เมื่อภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญาเป็นวาระของโลก

ชวนอ่าน "อำนาจภาพยนตร์ในอนาคต" บทนำของหนังสือพิมพ์รายวัน “พิมพ์ไทย” เมื่อ 95 ปีมาแล้ว รายงานถึงการจัดประชุมผู้แทนจากนานาประเทศถึง 30 ประเทศ ที่กรุงปารีส เพื่อหารือกันในการทำให้ภาพยนตร์ขยับฐานะเป็นสื่อแห่งความรู้และสาระประโยชน์ ดั่งคำว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” อันเป็นอุดมคติของ หอภาพยนตร์

-----------


โดย กองบรรณาธิการจดหมายข่าวหอภาพยนตร์

* ปรับปรุงจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 19 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 


หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีคำขวัญซึ่งเป็นเจตจำนง หรืออุดมคติขององค์กรว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” เพราะเราเห็นว่า ภาพยนตร์เป็นประดิษฐ์กรรมที่ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดและการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้สัจจะหรือความจริงของธรรม ซึ่งความรู้อย่างนี้เป็นปัญญา เป็นความรู้ที่นำมนุษย์ไปสู่ความรักและสันติสุข หอภาพยนตร์จึงมีอุดมคติที่จะใช้และส่งเสริมให้มีการใช้ ภาพยนตร์เพื่อให้ปัญญาแก่มนุษย์

อุดมคติหรืออุดมการณ์นี้มิใช่เรื่องใหม่ หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของโลกจะพบว่า ความคิดนี้บังเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์แรกคิดค้นประดิษฐ์ภาพยนตร์ เช่น นายลุยส์แซม ออกุสแตง เลอ แปรงซ์ชาวฝรั่งเศสนักประดิษฐ์ภาพยนตร์คนแรกที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งจดสิทธิบัตรประดิษฐ์กรรมภาพยนตร์ของเขา เมื่อปี 2431 ก็มีความคิดเป็นดังฝันหรืออุดมทัศน์ว่า ภาพยนตร์ของเขาจะเป็นเครื่องมือช่วยให้มวลมนุษย์ได้เรียนรู้เข้าอกเข้าใจกันและสามารถยังให้เกิดสันติสุขแก่โลก

แต่ในความเป็นจริงเมื่อภาพยนตร์เกิดขึ้นในโลกเริ่มจากเป็นของเล่นขายความแปลกใหม่เมื่อปี 2438 แล้วเติบโตเป็น อุตสาหกรรมบันเทิงใหญ่โตของโลก กลายเป็นสื่อสารมวลชนที่กระทำ โลกาภิวัฒน์ครั้งแรก ตั้งแต่ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว แต่การณ์ตรงข้าม เพราะในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 20 ก็เกิด มหาสงครามโลกครั้งที่ 1 แทนที่มนุษย์จะรักกัน เห็นอกเห็นใจกันและเกิดสันติ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น โลกซึ่งหวาดวิตกสงคราม จึงจัด ตั้ง สันนิบาตชาติ เพื่อจัดระบบสังคมโลกใหม่ให้เกิดสันติภาพถาวร เมื่อปี 2462

ปี 2469 หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งในสยาม คือ พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้ตีพิมพ์บทความซึ่งไม่ลงนามผู้เขียน จึงเสมือนเป็นบทนำของหนังสือพิมพ์วันนั้น เรื่อง อำนาจภาพยนตร์ในอนาคต แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์เป็นเครื่องให้ความบันเทิงและความรู้แก่ชาวโลกอย่างยิ่ง เสียแต่ว่าผู้สร้างภาพยนตร์มุ่งรับใช้ประโยชน์จากการเงินมากกว่าประโยชน์จากความรู้และบทความได้รายงานว่า เหตุนี้เองจึงมีการจัดประชุมผู้แทนจากนานาประเทศถึง 30 ประเทศ ที่กรุงปารีสเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหารือกันในการที่จะให้ภาพยนตร์เต็มไปด้วยสารประโยชน์และยังมีความเห็นพ้องกันว่า สมควรจะตั้งสำนักงานการภาพยนตร์เพื่อให้ภาพยนตร์เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทุกรูปทุกนามในโลกโดยทั่วกันด้วย สำนักงานการภาพยนตร์นี้นัยว่า จะตั้งขึ้นที่เมืองเยเนวา และอยู่ในความอุปถัมภ์ของสภาสันนิบาตชาติ

นี่แสดงว่า อุดมการณ์ของการใช้ภาพยนตร์ให้เกิดปัญญา ซึ่งกำเนิดขึ้นพร้อมการกำเนิดภาพยนตร์ได้เติบโตเป็นวาระของโลกในการ ประชุมนานาชาติในอุปถัมภ์ของสภาสันนิบาตชาติเมื่อปี ๒๔๖๙ ซึ่งเข้าใจว่าองค์กรของสันนิบาตชาติที่ปารีสนั้น น่าจะหมายถึงคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางปัญญา ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายเป็นองค์การยูเนสโกของสหประชาชาตินั่นเอง

น่าศึกษาว่า การประชุมครั้งนั้นมีผลเป็นรูปธรรมอย่างไร ในที่นี้จึงขอนำเสนอบทนำของหนังสือพิมพ์รายวัน “พิมพ์ไทย” เมื่อ 95 ปีมาแล้ว เพื่อคารวะและเชิดชูอุดมการณ์ “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” จงเจริญ !

*** อำนาจภาพยนตร์ในอนาคต *** 
ที่มา : พิมพ์ไทย ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2469




สถานมหรสพสำหรับหย่อนใจในยามว่างของประชาชนใน จังหวัดพระนครนั้นมีอยู่มากมายหลายพรรค์ แต่การมหรสพที่ออกหน้าออกตามากที่สุด กระทำความบรรเทิงเริงรมย์ให้แก่คนทุกวัยมากที่สุด แลการมหรสพประเภทนี้จะเจริญรุ่งโรจน์ต่อไปอีกชั่วกาลนานไม่มีที่ สุด ฯลฯ นั่นคือ ภาพยนตร์

เรื่องคุณและโทษภาพยนตร์จะมีมากน้อยเพียงใดไม่จำเป็น ต้องกล่าวถึงเพราะได้เคยมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เคยถกกันมาแล้ว จนเกือบเอือม พูดกันไปใช่จุดถึงที่สุด โดยหาตัวผู้ชนะอันแท้จริงก็ หามิได้ ฉะนั้นจะขอกล่าวเพียงย่อ ๆ ว่า สิ่งใดที่ให้คุณ สิ่งนั้นก็ย่อม ให้โทษได้อุประมาได้ดังสิ่งใดที่ให้โทษ สิ่งนั้นก็อาจให้คุณแก่ผู้รู้จัก ใช้ รู้จักประพฤติและทำ ฯลฯ ได้ดุจกัน

ภาพยนตร์ได้เริ่มมีขึ้นในประเทศสยามคำนวณในราว 20 ปี โดยประมาณ และค่อยเจริญแพร่หลายเปนลำดับมาจนทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากตำบลที่ชุมนุมชนแทบทุกหนทุกแห่ง มีโรงภาพยนตร์ ไปเปิดฉายให้มหาชนชม ซึ่งเปนทางพิสูจน์ได้ทาง 1 ว่า มหาชน ส่วนมากพอใจรับความบรรเทองจากการชมภาพยนตร์ยิ่งกว่าการ ชมมหรสพประเภทอื่น เพราะภาพยนตร์ไม่ทำความเบื่อหน่ายให้ต่อ สายตา ภาพตลก, ภาพความกล้าหาญอย่างเห็นจริงเห็นจัง, ภาพการกีฬาและภาพภูมิประเทศอันงดงาม ฯลฯ เหล่านี้ เปนเครื่องดูดดื่มชวน เพลินอันสูงค่า กับไม่แต่จะทำความเพลิดเพลินฤาความรู้สึกสนุกกัน อยู่แต่ในระหว่างพวกเราชาวไทย แม้แต่นานาประเทศที่อยู่ในสภาพ อารยะก็ยอมรับว่า ภาพยนตร์ได้กระทำความรื่นเริงให้แก่ชาวประเทศ นั้น ๆ โดยทั่วกัน ด้วยความจริง, ภาพยนตร์เปนเครื่องบันเทาความ ทุกข์โศกและความคับอกคับใจ ที่ดำเนินคู่เคียงไปกับชีวิตได้อย่างชงัด หากจะเปนส่วนน้อยฤาชั่วคราว ก็ยังได้ชื่อว่าได้ช่วยปลดเปลื้อง ฐานะแห่งความตรมตรอมให้คลี่คลายไปได้บ้าง มาตร์จะจัดว่า ภาพยนตร์เปนเสมือนดังมรรคคุเทศ ผู้จูงมนุสส์ไปสู่ความเริงรมย์ประกอบ ไปด้วยสาระประโยชน์ส่วน 1 แล้ว ก็เปนอันพูดได้เต็มปาก ทีเดียว แต่มีข้อที่ควรคนึงอย่างหนึ่งว่า ในอันดับนี้ภาพยนตร์ยังขาด สิ่งสำคัญซึ่งจะทำประโยชน์ให้แก่มหาชนทั่วโลกอยู่บางประการ

ทั้งนี้เพราะผู้ที่ทำฟิล์มเจตนาเจาะจงแต่จะมุ่งรับใช้ประโยชน์ในการเงิน มากกว่าที่จะช่วยฟื้นความรู้สึกรื่นเริง กอปรแก่นสารให้แก่ผู้ชม ถ้าและ ผู้ทำภาพยนตร์จะขวนขวายในข้อบกพร่องให้มีความสมบูรณ์เปนล่ำ เปนสันขึ้นยิ่งกว่านี้ แล้วประโยชน์ของผู้ทำและผู้ชมต่างก็จะพอกพูนเพิ่ม ขึ้นเปนทวีคูณทั้งสองฝ่าย

มนุสส์ทุกวัย นับตั้งแต่เด็กที่เดียงสาต่อการชมภาพยนตร์ ตลอด ไปจนถึงท่านผู้เฒ่าซึ่งรอมฤตยูอยู่ทุกขณะแล้ว อาจศึกษาความเปนไปของโลกด้วยทางชมภาพยนตร์ได้ดีกว่าการศึกษาโดยตำหรับตำราภาพที่แสดงในจอนั่นแลเปนเครื่องสกิดตาสกิดใจให้ลืมหลงได้ยาก ด้วยประกอบไปกับสิ่งที่ชวนให้เพลิน ฝังใจจำอยู่เสมอ ชีวิตของนานาสัตว์ บุปผาชาติและรุกขชาติและประวัติกาลในอดีต ปรัตยุบันและอนาคต พงศาวดาร, ภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ประเภทนี้ ภาพยนตร์ สามารถสำแดงได้ชัดเจนดีกว่าเครื่องฝึกฝนชนิดอื่น ไม่แต่เพียงเท่านี้ ภาพยนตร์ยังเปนบ่อแห่งแก่นสารปลุกใจให้มหาชนในโลกตื่นขึ้นจาก ความหลับ ซึ่งเกิดจากความทุกข์แลความมีสายตาสั้น เปนเครื่องยังความ ฉลาดไหวพริบ, มิตรภาพ, ความไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดจนยัง สันติภาพระหว่างชาติและบุคคลชาติต่าง ๆ ในโลกให้สนิธสนมแน่นแฟ้น ยิ่งขึ้นเปนลำดับ

อำนาจส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ที่แท้จริง คือความเริงรมย์ และช่วยปลุกให้มนุสส์ตื่นจากภวังค์แห่งการที่เคยเห็นโลกอันคับแคบ กล่าวคือช่วยให้มีสายตายาวในเหตุการณ์ที่เราไม่มีโอกาสจะได้พบเห็น ฯลฯ ด้วยเหตุนี้แหละ จึงมีผู้แทนของนานาประเทศ 30 ประเทศ ได้เข้า ประชุมกันในกรุงปารีสเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีเหตุผลหารือกันและกันในการ ที่จะให้ภาพยนตร์เต็มไปด้วยสาระประโยชน์อันแท้จริงโดยตลอด ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็โดยประสงค์จะให้ภาพยนตร์เปนตำหรับช่วยการศึกษาของ กุลบุตร์และธิดา มีประโยชน์ยิ่งกว่าที่เปนอยู่แล้วในเวลานี้ จักได้เปน เสมือนเครื่องผูกพันดวงจิตต์ ให้ผู้ชมรู้สึกดูดดื่ม อันเปนประโยชน์สำหรับ ตนของตนและประเทศอันเปนชาติภูมิ
 

 


ในการประชุมนี้ คงความเห็นกันว่า ผู้ทำภาพยนตร์ควรมี ความรู้ในวิชาการก่อสร้าง วิชาประดับประดาความสรวยงาม และวิชาวาดเขียนอย่างประณีตด้วย ฝ่ายช่างเขียนฉากภาพยนตร์และนักประพันธ์เรื่องสำหรับให้ภาพยนตร์แสดงนั้นก็ควรหาโอกาสศึกษาวิธีถ่ายภาพและทำฟิล์มประกอบด้วยอีกแพนกหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจะได้เขียนฉากและผูกเรื่องให้เหมาะเจาะกับภาพยนตร์ อันนำออกฉายให้มหาชนทัศนา


โรงเรียนการสอนวิชาแสดงภาพยนตร์นั้น เท่าที่ปรากฏว่า ได้ตั้งแล้วและกำลังเฟื่องฟูอยู่ในบัดนี้ก็คือ โรงเรียนของบริษัท ภาพยนตร์ปาราเมาท์ในคาลิฟอร์เนีย นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏ แต่หวังกันว่าจะมีขึ้นอีกหลายแห่ง ในเมื่อการประชุมได้กระทำผลให้เปนที่พึงใจต่อกันและกัน

อนึ่ง การดนตรีในเวลาฉายภาพยนตร์นั้น ตามทางสังเกตเห็น ว่ายังมิได้คิดอนุโลมให้ประกอบไปกับภาพที่ฉายอยู่ในจอ หนทางที่ดี เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ควรจะบรรทึกลงในกระดาษ ส่งไปให้หัวหน้าที่ นายวงดนตรี แจ้งให้เขาทราบเสียก่อนว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้น ม้วนนั้น เปนเรื่องโศก, เรื่องตลก, เรื่องกล้าหาญ, ฯลฯ ขอให้ดนตรีบรรเลงประกอบ ภาพฉายเป็นโศก เปนตลก เป็นกล้าหาญ เสียด้วย หนทางเหล่านี้จะเปน เครื่องเร้าความตื่นเต้นดูดดื่มแก่ผู้ชมผู้ฟังอีกมิใช่น้อยเลยโดยถ้าจะลอง ปฏิบัติกันดู อีกประการหนึ่ง ต่างประเทศถือกันว่า ภาพยนตร์ที่อาจ นำความติฉินนินทาหรือดูหมิ่นชิงชังกันในระหว่างชาติลัทธิของกันและกันก็มี หรือเรื่องที่ทำให้แสลงตาแสลงใจ ผิดลัทธิอันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติและระหว่างบุคคลเสื่อมคลาย จนกลายเป็นความวิวาท บาดหมางก็ดี และเรื่องที่เกี่ยวกับการสงคราม ตลอดจนเรื่องที่ปราศจากเหตุผลที่บุคคลจริง ๆ จะกระทำไปให้สำเร็จได้ก็ดี ฯลฯ เหล่านี้ไม่ควรจะนำออกฉายให้พลเมืองดูเลย เพราะผลที่จะได้รับในภายหลังนั้น อาจเปนตรงกันกับความเจตนาดีไม่ได้

เหตุผลที่ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ 30 ประเทศ ได้ประชุม กันดังกล่าวมาแล้วนั้น ต่างมีความเห็นพ้องกันว่า สมควรจะตั้งสำนักงานการภาพยนตร์ เพื่อให้ภาพยนตร์เปนประโยชน์แก่มนุสส์ทุกรูปทุกนามในโลกโดยทั่วกันด้วย สำนักงานการภาพยนตร์นี้นัยว่า จะตั้งขึ้นที่เมืองเยเนวา และอยู่ในความอุปถัมภ์ของสภาสันนิบาติชาติ

ฉนั้นจึงเปนที่หวังกันได้ว่า ถ้าสำนักงานการภาพยนตร์นี้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ภาพยนตร์ที่เคยให้แต่ความรื่นเริงแก่เราเปนส่วนมากนั้น ต่อไปก็จะให้ความรู้อย่างวิเศษแก่เราเพิ่มขึ้นอีกสวนหนึ่ง ทั้งจะเปน เครื่องยังสันติภาพและสัมพันธไมตรีของนานาชาติให้ถาวรอยู่ชั่วกาลนาน โดยวิธีการหรืออำนาจของภาพยนตร์อย่างใหม่นี้ด้วย

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด