THE GRADUATE มิสซิสโรบินสันรำลึก

อ่านทัศนะของนักวิจารณ์รุ่นใหญ่ “ประวิทย์ แต่งอักษร” ที่มีต่อ มิสซิสโรบินสัน หนึ่งในตัวละครที่ได้รับการจดจำมากที่สุดในโลกภาพยนตร์จาก The Graduate  ก่อนมาชมหนังระดับปรากฏการณ์แห่งยุค 60 เรื่องนี้กันอีกครั้งบนจอใหญ่ ในกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก” วันเสาร์ที่ 19 และอาทิตย์ที่ 27 กันยายนนี้ ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

----------




โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 56 มีนาคม-เมษายน 2563 (บทความนี้ตัดทอนเนื้อหามาจากฉบับเต็มที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Replay นิตยสารสตาร์พิคส์)


สมมติเล่น ๆ ว่าจะต้องเลือกสักคำมาอธิบายถึงขนาดความสำเร็จของหนังเรื่อง The Graduate  ผลงานกำกับของไมค์ นิคอลส์ มันก็แทบจะไม่มีคำไหนที่เหมาะสมเท่ากับคำว่า ‘ปรากฏการณ์’ 


สำหรับผู้ชมหลาย ๆ คน หนังเรื่องนี้เหมือนกับโผล่มาจากขอบฟ้าที่ไหนก็ไม่รู้ และจู่ ๆ มันก็เข้ามายึดครองพื้นที่ว่างในหัวใจ


The Graduate ลงทุนไปทั้งหมดราว ๆ สามล้านเหรียญฯ แต่กลับติดอยู่ในอันดับหนึ่งของหนังทำเงินสูงสุดที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1967 และอยู่ในอันดับที่ 4 ของหนังทำเงินของทศวรรษ 1960 อีกทั้งยังได้รับรางวัลการประกวดอีกมากมาย รวมถึงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของไมค์ นิคอลส์ จากทั้งเวทีออสการ์ ลูกโลกทองคำ และสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา  



อย่างที่ข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกัน The Graduate เป็นหนังฮิตในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน และขวัญใจคนล่าสุดของคนหนุ่มสาว (ในช่วงเวลาที่คำว่า ‘สถาบัน’ หรือ Establishment เป็นของผิดสำแดงและจำเป็นต้องต่อต้านหรือโจมตี) ก็เพราะตัวละครเอกอย่าง เบนจามิน แบรดด็อก หรือ อีเลน โรบินสัน หาญกล้าปฏิเสธชีวิตที่พันธนาการไว้ด้วยกรอบและกฎเกณฑ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชัยชนะของหนังเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากสิ่งที่เรียกว่า ‘อารมณ์ของยุคสมัย’ 


นั่นทำให้บรรดาผู้ชมที่ถือว่าเบนกับอีเลนเป็นเหมือนพวกพ้องของตัว-ไม่ได้แห่แหนกันเข้าไปดูหนังเรื่องนี้เพียงครั้งเดียวหรือสองครั้ง หลายราย-วนเวียนเข้าออกโรงหนังราวกับมันเป็นการปฏิบัติธรรม รวมทั้งทำให้ชื่อของ ‘มิสซิสโรบินสัน’ เกือบ ๆ จะเป็นเสมือนสามัญนามที่แทบไม่จำเป็นต้องได้รับการขยายความว่าหมายถึงอะไร หรือประโยคที่พระเอกหนุ่มของเรื่องกล่าวกับมิสซิสโรบินสันที่บอกว่า “Mrs. Robinson, you are trying to seduce me.” ก็กลายเป็นวรรคทองของหนังอเมริกันที่ใครต่อใครล้วนจดจำได้อย่างแม่นยำ 


ปัญหาก็คือ เบนอาจจะเป็นวีรบุรุษในสายตาของคนหนุ่มสาวยุคบุปผาชน แต่สมมติว่าจะตรวจสอบพฤติกรรมของเขาอย่างมีสติและรอบคอบ ส่วนที่น่าฉงนสนเท่ห์ก็คือ เขาได้ทำอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การยกย่องชื่นชมจริง ๆ จัง ๆ 


คำตอบก็คือ ไม่มีเลย


เบนไม่ได้เพียงแค่ลักลอบมีความสัมพันธ์กับเมียของเพื่อนพ่อ หากยังหมายจะแย่งลูกสาวของเมียเพื่อนพ่อจากแท่นบูชาในโบสถ์-ไปครอบครอง ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ เขาไม่ได้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนอกจากเอาแต่ใจตัวเอง เท่านั้นยังไม่พอ ในฉากที่เบนกับมิสซิสโรบินสันอยู่กันตามลำพังบนเตียง ชายหนุ่มได้แสดงให้เห็นถึงความไม่มีหัวจิตหัวใจด้วยการพยายาม ‘ขุดคุ้ย’ อดีตที่ฝ่ายหลังไม่อยากจดจำ และแทนที่จะยอมรับว่าการถลำลึกเข้ามาในความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกไม่ต้องนี้เป็นความผิดพลาดของเขาอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง เบนกลับโยนมันทั้งหมดให้มิสซิสโรบินสันและยังตอกย้ำปมด้อยของเธออย่างเหี้ยมเกรียมและปราศจากเมตตา “ผมไม่ภูมิใจหรอกนะครับที่ต้องมานอนกับคนขี้เหล้าที่หมดสภาพอย่างคุณ”


มิสซิสโรบินสันจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวละครที่น่าสงสารและควรได้รับความเห็นอกเห็นใจ หากเธอยังถูกผู้ชมตีความผิดพลาดอย่างไม่ยุติธรรม ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มิสซิสโรบินสันเป็นฝ่ายหลอกล่อเบนให้ติดบ่วงสวาทของเธอ แต่ใครลองนึกให้ดี ๆ มันไม่ใช่การกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคนที่ไม่รู้จักอิ่มเอมในเรื่องบนเตียง ตรงกันข้าม เธอแยกห้องนอนกับสามีมาเนิ่นนาน อีกทั้งชีวิตการเป็นแม่บ้านของเธอก็น่าเบื่อ จนทำให้ต้องหันไปดื่มเหล้าและลงเอยด้วยการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือให้ท่าเด็กหนุ่มอย่างเบน และต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับคำพูดสบประมาทและทำร้ายความรู้สึกต่าง ๆ นานา


ประการสำคัญ การที่เธอขัดขวางไม่ให้เบนยุ่งเกี่ยวกับลูกสาวที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องของเธอ (ซึ่งสวนทางกับความต้องการของผู้ชม) ก็เป็นสิ่งที่มีตรรกะรองรับด้วยประการทั้งปวง เป็นใครก็ต้องทำอย่างเดียวกัน และจะไม่มีวันยอมปล่อยให้ผู้ชายที่ตัวเองเคยนอนด้วย-ไปนอนกับลูกสาวอีกคน


น่าเสียดายที่หนังทำให้ตัวละครนี้กลายเป็น ‘นังมารร้าย’ ที่หลาย ๆ คนพากันชิงชัง ทั้ง ๆ ที่เธอเป็นคนเดียวในเรื่องนี้ก็ว่าได้-ที่ยอมรับในความผิดพลาดบกพร่องหรืออีกนัยหนึ่ง ในความเป็น ‘มนุษย์ที่อ่อนแอ’ ของตัวเอง และไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะมาขจัดปัดเป่าความหงอยเหงาและว่างเปล่าในชีวิตให้หมดไป


เหนืออื่นใด การกระทำของเธอขับเคลื่อนด้วยเหตุผล และไม่ปล่อยให้สิ่งที่เรียกว่า ‘อารมณ์ของยุคสมัย’ เข้ามาครอบงำ และนั่นสวนทางกับพฤติกรรมของทั้งเบนและอีเลน และแน่นอนที่สุดของบรรดาผู้ชมที่กล่าวได้ว่า (เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว) อยู่ในภาวะที่ทั้งหน้ามืดตามัว ทั้งเพิกเฉยต่อการมองเห็นความจริง และทั้งหลอกตัวเอง

------------------------------------------------------------

สำหรับผู้ที่สนใจรับชม The Graduate  จะจัดฉายในกิจกรรม ทึ่ง! หนังโลกในเดือนกันยายนนี้ 2 รอบ คือ เสาร์ที่ 19 และอาทิตย์ที่ 27 กันยายน เวลาบ่ายสองโมงตรง ที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใน เฉพาะรอบฉายวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 จะมีการพูดคุยกับ โดม สุขวงศ์ นักอนุรักษ์ภาพยนตร์เกียรติคุณ และผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ ที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปพบเรื่องราวที่ยังดูสดใหม่ใน The Graduate แม้จะผ่านเวลามานานกว่า 50 ปี อ่านรายละเอียดและจองบัตรชมภาพยนตร์ ได้ที่ https://www.fapot.or.th/main/news/317


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด