สหภาพแรงงาน : คำตอบของการเพิ่มราคาชีวิตคนกอง

สรุปสาระสำคัญจากเสวนาภาพยนตร์ “ราคาชีวิตของคนกอง” ที่ตั้งต้นจากการตายของมิตร พิษเศรษฐกิจ ถึงยุคโควิด-19

---------



โดย เมธากุล ชาบัญ นักศึกษาฝึกงานหอภาพยนตร์

ภาพปก : "ยุวดี ไทยหิรัญ" (นั่งแถวหน้า คนที่ 4) กับภาพทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง (2527) กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์


เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 หอภาพยนตร์จัดงานเสวนาภาพยนตร์ “ราคาชีวิตของคนกอง” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาได้แก่ ยุวดี ไทยหิรัญ ผู้จัดการกองถ่ายมากประสบการณ์ที่เริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านยุคหนัง 16 มม. ตั้งแต่ปี 2506 มาจนถึงระบบสตูดิโอในยุค 35 มม. ในยุคต่อมา รวมไปถึงกองถ่ายละครโทรทัศน์ โมไนย ธาราศักดิ์ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีประสบการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ไทยมากว่า 20 ปี รวมถึงกองถ่ายต่างประเทศ และ ชาติชาย เกษนัส คนทำหนังไทยร่วมสมัย ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการต่าง ๆ ของคนทำงานในกองถ่าย


งานเสวนานี้ หวังจะเปิดพื้นที่ให้คนทำงานในกองถ่ายได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน และผลักดันเพื่อปรับมาตรฐานการทำงานและการดูแลสวัสดิภาพทางร่างกายและจิตใจของคนทำงานกองถ่าย ทั้งในแง่กฎหมาย ความเป็นไปได้ในการตั้งสหภาพแรงงานคนกอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กองถ่ายไทยและกองถ่ายต่างประเทศ ซึ่งมีแรงตั้งต้นมาจากการเสียชีวิตขณะถ่ายทำภาพยนตร์ของ มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล ที่หอภาพยนตร์กำลังจัดนิทรรศการแสดงเรื่องราวของเขาในชื่อ “มิตรศึกษา”


มิตร เสียชีวิตในอุบัติเหตุพลัดตกจากบันไดเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์ที่เขากำกับและแสดงเองเรื่อง อินทรีทอง ตอนเย็นวันที่ 8 ตุลาคม 2513 การเสียชีวิตของมิตรเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในกองถ่ายทำภาพยนตร์ไทย ถึงแม้ความตายของมิตรจะเป็นอุบัติเหตุ แต่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ของงานกองถ่ายหนัง เช่น ชั่วโมงการทำงาน เวลาพักผ่อน ฯลฯ ที่อาจส่งผลถึงความพร้อมหรือไม่พร้อมของนักแสดงและทีมงาน


ยุวดี ไทยหิรัญ ซึ่งตอนนั้นเริ่มทำงานในฐานะคนกองแล้ว เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เป็นไปได้ที่ มิตร อาจพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากบางครั้ง มิตร ต้องถ่ายภาพยนตร์ราว 2-3 เรื่องต่อวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นและตั้งแต่ช่วงหัวค่ำไปจนถึง 2 ยาม เพราะในสมัยนั้นยังถ่ายทำในสตูดิโอหรือในโรงถ่ายจึงไม่ต้องคำนึงถึงแสงธรรมชาติ ทำให้สามารถถ่ายทำภาพยนตร์กันได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน นอกจากนี้ อาจเกิดจากระบบความปลอดภัยที่ยังไม่เพียบพร้อมเท่ากับในปัจจุบัน อีกทั้งกรณีนี้ ไม่ได้ใช้ตัวแสดงแทนหรือสแตนด์อินที่มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นความต้องการของตัวนักแสดงที่ต้องการจะเล่นเอง



ภาพ : ภาพเหตุการณ์โศกนาฏกรรม มิตร ชัยบัญชา เกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513


ส่วนสาเหตุที่นักแสดงอย่าง มิตร ต้องวิ่งรอกรับงานอย่างหนักหน่วงนั้น เกี่ยวข้องกับการขายภาพยนตร์ให้กับสายหนัง ที่ในยุคนั้นจะดูที่ความนิยมของนักแสดงเป็นหลัก หากนักแสดงที่เล่นไม่เป็นที่นิยมก็มักจะขายไม่ได้ ดังนั้น ถ้าใครที่รู้จักมาชักชวนให้ไปแสดงก็ต้องไป เพราะเกรงใจไปเสียทุกคน


“เสียใจไหมก็คงเสียใจ เสียตังค์ เสียศูนย์ กันไปเยอะล่ะ แต่ว่าในวันนั้นน่ะ หรือ ถึงแม้จะวันนี้ ทุกคนก็ต้องคิดว่า เอ๊ะ จะทำยังไงให้งานมันเดินต่อไปได้มากกว่า ถามว่าคิดไหมว่าจะต้องมีระบบที่ต้องจัดการใหม่ พี่ว่ามันไม่ค่อยมีนะ แต่ตอนนั้นพี่ก็ยังไม่โตมาก ก็ 20 กว่า ๆ ก็ฟังแต่ผู้ใหญ่เขาพูดกัน” ยุวดีกล่าว



ภาพ : ยุวดี ไทยหิรัญ ผู้จัดการกองถ่ายที่เริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านยุคหนัง 16 มม. มาจนถึงระบบสตูดิโอในยุค 35 มม. รวมไปถึงกองถ่ายละครโทรทัศน์


สำหรับลักษณะการทำงานใน พ.ศ.นั้น ยุวดีเล่าให้ฟังว่า ในหนึ่งเดือนจะออกถ่ายทำกัน 4-5 คิว เนื่องจากตารางงานของนักแสดง โดย 1 คิวถ่ายจะนับตั้งแต่เช้าจรดเย็นเป็นเวลา 12 ชม. รวมเวลาเดินทางไป-กลับเป็น 15 ชม. ส่วนคนทำงาน ในยุคหนัง 16 มม. กองถ่ายหนึ่งกองจะมีทีมงานราว 15 คน จนการมาถึงของยุคหนัง 35 มม. จึงมีจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสังกัดอยู่กับผู้กำกับหรือบริษัทนั้น ๆ ทำให้การดูแลคนในกองถ่ายเปรียบเหมือนกับระบบครอบครัวที่แต่ละบริษัทก็จะมีวิธีการดูแลทีมงานแตกต่างกันไป ไม่มีระบบกลาง


ด้าน โมไนย ธาราศักดิ์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานว่าตนได้เริ่มงานกองถ่ายจากภาพยนตร์นอกกระแสเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากนั้นจึงได้ไปทำงานภาพยนตร์ในกระแส และ ภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้ได้พบกับข้อดีข้อเสียในการทำงานของแต่ละระบบและได้นำมาปรับใช้กับการทำงานผู้ช่วยผู้กำกับของตน เช่น กฎการ turnaround ที่หลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จในแต่ละวัน ทีมงานทุกคนต้องได้พักอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ชั่วโมงจึงจะสามารถกลับมาทำงานได้ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น



ภาพ : โมไนย ธาราศักดิ์ ผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีประสบการณ์ทำงานในกองถ่ายมากมายทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ


ในประเด็นการคำนึงถึงสวัสดิภาพและความมั่นคงของคนทำงาน โมไนย ได้เสริมว่า “วันที่เราเข้ามาเราไม่เคยคิดเรื่องสวัสดิภาพ เราไม่เคยคิดถึงเรื่องอะไรพวกนั้นเลย เราก็เลยรับกันมาทำ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่มันเริ่มเป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ สิ่งที่เราไม่เคยนึกถึง บวกกับว่าเราเริ่มอายุมากขึ้น หรือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามากขึ้น ตรงนี้มันกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญ ในยุคหนึ่งเราไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้เลยเพราะว่ามันไม่ได้กระทบ อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องรายได้มันยังดีอยู่ ความต่อเนื่องของหนังมันยังมีมากขึ้นอยู่ จำนวนมันยังมีมากขึ้นอยู่


“แต่พอในวันที่ทุกอย่างมันลดลงไป เราถูก disruption อะไรก็ตาม หรือจะถูกเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม อย่างผมทำภาพยนตร์อย่างเดียว ภาพยนตร์มันเริ่มน้อยลง การทำงานมันเริ่มกระชับมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาการทำงานที่ว่าแฟร์ไม่แฟร์มันเลยถูกขึ้นมาพูดเป็นเรื่องประเด็นสำคัญมากขึ้น แต่ในขณะที่คิวถ่ายภาพยนตร์มันยังเป็น 12 ชั่วโมงเหมือนเดิมนะครับ นอกเสียจากว่าละครหรือซีรีส์ที่มันจะเป็น 16 ชั่วโมง อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไป”


สำหรับ ชาติชาย เกษนัส ในฐานะตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้เล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ว่า ปัจจุบันมีทั้งคนนำสถานะผู้กำกับไปแอบอ้างเพื่อการล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่น เด็กจบใหม่ที่เข้ามาในวงการภาพยนตร์ทำงานไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนกองถ่ายที่ไม่เป็นมืออาชีพจนไม่สามารถผลิตภาพยนตร์ออกมาสำเร็จจนส่งผลกระทบกับทีมงานและผู้ลงทุน ดังนั้น การรวมกลุ่มกัน ซึ่งในที่นี้ ชาติชาย ขอใช้คำว่า “union (สหภาพแรงงาน)” จะทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานแรงงาน และช่วยกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ฐานของค่าแรง มาตรฐานความปลอดภัย จริยธรรมในการทำงาน ตลอดจนการทำประกันภัยให้คนในสหภาพแรงงาน เพื่อคุ้มครองคนทำงานให้มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประกันให้การทำงานมีมาตรฐานขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผลงานที่ดีขึ้นตามไปด้วย โดย ชาติชาย ระบุว่า ในแวดวงภาพยนตร์ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานกันมาโดยตลอด แต่ว่าก็มักจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากกลัวจะเสียผลประโยชน์อยู่เสมอ ๆ



ภาพ :  ชาติชาย เกษนัส คนทำหนังไทยร่วมสมัย ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยในการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และสวัสดิการต่าง ๆ ของคนทำงานในกองถ่าย


ทางด้าน ยุวดี และ โมไนย ได้เสริมว่านอกจากภาคเอกชนที่จะต้องร่วมมือกันเองแล้ว ภาครัฐอย่างกระทรวงวัฒนธรรม หรือ กระทรวงแรงงาน ควรมีส่วนเข้ามาร่วมสร้างมาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานสวัสดิภาพในการทำงานด้วย


นอกจากนี้ ภควัต สุพรรณขันธ์ นายกสมาคมวิชาชีพ ภาพยนตร์ และดิจิทัลมีเดีย ที่มาร่วมฟังเสวนา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะหนึ่งในผู้ต่อสู้เรื่องนี้มายาวนาน โดย ภควัต กล่าวว่า “ถ้าจะพูดเรื่องสวัสดิภาพของคนในกองถ่าย ผมว่าจุดที่มันมองง่าย ๆ ก็คือ หนึ่ง ทีมงานไม่ได้มีมาตรฐาน สอง เซนส์ของความปลอดภัย ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยเราไม่มี นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราประสบได้ครับว่ามาตรฐานความปลอดภัยของคนในกองถ่ายเราไม่มี สิ่งที่ผมทำสมาคมนี้ แล้วผมก็พยายามดันมาตลอดคือ ต้องทำสองเรื่องนี้”


ภควัต ได้เล่าต่อไปว่า ขณะนี้ทางสมาคมของตนได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ครอบคลุม 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กล้อง ไฟ กริ๊ป (grip) ริก (rigger) และเสียง กับทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อกำหนดสมรรถนะของแต่ละตำแหน่งว่าเมื่อใครจะเข้ามาประกอบอาชีพในตำแหน่งใดต้องสามารถทำอะไรในตำแหน่งนั้นเป็นบ้าง แต่ปัญหาคือยังขาดสภาพการบังคับใช้จึงทำให้ไม่เกิดผลอะไร



ภาพ : ภควัต สุพรรณขันธ์ นายกสมาคมวิชาชีพ ภาพยนตร์ และดิจิทัลมีเดีย ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยไว้แล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐ ภควัต ได้เล่าไปถึงเหตุการณ์ที่ช่างภาพรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกองถ่ายภาพยนตร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า จากเหตุการณ์นั้นได้ทำให้เกิดการประชุมร่วมกับบริษัทประกันภัยเพื่อหาแนวทางในการทำประกันภัยกับกองถ่าย ซึ่งท้ายที่สุด บริษัทประกันภัยไม่กล้าทำให้เนื่องจากกองถ่ายภาพยนตร์ยังไม่มีการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเฉกเช่นเดียวกับงานที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ และรับประกันได้เพียงการบาดเจ็บเบื้องต้นที่อาจไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อสวัสดิภาพการทำงานของคนกองด้วย


ในประเด็นนี้ โมไนย ได้แสดงความเห็นว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมอาจจะต้องเป็นคนสร้างและปฏิบัติตามมาตรฐานกันเองก่อน เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง คู่ขนานไปกับการดำเนินการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่อาจจะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน เพราะหากต้องรอให้สหภาพแรงงานเกิดขึ้นสำเร็จก่อนแล้วค่อยปฏิบัติอาจจะไม่ทันการณ์


ทั้งนี้ ชาติชาย ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดตั้งสหภาพแรงงานว่า “วันนี้ผมก็เลยคิดว่าเราอาจจะต้องทำให้มันเกิด คือต้องทำให้เกิดให้ได้เพราะไม่เช่นนั้นผมก็เชื่อว่าเดี๋ยวงานมันก็จะค่อย ๆ ดร็อปลงแล้วก็พังไป แล้วก็ผมเชื่อว่ามาตรฐานชั่วโมงการทำงานที่ถูกต้องบวกกับคนทำงานที่มีคุณภาพ มันจะต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปสู่คอนเทนต์โลกจริง ๆ”



รับฟังเสวนาภาพยนตร์ "ราคาชีวิตของคนกอง" แบบเต็ม ๆ ได้ที่ 

 <<คลิก>> 

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด