ความท้าทายของงานจดหมายเหตุในโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันวันมรดกโสตทัศน์โลก (World Day for Audiovisual Heritage) ) และภาคีหน่วยงานด้านจดหมายเหตุในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง ความท้าทายของงานจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ในโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ภายใต้คำขวัญวันมรดกโสตทัศน์โลกปีนี้ว่า Your Window to the World หรือหน้าต่างสู่โลกกว้างของคุณ และนี่คือสรุปรายงานการพูดคุยในวันดังกล่าว


โดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 61 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 



วันที่ 27 ตุลาคมของทุกปี ทางคณะมนตรีประสานงานสมาคมจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ (Co-ordinating Council of Audiovisual Archive Associations หรือ CCAAA) ซึ่งถือเป็นร่มใหญ่ขององค์กรด้านงานจดหมายเหตุทั่วโลก กำหนดให้เป็น วันมรดกโสตทัศน์โลก (World Day for Audiovisual Heritage) เพื่อกระตุ้นให้สังคมแต่ละประเทศเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกโสตทัศน์ ทั้งสื่อบันทึกเสียง ภาพ ภาพเคลื่อนไหว ไปจนถึงเอกสารต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมนุษยชาติ ซึ่งหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหอจดหมายเหตุ (Archive) ทั่วโลก จะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวันดังกล่าวนี้ โดยปีนี้ ทางคณะมนตรีฯ ได้กำหนดคำขวัญวันมรดกโสตทัศน์โลกปีนี้ว่า Your Window to the World หรือหน้าต่างสู่โลกกว้างของคุณ 


ในปีนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และภาคีหน่วยงานด้านจดหมายเหตุในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง ความท้าทายของงานจดหมายเหตุสื่อโสตทัศน์ในโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ขึ้นในวันดังกล่าว ณ โรงภาพยนตร์ช้างแดง อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ฯโดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เมธาวี โหละสุต จากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คุณสิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านงานจดหมายเหตุดิจิทัล จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และคุณธนชัย วรอาจ หัวหน้าฝ่ายผลิตเนื้อหาของ echo สื่อมวลชนอิสระที่ออกอากาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นกระแสร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และความคิดเห็น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อโสตทัศน์ในยุคดิจิทัล ซึ่งกำลังสร้างนิยามใหม่ของคำว่า มรดกโสตทัศน์ ที่เปลี่ยนจากสื่อในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นสื่อในยุคสังคมออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถสร้างและบันทึกภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวจากอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือ และสามารถส่งต่อสู่ผู้คนทั่วโลกในเวลาเพียงชั่ววินาทีได้ทุกที่ทุกเวลา


การนี้ จึงขอสกัดเนื้อหาที่มีการพูดคุยกันในวันนั้น มาเรียบเรียงเป็นประเด็น เพื่อจะได้เข้าใจถึงความท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์สื่อมรดกโสตทัศน์กับคำถามที่ว่า เราจะจัดการและเก็บรักษาสื่อโสตทัศน์ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากยุคแอนะล็อก (Analog) ที่เราคุ้นเคยกันมาหลายร้อยปีได้อย่างไร  




เทคโนลียีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงงานจดหมายเหตุดั้งเดิม

ผศ.เมธาวีแสดงความเห็นว่า ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นมากมาย และข้อมูลไม่ได้อยู่ในรูปแบบของวัตถุที่จับต้องได้ แต่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่โดยวิธีการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าสตรีมมิง (streaming) จนก่อให้เกิดปัญหาว่า ใครจะเป็นคนตัดสินว่าจะเก็บอะไร หรือไม่เก็บอะไร แล้วเราจะมีกระบวนการจัดการกับข้อมูลที่มหาศาลเหล่านี้ได้อย่างไร 


ส่วนคุณสิทธิศักดิ์ได้เสริมให้เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากข้อมูลข่าวสารแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรชีวิตของข้อมูล ในขณะที่ในอดีต ข้อมูลแบบดั้งเดิมจะถูกใช้จนหมดสิ้นประโยชน์แล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกจัดเก็บอนุรักษ์ตามหลักจดหมายเหตุเพื่อการสืบค้นในภายหลัง แต่ปัจจุบันตัวข้อมูลดิจิทัลจะมีการถูกใช้ซ้ำเปลี่ยนแปลงดัดแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเรายังยึดหลักการจัดเก็บอนุรักษ์ตามหลักจดหมายเหตุแบบดั้งเดิม ก็จะตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ทัน ทั้งนี้ คุณสิทธิศักดิ์ให้หลักการพื้นฐานสำคัญของงานจดหมายเหตุไว้ 3 ข้อ คือ เราจะเก็บข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้อย่างไรให้อยู่ได้อย่างยาวนานมากที่สุด และเก็บข้อมูลดิจิทัลอย่างไรให้ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือที่เรียกว่า Metadata ประกอบ และ ต้องทำให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะต้องสามารถเข้าถึงได้ในอนาคต 


คุณธนชัยได้เล่าถึงปัญหาของผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล ซึ่งข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นไฟล์ดิจิทัล และมีการผลิตขึ้นทุกวัน ซึ่งปัจจุบันจะจัดเก็บไฟล์ไว้ในเซิร์ฟเวอร์ (server) ส่วนกลาง ทั้งที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ในลักษณะเครื่องที่จับต้องได้ และลักษณะออนไลน์หรือที่เรียกว่า คลาวด์ (cloud) ในระบบ รวมทั้งเก็บในสื่อบันทึกข้อมูล (hard disk) ของผู้ผลิตเนื้อหา ซึ่งเมื่อข้อมูลมากขึ้น ก็จำต้องใช้เงินลงทุนสูงขึ้นตาม และด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร ทำให้เกิดปัญหาที่ว่า เราจะต้องจัดเก็บอะไร เลือกเก็บอย่างไร และมีวิธีการบันทึกข้อมูลของแต่ละไฟล์ที่จัดเก็บอย่างไรเพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ในอนาคต 


การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลในปัจจุบัน


คุณสิทธิศักดิ์ยกตัวอย่างงานของศูนย์มานุษย์วิทยาสิรินธรฯ ซึ่งถึงแม้จะเป็นหน่วยงานวิชาการ แต่ก็มีหน้าที่ในการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อมาจัดทำฐานข้อมูล เพื่อให้บริการสาธารณะต่อไป ซึ่งการลงพื้นที่ของนักวิจัยแต่ละคน ก็จะได้ข้อมูลมากมายหลากหลายประเภท จุดเริ่มต้นของกระบวนการจัดเก็บ จะเริ่มจากการทำวงจรข้อมูล คือ หน่วยงานจะมีการทำข้อตกลงกับนักวิจัยในโครงการร่วมกันว่าโครงการนั้นจะเก็บข้อมูลอะไร ไม่เก็บข้อมูลอะไร ข้อมูลประเภทไหนที่จะมีโอกาสถูกนำไปใช้ต่อ หลังจากที่ได้ข้อมูลกลับมาจากภาคสนามแล้ว ก็จะมีการประเมินคัดเลือก ว่าข้อมูลชนิดไหนที่จะสามารถนำมาตอบโจทย์ของโครงการได้ และข้อมูลไหนที่จะมีโอกาสถูกนำใช้ในอนาคต แล้วถึงจะไปสู่การให้รายละเอียดของข้อมูลนั้น ๆ เพื่อเป็นตัวสืบค้นต่อในอนาคต ก่อนที่จะจัดเก็บลงในเซิร์ฟเวอร์ต่อไป และใส่ในช่องทางการให้บริการ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากธรรมชาติของข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ จะสามารถถูกนำมาใช้ดัดแปลงแก้ไขได้โดยตลอด หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บจึงต้องเตรียมตัวสำหรับการเรียกใช้ได้โดยเสมอ 


ภาพ : คุณสิทธิศักดิ์ รุ่งเจริญสุขศรี นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านงานจดหมายเหตุดิจิทัล จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)



เมื่อถูกถามถึง การจัดเก็บข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์เลย โดยไม่มีต้นฉบับแล้ว ยกตัวอย่าง การถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่เรียกกันว่า การไลฟ์ (live) หรือกระทู้ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต ควรจะเป็นอย่างไร 


คุณสิทธิศักดิ์ให้หลักคิดว่า การจะจัดเก็บข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งมีจำนวนมหาศาลนั้น เราจะต้องย้อนถามตัวเองก่อนว่า เราจะจัดเก็บเพื่ออะไร ข้อมูลอะไรที่มีประโยชน์กับหน่วยงานของเราหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้ จะมีเครื่องมือ Web Archiving ที่สามารถใช้เก็บข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลเชื่อมโยงจากเว็บไซต์นั้น ซึ่งเราสามารถเข้าไปใช้งานได้ในภายหลัง โดยมีตัวอย่างที่จัดทำขึ้นแล้วอย่างเช่นเว็บไซต์ web.archive.org ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ Internet Archive* ที่มีการจัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์จากทั่วทุกมุมโลก หรือ UK Web Archive (webarchive.org.uk) ซึ่งมีการเก็บเว็บไซต์รวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ของสหราชอาณาจักร ตามประเด็นที่เป็นกระแสนิยม หรือหัวข้อที่สำคัญอย่างเช่น โลกร้อน ความหลากหลายทางเพศ การออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งของการเก็บอนุรักษ์ข้อมูลเว็บไซต์ คือ ลิขสิทธิ์ของเนื้อหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ ซึ่งทาง UK Web Archive ทำข้อตกลงกับเจ้าของเว็บไซต์ที่ถูกจัดเก็บ คุณสุทธิศักดิ์ยังได้พูดถึงประเด็นการใช้ประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้น เช่น #collectingsocialphoto โครงการวิจัยของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (http://collectingsocialphoto.nordiskamuseet.se) ซึ่งจะมีการตามเก็บข้อมูลของรูปภาพจากกลุ่มตัวอย่าง เพื่อดูวัตถุประสงค์การเผยแพร่และการแสดงความคิดที่เกี่ยวเนื่องจากภาพนั้น ๆ เพื่อจะศึกษารูปแบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนในปัจจุบัน หรือโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวของเมืองหนึ่ง โดยการใช้ hashtag (#) เพื่อติดตามการแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในเมืองนั้น ๆ รวมไปถึงการลงรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพื่อจะดูว่า พื้นที่ส่วนไหนในเมืองเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว


ผศ.เมธาวีได้ร่วมอธิบายถึงจดหมายเหตุเกม (Game Archive) ซึ่งต้องเผชิญปัญหาที่ไม่ต่างจากงานจดหมายเหตุทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการบำรุงรักษาให้ตัวเครื่องเกมและตลับเกมสมัยก่อนยังสามารถเปิดใช้งานได้ หรือในปัจจุบัน เกมจะเป็นไฟล์ดิจิทัลทั้งหมดแล้ว ผู้ซื้อเกมจะไม่มีวัตถุที่จับต้องได้แบบสมัยก่อน ซึ่งตัวข้อมูลเกมเหล่านี้จะถูกจัดเก็บอยู่ที่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเจ้าของเกม หากมีการปิดเซิร์ฟเวอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา ผู้เล่นก็ไม่สามารถเข้าถึงเกมพวกนั้นได้อีก ซึ่งชุมชนคนเล่นเกมจำนวนหนึ่งก็อาจจะทำสำเนาไฟล์เกมนั้นขึ้นมาใหม่เพื่อจัดเก็บอนุรักษ์ต่อไป ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ในส่วนของเกมที่ถูกจัดให้เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sport) ปัจจุบัน เทปบันทึกการแข่งขันต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บในรูปแบบเดียวกับเทปการแข่งขันกีฬาทั่วไปเช่นกัน เพียงแต่ว่า การพยายามเก็บอนุรักษ์เครื่องเล่นเกม ตลับเกม ข้อมูลเกมที่เป็นไฟล์ดิจิทัล และเทปบันทึกการแข่งขันเหล่านี้ ก็อาจจะไม่สามารถเก็บรักษาประสบการณ์การเล่นเกมซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการเล่นเกม งานจดหมายเหตุเกมจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับชุมชนคนเล่นเกมในทุกวันนี้


คุณธนชัยให้ข้อสังเกตเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ว่า ในยุคปัจจุบัน ปัจเจกชนจะมีการเก็บสะสมคลิปภาพต่าง ๆ ด้วยตัวเองโดยเก็บในที่ต่าง ๆ รวมไปถึงบนสื่อสังคมออนไลน์เป็น individual archive แล้วมีความเต็มใจที่ให้คนนำไปใช้ได้ ซึ่งผู้ให้อาจจะไม่ได้คิดเรื่องลิขสิทธิ์ แต่เต็มใจให้เพราะต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง แต่อีกด้านหนึ่ง ในฐานะของผู้ผลิตเนื้อหา ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาจำนวนผู้เข้าชมเนื้อหาเพื่อตอบสนองการตลาด ก็จะพบปัญหาว่ามีคนนำเนื้อหาที่ผลิตไปเผยแพร่ผ่านช่องทางของตัวเอง แทนที่จะเผยแพร่ผ่านเพจต้นทาง หรือที่เรียกว่า “ดูดคลิป” ไป ซึ่งทาง echo จะพยายามสื่อสารให้ผู้ที่ดูดคลิปไปเผยแพร่เข้าใจว่าควรจะเผยแพร่ผ่านเพจต้นทางมากกว่า แต่ปัญหาจะหนักขึ้น หากเป็นงานที่องค์กรอื่น ๆ เกี่ยวข้อง หรือการนำภาพไปตัดต่อ เปลี่ยนแปลงเนื้อหาแล้วอาจสร้างผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในงานชิ้นนั้น ๆ ซึ่งทาง echo ก็จะพยายามแจ้งให้ผู้กระทำเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้น


งานบริการจดหมายเหตุในยุคดิจิทัล


ในฐานะของผู้ใช้บริการงานจดหมายเหตุ ผศ.เมธาวีอธิบายถึงความท้าทายของการค้นหาข้อมูลประเภทภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียงที่ค่อนข้างลำบาก ซึ่ง ผศ.เมธาวียกตัวอย่างเว็บไซต์ https://freesound.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการเสียงต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ โดยนอกจากการให้ข้อมูลว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร บันทึกที่ไหน เมื่อไรแล้ว เว็บไซต์จะให้ผู้บันทึกเสียงหรือผู้ใช้เสียงนั้นใส่ความรู้สึกหลังจากได้ยินเสียงนั้น ๆ แล้วคำบรรยายความรู้สึกจะเป็นข้อมูลที่อธิบายเสียงนั้น ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการท่านอื่นสามารถค้นหาเสียงที่จะสร้างความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับที่ผู้ใช้บริการต้องการหาผ่านคำค้นเกี่ยวกับความรู้สึกหรือประสบการณ์ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการเก็บรักษาประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ 



ภาพ คุณธนชัย วรอาจ หัวหน้าฝ่ายผลิตเนื้อหาของ echo สื่อมวลชนอิสระ ได้ร่วมพูดคุยผ่านทางออนไลน์

คุณธนชัยยกตัวอย่างของการเกิดขึ้นของชุมชนดิจิทัลที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันเสมือนงานจดหมายเหตุ เช่นการตามหาเพลงหรือภาพที่ต้องการในเว็บไซต์พันทิป แล้วมีคนมาช่วยกันตอบ หรือนำภาพมาให้ รวมไปถึงเว็บไซต์ตามหาภาพยนตร์ ผ่านการใช้คำค้น อย่าง www.whatismymovie.com ซึ่งคนสามารถเข้าไปหาชื่อภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ตัวเองต้องการ ผ่านการใช้คำค้นต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้กับสิ่งที่อยู่ในกระแสความนิยม แต่อาจจะไม่ได้ครอบคลุมถึงประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ การทำจดหมายเหตุดิจิทัลอาจจะไม่ใช่แค่การเก็บรักษาอย่างเดียว แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์แบบที่ ผศ.เมธาวีได้พูดถึง และสามารถให้ข้อมูลกันได้ว่าจะหาข้อมูลที่ต้องการได้ที่ตรงไหน 


คุณสิทธิศักดิ์เสริมประเด็นเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้ให้ข้อมูลที่อธิบายข้อมูลต่าง ๆ นั้น สามารถทำได้มานานแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ วัฒนธรรมด้านจดหมายเหตุให้เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่ปัจจุบัน เราจะเริ่มเห็นวัฒนธรรมการวิจารณ์ของนักท่องเที่ยวไทยเวลาไปท่องเที่ยวที่ไหน หรือรับประทานอาหารที่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลอธิบายของสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหารได้โดยที่เจ้าของพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสร้างเนื้อหาเลย แต่ให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้สร้างเนื้อหาให้ ซึ่งในอนาคตน่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดจากวัฒนธรรมนี้ให้สนับสนุนงานด้านจดหมายเหตุได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเทคโนโลยีกระบวนการประมวลผลทางภาษา (Natural Language Processing หรือ NLP) ของภาษาไทยที่กำลังพัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาล 



ปัญหาของงานจดหมายเหตุดิจิทัล

คุณสิทธิศักดิ์มองปัญหางานจดหมายเหตุดิจิทัล ที่ต้องเผชิญกับปริมาณข้อมูลที่มากมหาศาล ซึ่งมีการคาดคะเนว่า ในปี พ.ศ. 2568 จะมีข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ตจำนวน 175 เซตตะไบต์** หรือถ้าใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตปัจจุบันดาวน์โหลดข้อมูล ก็จะต้องใช้เวลาประมาณ 1.8 พันล้านปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีทั้งข้อมูลคุณภาพ และไม่มีคุณภาพ สำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่จดหมายเหตุ จะต้องมีคนทำหน้าที่ในการเลือกสรรและจัดการข้อมูล หรือ Data Curator ซึ่งจะเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ วิเคราะห์การใช้ข้อมูล และช่วยประเมินข้อมูลมหาศาลเหล่านี้


ภายในงาน มีตัวแทนเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ เข้าร่วมฟังด้วย ได้แลกเปลี่ยนปัญหาเรื่องจำนวนข้อมูลที่มหาศาล ซึ่งทางสถานีฯ มีการตั้งฝ่ายบริหารทรัพยากรสื่อ เพื่อมาจัดการกับไฟล์ดิจิทัล ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โดยทุกวันนี้ ช่างภาพจะนำไฟล์ข้อมูลบันทึกมาให้ฝ่ายนำเข้าระบบจัดการข้อมูล (Media Asset Management) ซึ่งทางฝ่ายบริหารทรัพยากรสื่อได้จัดทำนโยบายและเป้าหมายการเก็บข้อมูลร่วมกับฝ่ายข่าวและผู้บริหารที่ชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดได้ว่า จะจัดเก็บข้อมูลอะไรบ้าง ในระยะเวลาเท่าไร และสุดท้ายข้อมูลแบบไหนที่จะถูกจัดเก็บอย่างถาวร ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยประหยัดทรัพยากรที่จะต้องใช้สำหรับการจัดเก็บ นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารทรัพยากรสื่อยังมีหน้าที่ในการวิเคราะห์การเรียกใช้ข้อมูลของผู้ใช้บริการ ทำให้สามารถกำหนดได้ว่าข้อมูลอะไรที่ควรจะต้องถูกจัดเก็บ ข้อมูลไหนที่จะไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารทรัพยากรจะต้องมีการสื่อสารกับผู้ใช้บริการอยู่เสมอ ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และผู้ใช้บริการก็สามารถเรียกใช้ข้อมูลที่ตัวเองต้องการได้อย่างสะดวกมากขึ้น


ภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เมธาวี โหละสุต จากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผศ.เมธาวีมองปัญหาของงานจดหมายเหตุในอนาคตว่า เนื่องจากตัววัตถุที่จัดเก็บจะเปลี่ยนรูปไป หน่วยงานที่ทำหน้าที่จดหมายเหตุอาจจะต้องเปลี่ยนหน้าที่ตัวเองให้สอดคล้องเช่นกัน อย่างเช่นหอภาพยนตร์แต่ละที่จะพิจารณาว่า ภาพยนตร์ที่ถูกผลิตสร้างแล้วออกฉายด้วยระบบสตรีมมิงและไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์เลย เป็นภาพยนตร์ตามคำนิยามเดิมหรือไม่ แล้วจะจัดเก็บอนุรักษ์หรือไม่ เป็นต้น 


คุณสิทธิศักดิ์เสริมประเด็นเรื่องหน้าที่ของงานจดหมายเหตุที่เปลี่ยนไปว่า หากข้อมูลดิจิทัลที่สำคัญมาก ๆ ก็อาจจะต้องหาทางทำสำเนาออกมาให้เป็นวัตถุที่จับต้องได้ สำหรับเก็บอนุรักษ์ การให้ข้อมูลอธิบายวัตถุหรือข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ อาจจะต้องเพิ่มการให้ข้อมูลบริบทของวัตถุหรือข้อมูลนั้น ๆ ด้วยว่าถูกสร้างขึ้นอย่างไร และถูกใช้งานอย่างไร รวมไปถึงการเปลี่ยนหน้าที่ของงานจดหมายเหตุในเชิงรุก เป็นคนเข้าไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ เอง เช่น การตามเก็บข้อมูลตามปรากฏการณ์สังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถถูกนำไปใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง 


เมื่อมีผู้ฟังแสดงความกังวลถึง ปัญหาการแพร่หลายของข่าวปลอมในยุคดิจิทัล ผศ.เมธาวีและคุณสิทธิศักดิ์ มองว่าข่าวปลอมก็จะถูกจัดเก็บและให้ข้อมูลอธิบายที่ชัดเจน เนื่องจากข่าวปลอมเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้เช่นกัน


อนาคตของงานจดหมายเหตุดิจิทัล


ผศ.เมธาวีมองว่า ในฐานะผู้บริโภคข้อมูลดิจิทัล เขาเชื่อว่าผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ตัดสินว่างานจดหมายเหตุควรจะเป็นอย่างไร เพื่อจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้สูงสุด คุณสิทธิศักดิ์เชื่อว่า กระแสงานจดหมายเหตุในอนาคตจะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลเป็นผู้ให้ข้อมูล แล้วนำเข้าข้อมูล รวมไปถึงการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งจะแตกต่างจากงานจดหมายเหตุเดิมที่นักจดหมายเหตุจะเป็นคนดำเนินการให้ทั้งหมด รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนสามารถมาร่วมให้ข้อมูล ไม่จำเป็นต้องผูกขาดความรู้ที่สถาบันวิชาการเอง ซึ่งปัจจุบันศูนย์มานุษยวิทยาฯ ก็พยายามเปิดพื้นที่ให้ชุมชนนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน


คุณธนชัยมองว่า การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลจะเปลี่ยนรูปแบบไป จะไม่ใช่แค่การตั้งใจอนุรักษ์จัดเก็บแบบเดิมแล้ว แต่ข้อมูลที่สำคัญจะถูกทำซ้ำ ใช้งาน และดัดแปลงข้อมูลดิจิทัลไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้นั้นยังคงอยู่ต่อไป   


ผู้ที่สนใจฟังงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่  https://bit.ly/avday2020



* Internet Archive เป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2539 มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่านการสร้างห้องสมุดดิจิทัลของเว็บไซต์ และข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ทั่วโลก โดยปัจจุบัน มีการจัดเก็บเว็บไซต์มากกว่า 475 พันล้านเว็บไซต์ ข้อมูลหนังสือ 28 ล้านเล่ม ข้อมูลบันทึกเสียง 14 ล้านข้อมูล ข้อมูลบันทึกภาพยนตร์เคลื่อนไหว 6 ล้านข้อมูล ฯลฯ

**1 เซตตะไบต์ เท่ากับ หนึ่งพันล้านล้านล้านไบต์ 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด