ทำความรู้จักกับนิทรรศการใหม่ของหอภาพยนตร์ ที่จะพาทุกท่านโดยเฉพาะน้องๆหนูๆ มาลอง มาเล่น และมาเรียนรู้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเองว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรในนิทรรศการ ภาพค้างติดตา: Persistence of vision
--------------
โดย อังศดา โสภณานนท์
* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 60 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2563
“ภาพยนตร์เกิดขึ้นได้ยังไง?”
คำถามเรียบง่ายและใสซื่อที่ได้ยินบ่อยครั้งจากเด็ก ๆ ที่แวะเวียนมาเที่ยวหอภาพยนตร์นี้ เป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายสำหรับพี่ ๆ ทีมงานหอภาพยนตร์ทุกครั้ง ในการจะหาวิธีอธิบายสรุปเรื่องราวที่มาที่ไปซึ่งต้องย้อนเวลากลับไปนับหมื่นปีสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ เชื่อมโยงไปจนถึงทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตา หรือ Persistence of vision ซึ่งว่าด้วยการทำงานอันแสนซับซ้อนและสัมพันธ์กันของสมองและดวงตา ที่ทำให้เราเห็นภาพนิ่งทีละภาพ ๆ ซึ่งเคลื่อนผ่านตาเราอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาได้และเมื่ออธิบายจบ (หรือยังไม่ทันจบ) ก็พบว่าน้อง ๆ หันไปเล่นสนุกหรือตื่นเต้นกับวัตถุจัดแสดงชิ้นอื่นซะแล้ว เพราะสำหรับเด็ก ๆ สิบปากว่าย่อมไม่เท่าตาเห็นและลงมือทำ หอภาพยนตร์จึงพยายามนำคำอธิบายเหล่านั้นมาประมวลและถ่ายทอดออกมาเป็นชุดนิทรรศการในรูปแบบที่น้อง ๆ จะได้เห็น ได้ลอง ได้เล่น และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ว่าภาพยนตร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในนิทรรศการ ภาพค้างติดตา: Persistence of vision
ภายในนิทรรศการจะนำชมโดย “ติ๊ดต้า” มาสคอตตัวเอกของชุดนิทรรศการผู้มีหลายแขนหลายตา เพราะเกิดจากภาพที่ซ้อนกัน มาพร้อมกับผู้ช่วยของเขา “มามอง” แมงมุมเจ็ดตัวเจ็ดสี และเหล่าแมงมุมน้อย “ดูดู” ที่จะคอยตั้งคำถามและพาทุกคนเข้าไปผจญภัยในโลกแห่งจินตนาการที่ชื่อว่า ดินแดนภาพค้างติดตา โดยเดินทางทะลุมิติเวลาไปสู่อดีตในยุคต่าง ๆ เริ่มจากห้อง “มองถ้ำ” ที่ย้อนกลับไปเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ได้สังเกตและเกิดความความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อย่างเช่นเห็นภาพปรากฏบนพื้นผนังถ้ำมืดมิดที่เกิดจากแสงลอดช่องรูเล็ก ๆ เข้ามาในถ้ำ แต่ไม่มีความรู้ที่จะอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดหรือเพราะอะไรจึงเห็นปรากฏการณ์เหล่านั้นได้ หรือแม้แต่เมื่อได้ไปพบเจอเหตุการณ์อะไรมาก็ตาม เช่น เห็นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของสัตว์ป่า การไล่ล่าที่น่าตื่นเต้น และอยากจะเล่าหรือบันทึกไว้ สิ่งที่มนุษย์ในยุคนั้นพอจะทำได้คือ การวาดเรื่องราวหรือเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นรูปไว้บนผนังถ้ำ จึงเกิดเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งภาพบางภาพก็ดูประหลาดผิดธรรมชาติ นั่นเพราะเป็นภาพวาดที่ต้องการสื่อสารให้เห็นการเคลื่อนไหว
ต่อมาเป็นห้อง “เล่นเงา” ซึ่งถอยร่นไปเมื่อหลายพันปีก่อน เมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และย้ายออกจากถ้ำมาอาศัยในบ้าน ตอนกลางวันก็ออกไปทำไร่นา ตกกลางคืนก็มาเล่าเรื่องต่าง ๆ สู่กันฟัง และคิดค้นหาวิธีเล่าให้สนุกยิ่งขึ้น อย่างการเล่าเรื่องด้วยเงา โดยใช้แสงจากดวงจันทร์หรือตะเกียง ไม่มีใครรู้ว่าเราเริ่มต้นเล่นเงาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจจะตั้งแต่สมัยยังอยู่ในถ้ำ ใครบางคนอาจจะบังเอิญใช้มือทำให้เกิดเงารูปร่างต่าง ๆ ต่อมาจึงรู้จักใช้แผ่นหนังสัตว์หรือวัสดุอื่น ๆ มาตัดเป็นรูปทรงที่ต้องการ ซึ่งถูกพัฒนาให้สวยงามขึ้นจนกลายเป็นตัวหนังสำหรับเล่นเงาโดยเฉพาะ อย่างเช่นหนังใหญ่และหนังตะลุง
จากนั้นติ๊ดต้าและมามองจะพาเดินผ่านอุโมงค์กาลเวลามาสู่ห้อง “นักประดิษฐ์” เพื่อเล่าเรื่องเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ที่ศิลปวิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความรู้คิดทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ทำให้สามารถอธิบายทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตา (Persistence of vision) ซึ่งเป็นกุญแจที่ช่วยไขความสงสัยว่าทำไมเราจึงเห็นภาพนิ่ง ๆ ทีละภาพ ๆ กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ และด้วยทฤษฎีการเห็นภาพค้างติดตานี่เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์นำไปคิดประดิษฐ์ของเล่นที่ทำให้เห็นภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ในหลากหลายรูปแบบเรียกว่า ของเล่นลวงตา (Optical Toys) และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ภาพยนตร์
และส่วนสุดท้ายของนิทรรศการคือห้อง “ลองเล่น” ผู้ชมจะเดินผ่านอุโมงค์รูปดวงตาซึ่งเปรียบเสมือนทางเดินจากดวงตาไปสู่สมองที่เป็นโลกแห่งจินตนาการ เมื่อเข้ามาภายในห้องก็จะพบกับเรือเหาะยักษ์ที่ถูกตกแต่งด้วย Optical Toys ขนาดใหญ่หลากหลายชนิดเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นสนุก มีเกมสร้างแอนิเมชันติ๊ดต้าและมามองให้ได้ทดลองสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง และปิดท้ายด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันที่จะให้ทุกคนได้เห็นถึงวิวัฒนาการของการสร้างภาพนิ่งให้เคลื่อนไหวได้จนเกิดเป็นภาพยนตร์ในปัจจุบัน
นิทรรศการนี้เหมาะกับเด็กอายุ 6-12 ปี คอนเซปต์และเนื้อหาการจัดแสดงโดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ออกแบบนิทรรศการโดย ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์ และทีมงาน ผลิตนิทรรศการโดย บริษัท อินเตอร์แอ็คชั่นดีไซน์สตูดิโอ จำกัด
พบกับติ๊ดต้า มามอง และดูดู ได้ในนิทรรศการภาพค้างติดตา: Persistence of vision เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์เวลา 10.00 น. - 17.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม