ก่อนจะมาเป็น “กระเบนราหู”

กระเบนราหู (Manta Ray) เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลชนะเลิศสาย Orizzonti จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ ในปี ค.ศ. 2018  หนังเล่าเรื่องของชาวประมงที่ช่วยชีวิตชายแปลกหน้าจากป่าโกงกางในเมืองชายฝั่งทางใต้ของไทย ผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง เคยให้สัมภาษณ์เพื่อเล่าถึงการทำงาน และการเดินทางค้นคว้าก่อนจะทำหนังเรื่องสำคัญนี้ 

----------

 

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี 

*ปรับและแก้ไข จากบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ใน press kit ของภาพยนตร์เมื่อออกฉายครั้งแรกที่เวนิซ

 

กระเบนราหู มีตัวละครสำคัญสองคน คือชาวประมงกับคนแปลกหน้าที่มาเกยฝั่ง ถึงแม้หนังจะไม่ได้บอกตรง ๆ แต่สันนิษฐานได้ว่าเขาเป็นชาวโรฮิงญา ช่วยเล่าเบื้องหลังให้ฟังหน่อย

ตอนผมทำรีเสิร์ชเมื่อหลายปีก่อน ประเด็นโรฮิงญาไม่ได้อยู่ในข่าวเลย และผมก็ไม่รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์นี้ ตอนนั้นผมกำลังทำวิดีโออาร์ตเรื่องอัตลักษณ์และการที่ศิลปินค้นพบอัตลักษณ์ตัวเองในงาน จากตรงนั้นผมจึงครุ่นคิดมากขึ้นกับคำว่า “อัตลักษณ์” “พรมแดน” “ชาติพันธุ์” และ “ความเป็นชาติ” พอช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 โรฮิงญาจึงกลายเป็นประเด็นข่าวสำคัญขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น ความสนใจว่าด้วยอัตลักษณ์ของผมยังคงอยู่ในรูปแบบนามธรรม มากกว่าจะยึดโยงกับชาติพันธุ์ใดเป็นพิเศษ โดยรวมผมสนใจประวัติศาสตร์ และอคติ รวมทั้งการที่เรารู้อะไรน้อยมากเกี่ยวกับคนจากที่อื่น ๆ

 

หมายความว่าจริง ๆ แล้ว คุณไม่ได้ทำรีเสิร์ชเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มโรฮิงญา

ไม่ได้ทำ แต่เมื่อข่าวการหนีตายของชาวโรฮิงญาที่ลงเรือมาเมืองไทย กลายเป็นเรื่องโด่งดังทั่วโลก สิ่งที่ผมช็อกมากที่สุดคือการที่คนที่ผมรู้จักบางคนโกรธมากที่ไทยจะกลายเป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ จริง ๆ แล้วคนไทยก็ดูถูกเพื่อนบ้านของเราเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่มันเป็นเพียงความเย่อหยิ่งที่ไม่มีพิษภัย มาตอนโรฮิงญากลับแตกต่าง เพราะมันเต็มไปด้วยความเกลียดและการเหยียดชาติพันธุ์ ผมไม่เข้าใจจริงๆ




กระเบนราหู เป็นหนังยาวที่มีความเชื่อมโยงกับหนังสั้นของคุณเรื่อง ชิงช้าสวรรค์ จากปี 2558 ซึ่งเป็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติพม่าที่ตะเข็บชายแดน

ใช่ครับ ตอนปี 2553 ผมขับรถตระเวนไปกับครอบครัวทางเหนือ เราไปแม่สอด ตรงชายแดนที่มีทั้งคนไทยและพม่า เราขับรถไปเจอแม่น้ำเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสองประเทศ ผมเห็นเด็กเล่นอยู่ในน้ำ เขาตะโกนเรียกเด็กอีกคนจากอีกฝั่งให้ลงมาเล่นด้วย ผมจึงคิดได้ว่ามันไม่เห็นมีพรมแดนอะไรเลย ไม่มีเส้นแบ่งตรงไหน ภาพนั้นติดตาผมมาก ตอนผมลงเมืองเขียนบทแรก หนังจะมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเรื่องของคนงานพม่าที่เข้ามาในไทย อีกส่วนคือเรื่องของชายลึกลับในเมืองการประมง ส่วนแรกที่ว่ากลายมาเป็นหนังสั้ ชิงช้าสวรรค์ ส่วนที่สองกลายมาเป็น กระเบนราหู 

 

ชายลึกลับใน กระเบนราหู  ไม่พูดอะไรเลยทั้งเรื่อง

เพราะเขาเป็นตัวแทนของคนที่เราไม่เคยได้ยินเสียงของพวกเขา ผมไม่ให้เขาพูดอะไรเลยเพื่อลบตัวตนของเขา เราเดาไม่ได้ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน พูดภาษาอะไร มันยังเป็นเรื่องของความน่าเชื่อด้วย ถ้าผมให้เขาพูด เขาจะพูดภาษาอะไร ผมไม่อยากให้เขาพูดโรฮิงญาเพราะไม่อยากให้หนังจำเพาะเจาะจงไปว่าเป็นเรื่องของคนโรฮิงญา แต่ถ้าจะให้พูดไทย จะเป็นไทยแบบไหนล่ะ  

คุณเป็นที่รู้จักในตำแหน่งผู้กำกับภาพมาก่อน การเป็นตากล้องส่งผลอย่างไรในการกำกับหนังยาวเรื่องแรกนี้


เพราะผมทำงานกับภาพมานาน ผมจึงไม่มั่นใจเวลาต้องเล่าเรื่องด้วยคำพูด ไดอะล็อก ผมมั่นใจเฉพาะเวลาเล่าด้วยภาพ ระเบนราหู จึงเป็นหนังที่ขับเคลื่อนด้วยภาพและเสียง มันเป็นหนังที่ดูนามธรรมมาก หรือจะเปรียบว่าเหมือนเพลงบรรเลง ที่ไม่มีเนื้อร้อง และเพราะส่วนผมเคยถ่ายหนังที่มีงบน้อย ผมเลยชินกับการต้องแก้ปัญหาและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เบื้องหน้า เพราะเราไม่มีเงินพอจะสร้างหรือดีไซน์อะไรมากมาย เราไปถึงโลเคชั่นแล้วก็ดูว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง หนังที่ผมถ่ายมาส่วนใหญ่จึงมีลักษณะคล้ายสารคดี ในบางส่วนของ กระเบนราหู ก็เช่นกัน


 


แต่ กระเบนราหู ก็มีงานภาพที่เป็นเอกลักษณ์มาก คุณทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพอย่างไร

ผู้กำกับภาพของหนังเรื่องนี้คือ นวโรภาส รุ่งพิบูลโสภิษฐ์ เราคุยกันว่าเราจะถ่ายตัวละครด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ เราต้องการให้คนดูเห็นตัวละครจากระยะไกล เรายังอยากให้หนังดูสมจริงแบบดิบ ๆ หน่อย บทหนังเรื่องนี้บางมาก แค่ 30 กว่าหน้า เพราะผมมั่นใจว่าผมและทีมงานจะสามารถเล่าเรื่องเมื่อเราไปถึงโลเคชั่นได้ บทเป็นเพียงไกด์ ที่เราต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ 

 

คนดูและนักวิจารณ์ต่างชาติ มักอ้างอิง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในการเปรียบเทียบหนังไทยหลายเรื่อง กระเบนราหู  แตกต่างจากหนังของอภิชาติพงศ์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนเปรียบเทียบอยู่ดี

ผมยินดีมากที่คนเปรียบเทียบแบบนั้น ผมโตมาในฐานะผู้กำกับภาพที่ชื่นชอบงานของอภิชาติพงศ์ และหนังของเขามีอิทธิพลกับผม กระเบนราหู มีตัวละครที่เป็นทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักเห็นในหนังของอภิชาติพงศ์ แต่ถ้าถามผมว่าผู้กำกับคนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมมากที่สุด คงจะเป็นเดวิด ลินช์ โดยเฉพาะหนังเรื่อง Eraserhead ตอนนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจหนังเรื่องนั้นหรอก แค่รู้ว่านั่นเป็นหนังแบบที่ผมอยากทำ

 


ทำไมหนังถึงชื่อ กระเบนราหู ทั้งที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสัตว์ชนิดนี้เลย

ผมดำน้ำสคิวบา ผมคิดว่ากระเบนราหูเป็นสัตว์ที่สง่างาม และมันสามารถว่ายไปทุกที่ในทุกน่านน้ำ โดยไม่สนใจว่าเป็นเขตแดนของประเทศใด

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

เชิญมาชม กระเบนราหู และหนังสั้ ชิงช้าสวรรค์  ของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่จะฉายควบกันในในโปรแกรม “สั้น ถึง ยาว”  วันเสาร์ที่ 21 และศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)  

สำรองที่นั่งได้ที่

รอบวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น.   www.fapot.or.th/main/cinema/view/740

รอบวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น.    www.fapot.or.th/main/cinema/view/741 




หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด