วันที่ 17 สิงหาคม 2513 รัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ได้เสียชีวิตขณะพูดเพื่อให้ตัวแทนรัฐบาลรับฟังปัญหาของคนทำหนัง การริเริ่มต่อสู้เป็นคนแรก ๆ ก่อนจะต้องจากไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ของเขา ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในขณะที่ความพยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยยังคงมีมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
----------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
ภาพปก - รัตน์ เปสตันยี (ขวาสุด) ในงานประชุมสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย วันที่ 17 สิงหาคม 2513
“ผมพูดได้ว่าภายในห้องนี้ ผมเป็นคนแรกที่จับกล้องถ่ายหนัง ผมสร้างหนังตั้งแต่พระองค์ชายเล็กยังไม่เกิด ผมต้องมาฉิบหายหมดตัวเพราะพระองค์ชายใหญ่ชวนผมไปสร้างเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ทุกวันนี้ผมก็พยายามต่อสู้เพื่อวงการภาพยนตร์ไทยมาตลอด แต่ก็ประสบความล้มเหลว จะหันไปหากินทางโฆษณาก็ถูกบริษัทฝรั่งเข้ายึดครองโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ไปหมด ผมรู้สึกว่า...”
นี่เป็นถ้อยคำสุดท้ายในชีวิตของผู้สร้างหนังไทยที่ชื่อ รัตน์ เปสตันยี ซึ่งกล่าวกับตัวแทนรัฐบาลซึ่งเข้ามารับฟังปัญหาของคนในวงการภาพยนตร์ไทย ในงานประชุม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2513 ก่อนที่จะเขาจะเกิดอาการหัวใจวายขณะที่ยังพูดไม่จบความ และล้มลงเสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬาในคืนนั้น
การจากไปในการปฏิบัติหน้าที่ของ รัตน์ เปสตันยี ได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในขณะที่ความพยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยยังคงมีมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การริเริ่มของรัตน์ตั้งแต่ครึ่งศตวรรษก่อน จึงถือเป็นหลักหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้
ภาพ : ข่าวการเสียชีวิตของ รัตน์ เปสตันยี ในหน้าหนังสือพิมพ์
รัตน์ เปสตันยี ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ยกระดับหนังไทย ตั้งแต่ผลงานหนังสมัครเล่นชื่อ “แตง” ที่เขาส่งไปชนะประกวดระดับนานาชาติเป็นเรื่องแรกของไทย ที่เมืองกลาสโกว์ สก๊อตแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2481 เกือบสิบปีต่อมา เขาได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อาชีพเป็นครั้งแรก จากการชักชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ให้มาเป็นผู้ถ่ายภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ออกฉายในปี พ.ศ 2493 ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เห็นความสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ และมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินโครงการจัดทำโรงถ่ายภาพยนตร์ของรัฐบาล เพื่อสร้างภาพยนตร์เผยแพร่ ส่งเสริม และสงวนรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ แต่สุดท้ายแล้วโครงการกลับไม่ได้เกิดขึ้นจริง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ท่ามกลางผู้สร้างหนังไทยเกือบทั้งหมดที่ต่างทำหนังด้วยฟิล์มสมัครเล่น 16 มม. และใช้วิธีการพากย์สด รัตน์ เปสตันยี ได้ลงทุนเงินจำนวนมาก เพื่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากล เป็นแห่งแรกในไทย นับตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2 ตั้งชื่อว่า “หนุมานภาพยนตร์” โดยเชิญจอมพล ป. มาเป็นประธานในพิธีเปิดโรงถ่าย ปีถัดมา รัตน์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัทหนุมานฯ ชื่อ สันติ-วีณา ซึ่งถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. สีเป็นเรื่องแรกของไทยด้วย โดยส่งเข้าร่วมการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ประเทศญี่ปุ่น และสามารถคว้ารางวัลหลักมาได้ 2 รางวัลคือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ในฐานะภาพยนตร์ที่สามารถแสดงวัฒนธรรมตะวันออกให้ชาวตะวันตกเข้าใจได้อย่างดีเยี่ยม
ภาพ : จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ รัตน์ เปสตันยี ในวันเปิดโรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์
ความสำเร็จของ สันติ-วีณา ตอกย้ำให้รัตน์เห็นว่า หนังไทยนั้นมีศักยภาพที่จะไปอวดนานาชาติได้ หากว่ากระบวนการถ่ายทำเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งอาจเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้จอมพล ป. หวนกลับไปคิดถึงโครงการโรงภาพยนตร์ของรัฐบาลที่เคยพับเอาไว้อีกครั้ง ปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. ได้คิดโครงการจัดตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์แห่งชาติในลักษณะรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการทำภาพยนตร์ไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น โดยให้ผู้สร้างหนังไทยมาตรฐาน 35 มม. ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด และมี รัตน์ เปสตันยี เป็นหนึ่งในนั้น เป็นคณะกรรมการร่วมกันคิดวางแผน โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่หมายจะพัฒนาพื้นที่จังหวัดชลบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางภาพยนตร์ มีโรงถ่ายที่พร้อมสรรพด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเช่าถ่ายทำ แต่ทุกอย่างกลับต้องหยุดชะงักลง เมื่อจอมพล ป. ถูกรัฐประหารออกไปใน พ.ศ. 2500
แม้โครงการของรัฐบาลจะเป็นหมัน ปล่อยให้การพัฒนาภาพยนตร์ไทยยังคงถูกแช่ไว้ด้วยวิธีการสร้างแบบสมัครเล่น แต่รัตน์ก็ยังมุ่งมั่นผลิตภาพยนตร์ไทยมาตรฐานสากลด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวต่อไปอย่างเกือบจะเดียวดาย ปี พ.ศ. 2504 เขายังยกระดับขึ้นสูงอีก ด้วยการลงทุนสั่งซื้อเลนส์สำหรับถ่ายภาพยนตร์จอกว้างแบบซีเนมาสโคปเป็นเรื่องแรกของไทย เพื่อถ่ายทำเรื่อง แพรดำ และได้เข้าประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน
เดือนเมษายนปี พศ. 2505 รัตน์ได้เขียนบทความเรื่อง “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ความรู้คือประทีป โดยกล่าวถึงปัญหาของการสร้างภาพยนตร์ไทยว่ายังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรม ตราบใดที่ผู้สร้างยังผลิตภาพยนตร์ 16 มม. แทนที่จะเป็น 35 มม. เสียงในฟิล์ม ตามสากลนิยม ในขณะเดียวกันก็พูดถึงค่าใช้จ่ายในการสร้างหนัง 35 มม. ที่สูงกว่า 16 มม. ถึง 5 เท่า รวมทั้งปัญหาเรื่องไม่มีการควบคุมปริมาณการนำภาพยนตร์เข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยส่วนมากทำสัญญาฉายหนังต่างประเทศตลอดปี กลายเป็นการตัดอาชีพของคนไทยโดยสิ้นเชิง
ในส่วนสุดท้ายของบทความ รัตน์ได้ประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาช่วยเหลือผู้สร้างหนังไทยอย่างจริงจังว่า
“เมื่อสรุปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันแล้ว ดู ๆ ก็คล้ายกับทารกซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่ปราศจากการเลี้ยงดูและการเหลียวแลจากผู้ปกครอง ทารกเหล่านี้ซูบซีดผอมโซลงทุกที และนับวันแต่จะตายไปไม่ช้า
บัดนี้ ก็สามารถแก่ควรแล้วที่ท่านผู้ปกครองจะลงมือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ทารกนี้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไป! ”
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพิ่งออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ประกาศยอมรับให้การสร้างภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ยังไม่ให้สิทธิบัตรในการส่งเสริมเพราะยังสร้างไม่ได้ตามมาตรฐานสากล
รัตน์ เปสตันยี และผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในระบบ 35 มม. ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ราย เช่น อัศวินภาพยนตร์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และ ละโว้ภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ที่สร้างภาพยนตร์ในระบบมาตรฐาน ในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมกับผู้สร้างหนังไทยรายอื่น ๆ จัดตั้ง “สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย” เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ภาพยนตร์ไทยอยู่ในระดับมาตรฐานสกาลทั้งคุณภาพและปริมาณ รวมถึงสร้างความสามัคคีและความเป็นธรรมระหว่างผู้สร้างหนัง โดยมีการประชุมกันที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์ของ รัตน์ เปสตันยี ก่อนจะได้จดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2510
ภาพ : สมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ถ่ายรูปร่วมกันที่โรงถ่ายหนุมานภาพยนตร์
สมาคมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้สถานภาพของผู้สร้างหนังไทยแข็งแรงเป็นปึกแผ่น พร้อมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งแม้ในขณะนั้น รัตน์จะอ่อนล้าจากความขมขื่นในการสร้างภาพยนตร์ไทยแบบมาตรฐานที่มีแต่ความยากลำบาก จนวางมือจากการเป็นผู้สร้างแล้ว แต่เขายังคงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้เพื่อวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเด็ดเดี่ยว ในสมัยที่เขาเป็นนายกสมาคมฯ รัตน์ได้พาคณะกรรมการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อชี้แจงอุปสรรคต่าง ๆ และยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย อย่างไรก็ตาม ไม่นาน ภายในองค์กรก็เริ่มขาดความสมานฉันท์ จนทำให้รัตน์เกิดความผิดหวังและน้อยเนื้อต่ำใจ เชิด ทรงศรี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของ รัตน์ เปสตันยี ว่า
“เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าทำหนังสือพิมพ์ คุณรัตน์พูดเรื่องรัฐบาลไม่ช่วยหนังไทย...พูดตรงเป้าและรุนแรง จนคนทำหนังไทยด้วยกันเขม่น เห็นว่าเกินไป
คุณรัตน์ก็พูดอยู่เรื่อย ๆ พูดตรง ๆ เสมอ
จนมาถึงคุณรัตน์เป็นนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้าง คุณรัตน์ก็พูด พูด...พูด...
ต่อมา เป็นกรรมการสมาคมผู้อำนวยการสร้าง (เพราะขอตัวไม่เป็นนายกฯ อีก) คุณรัตน์กลายเป็นบุคคลที่ถูกเบื่อหน่าย ต่อคำพูดอันจำเจ ท่านจึงไม่อยากพูด และถึงคราวประชุมคราวใด สิ่งที่ท่านพูด ก็คือ
“พวกเรามาพบกัน กิน ๆ กันเสียให้อิ่ม แล้วก็แยกกันกลับ ...” ”
ปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลยอมให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย โดยมีเงื่อนไขว่าจะให้เฉพาะรายที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และจะต้องสร้างภาพยนตร์ในระบบ 35 มม. เสียงในฟิล์มเท่านั้น ซึ่งผู้สร้างบางรายเรียกร้องว่าเงินทุนนั้นสูงเกินไป ในขณะเดียวกัน กระทรวงเศรษฐการได้มีการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาการสร้างภาพยนตร์ไทยและการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย” เพื่อศึกษาลู่ทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย รัตน์ก็ได้เป็นผู้ให้คำปรึกษาและยื่นมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่ จนคณะกรรมการฯ ชุดนี้สามารถจัดทำรายงานการศึกษาเรื่องภาพยนตร์ที่ละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทยตอนนั้น
ที่สำคัญ ข้อเสนอแนะในรายงานที่รัตน์เป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือนี้ (ซึ่งได้รับการนำมาตีพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของเขาในเวลาต่อมา) ได้ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งช่วยเหลือด้านภาษีอากร, ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานภาพยนตร์ไทยให้ดีขึ้น, กำหนดให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์ไทยไม่น้อยกว่าเวลาที่กำหนด, ส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์สารคดี, ให้บริษัทเงินทุนพิจารณาให้เงินกู้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์โดยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง, ส่งเสริมภาพยนตร์ไทยออกไปฉายยังต่างประเทศ, ให้หน่วยงานราชการช่วยสนับสนุนการสร้าง และจัดระเบียบการผลิตและการค้าภาพยนตร์ นับเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกนับตั้งแต่ที่รัตน์ยืนหยัดเรียกร้องมานานหลายปี
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีกับข่าวร้ายได้เดินทางมาถึงในคราวเดียวกัน วันที่ 17 สิงหาคม 2513 ในที่ประชุมใหญ่ของสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย ที่จัดขึ้นในโรงแรมมณเฑียร วาระสำคัญในการประชุมนั้นคือ บุญชนะ อัตถากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ จะขึ้นปราศรัยเพื่อชี้แจงรายละเอียดของการเกิดขึ้นคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยชุดแรก ให้แก่บรรดาผู้สร้างหนังไทยที่มาร่วมประชุม ทุกคนที่มาจึงต่างตื่นเต้น ไม่เว้นแม้แต่รัตน์ ในหนังสืองานศพของรัตน์ สงวน มัทวพันธุ์ อุปนายกสมาคมฯ ได้บรรยายถึงคำพูดที่รัตน์กล่าวกับเขาตอนเริ่มงานว่า “ไง คุณสงวน พวกเราต่อสู้และรอคอยกันมานาน คราวนี้เห็นจะสำเร็จแน่นะ วันนี้เป็นวันสำคัญมากของพวกเรา ผมต้องมา และจะขอร่วมสู้กับพวกเราต่อไป” โดยไม่ได้ล่วงรู้ว่าวันสำคัญที่ว่านั้น จะเป็นวันสุดท้ายที่เขาจะได้ร่วมสู้
ภาพ : รัตน์ เปสตันยี ล้มลงหลังจากลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้ายในงานประชุมสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย
ภายหลังจากที่รัฐมนตรีบุญชนะแจ้งข่าวแห่งความหวังให้บรรดาผู้สร้างหนังไทยได้ทราบ ผู้สร้างหนังไทยที่เข้าร่วมประชุมก็ได้ผลัดกันขึ้นไปแสดงความคิดเห็นทีละราย รัตน์ เปสตันยี ขออนุญาตพูดเป็นคนสุดท้าย เมื่อถึงเวลา เขาได้พรั่งพรูความรู้สึกที่อัดอั้น จากการต่อสู้อันแสนสาหัสและยาวนานกว่าทุกคนในที่ประชุม จนกระทั่งหัวใจอันเหนื่อยล้าของเขาได้สิ้นกำลังลงอย่างฉับพลัน ก่อนที่จะได้สิ้นสุดคำพูดตามความตั้งใจ ท่ามกลางความตกตะลึงของทั้งตัวแทนรัฐบาลและผู้สร้างหนังไทยเกือบทั้งวงการในเวลานั้น
ความตายของ รัตน์ เปสตันยี ที่มาถึงในวันที่ฝันของเขาเพิ่งเริ่มจะเป็นรูปเป็นร่าง ได้ทำให้เขากลายนักต่อสู้เพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริง แม้ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนหนังไทยยังคงวนเวียนอยู่ราวกับโศกนาฏกรรมนี้เพิ่งผ่านเลยมาไม่นาน แต่อย่างน้อย แรงอุตสาหะของรัตน์ ก็มีค่าดั่งแสงแรกแห่งรัตนะที่ช่วย ส่องความสว่างแม้เพียงรำไร เพื่อให้เพื่อนร่วมอาชีพได้พอมองเห็นเส้นทางในการก้าวเดิน
ภาพ : หุ่นจำลอง รัตน์ เปสตันยี ในโถงเกียรติยศ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์
ข้อมูลประกอบการเขียน
หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ รัตน์ เปสตันยี โดย สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย
หนังสือประวัติภาพยนตร์ไทย โดย โดม สุขวงศ์
วิทยานิพนธ์เรื่อง นโยบายส่งเสริมภาพยนตร์ของรัฐบาลไทย โดย นัยนา แย้มสาขา ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์