เรื่องราวของ ธำรง รุจนพันธ์ ศิลปินผู้มากความสามารถ ในการบันทึกมรดกเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญและหนังท้องถิ่นที่เล่าการบันทึกวิถีชีวิตความทรงจำร่วมของผู้คนในนราธิวาส
----------------------
โดย ฝ่ายอนุรักษ์
* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 59 กันยายน-ตุลาคม 2563
ราวปี 2502 ที่เมืองนราธิวาส โดม สุขวงศ์ ได้ไปดูการซ้อมพากย์หนังเรื่อง ทะโมนไพร จากการชักชวนของนเรศ รุจนพันธ์ เพื่อนสมัยประถม ซึ่งเป็นหนังที่พ่อของนเรศเป็นคนถ่ายทำ สามสิบกว่าปีให้หลังโดมได้มีโอกาสกลับไปพบนเรศอีกครั้ง จึงได้ถามไถ่ถึงหนังเก่า ๆ ที่พ่อของนเรศเคยถ่าย เพื่อเสาะแสวงหาหนังท้องถิ่นมาอนุรักษ์ไว้ที่หอภาพยนตร์ จากนั้นไม่นานฟิล์มที่เคยนอนรอความตายอยู่ภายในบ้านของพ่อนเรศก็ได้ถูกนำมาที่หอภาพยนตร์ ฟิล์มภาพยนตร์ที่บรรจุเรื่องราวของเมืองนราธิวาส หนังท้องถิ่น เหตุการณ์สำคัญของเมืองไทย และชีวิตของช่างถ่ายหนังแห่งเมืองนราฯ ที่ชื่อ ธำรง รุจนพันธ์
ธำรง รุจนพันธ์ เกิดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2454 ที่จังหวัดลำปาง บุตรนายเจ๊กซิ และนางบัวคำ ซิหลิม ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ลำปาง ก่อนจะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ต่อมาได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ได้ศึกษาวิชาศิลปะที่ Sinwha Art Academy ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ได้รับประกาศนียบัตรวิชาวาดเขียน สาขาศิลปะแบบยุโรป แล้วกลับมาเมืองไทยจนได้แต่งงานกับหญิงสาวจากนราธิวาส จึงย้ายไปตั้งรกรากที่บ้านของภรรยา ได้เปิดร้านถ่ายรูปในตลาดเมืองนราธิวาส ชื่อร้าน ไทยอ๊าร์ต ดำเนินกิจการรับถ่ายรูป ขายฟิล์มและขายอุปกรณ์การถ่ายรูปเป็นหลัก แต่เพราะธำรงมีความรู้ความสามารถ นอกจากวิชาวาดรูปแล้ว ยังมีความสามารถด้านดนตรี การสตัฟสัตว์ และการถ่ายภาพยนตร์ ที่ร้านของเขาจึงมีการรับงานเขียนรูปและแสดงผลงานรูปเขียนของเขาด้วย และเขายังสอนการเขียนรูป สอนดนตรี เช่น ไวโอลิน และรับงานสตัฟสัตว์และสอนแก่ผู้สนใจเป็นส่วนตัวด้วย ร้านไทยอ๊าร์ต จึงเป็นที่ชุมนุมของชาวนราฯ ที่สนใจเรื่องศิลปะ ไปศึกษาเรียนรู้กับธำรง
ภาพ : หน้าร้านไทยอ๊าร์ต ในวันคล้ายวันเกิดบุญอิ๊ด
ส่วนเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์นั้น เป็นอีกงานหนึ่งที่ธำรงสนใจและมีความสามารถ เขาถ่ายทำภาพยนตร์ 16 มม. โดยล้างและพิมพ์ฟิล์มเอง ตัดต่อเอง ที่สำคัญเขาสนใจทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์มด้วย ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์เสียงมาใช้เป็นของตนเอง ธำรงถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งในเชิงส่วนตัวหรือสมัครเล่น ขณะเดียวกันก็รับจ้างถ่ายทำให้ผู้สนใจว่าจ้างเขาด้วย ในเวลานั้น (2490 – 2505) เขาน่าจะเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์รายเดียวของจังหวัด ได้รับงานถ่ายภาพยนตร์บันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ของทั้งเอกชนและหน่วยงานทั้งราชการและไม่ใช่ราชการ และด้วยจิตวิญญาณของช่างภาพและนักถ่ายภาพยนตร์ เขาได้บันทึกเหตุการณ์ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญทางสังคมของจังหวัดไว้ด้วยโดยมิได้มีใครจ้าง จึงกล่าวได้ว่าเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ประจำจังหวัด
ด้วยความที่เป็นศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ ธำรงลงทุนสร้างภาพยนตร์ชนิดเดินเรื่องขนาดยาว เพื่อนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งนับว่าเป็นความรักในงานภาพยนตร์และความกล้าสร้างสรรค์
ต่อมา ธำรงก็ได้เลิกกิจการไปแล้วย้ายมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อทำงานด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ใจรัก ได้รับงานถ่ายภาพยนตร์ให้บางหน่วยงาน เช่น งานถ่ายภาพยนตร์สารคดี “สองข้างทางรถไฟ” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้งานถ่ายทำสารคดี KGMB TV แห่งเมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากผลงานด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์แล้ว ธำรงยังมีผลงานด้านการเขียนภาพสีน้ำมัน งานประติมากรรม การสตัฟสัตว์ งานประติมากรรมที่สำคัญคือ รูปนางเงือก ที่เคยประดับบนชายหาดสมิหลาแต่สูญหายไป ก่อนจะมีการสร้างตัวใหม่ และประติมากรรมนางธรณี ที่วัชระอุทยาน อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการยกย่องจากสภาวัฒนธรรม จังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมเมื่อปี 2531 และได้รับการยกย่องโดย Auricon Professional Cameras Equipment ในฐานะที่เขาเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ที่มีฝีมือการถ่ายทำภาพยนตร์เสียงด้วยอุปกรณ์ของ Auricon
ธำรงถ่ายหนังไว้มากมายซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่าที่หอภาพยนตร์ได้รับ แต่หนังอาจจะกระจัดกระจายกันไปตามที่ต่าง ๆ ที่เขาเคยถ่ายให้แก่ผู้จ้าง โดยที่หอภาพยนตร์ได้รับมามีจำนวนทั้งสิ้น 79 ม้วน หากจะแบ่งตามเนื้อหาที่พบ ก็จะพบว่ามีเนื้อหาอยู่ 4 ประเภทใหญ่ ๆ ในหนังของธำรง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจภาพและเรื่องราวในอดีตได้รับชมและศึกษา
เหตุการณ์สำคัญและวิถีชีวิตในนราธิวาส
ภาพ : รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ นราธิวาสครั้งแรก พ.ศ. 2502
ด้วยความเป็นช่างถ่ายหนังรับจ้างในต่างจังหวัด ในยุคสมัยที่มีคนถ่ายหนังกันน้อย ทำให้ธำรงได้รับการจ้างงานอยู่เสมอ จนเป็นที่รู้จักของคนหรือหน่วยงานต่าง ๆ เขาจึงมีโอกาสได้งานไปบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญและวิถีชีวิตของคนในนราธิวาสมากมาย เช่น คราวในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนนราธิวาสครั้งแรก ปี 2502 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญของจังหวัด มีภาพคนสำคัญของจังหวัดในหนังไล่ไปจนถึงเบื้องหลังการเตรียมงานที่ได้ข้าราชการและคนในจังหวัดมาร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานรับเสด็จฯ นอกจากนั้นยังมีภาพขบวนประท้วงกรณีเขาพระวิหารในปี 2505 ของคนนราธิวาสที่แสดงให้เห็นความรู้สึกชาตินิยมของคนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นอันห่างไกลจากกรุงเทพฯ ภาพพิธีสุหนัต พิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยมุสลิมในนราธิวาส ภาพขบวนพาเหรดกีฬาโรงเรียนประจำจังหวัดของเยาวชนในสมัยนั้น ภาพการทำขันเงินลายไทยของชาวบ้าน ภาพงานศพของคนในจังหวัดอย่างนางเฟือง โยธาทิพย์ ภาพกิจกรรมภายในของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ รวมไปถึงภาพการสร้างสะพานและถนนหนทางของชาวบ้านในจังหวัดที่ล้วนแล้วแต่เป็นภาพความทรงจำร่วมกันของคนนราธิวาส
ภาพ : ชาวบ้านช่วยกันสร้างสะพาน
กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ภาพ : พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเมื่อปี 2503
การเป็นช่างถ่ายหนังรับจ้างของธำรง นอกจากจะทำให้เขาได้ถ่ายภาพให้แก่ผู้จ้างในนราธิวาสแล้ว ธำรงยังได้โอกาสไปถ่ายภาพที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งในช่วงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ธำรงได้เดินทางไปกับคณะทัศนาจรมุสลิม จังหวัดนราธิวาส เพื่อถ่ายภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะทัศนาจร ซึ่งเป็นชุดของภาพยนตร์ที่ทำให้เราได้เห็นกรุงเทพฯ ตามสถานที่ต่าง ๆ ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. ยุคกึ่งพุทธกาลได้เป็นอย่างดี มีภาพจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะให้การต้อนรับคณะมุสลิมนราธิวาส ภาพหลายภาพที่ถูกบันทึกนั้นเก็บรายละเอียดได้อย่างช่างภาพมืออาชีพ ให้ความรู้สึกของภาพจากสายตาคนต่างถิ่น มีมุมมองที่อยากรู้ อยากบันทึก บางมุมอาจหาไม่ได้จากหนังที่คนกรุงเทพฯ เป็นคนถ่าย และนอกจากธำรงจะไปถ่ายหนังให้กับผู้จ้างในต่างจังหวัดแล้ว ความรักในการถ่ายภาพและการเป็นนักบันทึกเหตุการณ์ยังพาเขาออกไปถ่ายภาพยนตร์ด้วยตัวเอง อย่างเช่นงานพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเมื่อปี 2503 ณ ท้องสนามหลวง ที่นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้กลับมาใหม่หลังจากห่างหายไป 23 ปี ซึ่งธำรงตั้งใจเดินทางมาถ่ายบันทึกด้วยตนเอง หรือภาพกิจกรรมของบุคคลสำคัญอย่างเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาพการไปเที่ยวที่เชียงใหม่และบันทึกสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงโรงหนังเก่าอย่างโรงหนังสุริวงศ์ที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งล้วนเป็นภาพสถานที่และเหตุการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง
หนังเล่าเรื่อง
ภาพ : เศษฟิล์มภาพยนตร์ประเภทเดินเรื่อง
ธำรงเป็นผู้มีความสามารถและมีความสนใจอันหลากหลาย นอกจากการถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วยังสร้างภาพยนตร์ประเภทเดินเรื่องขึ้นสองสามเรื่อง โดยใช้ฉากสถานที่ในท้องถิ่นและเพื่อนฝูง ญาติมิตรเป็นผู้แสดง เป็นภาพยนตร์ไทยระบบ 16 มม. พากย์ และนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง นับเป็นภาพยนตร์สำหรับท้องถิ่นโดยแท้ มีผู้บันทึกไว้ว่า ภาพยนตร์เรื่องที่ธำรงสร้าง ได้แก่ จอมโจรปูรูยามา, ทะโมนไพร และ หาดเพชฌฆาต ดังได้ปรากฏเศษหนังและเบื้องหลังการถ่ายทำในกรุที่หอภาพยนตร์ได้รับมอบมา บางส่วนเป็นฉากการแสดงบทโศกเศร้า ฉากท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขาและน้ำตก และฉากการล่องเรือในทะเล เป็นต้น นอกจากนั้นยังปรากฏผลงานประเภทอื่นอีก เช่น โฆษณาร้านไทยอ๊าร์ตที่เป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหวของตนเองขณะถือกล้องและถ่ายทำภาพยนตร์, เป็นผู้ถ่ายหนังสารคดี ขวัญใจนราธิวาส บันทึกการประกวดนางงามและการสัมภาษณ์, หนังภาพประกอบเพลง เขมรไทรโยค และบันทึกการร้องเพลงของชายหญิงประกอบการเล่นไวโอลิน ซึ่งสันนิษฐานว่าถ่ายทำให้แก่สถานีโทรทัศน์
หนังบ้านในครอบครัว
ผลงานประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของธำรง แม้จะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะคือ หนังส่วนตัวหรือหนังบ้านบันทึกบุคคลและเหตุการณ์ในครอบครัว ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในช่วงต่าง ๆ ในชีวิตของเด็กชายบุญอิ๊ด รุจนพันธ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นนเรศ) บุตรชายคนโต เช่น งานเลี้ยงวันเกิด อิริยาบถขณะเล่นกับเพื่อน การฝึกหัดถ่ายภาพ นอกจากนี้ยังมีภาพวิวทิวทัศน์ ทุ่งนา ชายทะเล น้ำตก ภาพถ่ายทางอากาศ และบรรยากาศเมืองนราธิวาส ที่นอกจากจะทำให้ได้เห็นความรักที่มีต่อบุตรแล้วยังทำให้ได้เห็นความรู้สึกผูกพันต่อนราธิวาส ถิ่นฐานที่เขาได้ใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายปี
ธำรง รุจนพันธ์ เสียชีวิตในวัย 77 ปี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2531 หากผู้อ่านท่านใดสนใจมรดกภาพยนตร์ที่ธำรงได้มอบให้ไว้ สามารถเดินทางมารับชมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี