"Come and See" สารคดีที่ชวนให้มาและดูธรรม (กาย) ในแบบฉบับของ ไก่ – ณฐพล

หอภาพยนตร์ชวนมาชมผลงานล่าสุดของหนึ่งในคนทำหนังสารคดีไทยที่น่าจับตามองที่สุดในช่วงนี้ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ที่ได้พาผู้ชมเข้าไปสำรวจความคิดของผู้คนทั้งในและนอกวัดพระธรรมกาย

----------



โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

*ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 56 มีนาคม-เมษายน 2563


ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว เอหิปัสสิโก หรือชื่อภาษาอังกฤษ Come and See เป็นงานธีสิสจบการศึกษาของ ณฐพล บุญประกอบ คนทำหนังสารคดีไทยรุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นในช่วง 2-3 ปีหลัง หนังเรื่องนี้สร้างกระแสความสนใจจากนักดูหนังและผู้ที่สนใจข่าวคราวในวงการสงฆ์เมื่อปีที่แล้ว เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่เราได้เห็นหนังไทยที่พูดเรื่องพระ วัด และพุทธศาสนาอย่างตรงไปตรงมา และยิ่งน้อยนักที่เราจะเห็นหนังสารคดีที่เลือกจ้องมองประเด็นสงฆ์ที่อื้อฉาว และสร้างความเห็นต่างทางความคิดอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาหนึ่งของสังคมไทย



เอหิปัสสิโก พาคนดูเข้าไปอยู่แทบจะในศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างวัดพระธรรมกายกับฝ่ายทางการ ในปี พ.ศ. 2560 เมื่อตำรวจปิดล้อมวัดและพยายามจับกุมตัวเจ้าอาวาส พระธัมมชโย (หรืออดีตเจ้าอาวาสในตอนนี้) หลังจากมีการกล่าวหาว่าวัดมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฟอกเงินและรับของโจรจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นมูลค่า 1,400 ล้านบาท มีการนำกำลังตำรวจกว่าสี่พันนายไปล้อมและตรวจค้นวัด สร้างความโกลาหลให้ญาติโยม และนำมาซึ่งการถกเถียงอย่างกว้างขวางทั้งในเรื่องคดีความเอง และเรื่องคำสอน หลักการ และเบื้องลึกเบื้องหลังความร่ำรวยมหาศาลของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก แต่ก็มีศัตรูและผู้เห็นต่างจำนวนมากไม่แพ้กัน


ภาพยนตร์สารคดีของณฐพล ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวตั้ง เพื่อสำรวจตรวจสอบความคิดของผู้คนหลายฝ่าย ทั้งที่เป็นฝ่ายสนับสนุนวัดพระธรรมกาย ผู้ศรัทธา ญาติโยม และฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าวัดกระทำการหลายอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งอดีตลูกศิษย์ที่หมดศรัทธาและตัดเยื่อใยไม่เหลือซาก


ทั้งหมดนี้ ณฐพลเรียบเรียงเนื้อหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านบทสัมภาษณ์และการใช้ภาพเล่าเรื่อง และจะว่าไปก็ใช้ความอลังการและสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของวัดพระธรรมกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งความกว้างใหญ่ของพื้นที่ และโดมรูปจานบินสีทองอร่ามที่เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้  ความเข้มข้นเกิดขึ้นจากเนื้อหา คำพูดของผู้เกี่ยวข้องที่สร้างมิติอันหลากหลาย และสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จุดเด่นคือการที่หนังได้เข้าไปอยู่ด้านในของวัดและมองกลับออกมาสู่ความวุ่นวายที่รายล้อม แสดงให้เห็นว่าผู้กำกับได้มุมมองที่สื่อมวลชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง และทำให้เห็นว่า หนังสารคดีสามารถเล่าเรื่องและสร้างมุมคิดใหม่ ๆ ที่ข่าวสารทั่วไปในกรณีเดียวกันนี้ไม่สามารถให้ได้


ณฐพลใช้เวลาเป็นปีในการถ่ายทำ ตัดต่อ และทำโพสต์โปรดักชันให้กับภาพยนตร์ เอหิปัสสิโก ก่อนหน้านี้ เขาเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่องดังที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์สาขาหนังสารคดี 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่ติดตามตูน บอดี้สแลมในการวิ่งการกุศลเหนือจรดใต้ แต่หนังว่าด้วยวัดพระธรรมกายนี้ เป็นการเขยิบไปสู่การใช้แนวทางสารคดีในการตรวจสอบประเด็นทางสังคมและความเชื่อที่หนักและมีส่วนพัวพันกับระบบความคิดความเชื่อมากมายในสังคมไทย 


ภาพ : ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์ Come and See


แม้ เอหิปัสสิโก หรือ  Come and See จะเคยได้รับการจัดฉายตามกิจกรรมฉายภาพยนตร์ต่าง ๆ มาบ้างแล้วเมื่อปีก่อน แต่นี่เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ที่ภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์จะได้รับการจัดฉายในโรงภาพยนตร์ หลังจากไปฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เทศกาลสำคัญของทวีปเอเชีย ที่ประเทศเกาหลีใต้ มาเมื่อปลายปีก่อน ขอเชิญทุกท่านมาร่วมพิสูจน์ความเชื่อและศรัทธาจากเรื่องราวระดับปรากฏการณ์ของประเทศ ผ่านภาพยนตร์สารคดีของคนทำหนังที่น่าจับตามองที่สุดในเมืองไทยเรื่องนี้ได้ใน กิจกรรม ภาพยนตร์สโมสร: เอหิปัสสิโก Come and See พร้อมสนทนากับ ณฐพล บุญประกอบ ในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคมนี้ ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เริ่มฉายภาพยนตร์ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป เปิดให้สำรองที่นั่งแล้วตั้งแต่วันนี้


<<คลิกสำรองที่นั่งชมภาพยนตร์>> 





หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด