สำรวจผลงานของผู้กำกับหนังไต้หวันที่คุณ (อาจ) ไม่รู้จัก ในโปรแกรม Taiwan Cinema Toolkit ชุดใหม่ของหอภาพยนตร์

"ทำความรู้จักกับภาพยนตร์ไต้หวันหลากหลายเรื่องราวที่จะจัดฉายตลอดปีนี้ที่หอภาพยนตร์”

----------


โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ


“Taiwan Cinema Toolkit” หรือ “ชุดเครื่องมือภาพยนตร์ไต้หวัน” เป็นหนึ่งในโครงการชุดเครื่องมือทางวัฒนธรรม (Taiwan Cultural Portal) ที่กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน (Ministry of Culture Republic of China) จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 ดำเนินการโดยสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศน์แห่งชาติไต้หวัน (Taiwan Film and Audiovisual Institute) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่รายการภาพยนตร์และสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายในการฉายภาพยนตร์ ให้แก่บุคคลทั่วไป นักจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ตลอดจนหน่วยงานในประเทศใด ๆ ที่สนใจนำภาพยนตร์ไต้หวันที่ได้รับการคัดสรรแล้ว ไปใช้ในกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไปโดยไม่แสวงผลกำไรได้ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย และให้ภาพยนตร์ไต้หวันเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น


ในปีที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand) ดำเนินการจัดฉายภาพยนตร์ไต้หวันจากโครงการชุดเครื่องมือภาพยนตร์ไต้หวัน ไปทั้งหมด 7 เรื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการสานต่อโครงการดังกล่าว ปีนี้ ทีมงานจัดรายการของหอภาพยนตร์ยังคงทำการคัดสรรภาพยนตร์ไต้หวัน ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสาระและความบันเทิง ตลอดจนแนะนำให้รู้จักกับผลงานของเหล่านักทำหนังไต้หวันคนสำคัญอื่น ๆ ที่อาจไม่ได้รับการกล่าวถึงเทียบเท่ากับ โหวเสี้ยวเสียน (Hou Hsiao-hsien), เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang), อั้งลี่ (Ang Lee), ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง 


ภาพยนตร์ไต้หวันในโครงการ Taiwan Cinema Toolkit ชุดใหม่ ที่หอภาพยนตร์จะจัดฉายในปีนี้ ประกอบไปด้วยผลงานที่มีรสชาติและเนื้อหาที่หลากหลาย สอดรับกับประเด็นทางการเมืองและสังคมในแต่ละยุคสมัย รวมถึงเผยให้เห็นถึงพัฒนาการในช่วงเวลาประวัติศาสตร์กว่าหนึ่งศตวรรษของภาพยนตร์ไต้หวัน โดยมีทั้งภาพยนตร์คลาสสิกแนวเมโลดราม่าที่สร้างในยุคทองของวงการหนังไต้หวัน, สามผลงานเรื่องสำคัญของ “ว่านเจิน (Wan Jen)” ผู้กำกับรุ่นบุกเบิกของกลุ่มคนทำหนังไต้หวันคลื่นลูกใหม่ (Taiwan New Wave) รวมถึงผลงานด้านภาพสุดหวือหวาในยุค 90 ของ “เหอผิง (Ho Ping)” ผู้กำกับไต้หวันคลื่นลูกใหม่ รุ่นที่ 2, สารคดีคุณภาพ 3 เรื่อง 3 รส ที่คว้ารางวัลมาแล้วจากเทศกาลภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ, หนังร่วมสมัยของ “จางจั้วจี้ (Chang Tso-chi)” และ “จงเมิ่งหง (Chung Mong-hong)” สองผู้กำกับคนสำคัญที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหนังแนวตลก-โรแมนติกที่มีเส้นเรื่องว่าด้วยการก้าวข้ามพ้นวัยของตัวละครวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นสำคัญของหนังไต้หวันในยุคหลังอีกด้วย และนี่คือรายชื่อภาพยนตร์ไต้หวันทั้ง 12 เรื่อง 


1. A Time in Quchi (2013, Chang Tso-chi, 109 นาที)


 


ผลงานการกำกับของ จางจั้วจี้ ผู้กำกับรุ่นใหญ่ ซึ่งเคยฝากผลงานที่น่าจดจำอย่าง Darkness and Light (1999) และ The Best of Times (2001) เล่าเรื่องราวในช่วงวันหยุดปิดเทอมภาคฤดูร้อนของ อาเปา เด็กชายวัย 10 ขวบจากไทเป ซึ่งถูกส่งให้ไปอยู่ที่บ้านอากงในเมืองต่างจังหวัดติดแม่น้ำเล็ก ๆ ที่นั่นเอง เขาต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ ซึ่งทำให้เขาเติบโตและเรียนรู้ที่จะก้าวเป็นผู้ใหญ่อีกขั้น


A Time in Quchi ออกฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2013 ได้รับเสียงชื่นชมในด้านของการเล่าเรื่องที่ขับเน้นไปยังภาพรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเด็กชายจากเมืองหลวง ผู้พยายามหลอมรวมตัวตนเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ โดยปราศจากการปรุงแต่งวัตถุดิบเพื่อขับเน้นอารมณ์ของเรื่อง จนได้รับการนำมาเปรียบเทียบกับ A Summer at Grandpa's (1984) ผลงานสำคัญอีกเรื่องของ โหวเสี้ยวเสียน ผู้กำกับไต้หวันนิวเวฟชั้นบรมครู


*หมายเหตุ – ภาพยนตร์เรื่อง A Time in Quchi จัดฉายแล้วในเดือนมกราคม


2. It Takes Two to Tango (2014, Wan Jen, 105 นาที)


 


ภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอเมดี้ ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของ ว่านเจิน ผู้กำกับหัวหอกแห่งยุคไต้หวันนิวเวฟ รุ่นเดียวกับเอ็ดเวิร์ด หยาง และโหวเสี้ยวเสียน ถ่ายทอดเรื่องราวของ อาจ้าว ชายหนุ่มที่เดินทางจากปักกิ่งมายังไต้หวัน เพื่อพบกับ ชินอี้ ว่าที่ภรรยา แต่ด้วยปัญหาระหองระแหงทางประวัติศาสตร์การเมืองจากทั้งสองประเทศ ทำให้ครอบครัวของชินอี้ปฏิเสธที่จะให้ทั้งคู่แต่งงานกัน ทว่าต่อมา ชินอี้กลับทราบข่าวว่าตนเองตั้งครรภ์ เรื่องราวชวนหัวซึ่งพัวพันกับพื้นเพดั้งเดิมของบรรพบุรุษจากทั้งสองครอบครัวจึงเกิดขึ้น 


3. Soul (2013, Chung Mong-hong, 111 นาที)


 


ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเชิงจิตวิทยาของ จงเมิ่งหง ผู้กำกับรางวัลม้าทองคำ จาก The Fourth Portrait (2010) และ A Sun (2019) บอกเล่าเรื่องราวของ อาฉวน เชฟประจำร้านอาหารญี่ปุ่น ที่วันหนึ่งเกิดเป็นลมหมดสติไป และถูกส่งตัวกลับมาอยู่ที่บ้านร่วมกับพ่อวัยชราและพี่สาวในเมืองต่างจังหวัดที่ล้อมรอบไปด้วยหุบเขา แต่พอตื่นขึ้นมา เขากลับกลายเป็นคนละคน พร้อมอ้างกับทั้งสองว่า เขาเป็นวิญญาณอื่นที่บังเอิญพบร่างนี้ว่างอยู่จึงเข้ามาสิงสถิต จากนั้นเกิดเหตุการณ์สยองบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งนำมาสู่บททดสอบความสัมพันธ์ของพ่อลูก โดยมีเรื่องของวิญญาณและการปกปิดความลับภายในครอบครัว เข้าพัวพันกับการคลี่คลายเงื่อนงำจากเหตุการณ์สุดสะพรึงในครั้งนี้


4. Super Citizen Ko (1995, Wan Jen, 121 นาที)


 


ผลงานชิ้นเอกของ ว่านเจิน ว่าด้วยเรื่องราวของชายชราอดีตนักโทษทางการเมือง ผู้เคยถูกจองจำบนเกาะกรีนจากเหตุการณ์ White Terror หรือเหตุการณ์การกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 โดยภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวออกจากคุก เขายังกักขังตัวเองเอาไว้ในบ้านพักผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอีกหลายปี วันหนึ่งเขาตัดสินใจออกตามหาหลุมฝังศพเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เคยถูกสังหาร พร้อม ๆ กับหวนรำลึกถึงอดีตและประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ ผ่านเพื่อนนักโทษและผู้คุมที่เคยร่วมชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ 


นี่เป็นผลงานเรื่องเยี่ยม ที่ว่านเจินหยิบเอาเหตุการณ์ซึ่งนับว่าสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองสมัยใหม่ของประเทศ มาถ่ายทอดโดยสะท้อนเรื่องราวผ่านการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อสื่อถึงร่องรอยบาดแผลอันแสนเศร้าของเหยื่ออาชญากรรมโดยรัฐ ซึ่งต้องอันตรธานไปจากสังคมนานนับหลายปี และกลับมาเผชิญกับภาวะในอดีตอันขมขื่นของตัวเองอีกครั้ง 

 

5. Eighteen (1993, Ho Ping, 104 นาที)


 


ภาพยนตร์แนวทดลองที่ได้รับเสียงชื่นชมว่า สามารถนำเรื่องราวตามขนบหนังไต้หวันนิวเวฟที่ถ่ายทอดรายละเอียดของตัวละครตามสภาพความเป็นจริง มาผสมผสานเข้ากับงานภาพสุดหวือหวาแบบมิวสิกวิดีโอช่อง MTV ได้อย่างลงตัว ผลงานชิ้นเอกของ เหอผิง ผู้กำกับคนสำคัญของกลุ่มคนทำหนังไต้หวันนิวเวฟ รุ่นที่ 2 


เหอผิง มุ่งสำรวจประเด็นอัตลักษณ์ชาติกำเนิดของตัวละครที่ต้องพลัดถิ่นจากการลี้ภัยสงครามกลางเมืองในปี 1945 ผ่านสัญลักษณ์เชิงการเมืองต่าง ๆ โดยบอกเล่าผ่านตัวละครไกด์นำเที่ยว ซึ่งพาภรรยาและลูกสาวไปเที่ยวที่เมืองติดชายทะเลแห่งหนึ่ง ที่นั่น เขาใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนอยู่กับการเล่นการพนัน จนทำให้ภรรยาและลูกสาวทนไม่ไหว จำต้องทิ้งเขาไป จากการเดินเตร็ดเตร่เพียงลำพัง ทำให้เขาค่อย ๆ ดื่มด่ำกับบรรยากาศของหมู่บ้านชาวประมงอันเงียบสงบที่เต็มไปด้วยซากอาคารปรักหักพัง คนเร่ร่อน คนนอกกฎหมาย และคนแปลกหน้า 


6. Quicksand: The Life of Hsu Pu-Liao As An Actor (2011, Jino Chen / Wu Yao-Tung, 30 นาที)


 


สารคดีที่พาจะไปพบกับเรื่องราวของ ซู่พู่เลียว นักแสดงตลกในตำนานชาวไต้หวัน ซึ่งจากไปก่อนวัยอันควรด้วยวัยเพียง 34 ปี ผ่านเสียงสัมภาษณ์จากอดีตเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัว ที่มาบอกเล่าถึงความสามารถอันหลากหลาย ในช่วงเวลาที่ดาวตลกมากพรสวรรค์คนนี้ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง


7. Tomorrow Comes Today (2013, Chen Ming-Lang, 83 นาที)


 


ภาพยนตร์แนวตลกร้าย ผลงานการกำกับขนาดยาวเรื่องแรกของ เฉินหมิงหลาง บอกเล่าเรื่องราวของ ต้าอี้ พนักงานส่งอาหารจีนชาวไต้หวัน ผู้ซึ่งตระเวนออกตามหาแม่ของตัวเองทั่วทั้งมหานครนิวยอร์ก โดยมีเบาะแสเป็นภาพถ่ายของ มาร์ลีน ดีทรีช นักแสดงสาวชาวเยอรมัน ขณะเดียวกันอีกเส้นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวของ เวย์น ชายหนุ่มข้างห้องของต้าอี้ ผู้เพิ่งถูกแฟนทิ้งและพยายามจะลืมคนรักเก่าโดยอาศัยวิธีการตามคำแนะนำจากแบบฝึกหัดในม้วนวิดีโอ 


เฉินหมิงหลาง นำสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองมาถ่ายทอดผ่านตัวละคร เพื่อสะท้อนถึงอารมณ์เปลี่ยวเหงาของคนพลัดถิ่นที่ต้องไปใช้ชีวิตกลางเมืองใหญ่นอกบ้านเกิด รวมทั้งสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศ บนสถานการณ์แปลกประหลาดต่าง ๆ ที่ตัวละครทั้งสองต้องเผชิญ จน Tomorrow Comes Today มีรสชาติที่ออกมาคล้ายกับผลงานยุคแรก ๆ ของเอ็ดเวิร์ด หยาง และ ไฉ้หมิงเลี่ยง สองผู้กำกับคนสำคัญแห่งวงการหนังไต้หวัน


8. Connection by Fate (1998, Wan Jen, 108 นาที)


 


ภาพยนตร์เรื่องสำคัญอีกเรื่องของ ว่านเจิน ผู้กำกับที่มักทำหนังวิพากษ์ประเด็นการเมืองในไต้หวัน โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครคนชายขอบของสังคม ว่าด้วยเรื่องราวของ อาเต๋อ อดีตนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ชีวิตพลิกผันกลายมาเป็นคนขับแท็กซี่ คืนหนึ่งเขารับผู้โดยสารชื่อ หม่าเล่อ ชายหนุ่มชนพื้นเมือง ที่เดินทางมายังกรุงไทเปเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นแรงงานก่อสร้าง ซึ่งเพิ่งพลั้งมือก่อเหตุฆาตกรรมหัวหน้าคนงานด้วยอารมณ์บันดาลโทสะ เนื่องจากถูกโกงค่าแรง


หนังได้รับเสียงชื่นชมว่า สามารถสะท้อนประเด็นการถูกเอารัดเอาเปรียบ และแสวงหาผลประโยชน์จากนายจ้างในสังคมไต้หวัน รวมถึงมีการสอดแทรกเรื่องราวความเป็นชนพื้นเมือง ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครคนตัวเล็กตัวน้อยของสังคมด้วยท่าทีที่เรียบง่ายงดงาม แม้ท้ายที่สุดแล้วสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง จะค่อย ๆ ดำดิ่งจมลึกไปสู่ความสิ้นหวังทางโชคชะตาก็ตาม


9. Money and Honey (2011, Jasmine Ching-Hui Lee, 96 นาที)


 


สารคดีบันทึกภาพแรงงามข้ามชาติฟิลิปปินส์ ที่เดินทางมาทำงานเป็นพนักงานดูแลผู้สูงอายุ ณ บ้านพักคนชราในกรุงไทเป ซึ่งผู้กำกับใช้ระยะเวลาถ่ายทำยาวนานกว่า 13 ปี เพื่อพาคนดูไปสำรวจว่า พวกเธอเหล่านี้ ต้องลงทุนลงแรงไปมากมายขนาดไหน กับการแลกมาซึ่งความฝันที่เป็นจริง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


10. Together  (2012, Hsu Chao-jen, 114 นาที)


 


เรื่องราวการก้าวข้ามพ้นวัยของ เสี่ยวหยาง เด็กหนุ่มวัย 17 ปี พร้อมกับตั้งคำถามว่า เขาควรทำอย่างไรกับหลากหลายเรื่องราวความรักว้าวุ่นที่เกิดขึ้นกับผู้คนรอบ ๆ ตัวเขา ทั้งกับ เสี่ยวหม่า เพื่อนสนิท ผู้คลั่งรักแฟนสาวอย่างหนัก, อาผิน พ่อของเขาที่มีสาวที่กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์มาพัวพัน, ความสัมพันธ์แปลกประหลาดระหว่าง มินมิน แม่ของเขา กับ เซียง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่อยู่บ้านข้าง ๆ, หลัน พี่สาวที่ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนรอคอยแฟนตัวเองมาง้อ แต่เธอหารู้ไม่ว่า ไมเคิล เพื่อนร่วมชั้น ได้มีความรู้สึกดี ๆ กับเธออยู่  

 

11. Back to Anping Harbor (1970, Wu Fei-Chien, 100 นาที)


 


ภาพยนตร์โรแมนติกที่สร้างขึ้นในช่วงปลายยุครุ่งเรืองของภาพยนตร์ไต้หวัน (ปี ค.ศ. 1955-1972) โดยภาพยนตร์ไต้หวันในช่วงเวลานั้น มักมีเนื้อหาเมโลดราม่าที่เกี่ยวข้องกับรักแรกพบ รักต้องห้าม รักต่างชนชั้น รักที่ครอบครัวกีดกัน การรอคอยคำมั่นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรัก ฯลฯ


Back to Anping Harbor  สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “Romance of Anping” บทเพลงยอดนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นำแสดงโดย หยางหลี่หัว นักแสดงละครเวทีคนสำคัญ ซึ่งเธอรับบทบาทเป็นทั้งแสดงนำและขับร้องบทเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วยตัวเอง


12. Face to Face (2013, Chung Chuan, 110 นาที)


 


สารคดีที่จะพาไปร่วมสำรวจและค้นหาความหมายว่า แท้จริงแล้วกีฬามวยปล้ำคืออะไรกันแน่? ระหว่างการเป็นกีฬาที่ว่าด้วยการต่อสู้ทางพละกำลัง หรือกีฬาแห่งความบันเทิงที่มีบทละครเป็นส่วนประกอบ ผ่านเรื่องราวทั้งเบื้องหน้าและหลังของเหล่านักกีฬามวยปล้ำจาก  Taiwan Wrestling Taipei (TWT) สมาคมกีฬามวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน


หลังจากประเดิมฉายเรื่อง A Time in Quchi ไปแล้วในเดือนมกราคม โปรแกรมหนังไต้หวันเรื่องถัดไปคือ It Takes Two to Tango ในวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ รอบ 13.00 น. หลังจากนั้นภาพยนตร์อีก 10 เรื่อง จะจัดฉายเรื่องละ 2 รอบต่อเดือน เรียงตามลำดับไปตลอดปี 2021 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (พร้อมคำบรรยายใต้ภาพภาษาอังกฤษทุกเรื่อง) ติดตามรายละเอียดรอบฉายทั้งหมด ผ่านทางเว็บไซต์ www.fapot.or.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด