พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เจ้าชายนักถ่ายหนังแห่งสยาม

พระประวัติของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สยาม ทั้งในฐานะนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น และผู้ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์ของสยามและเป็นรากฐานรองรับการเกิดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยขึ้นในเวลาต่อมา

----------


พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

*ปรับปรุงจากฉบับที่ตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 31 มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 


เมื่อเดินทางเข้าสู่ประตูรั้วหอภาพยนตร์ ผู้มาเยือนทุกคนคงจะสะดุดตากับรูปปั้นของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งยืนถือกล้องถ่ายภาพยนตร์อยู่อย่างโดดเด่นบนหัวขบวนรถจักรไอน้ำ รูปปั้นนี้คือ พระรูปประติมากรรม พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  ผู้ที่นอกจากจะทรงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยพระปรีชาสามารถในวิทยาการด้านต่าง ๆ ทั้งการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร  การทหาร พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ฯลฯ พระองค์ยังทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นคนสำคัญของสยาม และทรงเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย




พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร ประสูติเมื่อวันจันทร์ 23 มกราคม พ.ศ. 2424* (นับตามปีปฎิทินแบบเก่า 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม) ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด  เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเริ่มต้นศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นจึงเสด็จ ไปทรงศึกษาที่ต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2437


ด้วยความที่สนพระทัยในวิชาช่างเป็นพิเศษ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำหนดให้พระองค์ศึกษาด้านโยธาธิการ และวิชาวิศวกรรมที่ประเทศอังกฤษ  ตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่อยู่ต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประดิษฐกรรมชิ้นใหม่ของโลก “ภาพยนตร์” ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินซึ่งทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพนิ่งตามอย่างพระราชนิยมของพระราชบิดาเป็นพื้นอยู่แล้ว  จึงทรงเริ่มศึกษาและทดลองถ่ายภาพยนตร์ในแบบสมัครเล่น จนเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์สมัครเล่นของอังกฤษในขณะนั้น


ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ และเสด็จไปทรงศึกษาวิชาเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศส กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินได้เสด็จกลับสยามในปี พ.ศ. 2447 โดยทรงรับราชการในเหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการ ทหารบก มีหน้าที่ดำเนินการฝึกอบรมวิชาทหารช่างสมัยใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก ที่ให้บริการด้านการสื่อสารควบคู่ไปกับการโยธา 




กล่าวถึงกิจการภาพยนตร์บนแผ่นดินสยามในขณะนั้น  ชาวสยามได้เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับประดิษฐกรรมอย่างใหม่ของโลกเป็นอย่างดีแล้ว  จากการที่มีชาวต่างประเทศนำภาพยนตร์เข้ามาจัดฉายอยู่เป็นระยะ  รวมทั้งในพระนครก็ได้เริ่มมีโรงหนังถาวรเกิดขึ้น  โดยชาวสยามที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในกิจการด้านนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งเป็นพระปิตุลาของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และเป็นผู้มีฝีพระหัตถ์ด้านภาพยนตร์อันลือชื่อ รวมทั้งทรงนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์และงานรื่นเริงต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลประจำปีของวัดเบญจมบพิตรฯ  หรือที่บางครั้งเรียกว่า งานสวนดุสิต ซึ่งถือเป็นงานออกร้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามในช่วงเวลานั้น 


ในงานสวนดุสิต ประจำปี พ.ศ. 2451 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม ขณะที่กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงออกร้านฉายภาพยนตร์ของพระองค์อย่างที่เคยเป็นมาเช่นทุกปี  ได้ปรากฏว่า กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงออกร้านแสดงกิจกรรมด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่พระองค์นำมาแสดง คือแบบจำลองระบบรถรางไฟฟ้าที่ทรงจัดสร้างขึ้นเอง และมีภาพยนตร์ขนาดเล็กจัดแสดงประกอบอยู่ด้วย  กิจกรรมออกร้านนี้คล้ายเป็นดั่งนิมิตบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า ถึงพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เกี่ยวกับ “รถไฟ” กับ “ภาพยนตร์” ซึ่งผูกพันเกี่ยวเนื่องกัน และปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในรัชกาลถัดมา


พ.ศ. 2457 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ขณะที่กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ พระองค์ได้ประทานสัมภาษณ์แก่ นิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weeky เมื่อคราวเสด็จ เยือนบริษัท คลาเรนดอน ฟิล์ม (The Clarendon Film Company) โดยทรงเล่าถึงพระราชนิยมด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ว่าพระองค์ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์ที่มีความสนพระทัยอย่างจริงจัง และทรงมีห้องสำหรับฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่สยาม โดยทรงมีอุปกรณ์ภาพยนตร์ของบริษัทปาเต๊ะ (Pathe) แห่งฝรั่งเศส และทรงสนพระทัยเป็นพิเศษในกล้องของ เชอรี่ เคียร์ตัน (Cherry Kearton) ช่างถ่ายภาพแนวสัตว์ป่าผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังทรงทดลองถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เช่น การใช้กระจกเงาหรือแว่นกรองแสง ทั้งยังโปรดให้ทหารในกองทัพชมภาพยนตร์ และที่สำคัญ คือทรงมีพระดำริอันลึกซึ้งถึงอนาคตของการภาพยนตร์ว่า 


“ข้าพเจ้าแลเห็นอนาคตอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ในแง่นี้ ในยามที่ประชาชนของทุกประเทศถูกปรนเปรอด้วยหนังชีวิต หนังตลก และหนังบรรยายเรื่อง แน่ล่ะ ด้านบันเทิงย่อมต้องมีอยู่เสมอ และพวกเรายังคงสนใจในเรื่องเล่าต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังที่ข้าพเจ้าเองเพิ่งได้ชมในงานของ ท่านผู้หญิงทาวน์เซนด์ (นักเขียนบทภาพยนตร์ของบริษัท คลาเรนดอน – ผู้เขียน) แต่ข้าพเจ้าคิดว่าโรงเรียนทั้งหลายของเราจะเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะครู และจะได้ใช้ประโยชน์จากมันมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ” 


ข้อผิดพลาดประการหนึ่งของบทความในนิตยสารดังกล่าว คือ การกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเป็น The Crown Prince of Siam หรือ มกุฎราชกุมารแห่งสยาม ซึ่งไม่ใช่พระยศที่แท้จริงของพระองค์  แต่อย่างไรก็ตาม ในหนังสือกินเนสส์ว่าด้วยภาพยนตร์ (The Guinness Book of Film) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523  ได้ระบุว่า “เจ้านายนักถ่ายภาพยนตร์รายแรก คือ มกุฎราชกุมารแห่งสยาม ผู้ทรงฝักใฝ่ในงานอดิเรกนี้มาตั้งแต่ปี 2457 พระองค์ยังมีโรงฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์อยู่ในพระราชวังที่กรุงเทพฯด้วย”  และ “เชื้อพระวงศ์รายแรกที่มีโรงภาพยนตร์ส่วนตัวอยู่ในวัง ได้แก่ มกุฎราชกุมารแห่งสยามและพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย ตั้งแต่ในราวปี 2456 ทั้งสองราย


ภาพ : บทประทานสัมภาษณ์ในนิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weeky ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2457


ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2456 – 2457  แผ่นดินสยามไม่มีมกุฎราชกุมารอย่างเป็นทางการ หากหมายถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งทรงเคยเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านั้น ก็ไม่พบหลักฐานว่าพระองค์ทรงถ่ายทำภาพยนตร์ หรือโปรดภาพยนตร์อย่างงานอดิเรกแต่อย่างใด  จึงอาจเป็นไปได้ว่า “มกุฎราชกุมารแห่งสยาม”ที่หนังสือกินเนสส์ระบุนั้น หมายถึงกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้ที่นิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weeky เข้าใจผิดว่าทรงเป็น The Crown Prince of Siam และการประทานสัมภาษณ์ครั้งนั้นก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลที่หนังสือกินเนสส์อ้างถึง


ล่วงสู่ปี พ.ศ. 2460  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  ทรงมีพระบรมราโชบายยุบรวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้เป็นกรมเดียวเรียกว่า กรมรถไฟหลวง และโปรดฯ ให้กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินขึ้นเป็นผู้บัญชาการพระองค์แรก โดยในระหว่างที่ทรงพระกรณียกิจด้านการรถไฟด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในการถ่ายภาพยนตร์อยู่เสมอ โดยได้ทรงถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมรถไฟหลวง รวมทั้งในปี พ.ศ. 2463 เมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการรถไฟของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็ยังทรงถือโอกาสทอดพระเนตรกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ดด้วย


 

ภาพ : ภาพล้อกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่  6

ต้นปี พ.ศ. 2465  ภาพยนตร์ข่าวกิจการของกรมรถไฟหลวงเริ่มมีโปรแกรมออกฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินได้ทรงจัดตั้งหน่วยผลิตภาพยนตร์ขึ้นในกรมรถไฟหลวง และต่อมา จึงปรากฏชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง โดยมีอาคารที่ทำการตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัยทั้งด้านการพิมพ์และล้างฟิล์มภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพยนตร์ ไฟโคมถ่ายภาพยนตร์   ซึ่งสั่งซื้อโดยตรงมาจากฮอลลีวู้ด


กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ที่ก่อตั้งโดยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินนี้ นับเป็นหน่วยงานภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกในสยามและแห่งแรกแห่งหนึ่งในโลก ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีเผยแพร่กิจการของการรถไฟ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่าง ๆ  รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสยาม ตลอดจนกิจการของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้เอกชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ในปลายปี พ.ศ. 2465 กรมรถไฟหลวง โดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดูแลช่วยเหลือหาสถานที่ถ่ายทำและอำนวยความสะดวกเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ แก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ของนายเฮนรี่ แม็คเร (Henry Macrae) นักสร้างหนังจากฮอลลีวูด ซึ่งเดินทางเข้ามาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างภาพยนตร์ในสยาม  โดยเมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้น นายแม็คเรได้มอบสำเนาฟิล์ม 1 ชุด ให้แก่กรมรถไฟหลวง ซึ่งได้ให้สยามภาพยนตร์บริษัทเช่าไปจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท ในชื่อว่า นางสาวสุวรรณ  นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่แสดงโดยคนไทย


ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์ของชาติ กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ยังเป็นดั่งสำนักตักศิลา ฝึกฝนวิชาภาพยนตร์ให้แก่บุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งบางส่วนได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติในเวลาต่อมา  ที่โดดเด่นที่สุดคือ หลวงกลการเจนจิต (เภา วุสวัต) หัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์คนที่ 2 ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ซึ่งได้เป็นแกนหลักของพี่น้องสกุลวสุวัตในการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก คือ โชคสองชั้น ออกฉายปี พ.ศ. 2470 และได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์อันดับหนึ่งของสยามตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีนับจากนั้น  โดยกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ยังทรงเป็นอุปถัมภ์ของการสร้างภาพยนตร์เสียงของพี่น้องสกุลวสุวัต ในระยะเริ่มต้นอีกด้วย

 


ภาพ : กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (สวมพระมาลา) และหลวงกลการเจนจิต (ซ้ายสุด)  กับคณะจากบริษัท ฟอกซ์ มูวี่โทน นิวส์  สหรัฐอเมริกา ซึ่งมาถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเป็นครั้งแรกของสยาม  เมื่อ พ.ศ. 2472 โดยได้บันทึกเสียงของพระองค์ลงในภาพยนตร์ด้วย


นอกจากก่อตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ของรัฐ  กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินยังทรงมีกิจการภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ ซึ่งทรงเรียกว่า “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” ตามชื่อวังที่พระองค์ประทับ และมีตราประจำพระองค์คือ เทวดาอัญเชิญฉัตร  เป็นตราของภาพยนตร์ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์บ้านดอกไม้ฟิล์มนี้  มีทั้งที่ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และให้ข้าราชบริพารถ่ายถวาย  ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายขึ้นเพื่อเป็นสื่อให้ความรู้ บันทึกเหตุการณ์สำคัญ หรือเผยแพร่พระกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงเกี่ยวข้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายทำด้วยการใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า ภาพยนตร์ทดลอง  ซึ่งทั้งหมดนี้มีจำนวนรวมกันมากมายมหาศาลนับหลายร้อยม้วน นับเป็นกรุภาพยนตร์สมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุดกรุหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย


เมื่อสยามผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีพระราชนิยมในการภาพยนตร์และโปรดการถ่ายภาพยนตร์เช่นเดียวกัน กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินก็ทรงมีบทบาทในการถวายคำแนะนำแก่องค์พระมหากษัตริย์ด้วย  และในปี พ.ศ. 2473 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการประชุมฉายภาพยนตร์ของสมาชิกเป็นประจำทุกเดือน กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงได้รับเลือกให้เป็นองค์อุปนายกในปีแรก และเป็นนายกสมาคมในปีถัดมา โดยทรงจัดตั้งคณะอนุกรรมการแผนกขายของ แผนกเทคนิค และแผนก Film Library หรือห้องสมุดภาพยนตร์ของสมาคม

 


ภาพ : กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ขณะดูงานที่โรงถ่ายฮอลลีวู้ด สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2478 

ที่มาภาพ : Los Angeles Times Photographic Archive

นอกเหนือจากงานด้านภาพยนตร์ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินยังทรงกำกับดูแลกิจการสำคัญต่าง ๆ ของชาติอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เมื่อ ปี พ.ศ. 2469  และทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย” จากการที่ทรงริเริ่มกิจการวิทยุและวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศไทย และพระคุณูปการที่มีต่อการพัฒนาการรถไฟไทยตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทำให้พระองค์ยังได้รับการยกย่องให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่” อีกด้วย


พระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เริ่มลดบทบาทลงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  โดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ได้ถูกยุบเลิก ภายหลังรัฐบาลได้ตั้งกองโฆษณาการขึ้นมาทำหน้าที่แทน ในขณะที่สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามซึ่งทรงเป็นนายกสมาคมมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 นั้น ได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2476 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จฯ ออกจากสยาม 


 

ภาพ : กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  ฉายพระรูปร่วมกับ ชาร์ลี แชปลิน ดาราชื่อดัง (นั่งกลาง)  เมื่อ พ.ศ. 2479 ที่ประเทศสิงคโปร์   

ที่มาภาพ : corbis images


กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการ และเสด็จฯ ไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมครอบครัว เมื่อ ปี พ.ศ. 2477 ขณะที่อยู่ที่สิงคโปร์ พระองค์ยังคงทรงมีพระทัยรักมั่นในการภาพยนตร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยทรงยังถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และทรงมีพระดำริจัดตั้งชมรมหนังบ้านขึ้นในสิงคโปร์  รวมทั้งยังเสด็จเยือนกิจการโรงถ่ายฮอลลีวู้ด ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 สิริพระชนมายุได้ 54 ปี 


ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เก็บอนุรักษ์ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้รับมอบจากทายาทคือ หม่อมราชวงศ์พรรธนภณ สวัสดิวัตน์ นับร้อยม้วนเพื่อให้เป็นมรดกสำคัญของชาติ รวมทั้งได้จัดสร้าง “ห้องกำแพงเพ็ชร” ภายในนิทรรศการภาพยนตร์กับรถไฟ บนขบวนรถไฟสายภาพยนตร์ สถานีศีนิมา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติประวัติและพระเกียรติยศด้านภาพยนตร์ ให้อนุชนได้รับรู้ และในปี พ.ศ. 2561 คณะกรรมการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีมติถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์ โดยประดับลายพระหัตถ์ พระนาม “บุรฉัตรไชยากร” เป็นชื่ออาคารที่ตั้งของฝ่ายอนุรักษ์ภาพยนตร์ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการที่ทรงมีต่อกิจการภาพยนตร์ในสยาม



ภาพ : หนึ่งในไตเติลจบ ของชุดภาพยนตร์ส่วนพระองค์ บ้านดอกไม้ฟิล์ม




หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด