จากจอมพล ถนอม ถึง พลเอก เปรม : อ่านปัจฉิมบทภาพยนตร์ที่บันทึกบทบาทของนายกรัฐมนตรีไทยท่ามกลางความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้
---------
โดย ฝ่ายอนุรักษ์
* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 62 มีนาคม-เมษายน 2564
จากบทความ 15 นายกรัฐมนตรีไทยในคอลเลกชันหอภาพยนตร์ (ตอนที่ 1) ซึ่งนำเสนอในคอลัมน์งานอนุรักษ์จดหมายข่าว หอภาพยนตร์ฉบับที่แล้ว โดยเลือกสรรภาพยนตร์ที่ได้บันทึกภาพของนายกรัฐมนตรีไทย 8 ท่าน เริ่มจากพระยาพหลพลพยุหเสนา จนถึงนายพจน์ สารสิน ส่วนบทความตอนที่ 2 นี้จะนำเสนอภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งบันทึกนายกรัฐมนตรีไทยอีก 7 ท่านที่มีบทบาทในช่วงเวลาประมาณ 30 ปีต่อมาที่ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์ โดยเริ่มจากจอมพล ถนอม กิตติขจร จนสิ้นสุดที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ภาพ : จอมพล ถนอม กิตติขจร
หลังนายพจน์ สารสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก จอมพล ถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายครั้งก่อนจะสิ้นสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีภาพยนตร์ข่าวบันทึกเหตุการณ์ไว้มากมายหลายร้อยเรื่อง อย่างไรก็ตาม ปรากฏภาพยนตร์ที่น่าสนใจดังเช่น คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร 11 ธันวาคม 2507 วาระครบ 1 ปีรัฐบาล ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งที่สอง, มิตรเก่าผู้กลับมา ภาพยนตร์ของสำนักข่าวสารอเมริกัน เป็นการบันทึกการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน พระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีให้การต้อนรับและประชุมร่วมกันในข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการทหารที่ทำเนียบรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและการเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้น, จอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ปี 2509 และ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีทำพิธีเปิดสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในวันที่ 24 กันยายน 2516 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา อันเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอมเพียงไม่กี่วัน
ภาพ : จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ก่อนปี 2500 ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เรื่อยมาจนถึงการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2502 ก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตลอดช่วงเวลาที่โลดแล่นในวงการอำนาจมีภาพยนตร์ที่น่าสนใจถูกบันทึกไว้ เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพล ปี 2506 ซึ่งบันทึกพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพลของหน่วยทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานในพิธี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนการอสัญกรรมเพียงเดือนเดียว, การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำทางทหารจนถึงล้มป่วยและอสัญกรรมของ ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2506 สร้างโดย กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ, กองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างเพื่อยกย่องจอมพล สฤษดิ์เป็นการเฉพาะ
ภาพ : สัญญา ธรรมศักดิ์
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลายุติลง สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรีได้รับโปรดเกล้าให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งเพราะจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 มีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญคือ พิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ณ บริเวณท้องสนามหลวง 13-15 ตุลาคม 2517 จัดสร้างโดยกรมประชาสัมพันธ์
ภาพ : หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในภาพยนตร์เรื่อง ผู้แทนนอกสภา
หลังการเลือกตั้ง 2518 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นและเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มีดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าเฝ้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย (2517) ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คึกฤทธิ์เยือนจีน 2518 บันทึกการไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2518 ซึ่งนับเป็นการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของหัวหน้าคณะรัฐบาลไทย และ เปิดนิทรรศการภาพเขียนของจิตรกรไทย ที่บริติช เคานซิล สยามสแควร์ ในวันที่ 30 มกราคม 2516 โดยนิทรรศการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมศิลปะแห่งกรุงเทพมหานคร 73 นอกจากนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังมีความสนใจในภาพยนตร์ และเคยรับบทบาทแสดงภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง คือรับบทบาทนายกรัฐมนตรีประเทศสารขัณฑ์ ใน The Ugly American ภาพยนตร์อเมริกันที่ออกฉายในปี 2506 และ ผู้แทนนอกสภา (2526) รับบทหัวหน้าพรรคกิจสังคม
ภาพ : ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหาร เลือกธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 โดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ รับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าที่ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่จะทำรัฐประหารอีกครั้ง และเลือก พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ซึ่งมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงความพยายามสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารจนได้รับการขนานนามว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายหลังการเลือกตั้ง ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากปัญหาราคาน้ำมัน โดยมีภาพยนตร์บันทึกการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ (2522) และ [นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา] ภาพยนตร์บันทึกภารกิจของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในกรณีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้
ภาพ : พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
หลังจากพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอก เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง พลเอก เปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยผ่านเหตุการณ์ยุบสภา 3 ครั้ง รวมระยะเวลา 8 ปีกว่า โดยมีภาพยนตร์ที่พลเอก เปรมถูกบันทึกไว้และมีความน่าสนใจ เช่น วีรกรรมที่ดอนน้อย (2518) พลโท เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพกองทัพภาคที่ 2 ในเวลานั้น ได้เชิญผู้บังคับหน่วยประชุมวางแผน ยุทธการในการนำเรือ ร.123 ออกจากบ้านท่ามะเฟือง นำเดินทางกลับไปยังสถานีเรืออำเภอศรีเชียงใหม่, พลตรี เปรม ติณสูลานนท์ ประธานมอบหมวกเบเล่ต์ ให้แก่ครอบครัวของทหาร (2515) อันเป็นสัญลักษณ์ของทหารยานเกราะและมอบทุนให้แก่ครอบครัวของทหาร ที่กองพันทหารม้าที่ 4 ยานเกราะ, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง การพัฒนาชนบทและความมั่นคงของชาติ (2521) โดย พล.อ. เปรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่องการพัฒนาชนบทและความมั่นคงของชาติและกล่าวปาฐกถานำการสัมมนา
ภาพ : พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ภาพยนตร์ที่ถูกเลือกมานำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคอลเลกชันภาพยนตร์ที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่โดยหอภาพยนตร์ ผู้สนใจรับชม ค้นคว้า สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ชั้น 4 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ โดยนัดหมายล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์หอภาพยนตร์ https://fapot.or.th/main/library
Link : 15 นายกรัฐมนตรีไทยในคอลเลกชันหอภาพยนตร์ (ตอนที่ 1)