เบื้องหลังการสร้างและสถานะความเป็นไปของ สาย สีมา นักสู้สามัญชน ภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์
----------
โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู
*ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลจากบทความ เมื่อ "ปีศาจ" และ "สาย สีมา" มาเยือน ในวารสารจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556
ในฐานะงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นับเป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อบรรดานักคิดนักเขียนไทยมายาวนานหลายทศวรรษ ด้วยประเด็นอันแหลมคมว่าด้วยการผลัดใบไปสู่ “สิ่งใหม่ ๆ” อันเป็นผลมาจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
สัจจะนี้ยังผลให้ “ปีศาจ”เป็นอมตะ และสิงสถิตอยู่ในความคิดอ่านของหนุ่มสาวผู้ฝักใฝ่วรรณกรรมมาทุกยุค โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “ปีศาจ” ซึ่งก่อนหน้านั้นถูกระบอบเผด็จการทหารทำให้เงียบหายไปนับสิบปี (จัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2500) ก็ได้กลับมาเป็นที่เลื่องลือของบรรดานักศึกษาปัญญาชน ส่งผลให้เกิดการพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และได้รับการจัดอันดับให้เป็น “1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน” รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักต่อสู้เพื่อปลดแอกอำนาจอันไม่เป็นธรรมมาหลายต่อหลายคน
แต่แม้กาลเวลาจะไม่อาจหยุดยั้งการหลอกหลอนของ “ปีศาจ” แห่งวงวรรณกรรมตนนี้ได้ “ปีศาจ” ในอีกสถานะหนึ่งกลับพ่ายแพ้ให้แก่กาลเวลาอย่างเงียบเชียบ เงียบจนน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ครั้งหนึ่ง เรื่องราวของสาย สีมา ทนายหนุ่มนักอุดมคติ ผู้ต่อสู้กับความกดขี่ทางชนชั้น ก็เคยได้รับการถ่ายทอดให้เกิดมีชีวิตขึ้นมาบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ จนกระทั่งหอภาพยนตร์ได้เริ่มนำกลับมาฉายเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า สาย สีมา นักสู้สามัญชน ซึ่งถ่ายเรื่องราวในนิยาย “ปีศาจ” มาโดยตรง ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้ระบุไว้ในบทความ “ปีศาจ กับอาการผีเข้าผีออกของปัญญาชนไทย” ในวารสารอ่าน ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2551 ว่า “เมื่อครั้งที่การนำนวนิยายเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในการจัดฉายหนังเรื่องนี้ให้ตัวแทนสายหนังต่างจังหวัดดูก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ เถ้าแก่สายหนังท่านหนึ่งได้เปรยขึ้นหลังจากดูจบว่า “เป็นหนังผีที่ไม่สนุกเอาเสียเลย”” ซึ่งสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับตัวนิยาย ที่ชื่อเรื่องทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องผี และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้ผู้สร้างภาพยนตร์เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เข้ากับโทนของหนังมากขึ้น แม้จะมีโปสเตอร์ฉบับที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ปีศาจ ออกมาแล้วก็ตาม
ภาพ : ใบปิดภาพยนตร์ซึ่งใช้ชื่อว่า ปีศาจ ที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต
สาย สีมา นักสู้สามัญชน ออกฉายเมื่อปี 2524 ในช่วงที่ภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคมกำลังเบ่งบาน จากปรากฏการณ์ความสำเร็จของเรื่อง ครูบ้านนอก (2521) หลังจากที่ก่อนหน้านี้บรรดาผู้สร้างต่างต้องระมัดระวังตัวท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าว ยังเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทย ด้วยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าหนังต่างประเทศสูงมากจากเมตรละ 2.20 บาทเป็น 30 บาท จนทำให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายหนังฮอลลีวูดประท้วงโดยการงดส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย เป็นช่องว่างให้มีการผลิตหนังไทยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจำนวนมาก ปีละ 130-160 เรื่อง เพื่อป้อนโรงหนังทั่วประเทศ และทำให้เกิดผู้สร้างหนังไทยรายใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะผู้สร้าง “เฉพาะกิจ” ที่มาเพื่อสร้างเพียงเรื่องเดียว
ผู้สร้าง สาย สีมา นักสู้สามัญชน อาจจะเข้าข่ายเดียวกันนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดย ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเนศ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยขรรค์ชัยได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารสารคดี ฉบับ 100 ปี เสนีย์ เสาวพงศ์ เมื่อปี 2561 ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างในปี 2522 ผู้แนะนำให้สร้าง คือ สองนักข่าวชื่อดัง พงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร และ เจญ เจตนธรรม หรือ เจน จำรัสศิลป์ (ซึ่งปรากฏเป็นชื่อผู้อำนวยการสร้างในเรื่อง) ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำราว 8 เดือน และได้เข้าฉายเมื่อ พ.ศ. 2524 ที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยม แต่ผลปรากฏว่าขาดทุนย่อยยับจนแทบล้มละลาย
“รอบแรกคนดูไม่ถึง 15 คน รอบ 2 แปดคน รอบ 3 ห้าคน เฮียโสที่คุมโรงหนังบอกไอ้ช้าง เอาหนังออกพรุ่งนี้! ใบเสร็จออกมาผมหงายหลังตึง ต้องผ่อนใช้หนี้เป็น 10 ปี เพื่อนฝูงช่วยขึ้นเช็คจนมือเปื่อย โดนเกือบ 10 ล้านบาท เป็นบทเรียนที่แสบเพราะทำเรื่องไม่ถนัด”
ภาพ : ภาพประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์จากนิตยสาร BR ที่ เซอิจิ อุโด้ ส่งให้หอภาพยนตร์
สำหรับผู้รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ ขรรค์ชัยและข้อมูลจากหลายแห่งระบุว่าเป็น สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงหญิงคนสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย แต่ในหนังสือ “สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ราชินีแห่งการละคร” เสนีย์ เสาวพงศ์ได้เขียนถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า สุพรรณได้ถอนตัวจากการเป็นผู้กำกับก่อนที่ภาพยนตร์จะสร้างเสร็จ
“เวลาผ่านไปราวสิบห้าปี ผมได้พบกับคุณสุพรรณอีกครั้ง เมื่อคณะผู้สร้างเรื่อง “ปีศาจ” นวนิยายของผมเป็นภาพยนตร์ได้มอบหมายหน้าที่กำกับการแสดงให้แก่สุพรรณ ผมรู้ฐานะของตัวเองดีว่าไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการละครหรือภาพยนตร์ จึงมอบความเป็นอิสระทั้งหมดให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสร้างภาพยนตร์ที่จะแปรนวนิยายออกมาเป็นภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดี หลังจากถ่ายทำไปเพียงไม่กี่มากน้อย คุณสุพรรณได้มาพบและบอกแก่ผมว่า จำต้องขอลาออกจากการกำกับเพราะเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นบางคน ไม่สามารถจะรับผิดชอบต่อไปอีกได้ ผมก็เพียงแต่รับทราบ เนื่องจากผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างภาพยนตร์แต่ประการใด นอกจากเป็นเจ้าของบทประพันธ์เท่านั้น”
สำหรับชื่อผู้กำกับที่ระบุไว้ในภาพยนตร์นั้นคือ หนุ่ม’22 นักแสดงนำในบท สาย สีมา กับ รัชนี นางเอกของเรื่อง ก็ใช้นามแฝงว่า โปรยชัย ชโลมเวียง กับ ศรอนงค์ นวศิลป์ ซึ่งขรรค์ชัยได้กล่าวว่าเหตุที่คนถ่ายทำใช้นามแฝง เพราะถ่ายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้ไม่นาน อย่างไรก็ตาม ในไตเติลภาพยนตร์ยังมีชื่อของ ทศพร นาคธน หนึ่งในทีมสร้างหนังไทยคนสำคัญในตอนนั้น และเป็นผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก ปรากฏในฐานะผู้ช่วยกำกับการแสดง
ภาพ : รัชนี และ สาย สีมา ในภาพยนตร์
เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ฟิล์มฉายสำเนาหนึ่งของ สาย สีมา นักสู้สามัญชน ที่เคยเข้าและออกจากโรงภาพยนตร์ไปอย่างเงียบ ๆ ได้ตกทอดมาถึงหอภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2541 จากการบริจาคของหน่วยบริการหนัง “พนงค์ภาพยนตร์” โดยฟิล์มค่อนข้างเสื่อมสภาพ สีสันเริ่มจางหาย แต่ยังมีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ จนกระทั่งหอภาพยนตร์ได้แปลงสัญญาณออกมาเป็นไฟล์ดิจิทัล และนำหนังเรื่องนี้ ออกฉายเผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556 ในรายการดูหนังกับ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นรายการที่หอภาพยนตร์จัดเป็นประจำทุกเดือนในช่วงนั้น
ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่ในรายการดูหนังกับโดมเดือนก่อนหน้านั้น เซอิจิ อุโด้ นักวิจัยวรรณกรรมไทยชาวญี่ป่น แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นรู้จักคุ้นเคยกับ โดม สุขวงศ์ มายาวนาน ได้เดินทางมาร่วมชมภาพยนตร์ในรายการนี้ด้วย และเมื่อทราบว่าโปรแกรมในเดือนถัดไป เป็นหนัง “ปีศาจ” เขาจึงแจ้งว่า ตนก็เป็นผู้ร่วมแสดงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในบททหารญี่ปุ่นที่บุกเข้ามาในพื้นที่บ้านเกิดของสาย สีมา รวมทั้งได้ส่งภาพเบื้องหลังการถ่ายทำฉากค่ายทหารญี่ปุ่น (ซึ่งขรรค์ชัยระบุว่าฉากเผาค่ายกองทัพญี่ปุ่นนั้น หมดงบประมาณไปถึง 8แสนบาท) และบทความจากนิตยสาร BR ที่ออกมาเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ในตอนนั้น ทำให้ได้ทราบข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ผู้เขียนบทคือ สมาน คำพิมาน และ เวทย์ บูรณะ นายกสมาคมนักข่าวในตอนนั้น ผู้ถ่ายภาพคือ บุญเรือง จำนงค์อุดม โดยมี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้สร้างดนตรีประกอบและบรรเลงร่วมกับวงดนตรีไทยเดิม การะเกด
ในขณะเดียวกัน ก่อนการจัดฉาย หอภาพยนตร์ก็พยายามสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม จนทราบว่า โปรยชัย ชโลมเวียง ผู้รับบทเป็นสาย สีมานั้น ชื่อที่แท้จริงคือ ประจวบ มงคลศิริ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร จึงได้ติดต่อเรียนเชิญให้มาชมภาพยนตร์และร่วมสนทนาด้วย โดยนายแพทย์ประจวบได้ตอบรับเป็นอย่างดี และยังพาคณะจากโรงพยาบาลพิจิตร เดินทางไกลข้ามภูมิภาคมาร่วมชมอีกกว่ายี่สิบชีวิต
ภาพ : นายแพทย์ประจวบ มงคลศิริ ในรายการดูหนังกับโดม เมื่อ พ.ศ. 2556
ในวันฉายดังกล่าว ผู้ชมจึงได้พบ “สาย สีมา” ทั้งในจอ และนอกจอ โดยคุณหมอได้เล่าย้อนให้ฟังตั้งแต่ช่วงชีวิตในวัยเยาว์ว่า เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดและเรียนที่อุทัยธานี จนจบ มศ.3 จึงเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเษก โดยอาศัยกินอยู่ที่วัดมหาธาตุ คล้ายกันกับสาย สีมา ในวัยเยาว์ และ ด้วยความที่วัดมหาธาตุนั้นอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาจึงได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษามาตั้งแต่ชั้นมัธยม ทั้งยังได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระทั่งเมื่อสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แล้วก็ยังคงเป็นนักกิจกรรมตัวยง จนวันหนึ่ง ได้มีโอกาสขึ้นเวทีอภิปรายร่วมกับ ขรรค์ชัย บุนปาน เจน จำรัสศิลป์ และเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งได้รับเชิญมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภายหลังจบการอภิปราย ขรรค์ชัยได้เข้ามาทาบทามให้เขามารับบทเป็น สาย สีมา ในภาพยนตร์เรื่องนี้ หมอประจวบในวันที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมคติทางการเมืองจึงตกปากรับคำ และเดินทางลงไปร่วมถ่ายทำที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นหลัก โดยมีนักแสดงนำอีก 3 คน คือนางเอก และคู่รอง เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยชื่อ โปรยชัย ชโลมเวียง และ ศรอนงค์ นวศิลป์ คุณหมอประจวบกล่าวว่า เป็นความคิดของผู้สร้างที่อยากให้ชื่อนั้นมีความหมายในเชิงอุดมคติอย่างเดียวกับแก่นของนวนิยาย การถ่ายทำใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ระหว่างนั้น เขายังได้รับการทาบทามให้รับบทพระเอกหนังอีกหนึ่งเรื่อง คือ ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ภาพยนตร์จากการ์ตูนการเมืองของชัย ราชวัตร ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำสั้น ๆ เพียง 2 อาทิตย์ ก่อนจะต้องหยุดรับงานแสดงเรื่องอื่นที่มีผู้ทาบทามเข้ามาอีก เนื่องจากต้องขาดเรียนบ่อยจนถูกทักท้วงจากอาจารย์
นอกจากพระเอกของเรื่อง ในการฉายครั้งนั้น ทาดาชิ โอโนซากิ เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้รับบทเป็นทหารญี่ปุ่น รวมกับ เซอิจิ อุโด้ ก็มาร่วมชมภาพยนตร์ด้วย ซึ่งเป็นการได้ชมภาพยนตร์ครั้งแรก โดยนอกจากชาวญี่ปุ่นทั้ง 2 ท่าน บททหารญี่ปุ่นยังมี บัญญัติ สุการวิทย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาร่วมแสดง โดยชื่อของทั้งสามได้ปรากฏอยู่ในเครดิตตอนต้นเรื่อง ในฐานะนักแสดงเกียรติยศ
ภาพ : ทาดาชิ โอโนซากิ ผู้รับบทเป็นทหารญี่ปุ่น น.พ.ประจวบ มงคลศิริ และคุณโดม สุขวงศ์
ขณะที่ โดม สุขวงศ์ เจ้าของรายการ ผู้เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้คราวที่ออกฉายจริงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และไม่ประทับใจนักในแง่ของความเป็นภาพยนตร์ กล่าวในวันนั้นว่า เมื่อได้มาดูอีกครั้งกลับรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม แม้ทีมงานสร้าง ซึ่งโดยมากเป็นนักคิดนักหนังสือพิมพ์ อาจจะยังไม่แข็งแรงพอสำหรับการทำภาพยนตร์ แต่ก็เห็นถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดสารของวรรณกรรมเรื่องนี้ออกมาให้ได้ถึงคนหมู่มาก โดยเฉพาะการแสดงของคุณหมอประจวบ มงคลศิริ นั้น ฉายให้เห็นถึงสปิริตแบบเดียวกันกับสาย สีมาในวรรณกรรม ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันจิตวิญญาณนี้ก็ยังคงอยู่ จากวิธีพูดและความคิดที่คุณหมอประจวบสื่อออกมาให้เห็นในวันนั้น
แม้ภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ค่อยเต็มคุณภาพนัก แต่ก็ยังสามารถทำให้ผู้ชมในวันนั้นที่ไม่เคยรู้จัก “ปีศาจ” มาก่อน ได้สัมผัสกับความคิดฝันของคนหนุ่มสาวผู้ต้องการก้าวพ้นออกไปจากความเชื่ออันคร่ำครึเรื่องชนชั้นวรรณะ ความอยุติธรรมนานา และเสาะแสวงหาถึงสิ่งที่ดีกว่าในสังคม ฉากสำคัญท้ายเรื่องเมื่อ สาย สีมา ลุกขึ้นกล่าวถึงอุดมคติของโลกใหม่ ท่ามกลางบรรดาศักดินาเก่าที่เรียงรายอยู่รอบโต๊ะอาหารชั้นสูงนั้น สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมหลายคนจนถึงขั้นเอ่ยปากว่าอยากให้หอภาพยนตร์นำออกไปจัดฉายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวในยุคนี้
ภาพ : ผู้รับบท รัชนี และ สาย สีมา มาพบกันอีกครั้ง ในงานรำลึกเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ. 2557
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2557 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานรำลึกชีวิตและผลงานของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) และได้ขอนำ สาย สีมา นักสู้สามัญชน จากหอภาพยนตร์ มาจัดฉายให้ชมในงาน พร้อมเชิญนายแพทย์ประจวบ มงคลศิริ มาขึ้นบรรยายก่อนฉาย รวมทั้งได้เชิญนางเอกผู้รับบทรัชนีในเรื่องมาร่วมชมด้วย เป็นการฉายท่ามกลางผู้ชมนับร้อยคนที่แน่นขนัด นับเป็นการปลุกชีพให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเมื่อตอนออกฉาย ทั้งยังสร้างความบอบช้ำให้แก่ผู้สร้าง แต่จิตวิญญาณซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวรรณกรรม รวมทั้งสปิริตของทีมงานที่ต้องการปลุกชีวิตและอุดมคติของ สาย สีมา ให้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ ก็คุ้มค่าพอที่จะกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นไม่สูญเปล่า ซ้ำยังสมควรได้รับการนำกลับมาพิจารณาใหม่ในคืนวันที่บริบทต่าง ๆ เปลี่ยนไป แต่ใจกลางของปัญหายังคงตามมาหลอกหลอนสังคมไทยอยู่เช่นเดิม ปัจจุบันหอภาพยนตร์จึงได้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้มาสแกนภาพใหม่ให้คมชัดและบูรณะสีสันบางส่วนกลับมา เพื่อให้ “ปีศาจ”ตนนี้ยังคงอยู่ และได้ออกมาอาละวาดต่อความคิดอ่านของใครอีกหลายคนบนโลกภาพยนตร์
ภาพ : ฉากค่ายทหารญี่ปุ่นที่ เซอิจิ อุโด้ ส่งให้หอภาพยนตร์
สาย สีมา นักสู้สามัญชน จะจัดฉายอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00 น. ณ โรงหนังช้างแดง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
สำรองที่นั่งได้ที่ <<คลิก>>
ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ <<คลิก>>