อ่าน "มิตร"

เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงการเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา จากการพลัดตกจากบันไดเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 สำหรับแฟนหนัง แฟนมิตร แฟนประวัติศาสตร์ และผู้สนใจเรื่องราวและบริบทแห่งชีวิตและความตายของดาราอมตะของไทยคนนี้ ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ มีหนังสือมากมายบนชั้นอันว่าด้วยเรื่องของมิตร ชัยบัญชา หนังสือเหล่านี้ครอบคลุมแทบจะทุกมิติ ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องลึก ข่าวจริง ข่าวลือ จิตวิเคราะห์ งานวิชาการเข้มข้น ทั้งหมดประกอบสร้างให้เห็นว่า ชีวิตและความตายของชายหนุ่มผู้จากไปในโศกนาฏกรรมลือลั่นอันพลิกหน้าประวัติศาสตร์หนังไทย ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมาย นอกเหนือจากภาพของมิตรที่ผู้ชมคุ้นเคยบนจอหนัง 

-----------------


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 59 กันยายน-ตุลาคม 2563


เริ่มด้วย “อาลัย มิตร ชัยบัญชา” หนังสือที่ตีพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มิตร ชัยบัญชา ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 หนังสือเล่มนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะนำเสนอประวัติชีวิตและการทำงาน เกร็ดและรายละเอียดในชีวประวัติ เช่น บ้านเกิด ประวัติการเปลี่ยนชื่อของมิตร (จาก “บุญทิ้ง” จนมาถึงชื่อจริง “พิเชษฐ์ พุ่มเหม”) ปีที่เข้าวงการ ปีที่สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งเวลาตกฟากจากการคำนวณทางโหราศาสตร์ ฯลฯ จากนั้นเป็นการรวบรวมคำไว้อาลัยที่บุคคลสำคัญในวงการต่าง ๆ ของไทย เขียนเพื่อรำลึกถึงมิตร ตั้งแต่นายตำรวจใหญ่ คนในวงการบันเทิง หรือแม้แต่เพื่อนนักเรียน ด้านหลังของหนังสือยังรวมบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่คอลัมนิสต์คนดังสมัยนั้นเขียนถึงการจากไปของมิตร ที่เด่นมาก ได้แก่บทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่นอกเหนือจะชื่นชมความสามารถของมิตร ยังเลียบเคียงและ “วิจารณ์” การแสดงของมิตร ว่าเป็นดาราที่ไม่ได้แสดงบทบาทตัวละครที่เขาได้รับ เพียงแต่เป็น “ตัวมิตรเอง” ในหนังทุกเรื่องจนเหมือนกันไปหมด นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังเรียกร้องให้การถ่ายทำภาพยนตร์ไทย ยกระดับความปลอดภัยให้เหมือนหนังต่างประเทศ ไม่เอาชีวิตดาราดังระดับประเทศมาเสี่ยงภัยเช่นนี้อีก




ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำนานของชายชื่อมิตร ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นและมีแรงสั่นสะเทือนยาวนานด้วยสาเหตุแห่งการเสียชีวิตของเขา สภาวะแห่งการตายที่ทั้งน่าตกใจ น่าหวาดเสียว กระชากอารมณ์ น่าเศร้า และหวือหวาจนเกือบถึงขั้นเหลือเชื่อ การตายของดาราหนังที่น่าอกสั่นขวัญแขวนราวกับจะเป็นหนังโศกนาฏกรรมในตัวเอง ทำให้เกิดข่าวลือและทฤษฎีต่าง ๆ มากมายในการขุดคุ้ยหา “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในวันที่มิตรตกจากบันไดเฮลิคอปเตอร์ 


ในหนังสือ “ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2548 โดย อิงคศักย์เกตุหอม แฟนหนังมิตรที่รวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับการตายของมิตรในหน้าหนังสือพิมพ์ และวิเคราะห์ให้เห็นสิ่งที่เห็นว่าเป็น “พิรุธและปริศนา” อันเกี่ยวข้องกับความตายของดาราคนดัง อิงคศักย์เริ่มต้นด้วยการคัดลอกรายงานข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จากนั้นยังแสวงหาหลักฐานเพิ่มเติมและเพียรตั้งคำถามโดยอ้างอิงจากสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความไม่ชอบมาพากลของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำหนังเรื่อง อินทรีทอง ในวันนั้น ทั้งการทำงานของนักบิน การสั่งงานของผู้กำกับ และสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่หายไป คือภาพจากกล้องในขณะที่ร่างของมิตรกระทบพื้น – ไม่ใช่เพียงแค่ภาพตอนโหนบันไดและพลัดตกที่เราเคยเห็นกันเท่านั้น 



ในแง่มุมสื่อสารมวลชน หนังสือ “ความตายแบบไม่ธรรมดา มิตร ชัยบัญชา” ไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสั่นคลอนบทสรุปที่ว่ามิตรเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถพลิกคดีหรือกระแสสังคมใด ๆ ได้ อาจจะถึงขั้นทึกทักโดยไม่มีหลักฐานด้วยซ้ำ แต่ความเพียรพยายามทบทวนข้อมูลมากมายของอิงคศักย์ และลีลาการเขียนที่ผสมความกระหายความจริงและสถานะการเป็นแฟนมิตร ทำให้อย่างน้อยนี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งของมนตร์สะกดที่การตายของมิตรมีต่อสาธารณชน 


หนังสือเล่มถัดมาที่อยากแนะนำให้มาอ่านกัน คือ “วิเคราะห์ มิตร ชัยบัญชา” โดย นายแพทย์ ยรรยง โพธารามิก ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2525 นี่เป็นหนังสือกึ่งวิชาการของจิตแพทย์ที่เขียนได้สนุก เข้มข้น น่าฉงนฉงาย และพยายามเจาะลึกถึงก้นบึ้งจิตใต้สำนึกของมิตรด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ถึงแม้ทฤษฎีนี้จะพ้นสมัยไปสักนิดเมื่ออ่านตอนนี้ แต่การวิเคราะห์ของนายแพทย์ยรรยง ลึกซึ้งราวกับได้มิตร มานอนอยู่บนเก้าอี้คนไข้ในคลินิกของเขาจริง ๆ) เนื้อหาของหนังสือโยงชีวิตของมิตร ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า เข้ากับปกรณัมอีดิปุส การแสวงหาความรักจากคนรอบข้าง และอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงหลาย ๆ คนในชีวิตของมิตรในการประกอบสร้างบุคลิกของเขา 



ในบทที่สอง นายแพทย์ยรรยงร่ายยาวถึงประวัติชีวิตของอเล็กซานเดอร์มหาราช จอมทัพแห่งอาณาจักรกรีกโบราณเมื่อกว่าสองพันปีก่อน และสุดท้ายหนังสือเปรียบเทียบความคล้ายคลึงระหว่างชีวิตของมิตรกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทั้งสองเป็นผู้เกรียงไกรในสมัยของตนที่ต่างถูกขับดันด้วยปมภายในใจเกี่ยวกับแม่ และการแสวงหาการยอมรับ น่าสนใจที่ว่า ไม่น่าจะมีหมอคนไหนเคยเขียนวิเคราะห์ชีวิตดาราหนังไทยได้อย่างละเอียดและอ้างอิงหลักวิชาการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาก่อน หรือหลังจากนั้น



พูดถึงมิตร ก็ต้องมีเพชรา “บันทึกรักของเพชรา เชาวราษฎร์” เป็นหนังสือที่เพชราเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเอง ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2520 ถึงแม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเพชรา การทำงานและชีวิตส่วนตัวของเธอ แต่บางบทบางตอนมีการพูดถึงมิตร ชัยบัญชาไว้อย่างน่าสนใจ เช่น การที่เพชราแซวว่ามิตร “เป็นคนบ้ายุ” และเชื่อมั่นว่าตัวเองจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร (สุดท้ายแพ้) รวมทั้งยังเล่าถึงความตั้งใจของมิตรที่จะสร้างโรงหนังบริเวณสะพานผ่านฟ้า และแน่นอนว่ามีส่วนหนึ่งที่เพชราเล่าประสบการณ์วันสุดท้ายที่ได้เจอมิตร ก่อนเขาจะเสียชีวิตลง “หน้าตาของคุณมิตรในวันสุดท้ายที่ได้เจอกัน มีแววตรากตรำอย่างเห็นได้ชัด” เรียกน้ำย่อยไว้ประมาณนี้ มาหาอ่านเต็ม ๆ ได้ที่หอภาพยนตร์



หนังสือเล่มสุดท้ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมิตร ชัยบัญชา เป็นหนังสือวิชาการภาษาอังกฤษ Cultures at War: The Cold War and Cultural Expression in Southeast Asia โดย โทนี เดย์ และมายา เอชที เลียม เนื้อหาของหนังสือหนักหน่วงเอาการ ว่าด้วยการวิเคราะห์การใช้สื่อทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และวรรณกรรมเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดในช่วงสงครามเย็นและเพื่อต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ในบทที่ชื่อว่า The Man with the Golden Gauntlets อาจารย์เรเชล แฮริสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยและหนังไทย วิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องถึงยุค 2500 การแพร่อิทธิพลของอเมริกาผ่านหนัง และความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ อ.เรเชลเพ่งกสิณไปที่ภาพลักษณ์ของมิตรในหนังเรื่อง อินทรีแดง และ อินทรีทอง ในฐานะฮีโร่ผู้ปราบเหล่าร้าย โดยตีความว่าหน้ากากนกอินทรีเป็นสัญลักษณ์แทนประเทศอเมริกา ส่วนผู้ร้ายในหนังเป็นการผสมผสานความหวาดกลัวทั้งคอมมิวนิสต์และจีนแดง (ภาษาอังกฤษคือ Red Peril และ Yellow Peril) และแน่นอนว่ามิตรเป็นผู้ปราบอธรรมที่ปัดเป่าการรุกรานของศัตรูที่แฝงตัวเข้ามา หากคล่องภาษาอังกฤษ หนังสือเล่มนี้เข้มข้นในเนื้อหาทีเดียว อย่างไรก็ตามเฉพาะบทความของ อ.เรเชลนี้ ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วลงในวารสารหนังไทย ฉบับที่ 18 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ซึ่งหาอ่านได้ที่นี่เช่นกัน


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมิตร ชัยบัญชา นอกจากที่ว่าไปข้างต้นยังมีอีกหลายเล่มหลายรสชาติรอทุกท่านอยู่ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ชั้น 4 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์  ที่เปิดให้บริการท่านได้มาใช้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.  <นัดหมายใช้บริการล่วงหน้า คลิก> และยังมี "มิตรศึกษา" นิทรรศการที่หอภาพยนตร์ได้รวบรวมข้อมูล ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว โปสเตอร์ และวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต การทำงาน และการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา มาจัดแสดงให้ท่านได้รับชมที่ชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 น.- 17.00 น. สามารถมาใช้บริการทั้งสองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด