60 ปี The Housemaid แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของคนทำหนังเกาหลีใต้


หกทศวรรษภาพยนตร์คลาสสิกขึ้นหิ้งเกาหลีที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผลงานของผู้กำกับร่วมชาติรุ่นหลัง สืบเนื่องกันมาจนสร้างปรากฎการณ์สำคัญไปทั่วโลก

---------------------------



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

*ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 58 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563

“คิมคียอง เป็นปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์อย่างแท้จริง” นี่เป็นคำกล่าวชื่นชมของบองจุนโฮ ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก Parasite (2019) ที่มีต่อ The Housemaid (1960) ผลงานของ คิมคียอง นักทำหนังระดับตำนานของเกาหลีใต้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อคนทำหนังร่วมชาติรุ่นต่อมามากที่สุดคนหนึ่ง

 


ภาพ: คิมคียองกับบรรยากาศการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Insect Woman (1972)

ที่มา: Korean Movie Database


คิมคียองเริ่มต้นเส้นทางอาชีพกับสำนักข่าวสารอเมริกันในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อผันตัวมาเป็นคนทำหนัง The Housemaid ถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่เขาสร้างแนวทางของตัวเองอย่างชัดเจน ด้วยการทำหนังประโลมโลก ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ และสำรวจความซับซ้อนของจิตใจและอารมณ์ด้านมืดผ่านพฤติกรรม รวมถึงการเล่นเกมเชิงจิตวิทยาของตัวละคร หนังของเขามักมีตัวละครสำคัญเป็นหญิงที่มัวเมาและลุ่มหลงผิดต่อแรงปรารถนาของตนเองอย่างไร้เหตุผล


 

ภาพ:  คิมจินคิวและอีอึนชิม สองนักแสดงนำของเรื่อง The Housemaid (1960)

ที่มา:  Korean Movie Database


The Housemaid เล่าเรื่องราวของครอบครัวที่เพิ่งย้ายเข้ามาบ้านใหม่ และพยายามยกระดับสถานะไปสู่ชนชั้นกลาง โดยมีหัวหน้าครอบครัว คือ คิมดงซิก คุณครูสอนดนตรี ที่มีภรรยาผู้แสนดีทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ทั้งคู่มีลูกสาวและลูกชายอย่างละคน จนเมื่อภรรยาตั้งครรภ์ลูกอีกคน พวกเขาจึงหาคนมาทำหน้าที่ช่วยจัดการงานบ้าน แต่การมาถึงของแม่บ้านสาวคนใหม่ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นบททดสอบศีลธรรมของครอบครัวแสนสุขนี้

ตลอด 60 ปี ตั้งแต่ออกฉายครั้งแรก The Housemaid ได้รับการยกย่องว่า สามารถถ่ายทอดธาตุแท้ของอารมณ์มนุษย์ได้อย่างถึงแก่น ด้วยวิธีเล่าเรื่องสุดจัดจ้านแบบเมโลดรามา ที่เค้นอารมณ์ถึงขีดสุด ผ่านการจัดองค์ประกอบภาพเชิงสัญลักษณ์อย่างพิถีพิถัน เพื่อสื่อความหมายถึงความวิปริตผิดเพี้ยนในจิตใจของตัวละคร วิสัยทัศน์การทำงานของคิมคียองในเรื่องนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำหนังเกาหลีรุ่นหลังที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ทั้งพักชานวุก (Oldboy), คิมคีด็อก (Pieta), อิมซางซู (The Housemaid ฉบับปี 2010) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบองจุนโฮ ซึ่งกล่าวยกย่องและยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิว่า Parasite ผลงานรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเขานั้น ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากผลงานขึ้นหิ้งเรื่องนี้

หลังเสียงชื่นชมจาก The Housemaid คิมคียองได้สานต่อความสำเร็จด้วยภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาคล้ายกันอีกหลายเรื่อง อาทิ The Woman of Fire (1971), The Insect Woman (1972), Io Island (1977), The Woman of Fire '82 (1982) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตอย่างกะทันหันพร้อมภรรยา จากอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านพักในปี 1998 เพียงไม่กี่เดือน ภายหลังจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน จัดกิจกรรมประทับรอยมือและฉายภาพยนตร์โปรแกรมพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่เขา


 

ภาพ:  ภาพยนตร์เรื่อง The Woman of Fire (1971)

ที่มา:  Korean Movie Database


แม้ผลงานของคิมคียองส่วนหนึ่งจะสูญหาย แต่ส่วนที่ยังเหลือรอดนั้นได้รับการอนุรักษ์อยู่ที่หอภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Archive) หลังเสียชีวิต ภาพยนตร์ของเขาได้รับความสนใจในระดับโลกมากขึ้น โดยในปี 2008 หอภาพยนตร์เกาหลี ได้ร่วมกับโครงการ World Cinema Project ของมูลนิธิ The Film Foundation ที่มี มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับอเมริกันดำรงตำแหน่งประธาน ทำการบูรณะ The Housemaid ขึ้นใหม่ และได้จัดฉายรอบปฐมทัศน์โลก สาย Cannes Classics ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในฐานะคนทำหนังของคิมคียอง และประวัติศาสตร์การต่อยอดของภาพยนตร์เกาหลีใต้จากอดีตถึงปัจจุบัน


 

ภาพ:  Parasite (2019) ของบองจุนโฮ สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส

ที่มา: Petros Giannakouris/AP/REX/Shutterstock


ในวาระครบรอบ 60 ปี ของหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของเอเชีย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ภูมิใจเสนอกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก” รูปแบบใหม่ที่ย้ายสถานที่มาจัดที่หอภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ด้วยการนำ The Housemaid ฉบับบูรณะใหม่ มาฉายควบกับ Parasite (B&W) หรือ ชนชั้นปรสิต  ฉบับขาว-ดำ ผลงานที่ได้รับอิทธิพลจนสร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก 

ที่สำคัญ ในการฉายครั้งนี้ หอภาพยนตร์ยังได้เชิญ ภาณุ อารี อาจารย์พิเศษและผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์มฯ ผู้เป็นกำลังหลักในการนำภาพยนตร์เรื่อง Parasite ทั้งฉบับสีและฉบับขาว-ดำ เข้าฉายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย มาร่วมสนทนาคั่นระหว่างเรื่อง ถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ประเทศเกาหลีใต้ ในหัวข้อ “จาก The Housemaid สู่ Parasite”


 


กำหนดการ 

ทึ่ง! หนังโลก The Housemaid ควบ Parasite (B&W) 

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563 

ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 


12.30 น. - *The Housemaid (108 นาที / ภาษาเกาหลี คำบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ)

14.30 น. - สนทนากับ ภาณุ อารี ในหัวข้อ “จาก The Housemaid สู่ Parasite”

15.30 น. - Parasite (B&W) (132 นาที / ภาษาเกาหลี คำบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ)


ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด

 

สนับสนุนภาพยนตร์โดย หอภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Archive) และบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด


สำรองที่นั่งออนไลน์ ได้ที่

The Housemaid (click)

Parasite (click)


*หมายเหตุ - The Housemaid จะจัดฉายอีกรอบ ที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ในวันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม เวลา 14.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.housesamyan.com/site/Movie/detail/496



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด