Young Törless ผลลัพธ์จากการสนับสนุน Soft Power ของรัฐ ยุค New German Cinema

“จุดเริ่มต้นของผลงานที่เปรียบเสมือนการเปิดศักราชใหม่ให้กับคนทำหนัง New German Cinema ซึ่งเกิดขึ้นจากสนับสนุนของภาครัฐ จนสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก” 

----------



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: http://www.volkerschloendorff.com/en/works/young-toerless/pictures/#!prettyPhoto


ในช่วงทศวรรษปี 1950 ภาพยนตร์เยอรมันฝั่งตะวันตกประสบกับภาวะซบเซา เนื่องจากมีเนื้อหาที่ซ้ำซากจำเจ รวมทั้งคุณภาพของงานสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน จึงทำให้ผลงานโดยรวมไม่ได้รับการเชิดชูในทางศิลปะเท่าที่ควร หากเทียบกับประเทศข้างเคียงอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี ประกอบกับผลกระทบจากสื่อโทรทัศน์ที่เข้ามาแย่งพื้นที่ความนิยม ทำให้ยอดผู้ชมในโรงภาพยนตร์มีจำนวนน้อยลงเป็นอย่างมาก 


มีผู้สร้างหลายรายพยายามผลิตผลงานเพื่อกู้ศรัทธาให้ภาพยนตร์เยอรมันกลับมาเฟื่องฟู ทว่ากลับไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่พลิกให้ภาพยนตร์เยอรมันกลับมาเป็นที่โดดเด่น จนได้รับการยอมรับในเวทีภาพยนตร์ระดับนานาชาติอีกครั้ง คือการถือกำเนิดขึ้นของเหล่าผู้กำกับคนหนุ่มสาวในนามของ “ภาพยนตร์เยอรมันยุคใหม่” หรือ “New German Cinema” 


“New German Cinema” เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในช่วงต้นทศวรรษปี 1960 โดย อเล็กซานเดอร์ คลูเกอ (Alexander Kluge) และเอ็ดการ์ ไรตซ์ (Edgar Reitz) นักทำหนังสั้นผู้มุ่งนำเสนอผลงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวิพากษ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ทั้งความขัดแย้งของคนต่างวัย เชื้อชาติ และเพศสภาพ ด้วยสุนทรียะที่ปราศจากระเบียบแบบแผน โดยได้รับอิทธิพลจากเทคนิคการทำหนังทดลอง (Avant-Garde) ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) และกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส (French New Wave) 


 

ภาพ: อเล็กซานเดอร์ คลูเกอ และเอ็ดการ์ ไรตซ์ ในปี 1975 

ที่มา: https://www.deutscher-filmpreis.de/ehrenpreis/


แม้การทำงานในช่วงแรกจะเป็นไปอย่างยากลำบาก จนทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้เพียงน้อยนิด แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1965 เมื่อองค์กรของรัฐในนามคณะกรรมการภาพยนตร์เยอรมันรุ่นใหม่ (Kuratorium Junger Deutscher Film) ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ จึงทำให้เหล่านักทำหนังกลุ่มนี้ เริ่มพัฒนาสไตล์ที่มีความเฉพาะตัวขึ้น จนสามารถจำกัดความตนเองในฐานะภาพยนตร์เยอรมันแบบ “ยุคใหม่” ได้สำเร็จ


จุดเด่นนอกเหนือจากการทดลองและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวิธีการเล่าเรื่องแล้ว ผู้กำกับ “New German Cinema” ยังเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่กำกับ เขียนบท ไปจนถึงอำนวยการสร้าง จนกระทั่งหนึ่งปีต่อมา หลังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาพยนตร์ที่เปรียบดั่งหมุดหมายสำคัญของ “New German Cinema” จึงเกิดขึ้น นั่นคือ Young Törless (1966) หนังยาวเรื่องแรกของ โฟลเกอร์ ชลอนดอร์ฟ (Volker Schlöndorff) ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมกึ่งอัตชีวประวัติของโรเบิร์ต มูซิล (Robert Musil) ว่าด้วยวัฒนธรรมความรุนแรงและอำนาจนิยมภายในโรงเรียนเตรียมทหารของจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี ผ่านมุมมองของ โธมัส ทอร์เลส เด็กหนุ่มที่เฝ้ามองและกลายเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีอันโหดร้ายและพฤติกรรมอันเป็นอันตรายของกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียน  


 

ภาพ: หน้าปกวรรณกรรมเรื่อง The Confusions of Young Törless ฉบับภาษาอังกฤษ โดยโรเบิร์ต มูซิล

ที่มา: https://www.penguinrandomhouse.com/books/296480/the-confusions-of-young-torless-by-robert-musil/


ผลงานของชลอนดอร์ฟในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ ได้รับเสียงชื่นชมถึงความกล้าหาญในการนำเสนอเรื่องราวการก้าวข้ามพ้นวัยที่เผยให้เห็นถึงด้านมืดและแรงขับทางเพศที่ครอบงำตัวละครอย่างแตกต่างจากขนบหนังในยุคเดียวกัน จนส่งให้หนังคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 20 มาครอง


 

ภาพ: โฟลเกอร์ ชลอนดอร์ฟ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Young Törless (1966)

ที่มา: http://www.volkerschloendorff.com/en/works/young-toerless/pictures/#!prettyPhoto


ความสำเร็จของชลอนดอร์ฟได้กลายเป็นรากฐานให้แก่กลุ่ม “New German Cinema” จนสามารถสร้างผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากกลุ่มนี้ขึ้นมามากมาย ทั้ง ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder), วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders), แวร์เนอร์ แฮร์ซอก (Werner Herzog), มาร์กาเรต ฟอน ทรอตตา (Margarethe von Trotta) ฯลฯ ในขณะที่ตัวชลอนดอร์ฟเอง ก็สามารถก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองคำและออสการ์จาก The Tin Drum (1979)



ภาพ: ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ หนึ่งในผู้กำกับคนสำคัญของกลุ่ม New German Cinema

ที่มา: https://www.fassbinderfoundation.de/


Young Törless จึงถือเป็นผลพวงของความกล้าหาญที่จะทดลองทำสิ่งแตกต่างของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญให้แก่วงการภาพยนตร์เยอรมันได้สำเร็จ หากแต่เรื่องราวที่นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ของหนุ่มสาวนักทำหนังเล็ก ๆ นี้ ยังได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกและยังคงสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนอิทธิพลต่อวิธีการทำงานมายังผู้กำกับรุ่นหลังสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน  


ขอเชิญชม Young Törless ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของกลุ่มคนทำหนัง “New German Cinema” ที่จะจัดฉายในวันอาทิตย์ที่ 7 มี.ค. และอังคารที่ 16 มี.ค. 64 ณ โรงหนังช้างแดง ชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ (ภาษาเยอรมัน คำบรรยายอังกฤษ) สนับสนุนโดย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย


สำรองที่นั่งล่วงหน้า

รอบฉาย - วันอาทิตย์ที่ 7 มี.ค. เวลา 13.00 น.

https://fapot.or.th/main/cinema/view/891

รอบฉาย – วันอังคารที่ 16 มี.ค. เวลา 15.30 น.

https://fapot.or.th/main/cinema/view/892


เอกสารอ้างอิงบทความ 

- http://cw.routledge.com/textbooks/9780415582599/data/New%20German%20Cinema%20-%20Julia%20Knight%20(2nd%20ed).pdf

- https://www.empireonline.com/movies/features/new-german-cinema-movie-era/


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด