หนังสือประกอบภาพยนตร์ไทย

แนะนำส่วนหนึ่งของหนังสือในหัวเรื่อง ”หนังสือประกอบภาพยนตร์” ที่บันทึกข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังการถ่ายทำ ผ่านการบอกเล่าจากผู้กำกับและทีมงาน  ที่ให้บริการอยู่ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถานเชิด ทรงศรี 

----------


โดย วิมลิน มีศิริ

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 62 มีนาคม-เมษายน 2564 


เจ้าหน้าที่วิเคราะห์และลงรายการข้อมูลหนังสือ (Cataloger) ทำหน้าที่จัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุด โดยการวิเคราะห์และลงรายการหนังสือที่มีข้อมูลสมบูรณ์ใส่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย เลขเรียกหนังสือ (Call Number) ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง ISBN สำนักพิมพ์ จำนวนหน้า ขนาด ภาพปก และหัวเรื่อง หรือ Subject Heading ซึ่งเป็นคำหรือข้อความสั้น ๆ ที่บอกว่าหนังสือเล่มนั้น ๆ เกี่ยวกับประเด็นอะไร โดยหัวเรื่องหนึ่งที่อยู่ในคลังคำของการกำหนดหัวเรื่องให้หนังสือภาษาไทยของห้องสมุดฯ คือ “หนังสือประกอบภาพยนตร์” ซึ่งหนังสือเหล่านี้มีคุณค่าในแง่ของการบันทึกข้อมูลหนังไทย เสมือนเป็นการเรียบเรียงประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของผู้กำกับภาพยนตร์และทีมงานให้มาอยู่ในรูปแบบหนังสือ ซึ่งจดหมายข่าวฉบับนี้ ห้องสมุดฯ ชวนอ่าน “หนังสือประกอบภาพยนตร์” โดยเลือกตัวอย่างมา 3 เล่มจากหนังไทย 3 เรื่อง


for 610 days, i’ve stayed with these two. 

ถ่ายภาพและเขียนคำบรรยายโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ 



นวพลเน้นการเล่าเรื่องด้วยภาพนิ่ง และอธิบายขยายความภาพด้วยตัวหนังสือ สร้างบรรยากาศทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุก เพลิดเพลินกับอิริยาบถอย่างเป็นธรรมชาติของทีมงานและนักแสดงขณะอยู่ในกองถ่าย ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ รวมถึงผู้อ่านได้รับรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นข้อมูลการสร้างหนังไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากการดูบนจอภาพยนตร์ โดยภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายทั้งหมด จำนวน 208 หน้า ในหนังสือเล่มนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวระหว่างที่นวพลอยู่กับการสร้าง ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ตลอด ๖๑๐ วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึง 3 กันยายน 2558 นวพลนำเสนอเป็นภาพโมโนโทน คือ ขาวดำทุกภาพ และจัดวางภาพแบบหน้าคู่ตลอดทั้งเล่ม การออกแบบรูปเล่มที่สามารถกางราบได้ 180 องศา เช่น ภาพหน้าคู่ 138-139 ใบหน้าของหมออิมระยะใกล้บนจอมอนิเตอร์ด้านซ้าย และภาพระยะใกล้ของยุ่นบนจอมอนิเตอร์ด้านขวา ส่วนตัวอย่างคำบรรยายของนวพล เช่น หน้า 157 หัวข้อ “หนูทดลอง” นวพลเล่าเกี่ยวกับ ความพยายามท่องบทเพียงประโยคเดียวของนักแสดงเอ็กซ์ตร้า (ถ้าใครเคยดูหนังเรื่องนี้แล้วจะนึกออกว่า คำพูดประโยคนี้มีผลต่อความรู้สึกของหมออิม) โดยหลังถ่ายทำเสร็จ นวพลต้องการอัดเสียงเพิ่มเติม เผื่อเอาไว้ใช้ในหนัง ประโยคที่ว่า คือ “หลานผมไม่ใช่หนูทดลองของหมอนะ” ลุงที่เป็นนักแสดงเอ็กซ์ตร้าเครียดมาก เพราะมันเป็นประโยคที่ไม่ได้เตรียมมาจากบ้าน นวพลบอกให้ลุงพูดไปเลย ไม่ต้องกังวล เอาสั้น ๆ แค่นี้เอง ไม่ยากเลย ลุงจึงค่อย ๆ มั่นใจขึ้น แต่เมื่อเริ่มอัดเสียง ลุงพูดว่า “หลานหนูไม่ใช่ผมทดลองของหมอนะ” นั่นคือครั้งที่หนึ่ง ส่วนครั้งต่อ ๆ มา คือ “หลานผมไม่ใช่หมอนะ” “หลานผมไม่ใช่หมอทดลองนะ” “หลานผมไม่ใช่หนูนะ” ฯลฯ


สุดถวิล The Inspiration of ตุ๊กแกรักแป้งมาก 

เรื่องโดย ยุทธเลิศ สิปปภาค และเรียบเรียงโดย สืบสกุล แสงสุวรรณ




แก่นหลักของ สุดถวิล The Inspiration of ตุ๊กแกรักแป้งมาก มุ่งเน้นประเด็นเดียวอย่างชัดเจน คือ ทั้ง 7 บท บอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในหนัง ตุ๊กแกรักแป้งมาก เช่น โรงหนัง สถานบันเทิง ทรงผมและการแต่งกายของนักแสดง ของเล่นวัยเด็ก ของใช้ต่าง ๆ โปสเตอร์หนัง คัตเอาต์ ม้วนวิดีโอ รายการโทรทัศน์ยอดนิยม โดยหนังสือเล่มนี้ให้คำตอบกับผู้อ่านว่า สิ่ง

เหล่านั้นมาจากความประทับใจ แรงบันดาลใจ ที่เคยเกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงของยุทธเลิศที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ผลงาน ตุ๊กแกรักแป้งมาก มาไว้ให้อ่านกันในเล่มเดียวพร้อมภาพประกอบสวย ๆ ส่วนความน่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งของทุกบท แม้จะเป็นการนำเสนอเรื่องของแรงบันดาลใจ แต่ในขณะเดียวกันแรงบันดาลใจเหล่านั้นเสมือนเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์หนังไทยและวงการบันเทิงไทยในยุคราว พ.ศ. 2520-2530 ตัวอย่างเช่น บทที่ 5 “รักหนังไทยมาก” จากฉากที่ปรากฏโรงหนังเพชรเชียงคานที่ฉายเรื่อง ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย ยุทธเลิศได้เล่าที่มาของจุดเริ่มต้นของการสร้างหนัง ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกแห่งค่ายน้องใหม่ในยุคนั้น ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดย ปื๊ดกับอังเคิล ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นชื่อผู้กำกับคู่หูคลื่นลูกใหม่มาแรงในปี 2527 ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย หนังตลกของพวกเขาภายใต้แบรนด์ ไทฯ ทำเงินมโหฬาร โดยทั้งบริษัทผู้สร้างและผู้กำกับ คือ วิสูตร อังเคิล และ ปื๊ด พวกเขาไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำหนังมาก่อน แต่พวกเขาเริ่มสร้าง ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กันมาด้วยจุดเชื่อมเพียงจุดเดียว คือ ความรักในหนัง พวกเขาแค่อยากทำหนังกันเท่านั้น ดังนั้นใน ตุ๊กแกรักแป้งมาก จึงมีใบปิดหรือโปสเตอร์หนังหลายเรื่องของไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นต้น 


Snap ส่วนประกอบของความคิดถึง

โดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี




คงเดชวางรูปแบบการนำเสนอให้หนังสือเล่มนี้ไม่มีสารบัญ แต่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Folder ซึ่งชื่อของแต่ละโฟลเดอร์เสมือนเป็น 1 บท และมีเครื่องหมายสี่เหลี่ยม (#) เขียนนำหน้าชื่อของทุกโฟลเดอร์ โดยคงเดชบันทึกไว้ในเล่มนี้ทั้งหมด 40 โฟลเดอร์ ที่เขาบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์ Snap แค่...ได้คิดถึง หนังสือประกอบภาพยนตร์เล่มนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนเล่มหนี่ง ในการบันทึกข้อมูลหนังไทย เพราะมีตั้งแต่เรื่องย่อ คำอธิบายบุคลิกตัวละครหลักของเรื่องทั้ง 10 คน ที่เป็นกลุ่มเพื่อนสนิทในสมัยมัธยม การคัดเลือกนักแสดง การสำรวจสถานที่ การคัดสรรเพลงมาใช้ในหนัง ฉากและบทที่ต้องตัดออกไป ไม่ได้ฉายขึ้นจอ วิธีการเลือกสถานที่ อุปสรรค ความวิตกกังวลในการทำงาน แรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ และปิดท้ายเล่มด้วยเรื่องราวของวันปิดกล้อง โดยแต่ละโฟลเดอร์จะมีภาพนิ่งทั้งภาพเบื้องหน้า ภาพเบื้องหลัง ภาพขณะการถ่ายทำภาพยนตร์ ยกตัวอย่าง ชื่อโฟลเดอร์ #ขอบฟ้าไง_ใช่ป่ะ คงเดชบันทึกจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจของการเขียนบทหนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง “แค่ได้คิดถึง” ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในกระบวนการทำงานของคงเดช คือ ความพิถีพิถันในขั้นตอนการคัดเลือกนักแสดง คงเดชได้บันทึกความทรงจำในประเด็นนี้ไว้ถึงห้าโฟลเดอร์ ได้แก่ #ในหนังสือรุ่นรูปของใครบางคนหายไปเสมอ #ตอนนี้เนี่ยนะ? #รับผิดชอบหน่อยสิ #ปูผัดฉ่า #มอหกทับเจ็ดห้องครูเป็ดมีไฝ โดยเขาคิดเสมอว่า การคัดเลือกนักแสดงก็เหมือนกับการเฟ้นหาวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหาร โดยเฉพาะนักแสดงหลักที่จะมาเล่นเป็นพระนาง ทั้งสองเหมือนเป็นสิ่งที่คนดูจะต้องตักกินทุกคำ ๆ ไปจนหมดจาน   


นอกจากหนังสือสามเล่มที่แนะนำมาแล้วยังมีหนังสือประกอบภาพยนตร์อีกมากทั้งไทยและเทศที่ให้บริการอยู่ที่ห้องสมุดและโสตทัศนสถานเชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ โดยท่านสามารถใช้บริการได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น.-17.00น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ

หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด