สมุดภาพร่างหนังเรื่องแรกของ สัตยาจิต เรย์

ชวนอ่าน The Pather Panchali Sketchbook  สมุดภาพร่างหนังเรื่องแรกของสัตยาจิต เรย์ กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของอินเดีย ที่ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายของวิถีชีวิตเบงกาลี 

-------------------------



โดย วิมลิน มีศิริ 

*ตีพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563 


Satyajit Ray หรือ สัตยาจิต เรย์* (ค.ศ. 1921-1992) คือ ผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของอินเดีย และเป็นชาวเบงกอลโดยกำเนิด  แม้ว่าสัตยาจิตจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่ผลงาน Pather Panchali (ค.ศ. 1955) หนังเรื่องแรกของเขา ที่ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายของวิถีชีวิตเบงกาลี ผ่านภาพที่เป็นจริงของท้องทุ่ง บ้านเรือนอันผุพัง มุ่งเน้นไปยังปมประเด็นปัญหาเล็ก ๆ และนำเสนอภาพชีวิตของคนทั่วไปให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด ทำให้เรารู้จักชายคนนี้ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ด้วยภาษาเบงกาลีที่แตกต่างจากภาพยนตร์กระแสหลักของอินเดียในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง 


ห้องสมุดฯ ชวนผู้อ่านชื่นชมสมุดภาพร่างหนังเรื่องแรกของสัตยาจิต เรย์ ผ่านหนังสือ The Pather Panchali Sketchbook บรรณาธิการโดย Sandip Ray ซึ่งหนังสือเล่มนี้มีรูปแบบการนำเสนอแบ่งออกเป็น 4 ส่วน


ส่วนที่ 1 นำเสนอการรวบรวมบทวิจารณ์และบทความแนะนำหนังเรื่องนี้ที่เคยตีพิมพ์ลงสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในนครกัลกัตตาและประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น บทความเรื่อง A Beautiful Picture, Fresh and Personal ใน Sight and Sound นิตยสารด้านภาพยนตร์ชื่อดังของอังกฤษ นอกจากนั้นเนื้อหาในส่วนที่ 1 ได้คัดสรรภาพประกอบมาจากฉากต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้อีกด้วย สิ่งที่ผู้อ่านน่าจะได้รับจากข้อมูลของส่วนที่ 1 คือ ความยิ่งใหญ่และความมหัศจรรย์ของหนังภาษาเบงกาลีที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ 



เมื่อเปิดหนังสือมาถึงส่วนที่ 2 ผู้อ่านจะได้พบกับสมุดภาพร่างของสัตยาจิตจำนวน 58 หน้า ซึ่ง Pather Panchali สร้างมาจากนิยายในชื่อเรื่องเดียวกันของนักเขียนชาวเบงกาลีนามว่า พิภูติภูษัณ พันเนอร์จี ซึ่งสัตยาจิตได้ขอลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้จากภรรยาของผู้เขียน เมื่อ ค.ศ. 1950 และสัตยาจิตได้ถ่ายทอดความแปลกใหม่ของบทประพันธ์เรื่องนี้ให้เป็นภาพร่าง ภาพประกอบ เพื่ออธิบายฉากและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในหนังเท่านั้น โดยเขียนด้วยปากกา พู่กัน และหมึก ลงในสมุดปกผ้าสีแดง (Kheror Khata) ซึ่งเป็นสมุดผลิตด้วยมือ เย็บด้วยเชือกสีขาว และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาวเบงกาลี สัตยาจิตได้นำสมุดภาพร่างไปเสนอผู้สร้างภาพยนตร์ต่าง ๆ เพื่อหาทุนการสร้าง Pather Panchali เป็นเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม แต่ถูกปฏิเสธ ยกตัวอย่างภาพร่างลำดับหน้าที่ 35 และ 36 ถ้าใครมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว อาจจะเห็นภาพร่างแล้วนึกคล้อยตามไปกับภาพเคลื่อนไหวในฉากที่อาปูและทุรคาวิ่งเล่นตามทุ่งหญ้า พร้อมกับมีขบวนรถไฟเคลื่อนผ่านไป และหากพิจารณาสมุดภาพร่างเล่มนี้ เราอาจเข้าใจการสื่อความหมายของสัตยาจิต โดยสรุปสั้น ๆ ได้ 4 ประการ คือ ประการแรก ภาพร่างสื่อถึงสรุปลําดับการเล่าเรื่อง ประการที่สอง การสะท้อนบุคลิกลักษณะของแต่ละตัวละคร ประการที่สาม คือ การเปลี่ยนฉาก ซึ่งคำว่า “dissolve” หรือ “การจางซ้อน” ปรากฏอยู่ในสมุดภาพร่างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสัตยาจิตน่าจะมีสุนทรียภาพด้านการเปลี่ยนฉากด้วยวิธีการจางซ้อน ประการที่สี่ คือ วิธีการจัดวางองค์ประกอบภาพมักจะประกอบไปด้วยบ่อน้ำ ท้องทุ่ง รางรถไฟ พระอาทิตย์ตก เป็นต้น สำหรับสมุดภาพร่างของ Pather Panchali ฉบับจริงนั้น สัตยาจิตได้บริจาคสมุดเล่มนี้ ให้กับ Cinémathèque Française ตามคำร้องขอของ Georges Sadoul นักสื่อสารมวลชนและนักวิชาการภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ซึ่ง สันทีป บุตรชายของสัตยาจิตได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ในช่วงสุดท้ายของชีวิต พ่ออยากเห็นสมุดภาพร่างเล่มนี้อีกสักครั้งก่อนตาย ผมจึงติดต่อไปที่ Cinémathèque Française แต่กลับได้รับคำตอบว่าสมุดภาพร่างสูญหายไปแล้ว” ซึ่งสมุดภาพร่างที่พวกเราได้เห็นในส่วนที่ 2 นี้ เป็นสำเนาที่สแกนเก็บไว้โดยบริษัท Criterion Collection 




สำหรับส่วนที่ 3 แฟนหนังของสัตยาจิตจะได้รำลึกถึงบรรยากาศการถ่ายทำ และความน่าตี่นตาตื่นใจในส่วนที่ 3 นี้ เราจะได้ชมภาพนิ่งงาม ๆ ที่เป็นเบื้องหลังการถ่ายทำ รวมถึงอิริยาบถน่ารัก ๆ ของนักแสดงระหว่างพักการถ่ายทำอีกด้วย ซึ่งหลายภาพเป็นผลงานการถ่ายภาพนิ่งด้วยฝีมือของสัตยาจิต รวมถึงการรวบรวมบทสัมภาษณ์ บทความ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเบื้องหลังกว่าจะเป็น Pather Panchali ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ซึ่งเคยตีพิมพ์ลงในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  ผู้อ่านจะได้อ่านบทความที่เขียนโดยสัตยาจิต รวมถึงข้อเขียนจากบรรดาทีมงานต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาจะกล่าวถึงสัตยาจิตด้วยชื่อเล่นว่า “มนิก” ซึ่งชาวเบงกาลีจำนวนหนึ่งยังนิยมเรียกเขาด้วยชื่อเล่น ส่วนตัวอย่างบทความหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บทความจาก สุพีร์ พันเนอร์จี นักแสดงผู้รับบท “อาปู” ในวัยเด็ก เป็นบทความที่เคยตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2005 เช่น เนื้อความช่วงหนึ่งที่เล่าว่า สัตยาจิตพยายามเฟ้นหานักแสดงเพื่อมารับบทอาปูมากกว่า 200 คนทั่วนครกัลกัตตา แม่ของสัตยาจิตจึงแนะนำว่า สัตยาจิตค้นหานักแสดงที่จะมาเป็นอาปูมามากแล้ว แต่ยังไม่ได้ลองดูเด็กชายที่อยู่ข้างบ้านติดกันในประตูถัดไปนี่เอง สัตยาจิตจึงลองชวนสุพีร์มาที่บ้านเพื่อพูดคุยและถ่ายภาพนิ่งเก็บไว้ และในที่สุด สัตยาจิตเลือกเด็กชายสุพีร์มารับบทอาปู แม้ว่าเด็กชายจะแสดงหนังไม่เป็น ซึ่ง Pather Panchali ออกฉายที่นครกัลกัตตาเมื่อ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1955 ตอนนั้นสุพีร์อายุ 9 ขวบ หลังจากนั้นสุพีร์ได้รับข้อเสนอให้แสดงหนังเรื่องอื่น ๆ มากมาย แต่พ่อกับแม่ของเขาไม่เห็นด้วยและเขาไม่เคยแสดงหนังอีกเลย สุพีร์เล่าว่าแม้เวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษ (ค.ศ. 1955-2005) แต่เขายังได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ ให้เขาเขียนถึง Pather Panchali ซึ่งเขาภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ และเขาต้องการแสดงเป็น “อาปู” เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นไปตลอดกาล  




ส่วนที่ 4 บทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ นำเสนอการรวบรวมเอกสาร (documentation) จำแนกออกเป็น 11 ประเภทเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับ Pather Panchali โดยมีคำบรรยายประกอบใต้ภาพ ซึ่งเราในฐานะคนอ่าน สิ่งที่ได้รับจากการได้เห็นเอกสารต่าง ๆ สะท้อนได้ว่า สัตยาจิตเป็นบุคคลที่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างหลากหลาย และการเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงเอกสารบางชิ้นสะท้อนให้เราเข้าใจได้ว่า หนังเรื่องนี้มีคุณค่ามากสำหรับชาวเบงกาลี ตัวอย่างเอกสาร เช่น แผ่นพับ (Booklet) ที่มีลักษณะคล้ายหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่สัตยาจิตออกแบบด้วยตนเอง อีกตัวอย่างหนึ่งคือแสตมป์ที่ระลึกภาพตัวละครอาปูวัยเด็ก เมื่อครั้งฉลองครบรอบ 25 ปี (ค.ศ. 1955-1980) ของ Pather Panchali  


หากสนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ท่านสามารถมาใช้บริการได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี เปิดให้บริการแบบนัดหมายทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00–17.00 น. เว้นวันหยุดราชการ เพื่อความสะดวกผู้ใช้บริการสามารถนัดหมายล่วงหน้าที่ https://fapot.or.th/main/news/276

หมายเหตุ การออกเสียงชื่อ Satyajit Ray ที่ถูกต้องตามหลักภาษา คือ สัตยชิต ราย แต่หอภาพยนตร์ขอใช้ สัตยาจิต เรย์ ซึ่งยึดตามการออกเสียงที่คนทั่วไปคุ้นเคย

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด