เปิดเบื้องหลังปฏิบัติการทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ ผ่านภาพยนตร์ [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] มรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 กับ “เตช บุนนาค” และ “สุทธิชัย หยุ่น”
----------
โดย เมธากุล ชาบัญ นักศึกษาฝึกงานหอภาพยนตร์
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 หอภาพยนตร์จัดกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “45 ปี คึกฤทธิ์เยือนจีน” ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์ [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] ภาพยนตร์ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมีสองวิทยากรรับเชิญ "เตช บุนนาค" หนึ่งในคณะทำงานที่รัฐบาลไทยส่งให้ไปเจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ที่จีนก่อนหน้าการเดินทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง พ.ศ. 2529 – 2533 และอีกท่านคือ "สุทธิชัย หยุ่น" ผู้ร่วมเดินทางไปในฐานะคณะผู้สื่อข่าวไทย
[ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] เป็นภาพยนตร์ที่ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยพร้อมด้วยคณะทูตและข้าราชการ เดินทางเยือนผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2518 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยในการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ไทยและจีนต้องเป็นศัตรูกันนับตั้งแต่ที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อ พ.ศ. 2492 และไทยเลือกยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกามหาอำนาจทางโลกเสรีประชาธิปไตย
ภาพยนตร์ชุดนี้ ถ่ายโดยช่างภาพของสถานีไทยโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 9 โดยหอภาพยนตร์ได้รับมอบฟิล์มมาจำนวนหลายม้วน เป็นฟุตเทจภาพที่ยังไม่ได้ตัดต่อเรียบเรียง โดยส่วนที่หอภาพยนตร์นำมาจัดฉายให้ชมแบบเต็ม ๆ ในวันงาน คือม้วนที่บันทึกภาพเหตุการณ์ในวันที่ 30 มิถุนายน วันแรกที่คณะผู้นำไทยเดินทางมาถึง และจบลงด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรอง อันเป็นม้วนเดียวที่ได้บันทึกเสียงในเหตุการณ์จริงและเสียงบรรยายของ อาคม มกรานนท์ ผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางไปด้วย
วันประวัติศาสตร์
หลังการฉายภาพยนตร์ วิทยากรทั้งสองท่านได้ร่วมบรรยาย เล่าประสบการณ์ และเสริมข้อมูลเกี่ยวกับบริบทการเดินทางในครั้งนั้น ทั้งสองท่านแสดงให้เห็นว่า การเดินทางในปี 2518 ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เกิดขึ้นได้หลังจากมีการเจรจานอกรอบมาก่อนหน้านั้นหลายปี และเป็นการตัดสินใจทางการทูตและทางการเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ อันเนื่องมาจากผลพวงความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกหลายประการ ทั้งการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีนิกสันในปี 2515 การแพ้สงครามเวียดนามของอเมริกา โยงใยถึงการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลไทย และท่าทีของรัฐบาลไทยเองต่อการปรับสมดุลการทางทูต
เตช บุนนาค เล่าว่า “เที่ยวบินของเรา เป็นเที่ยวบินแรกที่บินโดยตรงระหว่างกรุงเทพ ฯ กับปักกิ่ง แล้วเป็นเที่ยวบินแรกที่ได้สามารถที่จะบินผ่านเวียดนามเหนือด้วย เพราะฉะนั้น ในวันนั้น วันที่ 30 มิถุนายน แล้วก็ 1 กรกฎาคม 2518 มีอะไรต่ออะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
“จะเห็นว่าภาพยนตร์เริ่มต้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแล้วก็มีการนำขบวนรถไปรับที่สนามบิน เป็นรถจีนรุ่นโบราณ สีเขียว เหมือนกันหมด เหมือนกับรถที่เคยทำในเยอรมันตะวันออก ถนนนั้นก็ยังอยู่ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นถนนสำหรับชาวบ้านไปเพราะว่ามีทางด่วนจากสนามบินเข้าไปในกลางกรุงปักกิ่ง
“เราก็จะได้เห็นกรุงปักกิ่งสมัยก่อน ที่ยังอยู่ในระยะสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม ประชาชนทุกคนยังถูกบังคับให้ใส่เสื้อเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีขาว หรือไม่ก็เสื้อสีเขียวของทหาร รถราก็แทบจะไม่มี เป็นรถของทางการเท่านั้น รถส่วนตัวก็ไม่มี มีแต่รถจักรยาน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนเมื่อ 45-50 ปีที่แล้วก็จะไม่เหมือนกับจีนในปัจจุบันเลยสักนิดเดียว”
สุนทรพจน์ของสองผู้นำ
ฉากหนึ่งที่สำคัญในภาพยนตร์ [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] คืองานเลี้ยงรับรองที่มีรองนายกรัฐมนตรี เติ้งเสี่ยวผิง เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะจากไทย ได้แก่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) นายอานันท์ ปันยารชุน (เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา) รวมทั้งนักการทูตและข้าราชการระดับสูง รวมทั้งคุณเตช ในงานเลี้ยงดังกล่าว มีการกล่าวสุนทรพจน์โดยผู้นำทั้งสองชาติบนเวที ที่น่าสนใจคือ เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวสุนทรพจน์ขนาดยาวที่ชื่นชมไทยแต่ในขณะเดียวกันก็พาดพิงถึงสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่มุ่งแทรกแซงการเมืองของชาติอื่น
ในทางตรงกันข้าม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กลับกล่าวตอบเติ้งเสี่ยวผิงเพียงสั้น ๆ เท่านั้น
เตชเล่าว่า “คำปราศรัยของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นคำปราศรัยทางการเมือง มีการลำดับประวัติศาสตร์มาอย่างละเอียดแล้วก็มีการประณามฝ่ายจักรวรรดินิยมด้วย แล้วตอนนั้นสงครามเวียดนามก็เพิ่งสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาก็เป็นฝ่ายปราชัยอย่างที่เติ้งเสี่ยวผิงพูด และก็มีการพูดถึงว่ามีจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐอเมริกาแต่เรียกว่าจักรวรรดินิยมเฉย ๆ
“ส่วนคำปราศรัยของท่านนายก ฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช เราไม่ทราบมาก่อนว่าเติ้งเสี่ยวผิง จะพูดในลักษณะการเมืองอย่างมากขนาดนั้น ที่เราเตรียมการไปก็พูดแบบภาษาดอกไม้ เป็นภาษาการทูต ก็สั้นกว่าของเติ้งเสี่ยวผิงมาก แต่ก็ดีที่เราก็ได้ฟังว่าทัศนคติของจีนต่อเหตุการณ์ในโลกขณะนั้นเป็นอย่างไร”
มุมมองสื่อมวลชน
ภาพ : "สุทธิชัย หยุ่น" ผู้ร่วมเดินทางไปในฐานะคณะผู้สื่อข่าวไทย
สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งในขณะนั้นเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวจากไทยที่ร่วมคณะเดินทางไปด้วย เล่าเสริมถึงบรรยากาศทางความรู้สึกของประชาชนไทยต่อการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ทั้งนี้เพราะไทยกับจีน ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่จีนเปลี่ยนการปกครองในปี 2492 อีกทั้งกระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในหมู่คนไทยยังถูกโหมกระพือด้วยโฆษณาชวนเชื่อและเรื่องเล่าต่าง ๆ ไม่นับว่าการมีหนังสือหรือหลักฐานว่าฝักใฝ่จีนในทางใดทางหนึ่ง ถือเป็นความผิดตามกฎหมายต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
“เราก็โตมาด้วยโฆษณาชวนเชื่อมาตลอดว่าคอมมิวนิสต์จีนนี่อันตรายกับเรามาก แต่นักข่าวรุ่นผมจะโชคดีหน่อย คือได้รับรู้อะไรมากขึ้น แล้วก็ได้คุยกับคนกว้างขวางขึ้นหน่อย ก็ไม่ได้คิดว่าจีนร้ายแรงถึงขนาดนั้น แต่ว่าความสัมพันธ์ไม่มีเลยระหว่างไทยกับจีนในทุกรูปแบบ พอบอกว่าจะมีการไปเจรจาอย่างเป็นทางการ เปิดสัมพันธ์ทางการทูตก็ตื่นเต้นมาก
“ก่อนหน้านั่นเราก็รู้ว่ามีการส่งคนไทยไปเป็นตัวแทนไม่เป็นทางการมาระยะหนึ่งแล้วล่ะ แต่ว่าก็เขียนข่าวไม่ได้เพราะว่ามันผิดกฎหมาย ถ้าถามในตอนนั้นรัฐบาลจอมพลถนอม จอมพลประพาส ก็จะไม่ยอมรับว่ามีการติดต่อ จริง ๆ ก็มีการทำอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ในสมัยจอมพล ป. แล้ว ตั้งแต่คุณสังข์ พัธโนทัย ส่งลูกสองคนไปอยู่กับโจวเอินไหล
“แต่เราก็ไม่เคยแน่ใจว่าจะเปิดสัมพันธ์ได้ จนกระทั่งประธานาธิบดีนิกสันไปเยือนจีน และเราก็รู้ข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศเราเอง ว่าไทยเราก็กำลังปรับท่าทีต่อจีนในหลาย ๆ เรื่อง แล้วก็ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ มันก็มาถึงจุดที่จะมีการเปิดสัมพันธ์”
เบื้องหลังการเจรจา
ภาพ : เตช บุนนาค หนึ่งในคณะทำงานที่รัฐบาลไทยส่งให้ไปเจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ที่จีนก่อนหน้าการเดินทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
เมื่อถามถึงกระบวนการเจรจาในการร่างแถลงการณ์ที่จะไปลงนามกับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ว่ามีการตกลงกันอย่างไร ตลอดจนการปรับทัศนคติคนไทยที่เห็นว่าคอมมิวนิสต์จีนอันตรายนั้นต้องทำอย่างไร
เตชเล่าว่า ได้เริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับจีนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2516 ซึ่งปัญหาความมั่นคงสำหรับฝ่ายไทยมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย (พคท.) และ เรื่องที่คนไทยเชื้อสายจีนจะถือสัญชาติใด ซึ่งท้ายที่สุด ในแถลงการณ์ร่วมนี้ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกประเด็น
“ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง พคจ. กับ พคท. ก็เขียนไว้ว่าการเมืองของแต่ละประเทศเป็นเรื่องภายใน สุดแล้วแต่ว่าคนไทยจะตัดสินใจอย่างไรว่าอยากจะมีการปกครองอย่างไร ทางฝ่ายจีนไม่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องเกี่ยวกับสัญชาติ ก็ได้แก้ไขไปในแถลงการณ์ร่วมว่าจีนสนับสนุนให้คนไทยเชื้อสายจีนที่ได้สัญชาติไทยแล้วก็ให้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ และมีความจงรักภักดีต่อประเทศไทยแดนกำเนิด นี่เป็นประเด็นใหญ่สองประเด็น นอกจากนั้นแล้วไม่ติดใจเท่าไหร่”
สุทธิชัยเสริมว่า การเจราจาแต่ละขั้นตอนนั้นฉุกลหุกมาก เพราะมีเวลาที่จะต้องร่างให้เสร็จและต้องสามารถบรรลุข้อตกลงต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศได้ เพียงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเดินทางมาเยือนจีน อีกทั้งรัฐบาลยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เพราะคนจำนวนไม่น้อยยังเห็นว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามต่อไทย ประกอบกับช่วงนั้น นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล และ ท่านประธานเหมา ต่างป่วยพอสมควร จึงจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้ทันกับสภาวะสุขภาพของผู้นำจีน
“งานส่วนนี้เป็นงานประวัติศาสตร์จริง ๆ ผมก็ดีใจที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณอานันท์ ปันยารชุน แล้วก็คุณเตช บันทึกเอาไว้ว่าช่วงนั้นกระบวนการตัดสินใจไม่ง่ายนะครับ ตอนนี้เราจะมองไม่ออกหรอก ว่ามันจะยากเย็นอะไร แต่ขณะนั้น การที่ประเทศไทยจะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมันมีจุดละเอียดอ่อนหลายด้าน รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงของเราด้วย ซึ่งความคิดความอ่านของฝ่ายความมั่นคงส่วนใหญ่ผมว่าไม่เห็นด้วย [กับการเปิดสัมพันธ์กับจีน] แต่เมื่อนายก ฯ คึกฤทธิ์บอกว่าเราต้องเดินหน้า ทางกองทัพก็จำเป็นต้องเดินตาม
“ดังนั้น แต่ละจังหวะเนี่ย มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราดูเห็นในหนัง เพราะว่าช่วงนั้น มีการต่อสู้กันทั้งเชิงความคิด เชิงนโยบายระหว่าง นายก ฯ กระทรวงการต่างประเทศ กับฝ่ายความมั่นคง ค่อนข้างจะหนักหน่วงรุนแรง และผมในฐานะเป็นนักข่าวก็อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้นเพราะว่าเราก็ต้องลงข่าวว่าท่านนายก ฯ คึกฤทธิ์ ประกาศว่าจะต้องถอนทหารอเมริกันออก เพราะนายก ฯ เห็นตอนนั้นแล้วว่าประธานาธิบดีนิกสันประกาศ Vietnamization แล้ว อเมริกาเพื่อนเราบอกว่าไม่เอาแล้วเนี่ย แล้วเราจะอยู่อย่างไร ในเมื่อจีนและเวียดนามเหนือเป็นผู้ชนะสงคราม ดังนั้น มันเป็นบรรยากาศที่อยู่ในภาวะท่ามกลางเขาควายจริง ๆ การตัดสินใจของคุณชายคึกฤทธิ์ในเรื่องจีนเนี่ย จึงเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมากแล้วถูกจังหวะมาก ช้าไป 6 เดือน หนึ่งปีผมว่าก็จะลำบากกว่านี้เยอะเลย”
ไม่เพียงแต่ส่วนที่จัดฉายให้ชมตลอดทั้งม้วน ระหว่างการสนทนา หอภาพยนตร์ยังได้ฉายบางเหตุการณ์จากม้วนอื่น ๆ ของสถานีไทยโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 9 รวมถึงฉบับฟิล์มขาวดำที่บันทึกโดยช่างภาพของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏให้เห็นเหตุการณ์สำคัญที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เข้าพบประธานาธิบดี เหมาเจ๋อตุง เพื่อให้วิทยากรทั้ง 2 คนช่วยอธิบายเหตุการณ์เหล่านั้นรวมถึงบุคคลสำคัญที่เห็นโดยสังเขป เนื่องจากภาพยนตร์ไม่ได้บันทึกเสียงใด ๆ
นอกจากภาพยนตร์เหล่านี้ที่หอภาพยนตร์ได้อนุรักษ์ ในการสนทนายังมีการกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง 7 วันในปักกิ่ง ที่สร้างโดยไชโยภาพยนตร์ ของ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ซึ่งมีการจัดทำเป็นโปสเตอร์ออกมา และมีผู้ให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์ถูกเซ็นเซอร์ห้ามฉาย อย่างไรก็ตาม หลังงานสนทนา หอภาพยนตร์ได้สอบถามเรื่องนี้กับ สมโพธิ แสงเดือนฉาย โดยตรง และได้รับข้อมูลว่า ไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์ แต่เป็นหนังที่สร้างไม่เสร็จ จึงไม่ได้ออกฉาย
หลังการสานสัมพันธ์
หลังภารกิจในการเยือนสาธารณประชาชนจีนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เตชได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทัศนคติของคนไทยที่มีต่อจีนว่า “ผมว่าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนะ ได้รับการต้อนรับจากมหาชนคนไทยอย่างดียิ่ง แล้วเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ประวัติศาสตร์การทูตไทย ใครจะไปนึกนะว่าต่อมา จนถึงปัจจุบันต่อ ๆ มาเนี่ย เราก็ไปซื้อรถถังจีน ซื้อรถหุ้มเกราะจากจีนนะ เรือดำน้ำจากจีน และจีนก็เข้ามาช่วยกองทัพไทยอย่างเต็มที่ในสมัยที่มีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา จีนก็ส่งอาวุธ ช่วยส่งกระสุนมาช่วยอย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนั้น จีนก็ได้ขาดกันกับเวียดนามทั้ง ๆ ที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน”
สุทธิชัยเสริมว่า “อีกประมาณ 5 ปีหลังจากเราเปิดสัมพันธ์ ฯ เวียดนามก็มีประเด็นเรื่อง [บุก] กัมพูชา เติ้งเสี่ยวผิงก็ยังอยู่ เป็นคนสั่งบุกเวียดนาม เพื่อสั่งสอนเวียดนาม วงการความมั่นคงของเราบอกว่าจีนช่วยไทย ช่วยไทยจริง ๆ เลย เพราะตีเพื่อให้เวียดนามดึงทหารตัวเองกลับไปทางฝั่งโน้น เพราะว่าเวียดนามมาอยู่ประชิดไทย [ตรงชายแดนกัมพูชา]”
นอกจากนี้ สุทธิชัยยังได้กล่าวถึงคุณค่าของภาพยนตร์ [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] ด้วยว่า “ผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของไทยในช่วงจังหวะที่ไทยต้องตัดสินใจระหว่างมหาอำนาจ ระหว่างอุดมการณ์การเมือง ระหว่างความอยู่รอดของไทยอยู่ตรงไหน การทูตกับความมั่นคงที่ไม่จำเป็นต้องยืนอยู่ข้างเดียวกันเสมอในเรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ที่ขัดกันอยู่ในตัว ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมคิดว่ามีคุณค่ามหาศาลเลยครับ”
----------------------------------------
- อ่านคำประกาศการขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ [ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน] เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 ได้ที่ https://fapot.or.th/main/news/693
- ชมบันทึกฉบับเต็มภาพยนตร์สนทนา “45 ปี คึกฤทธิ์เยือนจีน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ที่ https://fb.watch/3_QfOIigdf/