ฝ่ายอนุรักษ์
* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 61 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564
นับจากวันที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจเริ่มเดินกล้องถ่ายภาพยนตร์ และนำออกจัดแสดงที่งานวัดเบญจมบพิตร เป็นเวลากว่า 120 ปี ภาพยนตร์กลายมาเป็นสื่อสำคัญในการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดช่วงเวลานั้นประเทศไทยผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมายในด้านการเมือง และสังคมที่สำคัญอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนการต่อสู้กันของอุดมการณ์ความคิดที่แตกต่าง และพัฒนาการที่ถูกทำให้สะดุดลงหลายครั้งของประชาธิปไตย
จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับนี้ชวนผู้อ่านเพ่งมองที่เหตุการณ์ทางสังคมการเมืองเหล่านั้นผ่านการนำเสนอคอลเลกชันภาพยนตร์ที่ได้บันทึกอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทั้งที่เป็นบันทึกการทำงานตามบทบาทต่าง ๆ และเหตุการณ์ในชีวิตด้านอื่น ๆ แม้ว่าจะขาดนายกรัฐมนตรีคนแรกคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไปอย่างน่าเสียดาย แต่คอลเลกชันที่เลือกสรรโดยมุ่งเน้นนำเสนออดีตนายกรัฐมนตรีให้ครบถ้วนทุกท่านมานำเสนอนี้คงจะพอทำให้เห็นภาพต่อเนื่องของหลากหลายชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในวงการการเมืองไทยเป็นเวลาต่อเนื่องหลายสิบปีได้ไม่มากก็น้อย
ภาพยนตร์ที่มีการบันทึกอดีตนายกรัฐมนตรีไทยมีจำนวนหลายร้อยเรื่อง โดยแหล่งใหญ่ที่สุดที่หอภาพยนตร์ได้รับมาคือภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ช่อง 4 ซึ่งมีอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2505 มาจนถึง 2523 จึงมีภาพยนตร์ข่าวของนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานี้อยู่มากพอสมควร นอกจากนี้ยังอาจปรากฏอยู่ในสารคดีบ้าง ซึ่งมีที่มาอันหลากหลาย โดยเฉพาะจากหน่วยราชการ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีแผนกภาพยนตร์มาตั้งแต่สมัยยังเป็นกรมโฆษณาการ ซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลประชาธิปไตย นอกจากนี้หน่วยราชการเกือบทุกหน่วยในยุคสงครามเย็นจะมีฝ่ายผลิตภาพยนตร์ของตนเองเพื่อการเผยแพร่ภารกิจของหน่วยงาน หน่วยงานหนึ่งที่มีภาพยนตร์เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง คือสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้อาจพบภาพยนตร์เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีจากหน่วยงานเอกชน ที่มีการผลิตภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่กิจการของตน และยังอาจพบจากภาพยนตร์ส่วนตัวหรือหนังบ้านของครอบครัวนายกรัฐมนตรีด้วย
ภาพ : พระยาพหลพลพยุหเสนา ในภาพยนตร์เรื่อง น้ำท่วมกรุงเทพ ๒๔๘๕ (ชมภาพยนตร์ คลิก )
หลังจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาที่ใช้อำนาจเผด็จการกับรัฐสภาจนถูกขับพ้นตำแหน่งไปในปี 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในสี่ทหารเสือผู้ก่อการปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่สอง ปรากฏภาพยนตร์ที่บันทึกพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาไว้อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ น้ำท่วมกรุงเทพ ๒๔๘๕ โดยคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร เหตุการณ์ในหนังคือ มีการประชุมสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระยาพหลพลพยุหเสนานั่งอยู่บนเรือพาย นอกจากนั้นยังปรากฏสมาชิกของคณะราษฎรอีกหลายท่านบนเรือลำอื่นด้วย, งานวันชาตะ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบ วังสวนกุหลาบ (2484) ซึ่งปรากฏพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างบวชเป็นพระสงฆ์นำหน้าขบวนพระสงฆ์เข้ารับบิณฑบาต และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร ๒๔๘๑ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นเฝ้ารับเสด็จบนเรือรบหลวงศรีอยุธยา
ภาพ : จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในภาพยนตร์เรื่อง พิธีประดับยศนายทหารสมัยนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ๒๔๘๔ (ชมภาพยนตร์ คลิก )
นายกรัฐมนตรีลำดับถัดมาคือ พลตรีหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ตลอดช่วงของการอยู่ในตำแหน่ง 2 รอบ คือระหว่างปี 2481 – 2487 และ 2491 – 2500 ปรากฏภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองและชีวิตของท่านจำนวนมากทั้งที่หอภาพยนตร์ได้รับจากกรุของกรมประชาสัมพันธ์ และ เรืองยศ พิบูลสงคราม บุตรสะใภ้ เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามมีความสนใจและเห็นความสำคัญในการใช้สื่อภาพยนตร์บันทึกและถ่ายทอดการทำงาน ตลอดจนมีการถ่ายทำหนังบ้านบันทึกเหตุการณ์อื่น ๆ ของตัวท่านและครอบครัวอีกด้วย เช่น พิธีประดับยศนายทหารสมัยนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ๒๔๘๔ ถ่ายทำขึ้นหลังไทยได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน, ภารกิจจอมพล ป. ปี ๒๔๙๘ บันทึกการเดินทางตรวจราชการหลายจังหวัดในภาคใต้, พิธีเปิดป้ายพรรคเสรีมนังคศิลาและประชุมพรรค ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ถือเป็นบันทึกกิจกรรมของพรรคการเมืองสำคัญพรรคหนึ่งแม้จะไม่ทันมีบทบาทอะไรในประวัติศาสตร์, ท่านบวช Ordination บันทึกการเดินทางตามรอยสังเวชนียสถาน ก่อนเข้ารับการอุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา อินเดีย รวมถึง บ้านที่ญี่ปุ่น, ญี่ปุ่น ๒๕๐๒ ซึ่งบันทึกชีวิตของท่านช่วงที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กชานกรุงโตเกียว ภายหลังรัฐประหารปี 2500 เป็นต้น
ภาพ : นายควง อภัยวงศ์ ในภาพยนตร์เรื่อง รัฐประหาร ๒๔๙๐ (ชมภาพยนตร์ คลิก )
นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา โดยอยู่ในตำแหน่งหลายครั้ง คือ ปี 2487 – 2488, 2489, 2490 – 2491 มีภาพยนตร์ที่บันทึกนายควงไว้ได้ คือ รัฐประหาร ๒๔๙๐ คณะทหารนำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้นำกำลังยึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในภาพยนตร์จะปรากฏนายควง อภัยวงศ์ ขณะกำลังเดินมาเข้ามากระทรวงกลาโหมตามคำเชิญเพื่อมาร่วมประชุมหารือเรื่องบ้านเมืองในวันรัฐประหารนั้นเอง และนายควงยังปรากฏใน พิธีประดับยศนายทหารสมัยนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ๒๔๘๔ ช่วงรับประทานอาหารหลังพิธีประดับยศด้วย
ในช่วงเวลาหลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายควงในสมัยแรกจนถึงเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นั้นเป็นช่วงเวลาที่มีนายกรัฐมนตรีถึง 4 ท่านจากสาเหตุที่ต่อเนื่องมาจากผลของสงครามโลกสิ้นสุดลง ความขัดแย้งของคณะราษฎรเอง และความอึมครึมไม่ชัดเจนจากกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
ภาพ : นายทวี บุณยเกตุ ในภาพยนตร์เรื่อง นายทวี บุณยเกตุ จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเกียรติแก่เซอร์ จอห์น แม็คเคล (ชมภาพยนตร์ คลิก )
เริ่มจากนายทวี บุณยเกตุ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพโดยอยู่ในตำแหน่งแค่ 18 วันระหว่างรอ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับจากอเมริกา แต่ปัจจุบันหอภาพยนตร์ยังไม่มีภาพยนตร์ที่บันทึกนายทวี บุณยเกตุ ในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีในช่วงหลังเมื่อไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว คือการเข้าไปทำงานในตำแหน่งรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างถึง 10 ปีในช่วงที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร ครองอำนาจ ภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงนี้คือ นายทวี บุณยเกตุ และ พ.อ. สุข เปรุนาวิน เข้าพบจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาก่อนเดินทางไปร่วมประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี ๒๕๐๔ และ นายทวี บุณยเกตุ จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเกียรติแก่เซอร์ จอห์น แม็คเคล ประธานสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียและคณะ ปี 2507
ภาพ : ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในภาพยนตร์เรื่อง ประชาธิปัตย์หาเสียง ๒๔๘๙ (ชมภาพยนตร์ คลิก )
นายกรัฐมนตรีลำดับต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีการรับตำแหน่งสองช่วงคือ ระหว่างกันยายน 2488 – มกราคม 2489 และช่วงปี 2518 – 2519 ภาพยนตร์ที่บันทึกภาพ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชไว้จึงมีอยู่สองช่วงเวลาคือ ประชาธิปัตย์หาเสียง ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นบันทึกการปราศรัยหาเสียงบริเวณลานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร โดย ม.ร.ว.เสนีย์ และผู้นำพรรคคนอื่น ๆ ขึ้นปราศรัย รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชาย มีประชาชนสนใจฟังการปราศรัยอย่างเนืองแน่น และช่วงหลังที่กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ในช่วงหลังประกอบด้วย การรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานครฯ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครฯ ปี 2518 ที่บันทึกภาพ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นเข้ามาสมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานครฯ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น ในวัยหนุ่ม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขณะอุปสมบทเป็นพระ ยังปรากฏอยู่ใน ชีวิตก่อน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นหนังบ้านถ่ายทำโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ประจำวันและเทศกาลต่าง ๆ ของชีวิตในวังอีกด้วย
นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรีลำดับต่อมา คือดำรงตำแหน่งในช่วงมีนาคม – สิงหาคม 2489 อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องสำคัญที่บันทึกนายปรีดีไว้ได้นั้น เกิดขึ้นก่อนการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คือ การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย (2488) บันทึกเหตุการณ์การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย ซึ่งจัดรวมพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศประมาณแปดพันคน กระทำพิธีสวนสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร บนถนนราชดำเนินกลาง
ภาพ : นายปรีดี พนมยงค์ ในภาพยนตร์เรื่อง การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย (ชมภาพยนตร์ คลิก )
หลังนายปรีดีลาออกเนื่องจากถูกกล่าวหาจากกรณีเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา โดยภาพยนตร์ที่บันทึกพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ไว้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า คือ การรับเรือตอร์ปิโด ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงปี 2478 – 2479 ซึ่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในตำแหน่งขณะนั้นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาร่วมต้อนรับเรือด้วยบริเวณปากน้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกผิน ชุณหะวัณรัฐประหารในปี 2490 นายควงและจอมพล ป. กลับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ จนกระทั่งจอมพล ป. ถูกรัฐประหารปี 2500 นายพจน์ สารสิน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีภารกิจจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์อันเป็นข้ออ้างที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้อ้างในการยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดเก่า หอภาพยนตร์ไม่มีภาพยนตร์ระหว่างที่นายพจน์ สารสินเป็นนายก แต่มีภาพยนตร์ที่บันทึกนายพจน์ไว้ในช่วงที่นายพจน์กลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร คือ พจน์ สารสิน กลับจากการไปประชุมแผนการโคลัมโบ ปี 2512 และ การประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ณ ห้องประชุม ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ปี 2515 โดยมีนายพจน์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เป็นประธานในการประชุม
ภาพ : นายพจน์ สารสิน ในภาพยนตร์เรื่อง พจน์ สารสิน กลับจากการไปประชุมแผนการโคลัมโบ (ชมภาพยนตร์ คลิก )
ภาพยนตร์ที่ถูกเลือกมานำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคอลเลกชันภาพยนตร์ที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่ โดยหอภาพยนตร์ ผู้สนใจรับชม ค้นคว้า สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ชั้น 4 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ โดยนัดหมายล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์หอภาพยนตร์ https://fapot.or.th/main/library และสามารถรับชมภาพยนตร์บางส่วนผ่าน Playlist นายกรัฐมนตรีที่ช่อง Youtube หอภาพยนตร์ คลิก
ติดตามบทความ 15 นายกรัฐมนตรีไทยในคอลเลกชันหอภาพยนตร์ (ตอนที่ 2) ได้ในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ฉบับต่อไป