In the Mood for Love และ หว่องกาไว ที่ไม่ได้อยู่ในภาพยนตร์

สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายของ ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง นักวิชาการผู้ศึกษาผลงานและเรื่องราวของหว่องกาไวในหลากหลายบริบท หลังการฉายภาพยนตร์เรื่อง In the Mood For Love ในกิจกรรม ทึ่ง! หนังโลก × Cinema Lecture 

---------


โดย เมธากุล ชาบัญ นักศึกษาฝึกงานหอภาพยนตร์


เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 หอภาพยนตร์จัดกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก” ซึ่งมีขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยในปีนี้นอกจากจะฉายภาพยนตร์เรื่องสำคัญของโลกแล้ว ยังได้เพิ่มการบรรยายหรือ Cinema Lecture โดยผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้ “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” สมดังเจตนารมณ์ของหอภาพยนตร์


ในวันดังกล่าวเป็น Cinema Lecture ครั้งแรก ซึ่งเกิดขึ้นหลังการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง In the Mood For Love ผลงานชิ้นเอกปี 2000 ของผู้กำกับจากฮ่องกง หว่องกาไว คนทำหนังคนสำคัญแห่งยุคที่มีแฟนหนังทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดในรอบยี่สิบปีหลังจากนิตยสารหลายสำนัก รวมถึงได้รับเลือกให้อยู่ในอันดับสอง ของ 100 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 จากการจัดลำดับของ BBC โดย ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง จาก สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีบทความวิชาการเกี่ยวกับหว่องกาไวตีพิมพ์ออกมามากมายในหลายบริบท ได้พาทุกคนไปสำรวจหว่องกาไวในโลกวิชาการ และทำความเข้าใจจักรวาลของหว่องกาไวและ In the Mood For Love ผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ไปจนถึงการนำสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์มาผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ จนเป็นปรากฏการณ์ ในหัวข้อการบรรยาย “สิ่งของ ร่องรอยสถานที่ และการมีส่วนร่วมสร้างความหมายข้ามชาติของภาพยนตร์ In the Mood For Love (2000)”


In the Mood For Love ท่ามกลางปรากฏการณ์ภาพยนตร์เอเชียข้ามชาติในช่วงยุค 2000



บรรยายภาพ:  หว่องกาไว (ขวาสุด) และนักแสดงนำจาก In the Mood for Love ในรอบปฐมทัศน์โลก ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ค.ศ. 2000

ที่มาภาพ: AFP



ดร. วิกานดา กล่าวว่า ภาพยนตร์ In the Mood For Love ไม่สามารถแยกออกจากกันได้กับสิ่งที่เรียกว่า “การบูมของหนังเอเชียข้ามชาติในช่วงต้นยุค 2000” เมื่อเกิดปรากฏการณ์หนังจากประเทศเอเชียบุกตลาดโลก ไม่เพียงแต่หนังอาร์ต แต่ยังรวมไปถึงหนังตลาดในกระแสด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือในปี 2004 ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อรางวัลครึ่งหนึ่งตกเป็นของผู้กำกับและทีมงานชาวเอเชียตะวันออก 


ในโลกวิชาการ ปรากฏการณ์ In the Mood For Love เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการที่มีงานตีพิมพ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เอเชียเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้านี้ จนทำให้หลักสูตรภาพยนตร์ในที่ต่าง ๆ ในโลกตะวันตกเริ่มเปิดวิชา East Asian cinema หรือการบรรจุประเด็นหัวข้อภาพยนตร์เอเชียเป็นส่วนหนึ่งในการสอนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ต่อเนื่องไปสู่งานวิจัยมากมายเกี่ยวกับภาพยนตร์เอเชีย


อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภาพยนตร์เอเชียข้ามชาติที่สำคัญคือ การเติบโตของ home video distribution (การจัดจำหน่ายหนังเพื่อดูที่บ้าน) ทั้งแบบ formal และ informal (ซึ่งคำหลังเป็นการนิยามใหม่เพื่อสะท้อนมิติวัฒนธรรมจากเดิมคือการนิยามผ่านระเบียบกฎหมายว่า illegal) คู่ขนานกันไป การเติบโตของยุค DVD ในช่วงต้นปี 2000s ทั้งในรูปแบบ “ทางการ” และ “ไม่ทางการ” ส่งผลถึงหนังของหว่องกาไวและหนังเอเชียอื่น ๆ ที่ลื่นไหลข้ามระบบ ข้ามพื้นที่ หรือแม้กระทั่งข้ามวัฒนธรรมผู้ชมที่จากเดิมอาจจะเข้าถึงเพียงแค่กลุ่มคนในเทศกาลภาพยนตร์ แต่กลายเป็นว่าใคร ๆ ก็สามารถดูได้เพียงแค่ยืม เช่า หรือซื้อเอาที่ร้าน 


ชื่อเสียงของหว่องกาไวเป็นที่เลื่องลือทั้งในบริบทเอเชียและฮอลลีวูด ถึงขนาดที่เมื่ออั้งลี่ (Ang Lee) ผู้กำกับชื่อดังชาวไต้หวัน ได้รับเชิญให้กล่าวเปิดตัวหว่องกาไวในงานเสวนาที่ The Museum of Moving Image เมื่อปี 2008 กล่าวเชิงติดตลกว่า


“ผมไม่รู้จักผู้กำกับที่เป็นประพันธกรปัจจุบันคนไหนที่มีคนสนใจมากขนาดเขา มีคนถกเถียงเกี่ยวกับภาพยนตร์ เขียนบทความ เรียงความ มีคนชื่นชอบ และว่ากันว่าเลียนแบบงานเขามากมาย... หลายปีที่ผ่านมานี้ ผมในฐานะเพื่อนผู้กำกับไม่รู้เลยว่า จะเปลี่ยนความรู้สึกชื่นชมเป็นความอิจฉาดี หรือเปลี่ยนความอิจฉาเป็นชื่นชมดี ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นแบบไหนกันแน่”


Monograph ว่าด้วยหนังหว่องในบริบทวิชาการ 




จากบริบทแวดล้อมที่ ดร. วิกานดา ได้กล่าวไปในข้างต้น ทำให้ในแวดวงวิชาการมีความตื่นเต้นต่องานของหว่องกาไวจนทำให้เกิดการผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับหว่องกาไวออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในยุคปี 2000 หว่องกาไวแจ้งเกิดในฐานะ auteur หรือ ประพันธกร ทั้งในอุตสาหกรรมและผ่านงานเขียนทางวิชาการที่มีการเขียนถึงเขาอย่างมากมาย


ในบริบทอุตสาหกรรมสถานะประพันธกรอาจจะมาจากการได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ส่วนในบริบทวิชาการ การได้รับยกย่องสถานะเป็นประพันธกร (auteur) ส่วนหนึ่งคือการที่ภาพยนตร์ของผู้กำกับดังกล่าวถูกเขียนถึงในเชิงวิชาการ ถูกใช้ในการเรียนการสอน จนกลายเป็นตัวบทสำคัญ (canon) ในการศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์


แม้กระบวนการให้คุณค่าของผู้กำกับในฐานะประพันธกรจะมีข้อถกเถียงในหลายแง่มุมในแวดวงวิชาการ แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังคงอยู่ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตสร้างความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์โลก สถานะประพันธกรของหว่องกาไว ได้รับการตอกย้ำชัดเจนในการถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ book series ที่เกี่ยวกับประพันธกร เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของเขาทั้งเล่มหรือ monograph ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นอย่างน้อยสองสำนักพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2000s


ดร. วิกานดา ได้ยกตัวอย่างงานเขียน 2 เล่ม ได้แก่ “Wong Kar-Wai: Auteur of Time” โดย สตีเฟ่น ทีโอ (Stephen Teo) จาก BFI World Directors Series ในปี 2005 ซึ่งในซีรีส์ดังกล่าวก่อนหน้านี้ได้เลือกตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับผู้กำกับคนสำคัญ ๆ ของโลก เช่น เจน แคมเปียน และ อะตอม อีโกยัน โดยเนื้อหาในเล่มที่เกี่ยวกับหว่องกาไวสนใจสุนทรียศาสตร์ที่โดดเด่นของผู้กำกับ โดยเฉพาะอิทธิพลของศิลปะวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก โดยผู้เขียนอ่านภาพยนตร์ของหว่องกาไวผ่านอิทธิพลวัฒนธรรมจีนเซี่ยงไฮ้ยุค 60 ขนบภาพยนตร์และศิลปะตะวันตกอย่างน่าสนใจ 


สำหรับเล่มที่สองคือ “Wong Kar-Wai” โดย ปีเตอร์ บรูเน็ตต์ (Peter Brunette) จากซีรีส์ Contemporary Film Directors โดย University of Illinois Press ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2005 เช่นกัน โดยเนื้อหาได้มีการกล่าวถึงงานของหว่องกาไวในแง่ของการผสมเสียง ภาพ เพื่อสร้างกลยุทธ์การเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้พิจารณาถึงความลุ่มลึกของสิ่งที่อยู่ภายใต้ภาพที่สวยงาม เช่น ประเด็นภาวะกึ่งกลางของความรู้สึก ชวนให้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสภาวะธรรมดาของชีวิตประจำวัน


นอกจากนี้ ดร. วิกานดา ยังได้พาไปสำรวจตัวอย่างงานเขียนทางวิชาการที่เกี่ยวกับหว่องกาไวในประเด็นต่าง ๆ หรือการอ่านงานของหว่องกาไวผ่านแนวคิดเชิงปรัชญา และองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ ภาพยนตร์ฮ่องกง และภูมิรัฐศาสตร์ฮ่องกง การข้ามพรมแดนทางศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีในภาพยนตร์ของหว่องกาไว และ การมองงานของหว่องกาไวผ่านทฤษฎีประพันธกรในลักษณะใหม่ ๆ โดยตัวอย่างที่ได้หยิบยกมานี้ยังไม่รวมบทความ วารสาร และ หนังสือพิมพ์ในภาษาไทย และ ภาษาอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งยังมีอยู่อีกมากมาย


สิ่งของในหนังกับภาวะภาพยนตร์ข้ามชาติ และการมองผ่านมุมมอง Melodrama & Cinephilia


ดร. วิกานดา ได้เกริ่นถึงงานที่ตนกำลังศึกษาอยู่ว่า กำลังสนใจปรากฏการณ์ของหว่องกาไว ณ ปัจจุบัน ซึ่งยังมีโลกนอกเหนือจากหนังที่อาจจะยังไม่ค่อยมีการเขียนวิเคราะห์มากนัก เช่น การเกิดขึ้นของหน้ากากอนามัยลาย โจวมู่หวัน (เหลียงเฉาเหว่ย) พระเอกจาก In the Mood For Love กระเป๋าผ้า เข็มกลัด รูปวาดต่าง ๆ ไปจนถึงน้ำหอม Carine Roitfeld กลิ่น “Kar-Wai” ที่หมายจะสื่อถึงความเป็นฮ่องกงด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ 7 Lovers หรือคนรักจากเจ็ดเมืองในโลก โดยน้ำหอมถูกวางจำหน่ายพร้อมกับวีดิโอโปรโมตที่ได้แรงบันดาลใจจากฉากบันไดใน In the Mood For Love ดร. วิกานดา สนใจตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีสินค้า หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังของหว่องกาไว หรือ In the Mood For Love ออกมามากมาย สิ่งเหล่านี้มีความน่าสนใจหรือพิเศษอย่างไร




ในขั้นแรก ดร. วิกานดา เล่าว่า ข้าวของ เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย ในภาพยนตร์ In the Mood For Love มีการตีความในงานวิชาการก่อนหน้านี้ อาทิ ในบริบทภาพยนตร์จีนข้ามชาติ ซึ่งภาพยนตร์จำนวนมากได้รับการผลิตขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายในตลาดภาพยนตร์โลก สิ่งที่ผู้ชม (ในตลาดภาพยนตร์โลก) ตื่นตาตื่นใจซึ่งเป็นภาวะทางวัตถุที่ดูแปลกตา สวยงาม น่าหลงใหล มักจะนำไปสู่การเสพภาพยนตร์ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมของประเทศต้นทางที่ผลิตเท่าใดนัก กระบวนการจ้องมองความเป็นจีนหรือเอเชียที่น่าตื่นตาตื่นใจดังกล่าวถึงแม้จะทำให้ภาพยนตร์เป็นที่รู้จัก (visible) แต่ก็สะท้อนการเมืองของการมองเห็น/การเป็นที่รู้จัก (politics of visibility) เช่น การผลิตซ้ำอำนาจที่ผู้ถูกจ้องมองคือตัวแทนของคนเอเชียที่เป็นผู้หญิงที่น่าปรารถนา และผู้จ้องมองคือผู้ชายในโลกทุนนิยมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ทางออกของการศึกษาที่งานกลุ่มนี้เสนอจึงเป็นการหากระบวนการมองภาพยนตร์แบบใหม่ที่เป็นอิสระจากกรอบทฤษฎีภาพในขนบแบบเดิม ๆ 


แม้แนวทางการมองดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาภาษาของภาพยนตร์แบบใหม่ ๆ อย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตามการอ่าน ข้าวของ เครื่องใช้ผ่านมิติข้างต้น ไม่ได้สะท้อนให้เห็นภาวะทางจิตวิญญาณของตัวละครที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งของ หรือความรู้สึก ความปรารถนาของผู้ชมมีต่อสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ละเมียดละไม


ในลำดับต่อมา ดร.วิกานดา จึงชวนมองงานที่ศึกษาสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในภาพยนตร์แนว melodrama ซึ่งให้ความสนใจกับพลัง และอำนาจกระทำการของฉาก เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของตัวละคร ว่ามีมิติการต่อรองของอำนาจที่น่าสนใจ เช่น การสะท้อนความปรารถนาของตัวละครผู้หญิงที่แอบแฝงอยู่ในกระเป๋าถือ เสื้อผ้า เป็นต้น




และจากการอ่านผ่านงานสาย melodrama ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยผัสสะความรู้สึก ความปรารถนาต่าง ๆ ก็จะมีคำถามตามมาว่าความปรารถนานั้นแท้จริงแล้วเป็นของใครกันแน่ ซึ่งนักวิชาการ แคเธอรีน รัสเซลล์ (Catherine Russell) ได้ตีความ gaze หรือ “สายตา” ในภาพยนตร์ In the Mood For Love ว่าเป็นของทั้งผู้ชายและผู้หญิง (เพราะกล้องต่างสนใจการเคลื่อนย้าย ร่างกาย ความมีเสน่ห์ของตัวละครนำทั้งสองคนไปพร้อม ๆ กัน) รัสเซลล์ชวนให้เราตีความว่าสายตาในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนความปรารถนา แบบ cinephilia desire หรือความปรารถนาที่กำเนิดจากคนดูหนัง


งานของรัสเซลล์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาคนดูภาพยนตร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่าคนรักหนัง หรือ Cinephilia studies ซึ่งเติบโตในช่วงการเปลี่ยนผ่านของภาพยนตร์ไปสู่ยุคดิจิทัล ดร. วิกานดา อธิบายว่าแนวคิดนี้เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นมากในยุคที่ภาพยนตร์ไม่ได้อยู่แค่ใน formal distribution แต่ยังถูกเผยแพร่ในแบบ informal (หรือช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หรืออาจจะผิดกฎหมาย) ที่ทำให้คนดูสามารถดูใหม่ ดูซ้ำ กี่รอบก็ได้ ซึ่งทำให้คนดูสามารถเพิ่งพินิจกับรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพยนตร์ได้นอกจากนี้ความปรารถนาที่ผู้ชมมีต่อภาพยนตร์ ยังสามารถส่งผ่านไปสู่ข้าวของต่าง ๆ ที่สามารถครอบครองได้ในยุคดิจิทัล เช่น การซื้อ boxset ภาพยนตร์ที่มีบันทึกเบื้องลึกเบื้องหลังของภาพยนตร์ ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านความเป็นประพันธกรจากตัวผู้สร้างไปสู่คนดู ที่มีสิทธิ์ในการตีความ สร้างความหมายใหม่ให้กับภาพยนตร์และทำให้เกิดการผลิตองค์ความรู้ของผู้ชมออกมามากมาย นอกจากแนวคิดแบบ cinephilia การศึกษาปฏิบัติการของคนดูภาพยนตร์ยังได้รับการขยายต่อผ่านแนวคิด fan studies ซึ่งสนใจกระบวนการสร้างตัวตนของคนดูเองนอกจากบริบทภาพยนตร์ศึกษา ไปสู่พื้นที่สื่อ และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่แฟนขยายฐานการรับรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์จากมิติทางสายตา (panoptic) และการจ้องมอง ไปสู่มิติเชิงผัสสะ (haptic) ซึ่งนักวิชาการสายแฟนศึกษา เช่น แมท ฮิลส์ (Matt Hills) และ เรเบ็กกา วิลเลียมส์ (Rebecca Williams) กล่าวถึง ในแง่แฟนของหว่องกาไวจากเดิมที่ต้องจินตนาการถึงโลกในภาพยนตร์ แฟนสามารถจัดเก็บภาพฉากหนังที่ตนสนใจมาไว้ในมือถือ คอมพิวเตอร์ส่วนตัวได้ หรือสร้างโลกดังกล่าวต่อออกมาจากภาพยนตร์ผ่านการผลิตข้าวของเครื่องใช้ เช่น เสื้อยืดลายชื่อสำนักพิมพ์ที่ โจวมู่หวัน ทำงานอยู่ หรือการเลือกหาซื้อเครื่องแต่งกาย หรือของตกแต่งบ้านที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง In the Mood For Love เป็นต้น




ชีวิตทางสังคมของ In the Mood For Love




จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประพันธกรกับคนดูได้เปลี่ยนไป คือ คนดูสามารถเป็นผู้เสพและผู้สร้างได้ในคราวเดียวกัน โดย ดร. วิกานดา ได้อธิบายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การทบทวนแนวคิดเรื่องประพันธกรในบริบทพื้นที่ข้ามสื่อ ข้ามชาติ และวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (participatory culture) ในแง่การข้ามสื่อและข้ามชาติ การตีความและผลิตสารนอกตัวบท ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ  (อาทิ เรื่องสั้น ศิลปะการแสดง (performance art) วิดีโอแมชอัพ (mash-up) การแสดงล้อเลียน ฯลฯ) เปิดทางให้เกิดผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ในหลายๆ ที่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานของหว่องกาไว วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมยังสะท้อนภาวะของภาพยนตร์ปัจจุบันที่เกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมข้ามสื่อ อาทิ ดนตรี เกม วิดีโอ เรื่องเล่าออนไลน์ หรือการท่องเที่ยวผ่านการเดินทางตามรอย นอกเหนือจากแวดวงสื่อยังมีการข้ามไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ เช่น น้ำหอม หน้ากากอนามัย หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร ที่ตกแต่งในคอนเซปต์ In the Mood For Love หรือหนังของหว่องกาไว หรือในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น เพจกระทำความหว่องในบริบทประเทศไทย ที่หยิบยืมสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์มาสะท้อนภาวะความรู้สึกส่วนตัวและบรรยากาศทางสังคมได้อย่างลุ่มลึก เป็นต้น




“ความน่าสนใจของ In the Mood For Love คือการเกิดขึ้นของตัวตนใหม่ ๆ ซึ่งมีชีวิตทางสังคมที่น่าสนใจในแต่ละยุคสมัย ในแง่ของงานวิชาการสิ่งเหล่านี้อาจจะอ่านผ่านมิติ Cinephilia, Fan culture, Transmedia หรือกรอบแนวคิดใหม่ ๆ ที่ถูกนิยามหรือหยิบยืมขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่าหนังบางเรื่องทำหน้าที่มากกว่าแค่ตอนฉายจบแต่พาเราไปไกลกว่านั้น อาจจะ 20 ปี 30 ปี 40 ปีหรือนานกว่านั้นก็ได้ ความหมายบางอย่างที่มีอยู่อาจจะเป็นอดีตไป แต่ว่าก็จะมีความหมายใหม่ที่ผูกติดกับสังคมปัจจุบันเข้ามาแทนที่ ภาพยนตร์บางเรื่องยังชวนเราย้อนกลับไปทบทวนการมีความรู้สึกร่วมในแต่ละช่วงวัย และยุคสมัยของคนดูเอง คนดูจึงทำให้ภาพยนตร์และประพันธกรยังมีชีวิตอยู่ต่อไปในอีกหลาย ๆ ปีในอนาคต” ดร. วิกานดา กล่าว


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด