ห้องสมุดและโสตทัศน์สถาน เชิด ทรงศรี เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านภาพยนตร์ ที่ไม่ได้มีเพียงหนังสือภาพยนตร์ที่เป็นรูปแบบภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จากต่างประเทศ ซึ่งในที่นี้จะแนะนำหนังสือชุดจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษ The Beginnings of the Cinema in England, 1894-1901 เขียนโดย John Barnes ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ที่สุดยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อังกฤษ
-------
โดย วิมลิน มีศิริ
* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 60 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2563
การจัดหมวดหมู่หนังสือของห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ได้กำหนดหนังสือที่มีเนื้อหาประวัติของภาพยนตร์แต่ละประเทศอยู่ในหมวดหมู่ย่อยคือ 71 จดหมายข่าวฉบับนี้ ห้องสมุดฯ ชวนอ่านจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษ จากหนังสือชุด The Beginnings of the Cinema in England, 1894-1901 เขียนโดย John Barnes ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ที่สุดยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อังกฤษ หนังสือชุดนี้มีทั้งหมด 5 เล่ม โดยนำเสนอเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปี พร้อมภาพประกอบ ภาคผนวกที่รวบรวมรายชื่อภาพยนตร์อังกฤษทั้งรูปแบบบันเทิงคดีและสารคดีที่สร้างขึ้นในปีนั้น ๆ
เล่มที่ 1 ค.ศ. 1894-1896
Thomas A. Edison รู้สึกทึ่งที่ตัวเขาเองคิดค้นเครื่องอัดเสียงได้และมีความต้องการผลิตโสตทัศนูปกรณ์ที่รับรู้ผ่านการมองเห็น จึงมอบให้ W.K.L. Dickson รับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่ง Dickson ทำการทดลองและประดิษฐ์กล้องคิเนโตกราฟ (Kinetograph) และคิเนโตสโคป (Kinetoscope) ที่ใช้งานได้จริง แต่เขาทำงานในฐานะพนักงานของบริษัท Edison สิ่งประดิษฐ์ของเขาจึงอยู่ในชื่อของ Edison ส่วนหนังสือเล่มนี้เล่าประวัติการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ตัวแรกของอังกฤษ คิดค้นโดย Robert William Paul และ Birt Acres ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังจากการปรากฏของคิเนโตสโคปที่อังกฤษเมื่อ 17 ตุลาคม 1894 และเป็นเหตุให้ต่อมาช่วงปลายปี 1896 มีการจัดรายการฉายภาพยนตร์ที่หอแสดงดนตรีขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในอังกฤษ รวมถึงข้อมูลผลงานของผู้บุกเบิกที่ปัจจุบันถูกหลงลืมไปในวงการภาพยนตร์อังกฤษ และกล่าวถึงประวัติผลงานของนักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงอย่างละเอียด เช่น Robert William Paul หรือ Daddy Paul เป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลช่วงยุคแรกของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อังกฤษ เนื่องด้วยหลังจากที่คิเนโตสโคปถูกนำเข้ามาในอังกฤษได้ไม่นานและกำลังขาดตลาด เพราะคิเนโตสโคปหาได้จากตัวแทนของ Edison เท่านั้น แต่คิเนโตสโคปยังไม่ได้รับการจดสิทธิบัตรในอังกฤษ ดังนั้น Paul จึงมีสิทธิสร้างแบบจำลองคิเนโตสโคปได้ตามที่เขาต้องการ ธุรกิจใหม่ของ Paul มีแนวโน้มสร้างกำไรงาม แต่อุปสรรคคือขาดแคลนฟิล์มที่ใช้กับอุปกรณ์นี้ ซึ่งฟิล์มถูกจำกัดการใช้งานเฉพาะเครื่องจักรต้นแบบของ Edison เท่านั้น และติดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ Paul จึงไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากจะสร้างฟิล์มของตนเองขึ้นมา และประดิษฐ์กล้องที่สามารถใช้ฟิล์มได้หลายแบบให้กับลูกค้าเครื่องคิเนโตสโคปของเขาและลูกค้าคนอื่น ๆ ในปลายเดือนมีนาคม 1895 ด้วยความช่วยเหลือของช่างภาพมืออาชีพ Birt Acres พวกเขาประสบความสำเร็จและสามารถสร้างฟิล์มที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับฟิล์มของ Edison และประดิษฐ์กล้องตัวแรกที่ผลิตในอังกฤษที่ชื่อว่า Paul Acres
เล่มที่ 2 ค.ศ. 1897
ศึกษากระบวนการผลิตและวิธีการนำเสนอภาพยนตร์พร้อมอธิบายเกี่ยวกับอุปกรณ์ภาพยนตร์ นอกจากนี้ได้เขียนถึงการพัฒนารูปแบบใหม่ของเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ เช่น การจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปีของรัชสมัยสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในปี 1897 ทำให้ในช่วงเวลานั้นทั้งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษหันไปให้ความสนใจกับการบันทึกภาพพิธีเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังกล่าว โดยขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียนั้นเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วกรุงลอนดอน กล้องภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ตามจุดมุมมองต่าง ๆ ตลอดเส้นทางจึงสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ค้นหาวิธีสื่อสารกับผู้ชม โดยว่าจ้างให้มีผู้บรรยายร่วมกับการฉายภาพยนตร์ข่าว สำหรับตัวอย่างการพัฒนาในแวดวงภาพยนตร์อังกฤษ เช่น การขยายขนาดจอภาพยนตร์ให้ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉายภาพยนตร์ในโรงละคร Palace Theatre กรุงลอนดอน โดยใช้ฟิล์มขนาด 70 มม. เป็นของ American Biograph ซึ่งจอภาพยนตร์มีขนาดใหญ่เท่ากับพื้นที่ส่วนหน้าของเวทีโรงละคร อีกเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ การฉายภาพยนตร์แข่งขันชกมวย (The Corbett-Fitzsimmons Fight) ที่มีความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ Royal Aquarium Theatre
เล่มที่ 3 ค.ศ. 1898
อธิบายว่าทำไมผู้สร้างภาพยนตร์ในปี 1898 อย่างเช่น Robert William Paul, George Albert Smith และ James Williamson เริ่มทดลองใช้ฉากที่สร้างขึ้นเองเพื่อใช้ในการเล่าเรื่อง และพูดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ รวมถึงการที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อเมริกันและฝรั่งเศสด้วย ยกตัวอย่าง Robert William Paul เป็นผู้ริเริ่มสร้างสตูดิโอสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น ๆ ส่วนผู้ผลิตภาพยนตร์จากเมือง Brighton โดยเฉพาะ James Williamson และ George Albert Smith มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ประเภทเรื่องเล่า (ดูรายชื่อที่ภาคผนวก) ส่วน Cecil M. Hepworth จาก Warwick Trading Company เป็นผู้คิดค้นออกแบบอุปกรณ์อันยอดเยี่ยมและโด่งดังที่สุด ซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านั้นนำไปสู่การสร้างภาพยนตร์ที่มีความยาวมากขึ้นส่งผลให้เกิดวิธีการสร้างภาพยนตร์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
เล่มที่ 4 ค.ศ. 1899
พาเราย้อนเวลากลับไปยังสงครามแอฟริกาใต้ (Boer War) ที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์อังกฤษ ซึ่งมาจากความกระหายข่าวสารและภาพข่าวที่สร้างกระแสความรักชาติอย่างแรงกล้า เช่น ช่วงราว ๆ 14 เดือนสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียได้เกิดการเสื่อมสลายลง เพราะผลกระทบร้ายแรงจากสงครามแอฟริกาใต้ (Boer War) ซึ่งตลอดช่วงการครองราชย์อันรุ่งเรืองและยาวนานของพระองค์นั้นปราศจากการนองเลือดในประเด็นความขัดแย้งด้านอาณาจักรและอาณานิคม สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม 1899 ได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ของอังกฤษอย่างมาก การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากที่ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปนั้นกลับกลายเป็นต้องพัฒนาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้คนต้องการประเด็นใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงทุกแง่มุมของความขัดแย้งครั้งนี้ เรื่องราวอันน่าสนใจของสงครามได้ถูกเผยแพร่ไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า และส่งผลให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องส่งตัวเหล่าช่างภาพไปยังพื้นที่สงคราม ส่วนฝ่ายเตรียมผลิตงานภาพยนตร์ก็ถูกสับเปลี่ยนไปทำหน้าที่สร้างเหตุการณ์จำลองการปะทะกันระหว่างชาวอังกฤษและชาวโบเออร์จากแอฟริกาใต้
เล่มที่ 5 ค.ศ. 1900
หนังสือเล่มสุดท้ายในชุดนี้นำเสนอเหตุการณ์ในปี 1900 คาบเกี่ยวมาถึง 22 มกราคม ค.ศ. 1901 (สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียสิ้นพระชนม์) ถ่ายทอดเรื่องราวการศึกษาสภาวะของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อังกฤษในช่วงหนึ่งปีสุดท้ายของรัชสมัยสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เช่น ผู้ผลิตภาพยนตร์บันเทิงคดีที่สำคัญในปีนั้นคือ Robert William Paul กับ Cecil M. Hepworth และเหล่าผู้สร้างภาพยนตร์จาก South-Coast อย่าง George Albert Smith และ James Williamson ส่วนผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีชั้นนำ ได้แก่ Warwick Trading Company ภายใต้การบริหารของ Charles Urban และ The American Mutoscope & Biograph Company ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ทางด้านผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์ที่สำคัญ เช่น J. Wrench & Son, The Prestwich Manufacturing Company, W.C. Hughes
สำหรับท่านใดที่สนใจมาใช้บริการหนังสือภาพยนตร์ชุดนี้ หรือค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ได้รวบรวมไว้ให้บริการที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี สามารถมาใช้บริการได้ที่ชั้น 4 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม