ประวัติศาสตร์หนังจีน ผ่านหน้าหนังสือ

ต้อนรับเดือนของเทศกาลตรุษจีนด้วยการแนะนำหนังสือประวัติศาสตร์หนังจีนตั้งแต่ยุค Early Cinema ในปลายศตวรรษที่ 19 จวบจนถึงยุคหนังจีนร่วมสมัย หนังสือทั้งหมดนี้ให้บริการอยู่ในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์   

---------


โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 61 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 


เทศกาลตรุษจีนปีนี้อยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ จดหมายข่าวฉบับนี้ขอพาย้อนไปดูประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนตั้งแต่ยุค Early Cinema ในปลายศตวรรษที่ 19 จวบจนถึงยุคหนังจีนร่วมสมัย ข้อมูลเหล่านี้คัดย่อและสรุปจากหนังสือหลาย ๆ เล่มที่มีให้บริการในห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ 


หนังสือที่เล่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนได้ครบถ้วน ชื่อ The Chinese Cinema Book เป็นการรวบรวมบทความวิชาการหลายฉบับโดยนักวิชาการหลายคน โดยมี Song Hwee Lim และ Julian Ward เป็นบรรณาธิการผู้คัดเลือกและนำเสนอ หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาครอบคลุมประวัติศาสตร์ 100 กว่าปีตั้งแต่ภาพเคลื่อนไหวถูกนำเข้าไปฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ อ่านเล่มเดียวน่าจะเห็นภาพได้ครบตั้งแต่ยุคบุกเบิกมาถึงหนังยุคสร้างชาติ หนังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมและยุคจีนร่วมสมัย อีกทั้งยังกินความเลยไปถึง “หนังจีน” ของไต้หวันและฮ่องกง แต่เพราะ The Chinese Cinema Book เป็นหนังสือที่ประกอบขึ้นจากบทความวิชาการ ทำให้อ่านยากเล็กน้อย มีเนื้อหาเข้มข้นและอ้างอิงงานศึกษาอื่น ๆ ในที่นี้ขอสรุปความและเรียงลำดับเพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ และเพื่อเผยแพร่เกร็ดประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่แบบคร่าว ๆ 


คาดว่าการฉายภาพเคลื่อนไหวครั้งแรกในประเทศจีนน่าจะมีขึ้นราวปี ค.ศ. 1897 ในยุคราชวงศ์ชิง (หรือสองปีหลังจากภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้น) โดยเชื่อว่าชาวอเมริกันชื่อ เจมส์ ริคาลตัน จัดฉายหนังที่ Astor House ซึ่งเป็นโรงแรมที่หรูหราที่สุดในเมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองท่าแห่งแสงสีของจีนและเป็นเมืองที่ “อินเตอร์” ที่สุด หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการจัดฉายภาพเคลื่อนไหวอีกครั้งที่ Arcadia Hall สถานที่แสดงมหรสพสำคัญของเซี่ยงไฮ้ ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการสร้างโรงหนัง รวมทั้งยังมีการฉายหนังในโรงน้ำชา ภาพยนตร์ยังเริ่มแผ่อิทธิพลจากการเป็นของเล่นสนุกของคนชั้นสูงมาเป็นความบันเทิงสำหรับชนชั้นแรงงาน จะเห็นได้ว่าศูนย์กลางของภาพยนตร์ในจีนอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เพราะพื้นที่ของประเทศกว้างใหญ่ไพศาลทำให้การขนส่งฟิล์มไปยังเมืองอื่น ๆ ทำได้อย่างลำบาก บางทีกินเวลาหลายเดือน



ทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีน เป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างหนังจีนที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ มีหนังที่นำเสนอความคิดทางการเมือง และมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงการสร้างอัตลักษณ์ของคนจีนในสื่อภาพเคลื่อนไหว ซึ่งยังถูกมองว่าเป็นสื่อที่รับมาจากโลกตะวันตก ความระส่ำระสายก่อนจะเกิดสงครามและลัทธิชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้น นำมาซึ่งการใส่อุดมการณ์เข้าไปในสื่อที่แต่เดิมเป็นเพียงความบันเทิง หนังที่มีความคิดก้าวหน้า มีแง่มุมทางสังคมหรือแสดงภาพความยากเข็ญของชนชั้นล่าง เช่น The Goddess (1932) The Fisherman’s Song (1934) Street Angels (1937) หรือแม้แต่หนังชีวิตประโลมโลก ก็ยังสอดแทรกแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านจักรวรรดินิยมลงไปเพราะเป็นสิ่งที่คนดูต้องการ ที่น่าสนใจคือ หนังจีนในช่วงดังกล่าวมักใช้ตัวละครผู้หญิงเป็นตัวเด่น เพื่อประกอบสร้างสิ่งที่เรียกว่า New Woman หรือหญิงสมัยใหม่ในช่วงเวลาของการแสวงหาอัตลักษณ์ของชาติผ่านภาพเคลื่อนไหว 


เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดแมนจูเรีย หนังจีนกลายเป็นเครื่องมือเพื่อ “ปกป้องดินแดน” และ “ต่อต้านผู้รุกราน” อย่างเต็มตัว ทั้งหนังเล่าเรื่อง เช่น Protect Our Home (1938) หรือ Fight to the Last (1938) และ Mulan Joins the Army (1939) โดยทั้งฝ่ายก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ต่างร่วมมือกันใช้ประโยชน์จากสื่อภาพยนตร์ในการระดมความฮึกเหิม  


อีกทั้งยังมีหนังข่าวและแอนิเมชันที่มุ่งโจมตีญี่ปุ่น ศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์ในช่วงนี้ยังคงอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่ในขณะเดียวกัน ความซับซ้อนของคำนิยาม “หนังจีน” เริ่มเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อมีการสร้าง “หนังจีน” ในดินแดนแมนจูเกา หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ดาราหญิงคนสำคัญในช่วงเวลานั้นคือ หลี่ เชียงหลาน หรือยามากูชิ โยชิโกะ ดาราญี่ปุ่นที่เกิดและโตในแมนจูเกา และกลายเป็นนักแสดงสองวัฒนธรรมที่โด่งดังจากหนังหลายเรื่อง เช่น Sayon’s Bell (1943) และ My Nightingale (1944) นอกจากนี้ ฮ่องกงซึ่งยังคงอยู่ใต้อาณัติอังกฤษเริ่มกลายเป็นแหล่งผลิตและฉายหนังภาษาจีนที่สำคัญ เนื่องจากยังมีอิสระและไม่ถูกคุกคามโดยกองทัพญี่ปุ่น


หลังสงครามโลก สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ติดตามมาทันที แต่ไม่น่าเชื่อว่าในภาวะระส่ำระสายเช่นนี้ ช่วง ค.ศ. 1946-1949 เป็นยุคที่หนังจีนถูกสร้างอย่างแพร่หลาย ทั้งหนังการเมืองและหนังเอพิคเชิงประวัติศาสตร์ที่มองสภาพบ้านเมืองของจีนที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากมายาวนานต่อเนื่อง อย่าง Far Away Love (1947) Spring River Flows East (1947) และหนังคลาสสิก Springtime in a Small Town (1949) อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงในปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ช่วงเวลา 17 ปี (1949-1966) เป็นช่วงแห่งการต่อต้าน “หนังจักรวรรดินิยม” ในขณะที่ศิลปินถูกส่งเสริมให้รับใช้อุดมการณ์ของรัฐ หนังที่สร้างกันในช่วงนี้คือหนังโฆษณาชวนเชื่อและหนังส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีการจัดชุดเร่ฉายตระเวนไปตามหัวเมืองห่างไกล ช่วงที่คึกคักที่สุดมีหน่วยหนังเร่ถึงเกือบห้าพันหน่วยทั่วประเทศจีน ส่วนคนงานมี “หน้าที่” ต้องดูหนัง ในปี 1953 เชื่อว่ามีคนจีนดูหนังมากถึง 752 ล้านคน



การเดินทางของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในปลายทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องถึง 1980 เมื่อ “ผู้กำกับรุ่นที่ห้า” ของ Beijing Film Academy สร้างกระแสหนังจีนยุคใหม่พร้อม ๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในประเทศ ผู้กำกับคนดังอย่างจางอี้โหมว และเฉินไค่เก๋อ เริ่มสร้างชื่อจากหนังสะท้อนสังคมที่มีสุนทรียศาสตร์ละเมียดละไม แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นจีนและพูดถึงการต่อสู้ของปัจเจกและสังคมไปพร้อม ๆ กัน หนังสำคัญในช่วงนี้มีตั้งแต่ Yellow Earth (1984) Red Sorghum (1987) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเข้าสู่ตลาดโลก วิสัยทัศน์ของผู้กำกับรุ่นที่ห้าเริ่มขยับเข้าสู่การมองหาตัวตนของจีนในฐานะภาพยนตร์โลก จางอี้โหมว (และดาราคู่บุญ กงลี่) กลายเป็นหน้าตาของหนังจีนที่ถูกนำเสนอต่อผู้ชม ในหนังอย่าง Ju Dou (1990) Raise the Red Lantern (1991) และ The Story of Qiu Ju (1992) 


หลังจากนั้น หนังจีนก้าวเข้าสู่ยุคร่วมสมัยที่บางทีเรียกว่า Urban Cinema ในยุคปลาย 1990 เป็นการสิ้นสุดของการทำหนังเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง แต่เป็นหนังที่เข้าสู่ระบบตลาดสมัยใหม่ มีผู้ชมกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมักเป็นหนังจากการร่วมมือกันระหว่างผู้สร้างเอกชนและหน่วยงานของรัฐ อันเป็นระบบที่ยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน


ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คือสาระสำคัญของหนังสือ The Chinese Cinema Book แต่นอกจากภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ หนังสือเล่มนี้ยังมีบทที่พูดถึงหนังไต้หวัน โดยเฉพาะหนังแนวสัจนิยมที่โด่งดังและเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาตัวตนของผู้คนในเกาะไต้หวันยุคเริ่มต้น นอกจากนี้หนังสือยังพูดถึงหนังฮ่องกง ทั้งหนังกำลังภายในและอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง “หนังจีน” นอกอาณาเขตแผ่นดินใหญ่เหล่านี้มีเอกลักษณ์ของการนำเสนอ ภาษาที่ใช้ และกลุ่มผู้ชมที่แตกต่างออกไป แสดงให้เห็นความรุ่มรวย ความหลากหลาย และมิติทางวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ค่านิยม แต่ในขณะเดียวกันก็ผันแปรไปตามสภาวะท้องถิ่น และการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว   


An Amorous Histor of the Silver Screen: Shanghai Cinema 1896-1937

โดย Zhang Zhen 



หนังสือที่พูดถึงยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์ในจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะการวิวัฒนาการและเสน่ห์รัญจวนของวงการภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 


China on Film: A Century of Exploration, Confrontation, and Controversy

โดย Paul G. Pickowicz 




อีกหนึ่งเล่มที่พูดถึงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ยุคหนังเซี่ยงไฮ้ ไล่เรียงมาถึงหนังอินดี้จีนร่วมสมัย ผู้เขียนเป็นนักวิชาการภาพยนตร์ที่เคยอาศัยอยู่ในปักกิ่งเป็นเวลานาน


Moving Figures: Class and Feeling in the Films of Jia Zhangke

โดย Corey Kai และ Nelson Schultz 




เป็นหนังสือที่พูดถึงหนังของผู้กำกับจีนร่วมสมัย เจียจางเคอะ ที่มุ่งทำหนังอันว่าด้วยผู้คนที่ถูกพัดพาไปในกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการปรับฐานชนชั้นในสังคมจีนในช่วง 20 ปีมานี้


Cinema Approaching Reality: Locating Chinese Film Theory

โดย Victor Fan 




หนังสือวิชาการเล่มสำคัญนี้ วิเคราะห์ภาพยนตร์จีนและพยายามแสวงหาปรัชญาภาพยนตร์แบบโลกตะวันออก เพื่ออธิบาย “ความจริง” หรือ “ความเสมือนจริง” ที่ปรากฏในสื่อภาพยนตร์ และเคยถูกอธิบายมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยแนวคิดตะวันตก


สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถมาอ่านได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ของหอภาพยนตร์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. -17.00 น. กรุณานัดหมายล่วงหน้าก่อนใช้บริการที่ https://www.fapot.or.th/main/library 



หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด