คุยกับณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับ Come and See สารคดีธรรมกายที่ฉายตามซอกหลืบสังคม

บางส่วนจากบทสนทนากับ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ คนทำหนังสารคดีรุ่นใหม่ เจ้าของผลงาน เอหิปัสสิโก (Come and See) ภาพยนตร์สารคดีสำรวจข้อพิพาทและผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกวัดพระธรรมกาย

----------


เรียบเรียงโดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2563 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม “ภาพยนตร์สโมสร: เอหิปัสสิโก COME AND SEE” ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา อาคารสรรพสาตรศุภกิจ โดยจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เอหิปัสสิโก หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Come and See สารคดีซึ่งบันทึกเรื่องราวกรณีพิพาท และพาผู้ชมเข้าไปสำรวจความคิดของผู้คนทั้งในและนอกวัดพระธรรมกาย ผลงานธีสิสจบการศึกษาของ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีและมิวสิควิดีโอ ผู้เป็นที่รู้จักจากการกำกับสารคดีเรื่องดัง 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว


แม้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะเคยฉายตามกิจกรรมต่าง ๆ และได้รับเสียงเสียงฮือฮามาบ้างแล้วเมื่อปีก่อน แต่การจัดฉายในวันนั้น ถือเป็นการฉายภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์บนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกในเมืองไทย ภายหลังจากฉายรอบปฐมทัศน์โลกในสายประกวดสำหรับภาพยนตร์สารคดี Wide Angle ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ประจำปี 2019 ที่ผ่านมา   


กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก โดยภายหลังฉายภาพยนตร์จบ มีช่วงสนทนาถามตอบ ระหว่างณฐพลกับรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ก้อง ฤทธิ์ดี พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ และนี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาในวันนั้น




การฉายครั้งนี้ถือว่าเป็นการฉายแบบจริงจังครั้งแรกหรือเปล่าครับ?

เคยฉายตามซอกหลืบต่าง ๆ ครั้งนี้ถือเป็นการฉายระบบ DCP ในโรงใหญ่ ๆ เป็นครั้งที่ 2 ถัดจากการฉายในรอบปฐมทัศน์โลกครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เมื่อปลายปีที่แล้ว


คือยังคงวางแผนอยู่ว่าจะฉายยังไง?

ก็คงฉายตามซอกหลืบสังคมไปเรื่อย ๆ ครับ


ส่วนตัวดูแล้วคิดว่า ในประเทศปรกติ เราควรได้ดูในโรงฉายทั่วไป มันเป็นหนังซึ่งแสดงให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของสถาบันที่สำคัญในประเทศไทย คือสถาบันศาสนา แล้วมันทำให้เห็นถึงการโยงใยไปสู่สถาบันอื่น ๆ เช่น สถาบันการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง ประมาณ 4 ปีที่แล้ว บางอย่างก็ยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตกลงคือยังไม่เจอท่านใช่ไหมครับ?

ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ


ได้ติดต่อไปยังที่วัด หลังจากถ่ายทำเสร็จหรือเปล่า?

ไปครับ แต่ไม่ทราบว่าท่านไปไหน คือผมอยากเจอท่านมาก เป็นคนที่อยากสัมภาษณ์มากที่สุดแล้ว




ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นธีสิสจบการศึกษาของคุณณฐพล อยากให้ช่วยเล่าที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้หน่อย

ผมไปเรียนสารคดีที่ School of Visual Arts ที่นิวยอร์ก ที่นั่นจะเรียนสองปีจบ พอถึงปีสองจะให้เลือกทำธีสิส ตอนนั้นผมไฟแรงมาก เลือกทำธีสิสตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่ตอนนั้นไม่ได้เลือกเรื่องนี้ ตอนแรกซับเจกต์เป็น เดวิด ไทย์ (David Teie) นักเชลโลชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบทฤษฎีวิทยาศาสตร์หนึ่ง คือการทำเพลงให้แมวมีความสุข ลองค้นหาในเว็บไซต์คิกสตาร์ตเตอร์ (Kickstater) ดูได้ ชื่อ “Music for Cats” เป็นโครงการที่โด่งดังมาก คนระดมทุนให้มากมาย ตอนนั้นก็ติดต่อเขาไป ไปถ่ายมาได้สองรอบ พอไปเสนออาจารย์ อาจารย์ก็แสดงความคิดเห็นกลับมาว่า ใครจะไปสนใจว่าแมวมีความสุขหรือเปล่า ด้วยความเป็นคนรักแมวและมันรู้สึกค้างคา ก็ยังดื้อดึงทำต่อไป


จนกระทั่งช่วงปิดเทอมฤดูร้อน บินกลับมาเมืองไทย แล้วเห็นข่าวมีการนำรถแทรกเตอร์จอดขวางหน้าวัดพระธรรมกาย มีการนั่งสมาธิขวางตำรวจ อย่างที่เราได้เห็นในหนัง คือความทรงจำแรกของผมเกี่ยวกับวัดนี้ เป็นช่วงมัธยมต้น ได้มาร่วมงานบวชเพื่อนที่วัด พอลงจากรถแล้วรู้สึกว่า โห! ที่นี่ที่ไหนเนี่ย คือช่วงนั้นจะมีการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อ ‘20th Century Boys’ มันจะมีฉากแบบงานเอ็กซ์โป ตัวละครหน้ายิ้ม ๆ และสิ่งก่อสร้างแปลก ๆ ซึ่งมันน่ากลัวมาก พอมาวัดนี้ แล้วรู้สึกมันมีบรรยากาศและความคล้ายบางอย่าง 


ตัดกลับมาตอนโตแล้วเห็นเหตุการณ์ในข่าว รู้สึกว่า วัดนี้ยังอยู่อีกเหรอ คนเยอะขนาดนี้เลย พอวัดมีความขัดแย้งกับรัฐ ซึ่งมันใหญ่มาก ๆ เลยอยากรู้และตั้งคำถามว่า “กลไกของคนที่ศรัทธาจริง ๆ เขาคิดเห็นยังไง?” เลยตัดสินใจทำธีสิสเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นจากการโพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก เช่น “มีใครเกลียดธรรมกายบ้าง?” “มีใครรู้จักคนที่ศรัทธาธรรมกายมาก ๆ บ้าง?” ก็มีเพื่อนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเต็มไปหมด พอดีบังเอิญรู้จักคนหนึ่งที่ทำงานในวัด เลยตัดสินใจเขียนจดหมายทางการในนามนักศึกษาปริญญาโท ให้โรงเรียนเซ็นแล้วยื่นไปที่วัดว่า ขออนุญาตทำหนังเรื่องนี้ได้ไหม ซึ่งตอนนั้นโฟกัสในงานคือคนที่ศรัทธามาก ๆ เท่านั้น เขาก็อนุญาตให้ทำ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เพราะวัดมีระบบความปลอดภัยสูงมาก เขาจะแยกส่วนการรับผิดชอบเป็นเขต ๆ โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ตึงเครียด จะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ 


เงื่อนไขที่ว่าคือ เขาจะส่งคนของวัดมาอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ รวมถึงช่วยคัดเลือกคนแสดงมาให้ ตอนแรกลังเลว่าจะดีหรือเปล่า เพราะเราน่าจะต้องเป็นคนเลือกเองว่า จะถ่ายคนนั้นคนนี้ พอมาคิดดูอีกที คิดว่าเป็นข้อดีเหมือนกัน เพราะว่าให้เขานำเสนอสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุดของวัดออกมาเลย ก็เลยเป็นซับเจกต์ที่เราเห็นในหนัง เมื่อก่อนจะติดภาพว่า ทุกอย่างมันต้องมาจากการตัดสินใจของเรา บางทีมันก็เป็นการร่วมมือกันกับทางซับเจกต์ก็ได้ ให้เขานำเสนอด้านดีที่สุดของเขาออกมา เปิดพื้นที่ให้เขาเล่าต่อสิ่งที่มันเป็นอยู่


แสดงว่าเริ่มถ่ายทำในวัด ช่วงที่สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมาก ช่วงสิงหาคม ปี พ.ศ. 2559 ส่วนบรรดานักวิชาการต่าง ๆ ถึงไปถ่ายทำทีหลัง

จริง ๆ มันคาบเกี่ยวกัน ด้วยความที่ผมเรียนอยู่ที่นู่น จะถ่ายได้เฉพาะช่วงตอนที่ปิดเทอม ซึ่งมันไม่ควรอย่างยิ่ง ตอนที่เขาปะทะกันหนัก ๆ ช่วงที่บุกค้นวัด ผมอยู่ที่อเมริกา ตอนนั้นก็เสียใจ ทำไมเราไม่ได้อยู่เมืองไทย


คือใช้ภาพจากข่าวทางโทรทัศน์  

ใช้จากสำนักข่าว และมีทีมถ่ายทำในเมืองไทยที่คอยให้ความช่วยเหลือ บางทีต้องปลุกตั้งแต่เช้าตรู่ บางคนก็ว่างบ้าง ไม่ว่างบ้าง ซึ่งมันควบคุมได้ค่อนข้างยาก ก็เหลือภาพบันทึกได้เท่าที่เห็นในเรื่อง  





อย่างตอนที่พระมา แล้วผลักกล้อง เป็นกล้องของทีมงานหรือเปล่า?

เป็นกล้องของ DSI ที่โพสต์ลงในยูทูบ 


ด้วยความที่มันเป็นธีสิสส่วนตัว หลัก ๆ เกือบ 80% ผมจะเป็นคนทำอยู่คนเดียว นอกจากการสัมภาษณ์ จะมีเพื่อนไปช่วยอัดเสียงบ้าง แต่พอทำไปได้สักพัก รู้สึกมันใหญ่เกินตัวต่อสิ่งที่เราควบคุมไปเยอะเหมือนกัน แล้วพอดูหนังทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เรื่องอื่น ๆ รู้สึกทำไมทีมงานเขาเยอะเหลือเกิน เลยรู้สึกว่าอยากมีทีมงานสักยี่สิบคน ในการทำงานประเด็นเรื่องที่ใหญ่และละเอียดอ่อนขนาดนี้


ถ้าสังเกตจากตอนที่ผมพูดก่อนหนังฉาย บริบทของคนไทยและชาวต่างชาติดู จะแตกต่างกันพอสมควร จริง ๆ มีตัดหลาย ๆ อย่างในหนังออกไปเช่นกัน เช่น เรื่องพระสังฆราช ซึ่งตอนนั้นเป็นกรณีพิพาทที่ใหญ่มาก และมันโยงใยกับในหนัง แต่เลือกที่จะไม่พูดถึง เพราะชาวต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจ หรือถ้าจะทำให้เข้าใจ มันอาจจะทำให้เสียอะไรบางอย่างในหนังไป คือหนังเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องของหาจุดสมดุลระหว่าง เรื่องข้อมูลและอารมณ์ จะมีการเว้นวรรคเรื่องการถ่ายทอดทางประสบการณ์ของคนในวัดที่เขาอยากสื่อ เลยพยายามทำให้กระชับมากที่สุด


ชื่นชมตรงที่ดูแล้วรู้สึกว่า มันเล่ายาก ตรงที่คนส่วนใหญ่พอพูดถึงวัดพระธรรมกาย ก็จะมีอคติไปก่อน ไม่ว่าจะคุ้นเคยหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่รู้จักผิวเผิน แต่คุณณฐพลพยายามหาจุดสมดุล ระหว่างเสียงจากคนในและคนนอก ทั้งเสียงอคติและก้ำกึ่ง อยากทราบว่ามีวิธีการเลือกคนสัมภาษณ์ยังไง รวมถึงการตัดต่อ มีความยากหรือเปล่า?

จริง ๆ หนังเรื่องนี้ตอนแรก จะเล่าแค่ฝั่งธรรมกาย เอาแบบหัวกะทิ ถ่ายแต่เพียงชีวิตเขาไปเลย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงระดับมหภาค แต่ทำไปสักพัก รู้สึกว่ามันต้องมีบริบท มันเหมือนไปเจอโจทย์แรกว่า ชาวต่างชาติไม่เข้าใจเลยว่า ธรรมกายแล้วยังไง? แต่ถ้าทำให้คนไทยดูอย่างเดียว คนไทยก็จะรับรู้ทันทีเลยว่า บริบทเป็นยังไง แต่อันนี้ มันต้องปูเรื่องด้วยว่า คู่ขัดแย้งเป็นใคร จริง ๆ นักวิชาการที่ปรากฎในหนัง เป็นสิ่งที่มาท้าย ๆ ไม่ได้คิดใส่มาตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เพราะไม่อยากให้ใครมาอธิบายว่า สิ่งที่อยู่ในหนังคืออะไร แต่พอทำไป กลับมีความต้องการ ทั้งกับตัวเองและต่อตัวหนัง เหมือนการดูฟุตบอล แล้วมันไม่มีภาพมุมสูง เลยไม่รู้ว่าใครเตะกับใคร มันชุลมุนไปหมด การมีนักวิชาการเหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วมันช่วยตอบคำถามที่มีต่อสิ่งที่เกิดด้วย และทำให้รู้ว่า ตัวเราอยู่ตรงไหนต่อความขัดแย้งและคิดเห็นยังไง


พอเป็นเรื่องวัดพระธรรมกาย รู้สึกว่ามันยาก ในการโยงไปหาส่วนอื่น ๆ เพราะมีภาพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การทำรัฐประหาร และการที่สถาบันสงฆ์ มีความเกี่ยวพันกับการเมืองในระดับลึกซึ้งหลายแบบ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและโยงใยนัวเนียกันไปหมด ระหว่างดูเลยชื่นชมมาก เพราะถ้าให้แบ่งเล่า มันเล่ายากว่า จะเอียงไปทางไหนดี สุดท้ายคนดูจะตัดสินใจอะไรยังไง แต่พอคุณณฐพลทำ จึงเห็นได้ชัดเลยว่า มีความชัดเจนในตัวเองว่าจะเล่าอะไร ขณะเดียวกันก็หาจุดสมดุลของเสียงต่าง ๆ ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ตอนที่ทำจดหมายไปถึงวัดพระธรรมกาย เขาสงสัยหรือเปล่าว่า คุณจะทำอะไร มีเรียกไปสัมภาษณ์ก่อนหรือเปล่า?

มีครับ ได้พบกับรองเลขาฯ เจ้าอาวาส เขาก็ถามว่าเราว่าอยากทำอะไร เป็นการพูดคุยกันแบบปกติ เหมือนที่ผมเล่าให้คนดูฟังตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการเปิดโปงอะไร เพราะไม่ได้มีเจตนาแบบนั้นตั้งแต่แรก เรารู้ว่าข้อจำกัดของเราคืออะไร บางคนเห็นโปสเตอร์หรือทราบว่าผมทำเรื่องนี้ จะคิดว่าเป็นเรื่องของการแฉที่ซ่อนหรือเห็นความลับเบื้องหลัง ซึ่งเป็นจินตนาการที่คนคาดหวังจะได้เห็นในหนัง แต่สุดท้ายส่วนตัวคิดว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคืออะไรที่ทำให้คนยังศรัทธาอยู่มากกว่า มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปตั้งคำถามเหล่านั้น เพราะไม่ได้ตั้งใจทำหนังแบบนั้น


คือเราไม่ได้ปิดบังฝั่งวัดด้วยใช่ไหมว่า สิ่งที่เล่าไม่ได้มีเพียงมุมของวัดอย่างเดียว

ไม่ปิดครับ ผมบอกหมดเลยว่า จะไปสัมภาษณ์ใครบ้าง


แล้วหลังทำเสร็จ เขาได้ขอดูก่อนหรือเปล่า

มีครับ จริง ๆ มันเป็นปัญหาใหญ่สุดของการทำหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ คืออาจารย์ที่อเมริกาเขาจะเน้นย้ำเรื่องการเซ็นใบอนุญาตยินยอมก่อนการถ่ายทำ พอไปที่วัดเลยยื่นให้เขาเซ็น ทางนู้นเลยบอกว่าขอคุยกับฝ่ายกฎหมายก่อน จากนั้นกลับมา แล้วบอกว่ายินยอมให้ถ่ายทำนะ แต่ขอดูหนังก่อน ซึ่งประเด็นคือ ถ้ายินยอมทำอย่างนั้น หนังจะไม่ใช่ความเห็นของตัวเอง เพราะคนทำหนังจะกลัวไปก่อนว่า หากให้ซับเจกต์หรือใครก็ตาม รีวิวหรือมีอำนาจในการตัดต่อหนัง สุดท้ายข้อความที่ต้องการสื่อจะเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะไม่ใช่ความคิดเห็นของเรา ผมเลยแบ่งรับแบ่งสู้ และปรึกษาทนายความในไทย อาจารย์แนะนำว่าให้เซ็นสองใบไปเลย ใบหนึ่งยินยอม อีกใบให้ดูหนังก่อน พอถามเพื่อนที่รู้กฎหมายในไทย เขาก็งงว่าคืออะไร เพราะการปรากฎตัวในหนังของบ้านเราไม่ต้องเซ็นใบยินยอม มันไม่มีกฎหมายบังคับ เพียงแต่การเซ็น มันช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการถูกฟ้องเฉย ๆ สุดท้าย สรุปก็คือไม่ได้เซ็น ซึ่งมีปัญหาตามมา การที่อาจารย์ยอมหรือไม่ มันเป็นเรื่องของเรา เพราะมันเป็นผลงานของเรา แต่เอกสารยินยอมนี้ จะมีผลเวลาจัดจำหน่าย เพราะผู้จัดจำหน่ายหนัง จะถามหาสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการเผยแพร่ตามช่องต่าง ๆ ในโทรทัศน์ต่างประเทศ บางทีรวมถึงการซื้อประกันการโดนฟ้อง ประกันก็จะประเมินความเสี่ยงของหนัง ด้วยการดูเอกสารเหล่านี้ว่า ผู้ที่ปรากฎตัวในหนัง มีคนเซ็นครบหรือยัง ราคาก็จะแตกต่างตามความเสี่ยง ซึ่งส่วนตัวผมไม่มี เพราะต่อรองทางเขาไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับผลลัพธ์ว่าหนังออกมาเป็นแบบไหน แล้วเขารู้สึกยังไง แค่ไม่สามารถไปบอกได้ว่า เราไม่เอาตรงในวงเล็บที่คุณเพิ่มมาอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็อาจจะบอกว่า งั้นก็ไม่ต้องถ่าย ผมก็เลยถ่ายไปก่อนเลย


คือถ่ายเก็บไว้ก่อนเลย?

ใช่ครับ จริง ๆ เป็นการวัดดวง ถ้าเขาเข้าใจเจตนารมณ์ของเรา ก็คงเสร็จได้มั้ง แต่ตอนนี้ก็เฉย ๆ แล้ว ว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น 





บรรยากาศและผลตอบรับของการฉายแต่ละที่เป็นอย่างไรบ้าง?

มีฉายตามงานกิจกรรมเล็ก ๆ หรือแม้กระทั่งมี อ.ประวิทย์ แต่งอักษร นำไปฉายในห้องเรียน ซึ่งบริบทก็จะไม่เหมือนกัน การฉายในกิจกรรมเล็ก ๆ จะคล้าย ๆ ฉายที่นี่ คือทุกคนตั้งใจมาดู และจะมีธงบางอย่างที่สงสัยหรือมีความสนใจ ผลตอบรับก็จะหลากหลายประมาณหนึ่ง แต่ผลตอบรับในห้องเรียนวิชาภาพยนตร์ของ อ.ประวิทย์ ที่เด็กไม่ได้ตั้งรับว่าจะมาดูอะไร เขาจะมีความเห็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าพูดกันตามตรง หากใครเกลียดธรรมกายมาก ๆ ดูแล้วก็จะรู้สึก เออ เห็นไหม เป็นแบบนั้นจริง ๆ ด้วย อันนี้ ผมแล้วแต่คนคิดเลย ไม่ได้ชี้นำ ฉากที่ยกตัวอย่างได้ชัด ๆ คือฉากขัดส้วม แล้วแต่เลยว่า คนดูจะตีความแบบไหน เป็นเรื่องของศรัทธาหรือไม่ศรัทธา ซึ่งมันเป็นภาพสะท้อนของหนังทั้งเรื่อง เป็นอิสระที่ผู้ชมจะตีความภาพที่เห็นหรือศรัทธาของใครคนหนึ่ง ไปในทิศทางไหนก็ได้ ผลตอบรับของคนที่ชอบก็เป็นแบบหนึ่ง คนที่เกลียดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง


จริง ๆ หนังเรื่องนี้ ผมได้วิธีคิดมาจากหนังอีกเรื่อง ชื่อ Jesus Camp (สารคดีปี 2006 ซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม – ผู้เรียบเรียง) ที่เขาถ่ายโบสถ์ศาสนาคริสต์แห่งหนึ่งที่เป็น evangelist (นิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ - ผู้เรียบเรียง) ซึ่งมีค่านิยมสุดโต่งมาก มีอาจารย์สอนศาสนาคนหนึ่งพูดในโบสถ์ว่า “ในเมื่อพวกมุสลิมสอนให้เด็กถือปืนได้ ทำไมเราจะสอนให้เด็กถือคัมภีร์ไบเบิ้ลไม่ได้” ซึ่งหนังก็ถ่ายอย่างที่มันเป็น คือถ่ายแต่ในโบสถ์ ผลตอบรับของหนังแตกเป็นสองฝั่ง คนนอกดูแล้ว จะคิดว่าโบสถ์นี้น่ากลัว ส่วนคนในก็จะสนับสนุนโบสถ์มาก เหมือนได้เผยแพร่ความเชื่อต่อสิ่งที่เขาเป็น พอได้ดูเรื่องนี้แล้ว คิดว่ามันเล่าแบบนี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องเพื่อให้คนดูไปในทิศทางเดียวกันหมด เหมือนเปิดโอกาสให้คนดูได้ตีความได้ในหลาย ๆ แง่


ส่วนการฉายที่วัดพระธรรมกาย ได้มีการเชิญพระผู้ใหญ่ คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดกิจกรรมของวัด เขาก็จะจัดแจงคนมาดูราว ๆ สองร้อยคน ซึ่งโรงหนังเขาดีมาก ๆ ผลตอบรับที่ตัวเองคาดหวัง คิดว่าทุกคนที่นั่นจะซีเรียสกับการเห็นประเด็นดราม่าของวัด แต่สิ่งที่ค้นพบคือ เขาหัวเราะกันเยอะมาก หัวเราะในจุดที่คนดูที่นี่หัวเราะด้วยซ้ำ ซึ่งเสียงหัวเราะ มันบ่งบอกระดับของคนในวัดได้พอสมควรว่า จริง ๆ แล้วคนในองค์กรศาสนา ที่ดูเป็นกลุ่มก้อนกันมาก ๆ เขาไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหมด บางคนก็วิพากษ์ตัวเอง บางคนก็ไม่เห็นด้วย บางคนก็ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ซึ่งผมคิดว่าการที่มันยืดหยุ่นได้แบบนี้แหละ ที่ทำให้องค์กรมันอยู่รอดมาได้ เราอยู่ข้างนอก อาจมองไม่ออกว่า องค์กรมันเคลื่อนตัวไปเป็นแบบไหน คือพวกเขาไม่ได้แบบซ้ายหันหรือขวาหัน หรือทุกอย่างเป็นไปตามรูปแบบพร้อมกัน ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ที่ออกมา มันจะเป็นแบบนั้น แต่ผมว่าโครงสร้างข้างในขององค์กร มันมีการขับเคลื่อนอีกแบบหนึ่ง


แสดงว่าตอนดู เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วเป็นไปในทางบวกหรือทางลบ?

ไปทางบวกครับ บางคนหัวเราะ บางคนน้ำตาซึม บอกว่านี่คือสิ่งที่เราสู้มา มีพระรูปหนึ่งบอกว่า เอาภาพที่ผมบันทึกไปไหม ผมถ่ายไว้เต็มเลย ตอนที่มีการปะทะกัน ผมก็แบบไม่ทันแล้วครับหลวงพี่ ไม่เป็นไรครับ


เมื่อสักครู่ คุณณฐพลพูดถึงหนังเรื่อง Jesus Camp จริง ๆ คำว่า “Come and See” ก็มีในไบเบิ้ลที่พระเยซูเคยพูด แล้วชื่อ “เอหิปัสสิโก” มาจากชื่อนิทรรศการที่เห็นในหนังใช่ไหม 

ใช่ครับ ผมจำไม่ได้แล้วว่า ผมคิดชื่อนี้ได้จากไหน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากชื่อนิทรรศการในวัดที่เราเห็นในหนัง สองคือ มันคือชื่อหนังสงครามรัสเซียที่ผมชอบมาก ๆ (Come and See ภาพยนตร์แนวดราม่าสงครามปี 1985 ของเอเล็ม คลิมอฟ – ผู้เรียบเรียง) แต่ไม่ได้ตั้งใจจะอุทิศให้กับหนังเรื่องนี้ คือมันไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันเลย และสามคือผมรู้สึกว่า การทำหนังเรื่องนี้ มันก็คือคำว่า “เอหิปัสสิโก” คือการที่เราเอาตัวเข้าไปสัมผัส ถ่ายทอดความรู้สึก คือถ้าสังเกต จะเห็นว่าผมพยายามถ่ายพวกกล้องในวัดพอสมควร เวลาที่วัดมีงานพิธีกรรมบางอย่าง แล้วมีกล้องตลอดเวลา คือผมรู้สึกว่าการมาพิสูจน์หรือการมาให้ถูกบันทึก ก็คือการที่เขาได้เลือกเปิดเผยความจริงเท่าที่เขาทำได้ต่อหน้าเรา รู้สึกเหมือนอยู่ดี ๆ เจอธรรมะในการทำหนัง ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อหนังเลย  


พอคุณณฐพลพูดถึงฉากที่เห็นกล้อง รู้สึกเหมือนที่หลาย ๆ คนพูดเหมือนกันว่า วัดพระธรรมกายมีการตลาดที่ดี มีความคิดในเชิงทุนนิยม ส่วนตัวคิดว่า วัดพระธรรมกายเป็นสถาบันทางศาสนา ซึ่งเชื่อในพลังของภาพ เขาถึงมีกล้อง มีการถ่ายทอดสดลงช่องสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง รวมถึงสิ่งก่อสร้างที่พอถ่ายรูปออกมาแล้ว คุณณฐพลได้ช็อตสวย ๆ ออกมาเยอะมาก ดูมีพลังและสามารถสะกดคนได้ คุณณฐพลรู้สึกว่าที่นี่มันดูน่าตื่นตาตื่นใจหรือเปล่า เพราะคิดว่าทางนู้นเขาน่าจะคิดเรื่องงานด้านภาพเยอะว่า ภาพของเขาที่ปล่อยออกไปนั้นจะเป็นยังไง

เรื่องของงานด้านภาพต่าง ๆ ของหนัง จริง ๆ ช่วงแรก อยากถ่ายสารคดีสั้นเกี่ยวกับแผนกแอนิเมชั่นของวัด ถ้าใครเคยเห็นจะรู้สึกว่า งานซีจีของเขาสุดยอด กล่อมเกลาจิตใจมาก เขามีแผนกที่ใหญ่มาก ใหญ่ถึงขนาดมีตึกแบบสตูดิโอ เลยสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นข้างในมันเป็นยังไง สตอรี่บอร์ดและการออกแบบตัวละครมันถูกคิดขึ้นมายังไง พอมันเกี่ยวพันกับความเชื่อของคนในรูปแบบของงานสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี รู้สึกดูตรงข้ามกันมาก รวมถึงงานสถาปัตยกรรมที่เราเห็นในหนัง พอเราเข้าไปตรงเจดีย์ใหญ่ ๆ ยิ่งรู้สึกเลย ไม่ใช่แค่ภาพอย่างเดียวด้วยซ้ำ รวมถึงเสียงที่เราได้ยินในพื้นที่จริง ๆ เวลาเขาเปิดบทสวด มันชัดทุกองศา ก้องกังวานไปหมด มันมีพลังมาก




ส่วนเรื่องที่เขาคิดนานไหม ผมเคยถามเขาเล่น ๆ ว่าใครอนุมัติให้ผมเข้ามาถ่าย พี่ที่วัดบอก “น้องก็รู้ว่าใคร” ผมเลยสงสัยว่าทำไมถึงให้ถ่าย เขาบอกว่า ห้ามไปก็มาถ่ายอยู่ดี คำตอบนี้เป็นการแสดงถึงปัญญาที่เฉียบขาดมาก ลองคิดดูว่า ถ้าเขาปล่อยให้ผมทำโดยที่ไม่อนุญาต นั่นคือสร้างเจตคติให้ผมแล้วว่า ที่นี่เป็นที่ปิด แล้วมันต้องมีบางอย่างอยู่ในนั้น แต่การที่เขาเปิด โดยเลือกเปิดให้กับผม ทำให้อย่างน้อยที่สุด คนที่ติดลบกับธรรมกาย มีความบวกบางอย่างขึ้นมา หรือมีพื้นที่ให้ผมได้มาเล่าว่า “วัดพระธรรมกายข้างในเป็นยังไง”


ติดตามข้อมูลการฉาย เอหิปัสสิโก (Come and See)  ครั้งต่อ ๆ ไปได้ที่เพจ Facebook: Kai Nottapon



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด