24 ปีแห่งความหลังของนักดูหนังสั้นมาราธอนที่ชื่อ จิตร โพธิ์แก้ว

คุยกับ จิตร โพธิ์แก้ว นักดูหนังคนสำคัญและมั่นคง ผู้ตามดูหนังสั้นมาตั้งแต่การประกวดภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 1 จนมาถึงงานหนังสั้นมาราธอน ของเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 ความหลังอันพรั่งพรูของเขานั้นเปรียบเสมือนการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การชมภาพยนตร์สั้นในเมืองไทยฉบับย่อไปในตัว

----------



พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู



ปี พ.ศ. 2540  มูลนิธิหนังไทยได้จัดการประกวดภาพยนตร์สั้นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดฉายภาพยนตร์สั้นทั้งหมด 30 เรื่องที่ส่งเข้าร่วมประกวด  ไม่นานต่อมา การประกวดเล็ก ๆ นี้ได้เติบใหญ่กลายเป็นเทศกาล ซึ่งไม่สามารถฉายผลงานทุกเรื่องที่ค่อย ๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นได้  กิจกรรมที่ชื่อว่า “หนังสั้นมาราธอน”  จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นเสมือนรอบคัดเลือกที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วไปได้ร่วมกันชมหนังสั้นทุกเรื่องที่ส่งเข้าประกวด  ก่อนที่จะเหลือเพียงไม่กี่เรื่องซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายและได้ฉายในช่วงเทศกาล 


“หนังสั้นมาราธอน” จึงเป็นทั้งขุมทรัพย์และความเสี่ยงของผู้ชม เพราะไม่มีใครสามารถการันตีให้ได้ว่า หนังที่เลือกมาดูในวันนั้น ๆ จะเป็นหนังแนวไหนหรือมีรสชาติถูกจริตคุณอย่างไรบ้าง ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ชมมากหน้าหลายตาได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามารับความท้าทายนี้ แต่มีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ยืนระยะมาได้ตั้งแต่การประกวดภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 1 จนมาถึงงานหนังสั้นมาราธอนของเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 ในปีนี้ แม้สถานที่และบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม 



นักดูหนังคนสำคัญและมั่นคงนี้คือ “จิตร โพธิ์แก้ว” ผู้ที่นอกจากจะมาดูอย่างสม่ำเสมอ ยังมีความทรงจำเป็นเลิศ จนสามารถเอ่ยถึงหนังสั้นที่เขาได้ดูหรือชื่อผู้กำกับที่ผ่านมาแล้วหลายปีได้อย่างแม่นยำ เราจึงเชิญเขามารำลึกความหลังของการดูหนังสั้นตลอดระยะเวลา 24 ปี ซึ่งเป็นเสมือนประวัติศาสตร์การชมภาพยนตร์สั้นในเมืองไทยฉบับย่อให้เราได้ฟัง 


บทสัมภาษณ์นี้กินเวลาเพียงไม่ถึง 30 นาที ไม่ใช่ว่าเราต้องการทำตามคอนเซ็ปต์เงื่อนไขความยาวของหนังสั้นที่เข้าร่วมประกวด หรือเนื้อหาที่คุยมีจำกัด หากแต่ตารางเวลาในกิจวัตรการมาดูหนังสั้นมาราธอนของคุณจิตรนั้น ต้องออกจากที่ทำงานในตัวเมืองตั้งแต่ราวบ่ายโมงครึ่ง และนั่งรถสามต่อเพื่อมาถึงหอภาพยนตร์ที่ศาลายาประมาณบ่ายสาม ให้ทันดูหนังสั้นมาราธอนรอบ 15.30 น. เราจึงขอแทรกเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนรอบฉาย เพื่อไม่ให้บทสัมภาษณ์นี้ต้องไปเบียดเบียนเวลาการดูหนังอันมีค่า ที่เขาต้องทั้งลางานและทุ่มเทเดินทางมาดู

.......................................


อยากให้เล่าประสบการณ์ครั้งแรกที่มาดูงานหนังสั้นมาราธอน 

ไปดูเทศกาลหนังสั้นตั้งแต่ปีแรกที่จัดตอนปี 1997 ปีแรกกับปีที่สอง จะฉายหนังทุกเรื่องไม่มีการแยกรอบระหว่างรอบมาราธอนกับรอบคัดเลือก ตอนนั้นก็คือแค่ชอบดูหนังโดยทั่ว ๆ ไปครับ ไม่ได้เจาะจงว่าอยากดูหนังสั้นหรือหนังไทยมากเป็นพิเศษ รู้สึกว่าดูได้หมด ทั้งหนังสั้น หนังยาว หนังไทย หนังต่างประเทศ พอมีเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยในปี 1997 ก็เลยไปดูครับ 


ก็ประทับใจดี รู้สึกว่าหนังสั้นไทยโดยทั่วไปมันน่าสนใจกว่าหนังยาว เพราะหนังยาวของไทยที่เข้าโรงในช่วงนั้นมันก็จะมีแต่หนังเมนสตรีมเป็นหลัก ซึ่งมันก็จะแคบ ไม่หลากหลายเหมือนหนังต่างประเทศ ที่จะมีหนังอาร์ต หนังแปลก ๆ เยอะ แต่พอเรามาดูหนังสั้นไทยปีนั้น นอกจากหนังฟิคชั่นแล้ว ก็จะมีหนังสารคดี หนังสะท้อนสังคม มีแอนิเมชั่นของคุณอธิปัตย์ กมลเพ็ชร เรื่อง ไอ้จุก หรือว่ามีหนังแปลก ๆ จำได้ว่ามีเรื่องหนึ่ง ที่เอาลูกโป่งหลาย ๆ อัน ปล่อยให้โตขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นดูแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ก็เลยประทับใจว่าหนังสั้นไทยมันดูมีความน่าสนใจกว่าหนังยาวของไทยที่เข้าโรงช่วงนั้นเยอะ ก็เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ติดตามมาดูเทศกาลหนังสั้นไทยมาเรื่อย ๆ ครับ



ภาพ : บรรยากาศการประกวดภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 1 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ 


ตอนนั้นเคยดูหนังสั้นไทยจากงานอื่นมาก่อนไหม

หนังสั้นไทยที่เคยดูครั้งแรกน่าจะเป็นเทศกาลหนังนักศึกษา จำไม่ได้ว่าจัดที่ About Cafe ปี 1996 หรือเปล่า ก็จะมีหนังที่ทับซ้อนกับเทศกาลหนังสั้นไทยเหมือนกันครับ 


อยากให้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหนังสั้นไทยในยุคแรกกับตอนนี้ 

ยุคนั้นมันก็ไม่ได้หลากหลายมากเท่านี้ครับ อย่างหนังสารคดี ถ้าเทียบยุคปัจจุบันกับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หนังสารคดีก็มีเพิ่มขึ้นเยอะ หนังสารคดียุคแรกจะเล่าเรื่องที่มีสาระมาก เหมือนทำขึ้นเพื่อฉายทางทีวีหรือรายการที่ให้สาระความรู้โดยเฉพาะ เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนมาก ๆ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือหนังสารคดีมีความหลากหลายมากขึ้น มีการเล่าเรื่องส่วนตัวมากขึ้น แล้วก็มีการผสมสารคดีกับฟิคชันมากขึ้นครับ 


ส่วนหนังทดลอง ในช่วง 2-3 ปีแรก อาจจะมีไม่มากเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้น ถ้าเข้าช่วงทศวรรษ 2000 มันก็เพิ่มขึ้นเยอะครับ  มีแค่หนังแอนิเมชันที่ดูเหมือนไม่เพิ่มขึ้นเลย


ภาพ :  จิตร โพธิ์แก้ว (ขวาสุด) ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 4 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์


แล้วหนังฟิคชัน หรือ หนังเล่าเรื่อง ทั้งของบุคคลทั่วไป และของนักศึกษา มีพัฒนาการหรือความแตกต่างอย่างไรบ้าง

อันนี้ตอบยากมาก เพราะมาดูทุกปี มันเลยไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่ก็รู้สึกว่าตั้งแต่ปีแรก มาจนถึงปัจจุบันก็มีหนังของนักศึกษาดี ๆ เยอะครับ ถ้าด้านคุณภาพอาจจะบอกไม่ค่อยได้ เพราะรู้สึกว่ามันดีมาโดยตลอด แต่ถ้าด้านเทคนิคการถ่ายทำมันก็ดีขึ้นเยอะ เพราะว่าเทคโนโลยีมันพัฒนาขึ้น ทำให้ถ่ายภาพสวย ๆ ได้ง่ายขึ้น ถ่ายภาพชัดขึ้น บันทึกเสียงได้ดีขึ้น ในขณะที่หนังในยุคแรก ไม่ว่าจะนักศึกษาหรือคนทั่วไปทำ มันจะมีปัญหาเรื่องการถ่ายทำเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเสียงอะไรอย่างนั้นครับ แต่ปัจจุบันก็ถ่ายได้สวยหมด ถ่ายได้ชัดหมด 


แต่ถ้าด้านเนื้อหา อาจจะรู้สึกว่า หนังสั้นแบบฟิคชันของไทยปัจจุบันเหมือนจะเกร็งน้อยลงมั้ง ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ คือในยุค 20 ปีก่อน นักศึกษาไทยหรือคนไทยอาจจะได้ดูหนังต่างประเทศในวงแคบมาก เวลาทำหนังฟิคชัน หนังเล่าเรื่อง มันก็จะออกมาดูเหมือนหนังฮอลลีวูดทั่ว ๆ ไปน่ะครับ  ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพอการเข้าถึงหนังมันง่ายขึ้น เลยทำให้คนไทย นักศึกษาไทย เห็นว่าหนังทั่วโลกมันจะเล่าเรื่องยังไงก็ได้ จะเล่าเรื่องใกล้ตัวไกลตัว เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือยิ่งใหญ่อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเล่าให้เหมือนหนังฮอลลีวูดหรือเปล่า แต่ก็ทำให้ดูหนังสั้นไทยในยุคปัจจุบัน แล้วรู้สึกพึงพอใจมาก เหมือนมันเล่าเรื่องออกมาจากข้างในของคนทำได้มากกว่าในยุคก่อนครับ



แล้วเรื่องของบรรยากาศการชม ในฐานะคนดู มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

คนดูก็ยังน้อยเหมือนเดิม ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ว่าอาจจะขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วย เพราะตอนจัดที่หอศิลป์ กทม. คนดูจะเยอะสุด เพราะว่านักศึกษาก็แห่กันมาดูงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่พอมาจัดที่นี่ ก็ทำให้คนดูหรือนักศึกษา มาดูกันยากขึ้น คนดูเลยกลายเป็นคุณลุง คุณป้าแถว ๆ นี้แทน ที่เข้ามาดูกัน  


บรรยากาศตอนหอศิลป์ กทม. พอคนดูมันเยอะ เพื่อนผมก็มาดูสะดวกก็จะทำให้เฮฮากันมาก ตอนดูยุคนั้น ถ้ามีหนังอะไรตลก ๆ ก็จะหัวเราะกันหนักสุด เพราะเหมือนว่าเซนส์ความตลกมันตรงกันมั้งครับ  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังตลกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ (หัวเราะ) 


ภาพ : บรรยากาศการฉายหนังสั้นมาราธอน ที่ห้องภาพยนตร์สถาน ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


เพื่อน ๆ ที่ว่านั้น รู้จักกันจากการมาดูหนังสั้นหรือเปล่า

น่าจะรู้จักกันจากการพูดถึงหนังสั้นตามเว็บบอร์ดไบโอสโคป ในยุคทศวรรษ 2000 น่ะครับ คืออาจไม่ได้รู้จากการมาดูหนัง แต่จากการที่แต่ละคนมาดูหนังสั้นแล้วเอาไปเขียนลงเว็บบอร์ด ได้พูดคุยผ่านทางเว็บบอร์ด แล้วก็มาเจอหน้ากันตอนมาดูหนังสั้นนี่แหละครับ


ตอนนั้น กลุ่มก้อนที่มาดูกันเยอะมาก คือกลุ่มของคุณยอดเซียนซักแห้ง ที่เป็นคนริเริ่มทำวีดิโอคอมเมนต์น่ะครับ คิดว่าเขาเริ่มจากการส่งหนังมาที่เทศกาลหนังสั้นตั้งแต่ปี 2005 มั้ง เทศกาลหนังสั้นก็เหมือนเคยจัดงานเรโทรสเปคทิฟ ให้เขาตอนปี 2007 


แล้วก็มีคุณคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง หรือคุณเมอฤดี ก็จะตามมาดูหนังสั้นเป็นประจำด้วย เหมือนตัวหัวเราะหนัก ๆ ก็จะเป็น คุณเมอฤดี กับ อาจารย์ดอง นี่แหละครับ แต่อาจารย์ดองน่าจะมาตอนช่วงทศวรรษ 2010 แล้ว คุณฟิล์มซิกก็มาดูบ้างครับ ส่วน ตี้ ชญานิน เริ่มมาดูช่วงปลายทศวรรษ 2000 อุ้ย รัชฏ์ภูมิ ก็เหมือนกัน ก็เป็นกลุ่มนี้ที่มาดูเป็นประจำกับพวกผมครับ หรือตอนนั้นที่จัดที่หอศิลป์ กทม. ก็อาจจะมีลูกศิษย์ของอาจารย์ดองมาดูบ้าง แล้วก็มีนนทัชเพื่อนของอุ้ยที่มาดูเป็นประจำ 


แสดงว่าเว็บบอร์ดไบโอสโคป เป็นพื้นที่ออนไลน์แรก ๆ ที่ทำให้หนังสั้นได้รับการพูดถึง

จริง ๆ เป็นหนึ่งในเว็บบอร์ดแรก ๆ แต่ว่าก่อนหน้าไบโอสโคป จำไม่ได้ว่าเป็นเว็บบอร์ดของคุณมนัสนันท์ พงษ์สุวรรณ หรือเปล่า ชื่อบางกอกหรืออะไรสักอย่าง เหมือนเขาเคยเปิดเว็บบอร์ดตอนปี 2000 จำได้ว่ายุคนั้นจะมีอย่าง เต๋อ นวพล ไปดูงานหนังสั้น แล้วมาคอมเมนต์ในเว็บบอร์ดนี้ว่า มีคุณลุงอะไรไม่รู้มายืนพูดอยู่หลังโรง แล้วทุกคนก็เข้าไปบอกว่า นั่นคือคุณโดม สุขวงศ์ (หัวเราะ) ตอนนั้นน่าจะปี 2000 ที่เริ่มมีการพูดถึงหนังสั้นกันน่ะครับ 


หลังจากนั้นเว็บบอร์ดไบโอสโคปจะมาตอนปี 2003 เป็นเว็บบอร์ดที่ทำให้ผมรู้จักและสนิทกับทั้งคุณเมอฤดี แล้วก็ ตี้ ชญานิน แล้วก็ฟิล์มซิก ที่ตอนแรกรู้จักกันผ่านเว็บบอร์ดอื่น แต่ตอนหลังเขาก็มาสิงสถิตอยู่ไบโอสโคปเป็นประจำครับ



ภาพ : การฉายหนังสั้นในปี ค.ศ. 2000 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์  โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งเทศกาล ยืนอยู่หลังโรง


แล้วเว็บบอร์ดอย่างพันทิป ได้คุยเรื่องหนังสั้นกันในนั้นบ้างไหม 

ผมไม่ได้ไปคุยเรื่องหนังสั้นในเว็บพันทิปครับ จะไปคุยเรื่องหนังต่างประเทศมากกว่า จนกระทั่งพอเว็บบอร์ดไบโอสโคปเปิดตอนปี 2003-2004 ผมก็เลยเลิกเล่นพันทิปแล้วมาอยู่ในไบโอสโคปครับ และพอมีเฟชบุคก็เลยเลิกเล่นเว็บบอร์ดไบโอสโคปกันไปครับ


ขอย้อนกลับไปที่เรื่องวิดีโอคอมเมนต์ หรือการถ่ายวิดีโอสัมภาษณ์ความรู้สึกหลังชมในงานหนังสั้นมาราธอน ที่คุณจิตรเกริ่นว่าเริ่มโดยกลุ่มคุณยอดเซียนซักแห้ง มีที่มาที่ไปอย่างไร

วิดีโอคอมเมนต์จะเริ่มปี 2009 ครับ คือกลุ่มคุณยอดเซียนซักแห้ง แก๊งนั้นเขาส่งหนังสั้นเข้าเทศกาลตั้งแต่ปี 2005 ครับ แต่ตอนนั้นยูทูบยังไม่มีมั้ง ก็เลยไม่ได้คิดที่จะทำวิดีโอคอมเมนต์กัน พอปี 2009 พวกเขาก็เริ่มคิดทำวิดีโอคอมเมนต์ขึ้นมา ตอนนั้นน่าจะเป็นเพราะฉายที่หอศิลป์ กทม. ด้วยมั้ง ทำให้คนมาดูเยอะ แล้วก็มีพื้นที่ที่ถ่ายได้ตรงระเบียง


มีหลักเกณฑ์ในการสัมภาษณ์อย่างไรครับ

ถ้าคุณยอดเซียนซักแห้ง จะเน้นสัมภาษณ์คนดูนอกกลุ่มเป็นหลัก เพราะคนในกลุ่มมันจะซ้ำซาก ส่วนมากก็จะระบายความเห็นผ่านทางเว็บบอร์ดอยู่แล้ว แต่คนนอกกลุ่มนี่แหละ ที่เราไม่รู้ความเห็นของเขา เราไม่รู้จักเขา ไม่รู้ว่าเขาไปเขียนคอมเมนต์อะไรที่ไหน หรือแม้แต่ตอนหลังที่อาจารย์ดองมารับทำต่อ จะเน้นไปสัมภาษณ์คนที่เราไม่รู้จักเป็นหลักครับ ว่าเขาดูแล้วมีความเห็นและรู้สึกยังไงต่อหนังที่ได้ดูบ้างครับ ส่วนคนที่รู้จักก็ค่อยสัมภาษณ์ท้าย ๆ อะไรอย่างนั้นครับ


กลุ่มคุณยอดเซียนทำถึงปี 2015 มั้งครับ พอปี 2016 เขาไม่ได้มาดูหนังสั้นมาราธอนกันแล้ว เพราะคงติดภารกิจการทำงานกัน ก็มีอาจารย์ดองที่อยากทำต่อ เขาก็เลยพยายามสัมภาษณ์ให้ได้ทุกวันเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวยอย่างผมไม่คิดอยากทำอะไร แต่ถ้ามีคนมาสัมภาษณ์ก็ให้สัมภาษณ์เขาครับ


ภาพ : อาจารย์ดอง - ศาสวัต บุญศรี กับ จิตร โพธิแก้ว กำลังทำวิดีโอคอมเมนต์หลังชมหนังสั้นมาราธอน


ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็เริ่มห่างหายจากการมาดูงานหนังสั้นมาราธอน ด้วยเพราะเวลาและสถานที่ที่แตกต่างออกไป แต่ทำไมคุณจิตรถึงยังคงยืนหยัดมาดูตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 24 

เพราะว่าถูกโฉลกกับหนังในเทศกาลนี้ครับ ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ หนังในเทศกาลนี้เหมือนดื่มน้ำจากลำธาร ดื่มน้ำผลไม้ที่คั้นสด ๆ แต่ว่าหนังไทยที่เข้าโรงส่วนใหญ่ มันเหมือนเป็นน้ำอัดลม หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมมาเยอะแล้ว หนังที่เข้าโรงไม่ว่าจะเป็นหนังเมนสตรีม หรือหนังอาร์ต เหมือนกับต้องผ่านการกลั่นกรองเพื่อตอบรับตลาดเฉพาะของมันเอง หนังเมนสตรีมก็ต้องทำทุกอย่างให้เข้าถึงผู้ชมในวงกว้างให้มากที่สุด หนังอาร์ตก็ต้องทำทุกอย่างให้ถูกใจกรรมการคัดเลือกหนังในเทศกาลต่างประเทศให้มากที่สุด แต่ว่าหนังในเทศกาลหนังสั้นเรารู้สึกว่ามันมีพลังของความสด ความธรรมชาติสูงมาก เรารู้สึกมีความสุขกับการดูมัน เพราะว่าหนังหลาย ๆ เรื่อง ที่เหมือนมันทำเพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในใจผู้กำกับออกมา มันก็เลยสดมาก ๆ หรือทำเพื่อตอบสนองรสนิยมตัวเอง หรือ เพื่อน ๆ ตัวเองเท่านั้น พวกหนังคัลท์อะไรอย่างนี้  


เราเลยรู้สึกว่าเราดูหนังในเทศกาลนี้แล้วเราแฮปปี้มาก แล้วหนังหลายเรื่องเราไม่สามารถหาดูจากที่อื่นได้ เพราะเราไม่รู้จักตัวผู้กำกับเหล่านั้นมาก่อน คือหนังเหล่านี้มันอาจจะมีในยูทูบก็จริง แต่เราจะไปดูตรงไหนในยูทูบล่ะ คงไม่มีใครเป็นคิวเรตหนังเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เรื่องในยูทูบ เพื่อมาบอกเราได้ว่าเราควรดูเรื่องไหนบ้าง เราต้องมาดูในงานนี้เองแล้วเราก็จะเจอหนังที่ถูกโฉลก ถ้าเราไม่มาดูเองก็จะไม่ได้เจอหนังเหล่านี้ครับ 


จริง ๆ แล้ว ผมไม่ได้มาดูมาราธอนอยู่ 3 ปี คือปี 1999 ปี 2002 ปี 2004 ผมจะดูแค่รอบสองที่คัดเลือกมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้ดูรอบมาราธอน ช่วงนั้นอาจจะขี้เกียจดู แต่พอปี 2005 ผมไปดูรอบมาราธอนแล้วเจอหนังของคุณทศพล บุญสินสุข ตอนนั้นส่งมา 20 กว่าเรื่อง ดูแล้วก็ตกตะลึงมาก ดูแล้วมันมีความสุขมาก เขาทำหนังเป็นหนังทดลองเหงา ๆ เกือบหมดเลย แล้วเรารู้สึกว่า ทำไมเราไม่มาดูมาราธอนปีก่อนหน้านี้อย่างจริงจัง เพราะหนังคุณทศพล 20 เรื่อง อาจจะผ่านเข้ารอบแค่เรื่องเดียว เราเลยรู้สึกว่าถ้าเรามาดูแต่หนังที่ผ่านเข้ารอบ 2 แล้ว เราก็จะไม่ได้ดูหนังคุณทศพล 20 กว่าเรื่องนี้สิ ทั้ง ๆ ที่เป็นหนังที่เราดูแล้วมีความสุขสุด ๆ เลยนะ มันอาจจะเป็นหนังทดลองที่อาจจะไม่ได้ผ่านเกณฑ์กรรมการคัดเลือกหนังหรืออะไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แล้วก็เป็นหนังที่เพื่อนเราก็ไม่รู้จัก คนทั่วไปก็ไม่ได้พูดถึง ซึ่งถ้าเราไม่ได้มาดูในรอบมาราธอน เราก็คงจะพลาดสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เราเลยรู้สึกเสียใจมากที่ไม่ได้มาดูหนังมาราธอนในปี 2002 กับ 2004 ส่วนปี 2003 เราก็มาดูมาราธอนแค่ไม่กี่รอบ พอปี 2005 เราเจอปรากฎการณ์ของคุณทศพล บุญสินสุข ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรพลาดมาดูหนังมาราธอนอีกต่อไป เพราะจะทำให้เราพลาดกับสิ่งที่เหมาะกับเราจริง ๆ ไปครับ


ภาพ : จิตร โพธิ์แก้ว ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 19



เนื่องจากทำงานประจำด้วย อยากทราบว่าทุกวันนี้จัดวางตารางชีวิตอย่างไร ในการเดินทางมาดูหนังสั้นมาราธอนที่หอภาพยนตร์ ที่ทั้งไกลและโปรแกรมส่วนใหญ่ก็จัดในวันธรรมดา 

ที่ทำงานเขาให้ลาพักร้อนได้ปีละ 25 วัน ผมเป็นคนที่ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดอยู่แล้วเพราะไม่มีเพื่อนไปด้วย (หัวเราะ) เราจึงใช้ 25 วันนี้ลามาดูหนังแทน  โดยที่ผมจะลาเป็นชั่วโมงก็ได้ คือลาวันละ 1 หรือ 2 ชั่วโมง ถ้าลาครบ 8 ชั่วโมง ก็ถือเป็นวันลา 1 วัน เพราะฉะนั้นในปี 2018-2019 ที่ย้ายมาจัดที่นี่ ผมก็จะใช้เวลาลางานวันละ 1-2 ชั่วโมง เพื่อมาดูที่นี่ครับ ก็เท่ากับว่าเสียวันลาไปแค่ 3-4 วันเท่านั้นในการตามดู  อย่างปีนี้ก็ลา 2 ชั่วโมงมาดูในแต่ละวัน แต่ก็ลาได้ไม่เยอะเพราะว่าเป็นต้อกระจก ก็เลยต้องเก็บวันลาไว้ใช้ตอนหลังผ่าตัดต้อกระจก 14 วันครับ ก็เลยทำให้เหลือวันลาที่จะใช้มาดูหนังมาราธอนในปีนี้น้อยมาก เสียดายมาก ปีนี้คงมาดูได้แค่ 6 ครั้งมั้งครับ


---------------------------------------------------------------------------------

ติตตามดูความเห็นคุณจิตร โพธิ์แก้ว ที่มีต่อหนังสั้นที่เขาได้ดูในงานหนังสั้นมาราธอนปีนี้ และปีที่ผ่านมา จากรายการวิดีโอคอมเมนต์ ที่ปัจจุบันจัดทำโดย อาจารย์ศาสวัต บุญศรี (อาจารย์ดอง) ได้ที่ 

www.youtube.com/channel/UCIGJpQdAZQcB5M4ZN9aW9nQ/featured

เช็ครอบฉายและสำรองที่นั่งชมงานหนังสั้นมาราธอนได้ที่  
www.fapot.or.th/main/cinema/program/38

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด