ภรณี สุวรรณทัต ผู้กำกับหญิงไทยคนแรกที่เรียนรู้งานภาพยนตร์จากต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์จากความทรงจำแห่งช่วงชีวิตในวงการหนังของ ภรณี สุวรรณทัต หนึ่งในผู้หญิงนักทำหนัง ที่ได้เรียนวิชาและฝึกประสบการณ์ภาพยนตร์จากสตูดิโอที่ประเทศอังกฤษ ก่อนจะมารับหน้าที่กำกับหนังไทยหลายเรื่องในช่วงทศวรรษ 2510 

---------



โดย พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู

* ปรับปรุงจากฉบับที่เคยเผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊คเพจ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562


แม้จะเป็นผู้กำกับหญิงที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคที่ผู้ชายที่ยึดครองวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยผลงานการกำกับภาพยนตร์มากถึง 6 เรื่อง ในช่วงทศวรรษ 2510 แต่เรื่องราวของ ภรณี สุวรรณทัต กลับหาได้ยากยิ่ง จนดูเหมือนจะถูกหลงลืมไปในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย


จนกระทั่ง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 หอภาพยนตร์ได้จัดโปรแกรมผลงานภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้หญิงในชื่อ “Wonder Women เมื่อผู้หญิงทำหนัง” โดยหนึ่งในเรื่องที่จัดฉายคือ รักนิรันดร์  ผลงานการกำกับของภรณี สุวรรณทัต ผู้เขียนจึงได้พยายามสืบหาข้อมูลของภรณี จนมีโอกาสได้โทรศัพท์สอบถามเรื่องราวโดยตรงจากเธอ และนี่คือเรื่องราวที่เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของอดีตผู้กำกับหญิงวัย 73 ปีผู้นี้



ภาพ : ภรณี และ ไถง สุวรรณทัต


ภรณี สุวรรณทัต เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490  เป็นลูกสาวของ ไถง สุวรรณทัต นักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ภรณีเริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์ ก่อนจะไปเรียนต่อที่ โรงเรียนคาทอลิกในเมืองเคนต์ ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุราว 15 ปี


ระหว่างที่เธอศึกษาอยู่ที่อังกฤษ  ไถง สุวรรณทัต ได้เริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกในนามสุริยเทพภาพยนตร์ ชื่อเรื่องว่า พระลอ ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณคดีเอกของไทย นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ ดาราคู่ขวัญอันดับหนึ่งในตอนนั้น ไถงได้ใช้เวลาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เขารับหน้าที่กำกับเองด้วย นานถึง 3 ปี โดยลงทุนสร้างโรงถ่ายและห้องบันทึกเสียงที่หมู่บ้านเศรษฐกิจ หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกของไทย ซึ่งเขาเป็นผู้บุกเบิก และถ่ายทำในระบบฟิล์ม 35 มม. มาตรฐานสากล แตกต่างจากหนังไทย 16 มม. ส่วนมากในยุคนั้น


พระลอ ออกฉายในเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 โดยขณะนั้น ภรณีศึกษาจบระดับไฮสคูลแล้ว และได้รู้จักกับผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งของอังกฤษและฮอลลีวู้ดมากมายที่มารวมตัวกันอยู่ที่ Pinewood Studios โรงถ่ายหนังสำคัญของอังกฤษ เนื่องจาก สุขุม บุญลือ แฟนหนุ่มของเธอได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องทั้ง Kaleidoscope (2509) You Only Live Twice (2510) A Countess from Hong Kong (2510) ดังนั้น ไถงจึงได้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระลอ บินมาที่อังกฤษ ให้บรรดาผู้สร้างหนังทั้งหลายที่ภรณีรู้จักได้ชม เพื่อหวังจะให้หนังไทยเรื่องนี้ได้ออกฉายเผยแพร่สู่สายตานานาชาติด้วย


“คุณพ่ออยากจะให้โลกเขาเห็นเมืองไทย ว่าเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมที่น่าชมที่สุด อยากจะขยับความเป็นไทยให้มันดังไปทั่วโลก”



ภาพ : ภรณี สุวรรณทัต (ขวาสุด ใส่หมวก) กับครอบครัวคือ สมวงษ์ (แม่) ไถง (พ่อ) และเรวดี (น้องสาว) เมื่อครั้งนำภาพยนตร์เรื่อง พระลอ ไปนำเสนอที่ประเทศอังกฤษ


อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สร้างหลายคนจะชอบ พระลอ แต่พวกเขากลับต้องการให้ตัดหนังที่ยาวถึง 3 ชั่วโมงให้สั้นลง ซึ่งเขาไม่ยินยอม บรรดาผู้สร้างหนังจึงแนะนำให้ไถงและครอบครัว รวมทั้งภรณี พา พระลอ ไปนำเสนอในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในปีนั้น แต่โชคร้ายเมื่อไปถึงและได้จัดฉายโชว์ให้ผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศ กลับเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสในเหตุการณ์ “May 1968” ทำให้เทศกาลต้องยกเลิกกลางคัน จึงไม่ทันที่พระลอจะได้รับการเซ็นสัญญาจัดจำหน่ายกับค่ายใด


แต่นั่นไม่ได้ทำให้แรงปรารถนาในการยกระดับภาพยนตร์ไทยของไถงต้องล้มเลิกตามไปด้วย เมื่อไม่สมหวังกับพระลอ เขาได้ตัดสินใจให้ ภรณี และลูก ๆ อีก 3 คนที่กำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษด้วยกัน คือ อัสนีย์ กฤติกา และ เรวดี สุวรรณทัต หันไปเรียนรู้ด้านภาพยนตร์โดยตรง เพื่อกลับมาเป็นกำลังหลักในการสร้างหนังของครอบครัวให้ตรงตามมาตรฐานสากล


ภรณีและน้อง ๆ ทั้งสาม ได้เข้าไปเรียนและฝึกวิชาด้านภาพยนตร์กับเจ้าของบริษัทผลิตภาพยนตร์แห่งหนึ่งในลอนดอนที่ภรณีรู้จัก ตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ปี พวกเขาจะต้องเดินทางไปยังสตูดิโอซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ เพื่อเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ ทั้งทำบท สร้างสตอรี่บอร์ด ถ่ายภาพ กำกับ ฯลฯ ก่อนจะเดินทางกลับพิสูจน์ตัวเองจากสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมายังบ้านเกิด



ภาพ : (จากซ้ายไปขวา) เรวดี, ภรณี, กฤติกา และ อัสนีย์  สี่พี่น้องแห่งตระกูลสุวรรณทัตที่ไปศึกษาเรียนรู้งานภาพยนตร์ที่ประเทศอังกฤษ


เมื่อกลับมาเมืองไทย ราว พ.ศ. 2513 ไถงได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวทีมงานใหม่ของสุริยเทพภาพยนตร์ที่เพิ่งศึกษาด้านภาพยนตร์จากต่างประเทศนี้ ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล โดยภรณีซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 22 ปี ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้กำกับ แม้ในอดีตจะมีผู้หญิงไทยคนอื่นเคยรับหน้าที่นี้มาก่อน แต่กรณีของเธอนั้น อาจนับได้ว่าเป็นผู้กำกับหญิงไทยคนแรกที่ได้ไปเรียนรู้และฝึกฝนงานด้านภาพยนตร์โดยตรงจากต่างประเทศ และสร้างความฮือฮาอย่างมากให้แก่วงการในขณะนั้น


“สมัยนั้นเขาตื่นเต้นกันมาก เพราะว่าผู้หญิงที่จะทำงานโปรดักชั่นแบบนี้ ไม่ค่อยมี โดยมากก็จะเป็นดารา เขาจะไม่ค่อยทำงานเกี่ยวกับโปรดักชั่น ส่วนมากเขาจะไม่ยุ่ง”


ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ภรณีกำกับ คือ รักนิรันดร์ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งมีหลายฉากที่บินไปถ่ายทำถึงฮ่องกง นอกจากเธอและบรรดาน้อง ๆ ที่เรียนภาพยนตร์มาด้วยกันที่อังกฤษ ลูก ๆ อีก 3 คนของไถง คือ นงเยาว์, อัญชลี และวิศณุชาติ รวมทั้ง สมวงษ์ ภรรยาของเขาได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างแท้จริง โดยหากตำแหน่งใดเป็นผู้หญิง จะขึ้นคำนำหน้าชื่อ น.ส. ให้เห็นชัดเจน เช่น น.ส. ภรณี สุวรรณทัต กำกับการแสดง ราวกับต้องการประกาศว่า นี่คือบรรดา “ผู้หญิง” ที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนี้


หลังจาก รักนิรันดร์ ภรณีมีผลงานกำกับอีก 5 เรื่องคือ เพลงรักแม่น้ำแคว (2513) ลมรักทะเลใต้ (2514) หาดทรายแก้ว (2515) เตะฝุ่น (2516) และ แว่วเสียงลมรัก (2517) นอกจากเป็นผู้กำกับ เธอยังรับหน้าที่ตัดต่อด้วย โดยงานต่าง ๆ นั้นไม่ได้ถูกแบ่งอย่างตายตัว เนื่องจากเป็นการทำงานในครอบครัว ไม่ใช่ระบบบริษัท หลัก ๆ คือเธอและน้อง ๆ ที่เรียนภาพยนตร์จากอังกฤษ จะดูแลด้านโปรดักชั่น ในขณะที่ ไถง กับ นงเยาว์ สุวรรณทัต พี่สาวคนโต จะจัดการตั้งชื่อเรื่อง การเข้าฉาย ประชาสัมพันธ์ รวมถึงเอกสารต่าง ๆ แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือ แนวทางการสร้างภาพยนตร์ที่พวกเธอเรียนมา กับการทำงานของวงการหนังไทยในตอนนั้นไม่สอดคล้องกัน



ภาพ : บรรยากาศการถ่ายหนังของครอบครัว ไถง สุวรรณทัต


“ฝรั่งเวลาเขาทำหนัง เขาเหมือนทำงานออฟฟิศ คือ เช้าถึงเย็น แล้วก็หยุดพัก แต่ที่เมืองไทย ดาราเขาจะเป็นคนให้เวลาเรา และเวลาเรากำกับเขา เราให้เขาซ้อมหรือเล่นหลายครั้ง เขาก็จะมีอารมณ์ เราให้เอาใหม่ 2-3 ครั้งยังได้ แต่พอครั้งที่ 4 ที่ 5 เขาจะเริ่มไม่พอใจ


“แต่เราก็เข้าใจเขา เพราะว่าพวกเขาทำงานหนักนะ เขารับหลายเรื่อง ร่างกายเขาเหนื่อย คือเขารู้ว่าตัวเขา พออยู่บนจอ เขาสามารถทำให้ประชาชนชอบเขาได้  แต่การคิดของเขากับการคิดของเรามันต่างกัน มันลำบากมากนะคะ ช่วงนั้น เพราะว่าเราใช้การทำงานฝรั่งทำกับคนไทย แต่เราก็ไม่ว่าเขานะ เพราะเราก็สงสารเขา แล้วเราก็สงสารตัวเราเองด้วย ว่า เอ๊ะ สิ่งที่เราเรียนมามันใช้ได้สามสิบเปอร์เซ็นต์เองเหรอ มันไม่ใช่ เพราะว่าเวลาเราทำหนังเอง เราจะต้องทำสคริปต์สั้น ๆ สำหรับแต่ละพาร์ต การจะทำสคริปต์แต่ละอัน มันใช้เวลา แล้วมันก็ใช้ emotional ของเราเยอะมาก แต่พอปฏิบัติจริง มันไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์อย่างที่เราต้องการ มันก็ยากสำหรับเราด้วยเหมือนกัน”


ด้วยสาเหตุดังกล่าว ประกอบกับเริ่มมีลูก ทำให้ภรณีถอยห่างออกจากงานภาพยนตร์ โดยผลงานเรื่องสุดท้ายของธุรกิจสุริยเทพภาพยนตร์แห่งครอบครัวสุวรรณทัตคือ อยุธยาที่ข้ารัก (2522) ซึ่งไถงในวัยกว่า 70 ปี กลับมารับหน้าที่กำกับเอง จากนั้นเขาและลูก ๆ จึงตัดสินใจยุติการสร้างภาพยนตร์ สมาชิกแต่ละคนได้แยกย้ายกันไปประกอบกิจการด้านอื่น ๆ  พร้อม ๆ กับเรื่องราวของพวกเขาที่ค่อย ๆ ถูกกลืนหายไปจากวงการหนังไทย


ปัจจุบัน ภรณี สุวรรณทัต พำนักอยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา กับ สุขุม บุญลือ คู่ชีวิตอดีตนักแสดงฮอลลีวู้ด ผู้มีส่วนสำคัญให้โชคชะตาของเธอพลิกผันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์


ขอบคุณภาพประกอบและคำแนะนำด้านข้อมูลจากเฟซบุ๊คเพจ ไถง สุวรรณทัต




หมายเหตุ: วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 หอภาพยนตร์เพิ่งได้รับแจ้งข่าวจากเพจ ไถง สุวรรณทัต ว่า ภรณี สุวรรณทัต เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ที่สหรัฐอเมริกา


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด