ปี 2504 แพรดำ ภาพยนตร์ซีเนมาสโคปเรื่องแรกของไทย ผลงานการสร้างและกำกับโดย รัตน์ เปสตันยี ได้เข้าร่วมประกวดพร้อมรับเสียงชื่นชมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เวลาผ่านไปเกือบ 60 ปี “หนังฟิล์มนัวร์” เรื่องแรก ๆ ของไทยเรื่องนี้ ยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในสาย “คานส์คลาสสิก” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประจำปี 2563 ในฉบับที่ได้รับการบูรณะใหม่โดยหอภาพยนตร์
--------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 59 กันยายน-ตุลาคม 2563
แม้จะต้องงดจัดเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่เทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกอย่างเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ยังคงธรรมเนียมการประกาศชื่อผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ประจำเทศกาลปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีพิเศษเพราะมีภาพยนตร์ไทยรวมอยู่ด้วย นั่นคือ แพรดำ ผลงานที่หอภาพยนตร์เพิ่งบูรณะขึ้นใหม่ และได้รับคัดเลือกเข้าสายคานส์คลาสสิก เคียงข้างกับหนังคลาสสิกเรื่องดังของโลก
แพรดำ จึงกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับการยอมรับจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกถึง 2 เทศกาล เพราะเมื่อ 59 ปีก่อน ผลงานเรื่องนี้ก็เคยร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีมาก่อนแล้ว
ตัวตนและบริบทความสำคัญของ แพรดำ เกี่ยวพันเชื่อมโยงอย่างไม่อาจแยกขาดจากตัวผู้สร้างสรรค์คือ รัตน์ เปสตันยี ผู้เป็นคนแรกที่ปักธงชาติไทยบนแผนที่ภาพยนตร์โลกตั้งแต่ปี 2481 เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม เขาได้ทำหนังสั้นสมัครเล่นเรื่อง แตง ส่งไปประกวดที่เทศกาลหนังสั้น เมืองกลาสโกว์ ได้รางวัลชนะเลิศสำหรับผู้สร้างที่อยู่นอกสหราชอาณาจักร และต่อมาเมื่อทำหนังเป็นอาชีพ ได้สร้าง สันติ-วีณา ภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัทหนุภาพยนตร์ที่เขาตั้งขึ้น ไปคว้ารางวัลในการประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2497 ต่อมา รัตน์ได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ให้สร้างภาพยนตร์เรื่อง นิ้วเพชร เพื่อถ่ายทอดความงามในนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก และได้รับเชิญไปฉายในสายภาพยนตร์สั้นและสารคดีของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เมื่อปี 2502 ก่อนที่ แพรดำ ที่เขาสร้างในปี 2504 จะได้เดินทางไปเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศเยอรมนีนี้อีกครั้งในฐานะภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าฉายในสายประกวดหลัก
เมื่อสร้าง แพรดำ รัตน์ผู้ยืนหยัดสร้างภาพยนตร์ 35 มม. เสียงในฟิล์มตามมาตรฐานสากลเพื่อออกเผยแพร่แก่ต่างชาติ ท่ามกลางผู้สร้างหนังไทยเกือบทั้งวงการที่ต่างใช้แต่ฟิล์มสมัครเล่น 16 มม. ได้ลงทุนยกระดับด้านเทคนิค ด้วยการซึ้อเลนส์อนามอร์ฟิก สำหรับถ่ายภาพยนตร์แบบจอกว้างที่เรียกว่า “ซีเนมาสโคป” ยี่ห้อ angenieux ขนาด 100 มม. และ 50 มม. มาใช้เป็นครั้งแรก แม้ในขณะนั้นจะมีหนังซีเนมาสโคปต่างประเทศเข้าฉายในเมืองไทยแล้วเกือบ 10 ปี แต่ยังไม่เคยมีคนทำหนังไทยสร้างภาพยนตร์จอกว้างพิเศษแบบนี้มาก่อน
ในภาพยนตร์ 35 มม. สองเรื่องแรกของเขา คือ สันติ-วีณา (2497) และ ชั่วฟ้าดินสลาย (2498) รัตน์ทำหน้าที่ถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว โดยให้ครูมารุต (ทวี ณ บางช้าง) เป็นผู้กำกับ ในขณะที่สองเรื่องต่อมา โรงแรมนรก (2500) และ สวรรค์มืด (2501) เขาเปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับ และให้ ประสาท สุขุม ตากล้องระดับสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (ASC) เป็นผู้ถ่ายภาพ แต่เมื่อต้องมาถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบภาพใหม่ที่กว้างกว่าเดิมถึง 2 เท่า เขาจึงรับหน้าที่เอง ทั้งการกำกับและถ่ายภาพยนตร์ รวมไปถึงเขียนบทและตัดต่อลำดับภาพ
ไม่เพียงแต่การทำหน้าที่เกือบทุกส่วนของรัตน์ แพรดำ ยังเกือบจะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เมื่อเขาให้ พรรณี เปสตันยี ลูกสาวแท้ ๆ ของตนมารับบทนางเอก ในนามการแสดงว่า รัตนาวดี รัตนพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าคงไม่มีดาราหญิงคนไหนกล้าโกนหัวจริง ๆ ตามบทบาทที่เขาเขียนไว้ ในขณะเดียวกัน เอเดิล เปสตันยี ลูกชายคนเล็กวัย 14 ปี ก็มารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยกล้อง ในการถ่ายทำระบบภาพจอกว้างเรื่องแรกของไทย ที่เขาตั้งชื่อระบบตามที่ปรากฏอยู่ในไตเติลของภาพยนตร์ว่า “หนุมานสโคป”
แม้จะตั้งต้นสร้างภาพยนตร์ด้วยความคิดว่าจะแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยให้ชาวต่างประเทศไทยได้รู้จัก แต่บทภาพยนตร์ แพรดำ ที่รัตน์เขียนขึ้นมานั้น ไม่ได้จืดชืด แห้งแล้ง และตรงไปตรงมาอย่างภาพยนตร์โฆษณาบ้านเกิดทั่วไป หากแต่เต็มไปด้วยตัวละครที่มีสีสัน การวางโครงเรื่องที่ชาญฉลาด แก่นเรื่องที่เปรียบเทียบระหว่างกฎหมายกับกฎแห่งกรรมอย่างแยบคาย และที่สำคัญคือ เนื้อเรื่องที่ตีแผ่ด้านมืดของตัวละครผู้ตกอยู่ในห้วงกิเลสตัณหาจนหลงเข้าไปในโลกอาชญากรรม อย่างที่ต่อมาเรียกกันว่าเป็นภาพยนตร์ในตระกูลฟิล์มนัวร์ (film noir) แพรดำ จึงอาจถือเป็น “หนังฟิล์มนัวร์” เรื่องแรกของไทย ก่อนที่ศัพท์นี้จะถูกบัญญัติขึ้น
นอกจากพรรณี ที่รับบทหลักเป็น แพร หญิงหม้ายลูกติดผู้สวมชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สามีผู้ล่วงลับ แต่กลับถูกคนรักใหม่ชักนำให้เข้าไปพัวพันกับเหตุฆาตกรรม นักแสดงหลักคนอื่น ๆ ในเรื่อง ได้แก่ ทม วิศวชาติ, เสณี อุษณีษาณฑ์ และศรินทิพย์ ศิริวรรณ ซึ่งแม้จะมีชื่อเป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่ใช่ดาราระดับแม่เหล็กในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม จุดเด่นสำคัญของ แพรดำ นั้น อยู่ที่ความสามารถในการถ่ายทำของรัตน์ที่เต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์และศิลปะการสื่อความหมายอันกลมกลืนและโดดเด่นควบคู่กันไปทั้งสี เสียง และองค์ประกอบภาพ
เมื่อภาพยนตร์ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ครั้งที่ 11 รัตน์ได้เดินทางไปร่วมเทศกาลด้วยตนเอง แม้จะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ แต่ แพรดำ ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์เยอรมัน ในส่วนของเมืองไทยซึ่งเข้าฉายพร้อม ๆ กับที่เบอร์ลิน ช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2504 หนังกลับไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่าใดนัก ถึงกระนั้น แพรดำ ก็ยังถือเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นศักยภาพระดับสากลของ รัตน์ เปสตันยี และเป็นหนึ่งในผลงานที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2504 รัตน์ได้เล่าให้ครอบครัวฟังว่า พระองค์ตรัสกับเขาเป็นภาษาอังกฤษหลังทอดพระเนตรจบว่า “It’s a high class movie” ซึ่งทำให้เขาภูมิใจอย่างมาก ไม่ว่าหนังจะได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยเพียงใด
ภาพ : ในหลวง ร.9 ตรัสชื่นชม แพรดำ กับรัตน์ เปสตันยี หลังทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์
เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี แพรดำ และผลงานเรื่องอื่น ๆ ของรัตน์ก็ค่อย ๆ หายไปจากการรับรู้ของผู้ชมภาพยนตร์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 เมื่อหอภาพยนตร์ได้รับฟิล์มเนกาทีฟภาพยนตร์ของเขา กลับมาจากแล็บ “Rank Film” ประเทศอังกฤษ ในโครงการหนังไทยกลับบ้าน และได้นำมาพิมพ์เป็นฟิล์มพรินต์สำหรับฉายให้ชมในกิจกรรม ทึ่ง! หนังไทย ของมูลนิธิหนังไทย ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง แพรดำ ก็กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชม “ทึ่ง” ได้มากที่สุด กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทำหนังรุ่นหลัง เช่น วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ที่ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากเป็นพิเศษ นับเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ของรัตน์ เปสตันยีได้เป็นอย่างดี
ภาพ : กระบวนการบูรณะ แพรดำ โดยบุคลากรของหอภาพยนตร์
นับจากนั้นมา แพรดำ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนหนังไทย โดยมูลนิธิหนังไทย ได้นำฟิล์มพรินต์ดังกล่าวมาแปลงสัญญาณเป็นวิดีโอเทป และเป็นดีวีดี ออกจำหน่ายเผยแพร่ตามลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2562 หอภาพยนตร์จึงได้นำฟิล์มเนกาทีฟต้นฉบับของ แพรดำ ที่อนุรักษ์ไว้มาทำการบูรณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มจากสแกนภาพออกมาในความคมชัดระดับ 4K และทำการลบรอย ลบฝุ่น ปรับแต่งสีและเสียงให้สมบูรณ์ดังเดิม โดยก่อนหน้านี้ในปี 2559 หอภาพยนตร์ได้เคยบูรณะผลงานของ รัตน์ เปสตันยี เรื่อง สันติ-วีณา และได้รับการคัดเลือกเข้าฉายในสายคานส์คลาสสิกมาก่อนแล้ว แต่คราวนั้นเป็นการบูรณะร่วมกับแล็บ L'Immagine Ritrovata ประเทศอิตาลี ในขณะที่ แพรดำ ถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่หอภาพยนตร์บูรณะอย่างเต็มรูปแบบด้วยเครื่องมือและบุคลากรของหอภาพยนตร์เอง และได้ประทับตรา คานส์คลาสสิก เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
ภาพ : กระบวนการบูรณะภาพ ในภาพยนตร์เรื่อง แพรดำ