เรื่องราวของ พันเอก ทวี วุฒิยานันท์ ผู้ถ่ายภาพยนตร์เหตุการณ์การรบสงครามต่าง ๆ ของทหารไทย (โดยร่วมกับ พันเอก สมจรง สิงหเสนี) ในยุคของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เช่น สงครามเวียดนามรุ่นจงอางศึก และเสือดำ ยุทธการผาเมืองเผด็จศึกการปฏิบัติการทางทหาร ต่อ ผกค. ภาคเหนือ
---------
มานัสศักดิ์ ดอกไม้
พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 45 พฤษภาคม-มิถุนายน 2561
ประมาณต้นปี 2556 หน่วยกู้หนังได้รับการติดต่อจาก พันโท นิวัฒน์ วุฒิยานันท์ว่าจะบริจาคฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. จำนวน 8 ม้วน ให้หอภาพยนตร์ หน่วยกู้หนัง จึงได้นัดมอบรับฟิล์มภาพยนตร์ชุดดังกล่าว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2556 ที่รามอินทรา กรุงเทพมหานครเมื่อไปถึงพันโทนิวัฒน์ได้เล่าข้อมูลเบื้องต้นว่า ฟิล์มภาพยนตร์ทั้งหมดถ่ายโดย พันเอก ทวี วุฒิยานันท์ ผู้เป็นบิดา และ พันเอก สมจริง สิงหเสนี สังกัดกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร เนื้อหาเป็นเรื่องเหตุการณ์การรบในสงครามต่าง ๆ ของทหารไทย เช่น สงครามเวียดนามรุ่นจงอางศึก และเสือดำ ยุทธการผาเมืองเผด็จศึกการปฏิบัติการทางทหาร ต่อ ผกค. ภาคเหนือ และพื้นที่เขาค้อฯ เมื่อตรวจสภาพฟิล์มภาพยนตร์เบื้องต้นก็พบว่า ฟิล์มภาพยนตร์อยู่ในกล่องพลาสติกและกล่องเหล็ก เนื้อฟิล์มมีรอยขีดข่วนน้อย และยังไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวน้ำส้มสายชู โดยรวมสภาพยังใช้งานได้ สามารถแปลงสัญญาณได้
และเมื่อฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้ได้รับการอนุรักษ์แปลงสัญญาณ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น หน่วยกู้หนังได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ข่าวสงครามของทหารไทย จึงเกิดความสนใจ ว่าบรรยากาศในการทำงาน เป็นอย่างไร เพราะผู้ถ่ายภาพยนตร์ต้องไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์สงครามจริง จึงขออนุญาตสัมภาษณ์พันโทนิวัฒน์ เพื่อขอข้อมูลประวัติ พันเอก ทวี วุฒิยานันท์ เพิ่มเติม ในวันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
พันเอก ทวี วุฒิยานันท์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2470 ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายภักดิ์ และนางเชื้อ วุฒิยานันท์ มีพี่น้อง 6 คน พันเอกทวี เป็นคนที่ 2 อาชีพดั้งเดิมของครอบครัวท่าน คือรับจ้างทั่วไป เช่น เผาถ่านแล้วล่องเรือจากสุพรรณบุรีมาขายที่กรุงเทพฯ ส่วนทางครอบครัวแม่เชื้อ ประกอบอาชีพทำขนมไทย
เริ่มต้นการศึกษาครั้งแรกที่ชั้นประถมฯ จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่อขึ้นชั้นระดับมัธยมศึกษาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางบ้านจึงอพยพมาที่จังหวัดกาญจนบุรี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างนั้นมีญาติผู้ใหญ่อยู่กรมสรรพาวุธทหารบก แถวบางกระบือ ได้แนะนำให้มาสอบเข้าช่างเขียนแบบ กรมสรรพาวุธทหารบก ในระหว่างเรียนนั้น ก็ได้ใช้เวลาว่างไปเรียนวาดรูปกับช่างวาดชาวจีน ที่ท่าน้ำเขียวไข่กา ทำให้หนุ่มน้อยทวีมีความรู้เรื่องศิลปะเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้สอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกในเหล่าทหารสื่อสาร และเมื่อเรียนจบจึงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารที่กองพันทหารสื่อสาร กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
วันหนึ่ง ประมาณปี 2493-2494 สิบเอกทวีได้มาหาเพื่อนที่กองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร และได้มาพบรักกับ สิบเอกหญิง น้อย ก่อดิษฐ์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นนักเรียนหลักสูตรช่างถ่ายภาพ รุ่น 1 (เป็นผู้หญิงในรุ่นเพียงคนเดียว)
ปี 2495 สิบเอกทวีได้สมัครไปรบในสงครามเกาหลี ในตำแหน่งพนักงานวิทยุสื่อสาร และเมื่อสิบเอกทวีได้กลับจากสงครามเกาหลีประมาณ ปี 2496 จ่าสิบเอกทวีก็ทำเรื่องขอย้ายมาอยู่กองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร เพื่อได้มาอยู่ใกล้ ๆ กับหญิงอันเป็นที่รัก และเมื่อจ่าสิบเอกทวีได้เข้ามาอยู่กองการภาพ สิบเอกหญิงน้อยจึงสอนวิธีการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ให้ ด้วยมีความรู้พื้นฐานทางศิลปะมา จ่าสิบเอกทวีจึงพัฒนาการเรียนรู้ การถ่ายภาพยนตร์ไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่ไว้ใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพบก และได้สอบเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตรในเวลาต่อมา ซึ่งมักถูกเรียกตัวใช้สอยให้ติดตามไปทำข่าวอยู่เสมอ ๆ และเมื่อถ่ายเสร็จก็ส่งไปสถานีกองทัพบกช่อง 7 ขาว-ดำ (ปัจจุบันคือช่อง ททบ. 5 ) เพื่อออกข่าวประจำวันทางสถานี
ประมาณปี 2505-2506 ลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้เริ่มเผยแพร่เข้ามาตามเขตชนบทของประเทศไทย ร้อยเอกทวีจึงได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ให้ถ่ายภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และเมื่อถ่ายทำเสร็จก็ออกฉายตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่เป้าหมาย
ประมาณปี 2509 กองทัพบกจะส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านั้น ร้อยเอกทวีได้เคยไปสงครามเกาหลีมาแล้ว จึงมิได้สมัครไปเวียดนาม เพื่อเปิดทางให้ผู้อื่นได้มีโอกาสไปทำหน้าที่กันบ้าง เวลาเดียวกัน พลโท ฉลาด หิรัญศิริ (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกร้อยเอกทวีเข้าพบแล้วกล่าวว่า “ผมไว้ใจคุณ คุณต้องไปสงครามเวียดนามเพื่อให้คนทางประเทศไทยได้รับรู้ข่าวสาร” โดยให้เข้าร่วมกับ กรมทหารอาสาสมัคร Queen Cobra เดินทางไปยังสมรภูมิเวียดนามใต้ ในตำแหน่ง นายทหารประชาสัมพันธ์ กรมทหารอาสาสมัคร ซึ่งภารกิจแรกคือการจัดทำเพลงประจำหน่วย กรมทหารอาสาสมัคร ในรูปของแผ่นเสียง ส่งไปยังสถานีวิทยุทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทราบว่า กองทัพไทยในนามหน่วยกรมทหารอาสาสมัคร หรือ Queen Cobra จะเดินทางไปร่วมรบกับประเทศพันธมิตร ณ ประเทศเวียดนาม โดยผู้บังคับบัญชาให้ไปคิดชื่อและออกแบบปกแผ่นเสียงขึ้นมาใหม่ เพราะคำว่ากรมทหารอาสาสมัครฯ ยาวไป และชื่อ Queen Cobra ก็เป็นภาษาอังกฤษ ในค่ำวันหนึ่ง ขณะที่ครอบครัววุฒิยานันท์ นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ร้อยเอกทวีได้ให้คนในครอบครัว ลองเสนอชื่อสำหรับแผ่นเสียงต่างคนต่างคิดชื่อ แต่ไม่รู้ว่าใครเอ่ยชื่อ “จงอางออกศึก” ร้อยเอกทวีได้ยินจึงให้ตัดคำว่า “ออก” ทิ้งไป ให้เหลือเพียง “จงอางศึก” หน่วยทหารหน่วยแรกที่ไปรบยังประเทศเวียดนามใต้ที่คนรู้จักจนทุกวันนี้
วันที่ 19 กันยายน 2510 ร้อยเอกทวี และทหารไทย รุ่นจงอางศึก ได้เดินทางโดยทางเรือจากฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มุ่งหน้าสู่ประเทศเวียดนามใต้ โดยไปประจำที่ตั้งหน่วย บก.ส่วนหน้า ที่ ออฟุกลาย ประเทศเวียดนามใต้
ภารกิจหลักของร้อยเอกทวี คือมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ต้องไปทำข่าวร่วมกับคณะ ถ่ายทั้งภาพนิ่ง เพื่อล้าง-อัด-ขยายออกมาทำข่าวส่งนักหนังสือพิมพ์ ในเมืองไทย กับทำภาพติดบอร์ดให้จงอางศึกได้ทราบข่าวสาร ส่วนภาพยนตร์ ถ่ายเสร็จเขียนข่าวเรียบร้อยก็ห่อส่ง APO ไปรษณีย์สนามของจงอางศึก ไปยังกรุงเทพมหานคร จะมีเจ้าหน้าที่จากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 7 ขาว-ดำที่สนามเป้า) ไปรับฟิล์มข่าวภาพยนตร์ที่ บน. 6 เป็นประจำทุกวันเพื่อออกข่าวให้ประชาชนคนไทย ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทุกคนได้ทราบข่าวคราวของพวกเราตลอดเวลา ส่วนกล้องและฟิล์มภาพยนตร์ได้จากอเมริกาจัดหามาให้
ในสมรภูมิรบที่เวียดนาม ศึกที่มีความสำคัญอีกศึกหนึ่งคือที่ฟุกโถ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2510 ซึ่งร้อยเอกทวียังจำเหตุการณ์ได้ดี เพราะในเช้าวันนั้นของร้อยเอกทวีได้ไปทำภารกิจบันทึกภาพข่าวประชาสัมพันธ์ตามปรกติเมื่อเสร็จภารกิจ เพื่อนทหารไทย กองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ค่ายฟุกโถ ได้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับ มีน้ำพริกปลาทู เนื้อเค็มทอด ไก่ต้มยำรสแซ่บ และยำเนื้อ เป็นที่ถูกปากมาก ก่อนกลับผู้กองร้อยได้ชวนร้อยเอกทวีดูหนังเรื่อง ศึกคาร์ทูมด้วยกัน แล้วให้นอนค้างคืนที่นี้เลย แต่ร้อยเอกทวีไม่ได้เตรียมเครื่องนอน เครื่องกันหนาวมา จึงขออนุญาตกลับก่อน และในกลางดึกคืนนั้น ฝ่ายทหารเวียดกง ได้เข้าโจมตี ศึกนี้ต่างฝ่ายต่างสูญเสียกำลังพลไปจำนวนมาก ซึ่งร้อยเอกทวีได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ความหลัง จงอาจศึก” มีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
“ประมาณ 22.00 น. หนังเรื่อง ศึกคาร์ทูม จบม้วนไปแล้ว ร.ท. เสถียร สีฉ่ำ รอง ผบ.มว.ปจว. ซึ่งมาช่วยฉายภาพยนตร์เรียนถามผู้กองร้อยว่า ยังมีหนังอีกเรื่องหนึ่งจะฉายต่อไหมครับ ผู้กองร้อยบอกว่าไม่ไหวชักง่วงนอน พอแล้วละ ทหารที่นั่งดูก็ลุกขึ้นกลับที่นอนกัน บางคนก็ไปกินน้ำกินท่า บางคนก็ฉี่ ร.ท. เสถียร สีฉ่ำ (ปัจจุบันคงเป็น พ.อ.พิเศษไปแล้วต้องขออภัยท่านด้วย) ท่านก็จัดการทำการกรอหนังกลับเข้ารีล กรอไปนิดเดียวเครื่องทำไฟน้ำมันหมด ไฟดับกรอหนังไม่ได้ ผู้กองร้อยจึงเรียกพลทหาร กิตติ สุวรรณศรี คนขับรถของรองผู้บังคับกองร้อย วัฒนา สรรพานิช ซึ่งดูแลเรื่องน้ำมัน ให้มาเติมน้ำมันเครื่องทำไฟที่ใช้ฉายภาพยนตร์หน่อย เพียงอึดใจเดียวโดยไม่คิดไม่ได้ฝัน เสียงระเบิดดังสนั่น กรั้ม! เสียงลูก ค. ที่ตกลงมานัดแรกโดยสัญชาติญาณของทหาร ทุกคนปราดเข้าที่กำบังหยิบอาวุธคู่มือขึ้นมาเตรียมพร้อมทันที พวกแซปเปอร์ (Sabper) พวกจู่โจมและทำลาย ของพวกเวียดกง ก็เริ่มดาหน้ากันมาที่รังจงอางศึก (กองร้อยที่ 1) รอบด้าน จงอางศึกทุกคนมิได้หวั่นไหว ยิงใส่ทุกคนที่มุ่งหน้าเข้ามาอย่างประสงค์ร้ายต่อเรา จากการที่เวียดกงทำการเข้าตีกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ในคราวนี้ เวียดกงต้องสูญเสียกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากมาย เป็นบทเรียนที่พวกเวียดกงจะต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน จากข่าวเชลยที่เราจับมาได้ยืนยังว่า VC. ได้นำศพกลับไปได้จำนวน 90 ศพ บาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลย 2 คน ส่วนจงอางศึกของเรา เสียชีวิตในคราวนี้รวมทั้งสิ้น 6 นาย..... ”
เช้าในวันรุ่งขึ้น ร้อยเอกทวีมีหน้าที่ต้องมาถ่ายภาพยนตร์และเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ เพื่อส่งข่าวไปยังเมืองไทย ให้ญาติพี่น้องในแนวหลังได้ทราบ ซึ่งในตอนนั้น เรามิอาจทราบได้ว่า ภายในใจของร้อยเอกทวีจะรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวมากเพียงใด ที่ต้องมาเห็นเพื่อนทหารไทยที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขต้องมาสละชีพมวลสมาชิกทหารไทยรุ่นจงอางศึก จึงถือเอาวันที่ 20 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันจงอางศึก
ตลอดระยะเวลาที่ร้อยเอกทวี รับราชการทหาร ตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม จนมาถึงภารกิจลับในประเทศลาว ร้อยเอกทวี ได้จับกล้อง ลั่นชัตเตอร์ ผ่านประสบการณ์ช่างถ่ายภาพยนตร์มาอย่างโชกโชน บั้นปลายชีวิตการทำงาน ร้อยเอกทวีก็กลับมาประจำที่กองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร ในตำแหน่งหัวหน้าแผนก และยังเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรการถ่ายภาพให้กับกำลังพลเหล่าต่าง ๆ และได้เจริญก้าวหน้าในการทำงานตามลำดับ จนได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอกในที่สุด พันเอก ทวี วุฒิยานันท์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบ ในปี 2552 ด้วยวัย 82 ปี
พันเอกทวี มีคติประจำใจ ที่ยึดปฏิบัติมาตลอดว่า “ช่างถ่ายภาพต่อให้มีอุปกรณ์ที่ดีที่สุด มีฝีมือดีที่สุด แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ก็ย่อมไม่ได้ภาพที่ดีที่สุดเช่นกัน จงอย่ากลัวกับเหตุการณ์ ตั้งสติและบันทึกเหตุการณ์นั้นให้ได้”
ชมภาพยนตร์ กองพันจงอางศึก ภาพยนตร์ภาพยนตร์ของกองทัพไทย เพื่อเผยแพร่เรื่องการที่ประเทศไทยส่งทหารไปรบกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือในประเทศเวียดนามใต้ โดยไทยได้จัดตั้งกรมทหารอาสาสมัคร เป็นหน่วยเฉพาะกิจขึ้น เพื่อรับสมัครชายไทย ไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม เมื่อ ปี 2510 มีชื่อเรียกหน่วยว่า จงอางศึก (Queen Cobra) ได้ที่ <<คลิก>>