หนึ่งศตวรรษ “The Kid” ผลงานเปลี่ยนชีวิตของ ชาร์ลี แชปลิน

ครบรอบ 100 ปี ผลงานที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของยอดดาวตลก และส่งให้เขาได้กลายเป็นศิลปินเอกผู้ครองใจผู้ชมทั่วโลก

----------



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: criterion.com


ตลอดชีวิตในการอุทิศเพื่อศิลปะภาพยนตร์ของ ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลกชาวอังกฤษ เขาประสบกับจุดเปลี่ยนในชีวิตมากมาย ทั้งการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนังเงียบไปสู่หนังเสียง การถูกเนรเทศออกจากประเทศ เพราะถูกใส่ร้ายว่าทำภาพยนตร์ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ฯลฯ แต่หากจะกล่าวว่า จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดบนเส้นทางจอเงินสำหรับเขา ซึ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตกและเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญให้แก่ภาพยนตร์ตลกอย่างที่ไม่เคยมีใครสามารถทำได้มาก่อน คือการเกิดขึ้นของ The Kid ผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ที่ออกฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 หรือเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว


ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่แชปลินจะสร้าง The Kid ผลงานส่วนใหญ่ของเขามักเป็นภาพยนตร์ตลกแบบเจ็บตัว (Slapstick)  โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นการถ่ายทำ Sunnyside (1919) แชปลินเกิดปัญหาการปรับตัวในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ มิลเดรด แฮร์ริส ภรรยาคนแรกของเขา จนกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์อย่างรุนแรง เขาต้องหาทางผ่อนคลายตนเองด้วยการไปดูการแสดงระบำ กระทั่งได้พบเด็กชายหน้าตาน่ารักน่าชังวัย 4 ขวบนามว่า แจ็กกี้ คูแกน ซึ่งออกมาขอบคุณผู้ชมในช่วงท้าย แชปลินประทับใจในความน่าเอ็นดูของคูแกนเป็นอย่างมาก จนสามารถคิดโครงเรื่องภาพยนตร์เรื่องใหม่ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมตั้งปณิธานว่า จะนำเด็กชายมากเสน่ห์คนนี้มาโลดแล่นบนจอเงินร่วมกับเขาให้ได้


ในกระบวนการสร้าง The Kid แชปลินมีความคิดริเริ่มที่จะเปลี่ยนแนวทางการเล่าเรื่องจากตลกเจ็บตัวเป็นตลกสะเทือนอารมณ์ โดยนำประสบการณ์อันเลวร้ายเมื่อตอนอายุ 7 ขวบ ช่วงเวลาที่เขาถูกพรากจากแม่ให้มาอยู่ในการดูแลของสถานเลี้ยงเด็ก มาดัดแปลงและเล่าผ่านตัวละครชายจรจัด ซึ่งบังเอิญพบทารกชายถูกทิ้งไว้ข้างถนน ก่อนจะรับเลี้ยงไว้จนเด็กชายคนนี้อายุ 5 ขวบ กระทั่งความจริงได้รับการเปิดเผยว่า เขาไม่ใช่พ่อของเด็กที่แท้จริง ทำให้เด็กต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ด้วยความผูกพันที่เกิดขึ้น ทำให้ชายจรจัดต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อนำเด็กชายคนนี้กลับมาอยู่ในความดูแลของตัวเองเช่นเดิม  โดยตัวละครชายจรจัดร่างเล็ก หรือ The Tramp  ที่มาพร้อมกับหนวดทรงแปรงสีฟันเหนือริมฝีปาก สวมหมวกใบจิ๋ว เสื้อคลุมตัวเล็ก กางเกงหลวมโพรก และรองเท้าขนาดใหญ่นี้ ถือเป็นภาพแทนตัวละครของแชปปลินแทบทุกเรื่องในยุคหนังเงียบ



 

ภาพ: ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง The Kid 


ระหว่างและหลังการถ่ายทำ The Kid แชปลินต้องพบอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการใช้ระยะเวลาถ่ายทำยาวนานกว่า 5 เดือนครึ่ง ซึ่งถือเป็นเวลาที่ยาวมากสำหรับกองถ่ายทำภาพยนตร์ในยุคนั้น รวมถึงปัญหาเรื่องการจ่ายค่าเลี้ยงดู ภายหลังการหย่าขาดกับ มิลเดรด แฮร์ริส ตลอดความขัดแย้งทางความคิดกับบริษัทเฟิร์ส เนชั่นแนล (First National) ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ จนกระทบกับการทำงานตัดต่อ เพื่อหลีกหนีปัญหาดังกล่าว แชปลินและทีมงานต้องลักลอบนำฟิล์มกว่า 500 ม้วน ย้ายไปตัดต่อที่โรงแรมซอลต์ เลค ซิตี้ ในเมืองนิวยอร์ก 


ภายหลังตัดต่อสำเร็จ ในวันที่ 21 มกราคม 1921 เขาทดลองฉาย The Kid ครั้งแรก ในรอบการกุศลเพื่อเด็กยากไร้ ให้สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติอเมริกา (National Board of Review of Motion Pictures) ได้ชม ณ โรงละครคาร์เนกี โดยไม่แน่ใจว่าผู้ชมจะมีปฏิกิริยาต่อการนำเสนอตลกแนวทางใหม่ของเขาอย่างไร แต่ผลตอบรับที่ได้กลับดีเกินคาด ผู้ชมต่างพากันส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง มีอารมณ์ร่วม หัวเราะ และปรบมืออย่างสนุกสนาน ซึ่งทำให้แชปลินมั่นใจกับแนวทางการทำงานที่ตัวเองเลือกมากยิ่งขึ้น


หลังการฉายรอบทดลองครั้งแรกไม่นาน แชปลินและบริษัท เฟิร์ส เนชั่นแนล สะสางปัญหาและตกลงทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์ของภาพยนตร์ร่วมกันสำเร็จ จากนั้น The Kid ได้ออกฉายแบบวงกว้างทั่วอเมริกาครั้งแรก ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1921 พร้อมกับได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางว่า เป็นภาพยนตร์ตลกแนวทางใหม่ที่โดดเด่นและไม่ซ้ำใคร สามารถเรียกเสียงหัวเราะ โดยสอดแทรกความเป็นจริงในสังคม บนความประโลมโลกและเพ้อฝันได้ในเวลาเดียวกัน 


The Kid นำมาซึ่งชื่อเสียงและรายได้อย่างมหาศาลให้กับแชปลิน ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการทางภาพยนตร์ของเขา ต่อผลงานตลกเสียดสีสังคมเรื่องอื่น ๆ อย่าง The Gold Rush (1925), City Lights (1931), Modern Times (1936), The Great Dictator (1940) ฯลฯ รวมทั้งทำให้ แจ็คกี้ คูแกน เป็นนักแสดงเด็กที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกอีกด้วย


 

ภาพ: ชาร์ลี แชปลิน และ แจ็คกี้ คูแกน

ที่มา: charliechaplin.com


ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ The Kid ยังคงได้รับการยกย่องจากหลาย ๆ สำนักภาพยนตร์ว่า เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เงียบที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก โดยในปี 2011 The Kid ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นภาพยนตร์แห่งชาติจากหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (The Library of Congress) ในฐานะภาพยนตร์ที่ให้คุณค่าสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกล้าคิดนอกกรอบต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ ๆ อันเป็นมรดกทางความคิดที่ ชาร์ลี แชปลิน ผู้มีสถานะเป็นดั่งอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์โลก ส่งมอบให้แก่ศิลปินรุ่นหลังยึดเป็นต้นแบบในเวลาต่อมา  


The Kid จึงไม่เพียงแต่เป็นผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของแชปลิน หากแต่ยังถือเป็นหนังเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก หอภาพยนตร์จึงได้จัดสร้างประติมากรรม ชาร์ลี แชปลิน และ แจ็คกี้ คูแกน ที่ดัดแปลงมาจากฉากสำคัญในเรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้เชื่อมโยงกับสถานที่และประติมากรรมบุคคลสำคัญอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการเมืองมายา และเพื่อให้ผู้ชมในเมืองไทยได้รู้จักศิลปะภาพยนตร์ชิ้นเอกเรื่องนี้ ที่ทั้งสอนธรรมและครองใจนักดูหนังทั่วโลกมายาวนานนับร้อยปี 


 

ภาพ: ประติมากรรม ชาร์ลี แชปลิน และ แจ็คกี้ คูแกน บริเวณนิทรรศการเมืองมายา


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด