ปี 2498 นายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงครามเดินทางไป 17 ประเทศรอบโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้วรู้สึกประทับใจในการปกครองแบบรัฐสภาที่มีความเป็นประชาธิปไตยในโลกเสรี อีกทั้งแรงสนับสนุนจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อการดำรงเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงเวลานั้นที่อำนาจทางการเมืองจากทั้งทหารและตำรวจมีอยู่สูง จึงหันมาดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น เช่น การออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยตรง, การเปิดให้รัฐบาลพบผู้สื่อข่าวเป็นประจำเพื่อสื่อสารเรื่องการบริหารบ้านเมือง, ให้มีการไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และให้กลุ่มประชาชนเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลหรือที่ทำการของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกรรมกรหรือกลุ่มที่มีผู้จัดตั้งอื่น ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์นายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พบประชาชนครั้งหนึ่ง โดยเริ่มจากภาพรถบรรทุกเล็กที่มีคนโดยสารจำนวนมากจอดเรียงเป็นทิวแถว ก่อนจะเดินทางมาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งในขณะนั้นใช้เป็นที่ทำการรัฐสภา เมื่อมาถึงประชาชนล้อมวงกันรับประทานอาหารบริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารพระที่นั่ง ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรี จอมพล แปลกได้ลงบันไดมาสนทนากับกลุ่มผู้มาชุมนุมบริเวณหน้าบันไดและสนามหญ้าอย่างใกล้ชิด โดยไม่ปรากฏเนื้อหาหรือสัญลักษณ์แสดงการเรียกร้องใด ๆ ก่อนที่ฝูงชนจะเดินทางกลับด้วยความสงบเรียบร้อย
ท่านบวช Ordination
ฟิล์ม 16 มม. / สี, ขาวดำ / เงียบ
ความยาว: 11.46 นาที
ปีสร้าง: 2503
ผู้สร้าง: ไม่ปรากฏ
ผู้บริจาค: เรืองยศ พิบูลสงคราม
ช่วงต้นของภาพยนตร์จะเป็นบันทึกการเดินทางตามเส้นทางสังเวชนียสถานของจอมพล แปลก พิบูลสงครามและบุคคลในครอบครัว ส่วนในช่วงหลังจะเป็นเหตุการณ์ที่จอมพล แปลก พิบูลสงครามเข้ารับการอุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยาในปี 2503 ก่อนจะกลับไปพำนักที่ญี่ปุ่นเป็นการถาวรจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยการเดินทางตามรอยสังเวชนียสถาน เริ่มจากสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ลุมพินีวัน คณะเดินทางสักการะเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช จะปรากฏวิหารมายาเทวีหลังเก่าซึ่งถูกบูรณะและเปลี่ยนรูปทรงไปแล้วในปัจจุบัน จากนั้นเดินทางต่อไปยังกุสินารา สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน จากนั้นจึงเป็นพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และพาราณสีซึ่งเป็นตำบลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ตามลำดับ จากนั้นคณะเดินทางได้โดยสารรถไฟและล่องเรือไปตามแม่น้ำ ก่อนไปชมป้อมแดง เมืองเดลีเก่า ส่วนในช่วงหลังของภาพยนตร์จะปรากฏวัดพุทธคยาที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2500 ในความรับผิดชอบของรัฐบาลจอมพล แปลกเพิ่งจะแล้วเสร็จการก่อสร้างขั้นต้น จอมพล แปลก พิบูลสงครามได้ปลงผม นุ่งห่มด้วยเครื่องแต่งกายสีขาว และเข้าอุปสมบทในวันที่ 3 สิงหาคม รวมเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต 24 วันและถือเป็นการบวชพระ (อุปสมบท) ครั้งแรกของวัดไทยพุทธคยาด้วย
หมายเหตุ: ข้อมูลและชื่อภาพยนตร์ที่อยู่ใน […] เป็นข้อมูลที่หอภาพยนตร์สันนิษฐานขึ้น และเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและยังไม่สามารถระบุชื่อเรื่องเดิมได้