วิชาภาพยนตร์ วิชาใหม่ที่มุ่งหวังให้นักเรียนไทยเข้าใจภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น

ภาพยนตร์ คือเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีที่สุดประเภทหนึ่งของมนุษย์ การทำความเข้าใจในภาษาของภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเรียนการสอนเกี่ยวกับความเข้าใจภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้นมีเพียงระดับอุดมศึกษา ซึ่งหอภาพยนตร์เห็นว่าอาจจะล่าช้าเกินไป  หอภาพยนตร์จึงผลักดันขยายขอบเขตการเรียนรู้ในเรื่องนี้ไปสู่กลุ่มเยาวชนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กับ "วิชาภาพยนตร์"

------------


โดย นิศานาถ ไทรทองคำ

* พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 62 มีนาคม-เมษายน 2564 


จากการเริ่มต้นแนวความคิดที่ต้องการผลักดันให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ในสถาบันการศึกษา นำไปสู่การจัดทำตำรา “วิชาภาพยนตร์” ที่รวบรวมองค์ความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งหมดไว้ โดยอาจารย์ประวิทย์  แต่งอักษร  นักวิจารณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์  อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ผู้มีประสบการณ์การสอนภาพยนตร์ ขณะนี้หอภาพยนตร์พร้อมที่จะนำเสนอให้ผู้ที่สนใจได้รู้จักวิชาภาพยนตร์และนำเนื้อหาในตำรานั้นไปใช้จัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โดยเริ่มต้นที่การเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่คุ้นเคยกับการดูภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหว และใช้ชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยสื่อเคลื่อนไหว ดังนั้นการให้เยาวชนวัยนี้ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจในภาษาของภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจในเจตนารมณ์ของผู้สร้าง เข้าใจและเท่าทันในสารของสื่อที่ตนเองรับชมได้อย่างแท้จริง หอภาพยนตร์จึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญในการแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักวิชาใหม่ ที่หอภาพยนตร์ขอให้ชื่อเรียกว่า “วิชาภาพยนตร์”


รู้จักวิชาภาพยนตร์ 




วิชาภาพยนตร์ เป็นวิชาที่ก่อเกิดขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นว่าภาพยนตร์ คือเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีที่สุดประเภทหนึ่งของมนุษย์  การที่มนุษย์จะใช้เครื่องมือนี้ได้ดีที่สุด ก็ต้องย่อมเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังเช่นกับที่เราเข้าใจภาษาจนสามารถอ่านงานวรรณกรรมและซาบซึ้งกับงานนั้นได้  ดังนั้นการเรียนรู้ ทำความรู้จักภาพยนตร์ ที่มองได้ว่าเป็นอีกภาษาหนึ่งจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากปล่อยให้ผู้ชมเรียนรู้กันด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว อาจพลาดโอกาสที่จะเข้าใจการสื่อความหมายของภาพยนตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้การเรียนการสอนเกี่ยวกับความเข้าใจภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้น มีเพียงแต่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งหอภาพยนตร์เห็นว่าอาจจะล่าช้าเกินไป  จึงขยายขอบเขตการเรียนรู้ในเรื่องนี้ไปสู่กลุ่มเยาวชนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีชีวิตเกี่ยวพันกับสื่อภาพเคลื่อนไหวหรือสื่อภาพยนตร์มากที่สุดช่วงหนึ่ง โดยเสนอให้โรงเรียนนำวิชาภาพยนตร์นี้ไปใช้ในลักษณะของวิชาเพิ่มเติม


เนื้อหาสำคัญของวิชาภาพยนตร์ที่ถูกเขียนขึ้นโดย อ.ประวิทย์ แต่งอักษร จะเน้นความสำคัญ 3 ส่วน คือ หนึ่ง เนื้อหาที่ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจ ความหมาย ประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ รวมถึงสถานะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อผู้ชมและสังคม  สอง เนื้อหาที่เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจภาษาภาพยนตร์ การสื่อความหมาย และองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของภาพยนตร์ และส่วนสุดท้ายคือ การจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าใจแง่มุมต่าง ๆ ของภาพยนตร์ได้ดียิ่งขึ้น


กิจกรรมอบรมครูและแผนการจัดการเรียนรู้



ภาพ : บรรยากาศการอบรมครูวิชาภาพยนตร์ แบบออนไลน์เมื่อวันที่ 22-24 เมษายน 2563


การอบรมครู เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มวิชาภาพยนตร์ เพราะเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน รวมทั้งได้ระดมความคิดในการพัฒนาเนื้อหาวิชา ตลอดจนวิธีการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์ในโรงเรียนนั้นเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง  ทั้งนี้หอภาพยนตร์ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมครูวิชาภาพยนตร์ไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของหอภาพยนตร์ และได้รับความสนใจจากครูหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการแนะนำวิชาใหม่นี้แก่เหล่านักการศึกษา ครู อาจารย์ที่สนใจ และยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมอบรมครู ยังเป็นพื้นที่ในการร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ โดยต้นแบบแผนที่เกิดขึ้น เป็นการจัดการเรียนรู้สำหรับ 20 สัปดาห์ มีชั่วโมงเรียน 2 คาบต่อสัปดาห์ และแบ่งย่อยการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ตามลำดับเนื้อหาที่เหมาะสม นอกจากนี้หอภาพยนตร์ยังได้จัดทำรายการภาพยนตร์แนะนำที่เหมาะสมจะใช้เป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ในแต่ละสัปดาห์ให้อีกด้วย  สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละแผน ที่หอภาพยนตร์และครูผู้มาอบรมได้ร่วมกันร่างขึ้นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนรู้จักการตั้งคำถาม กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ทดลองด้วยตนเอง หรือแม้แต่กิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ประมวลความรู้ที่เรียนแล้วคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ในแบบของตนเองได้  โดยที่กิจกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นเพียงแนวทางที่ครูวิชาภาพยนตร์จะสามารถนำไปปรับปรุง เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนตนเองได้   


เพื่อความสะดวกของครูที่สนใจจะเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ หลังจากที่ได้อบรมครูและร่วมกันร่างแผนการจัดการเรียนรู้ขึ้นมาแล้วนั้น หอภาพยนตร์จึงดำเนินการเรียบเรียงแผนเป็นฉบับสมบูรณ์พร้อมทั้งเพิ่มรายชื่อภาพยนตร์ที่น่าสนใจที่ใช้ประกอบการสอน  รวบรวมเป็นชุดเครื่องมือวิชาภาพยนตร์สำหรับแบ่งปันสู่บุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ ทุกท่านที่สนใจเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ โดยเครื่องมือทั้งหมดประกอบไปด้วย

1. หนังสือวิชาภาพยนตร์  

2. แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาพยนตร์ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 

3. รายชื่อภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์แนะนำ สำหรับนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้


และช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ หรือปรับเนื้อหาวิชาภาพยนตร์นี้ไปใช้แล้วในบางสถานศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญ ที่วิชาภาพยนตร์จะเริ่มขยับขยายเข้าสู่พื้นที่สถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษามากขึ้น 


วิชาภาพยนตร์ในโรงเรียน




โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นับเป็นสถานศึกษาแห่งแรก ๆ ที่ทดลองเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ โดยอาจารย์มานนท์ ผสมสัตย์ อาจารย์สอนศิลปะ ผู้ที่สนใจภาพยนตร์เป็นทุนเดิมและมีประสบการณ์การใช้สื่อภาพยนตร์ประกอบการสอนในวิชาตนเอง หอภาพยนตร์ได้ติดตามและพูดคุยกับอาจารย์มานนท์ ผสมสัตย์ เพื่อเก็บข้อมูลการเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ในโรงเรียน อาจารย์มานนท์ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่เข้าร่วมการอบรมวิชาภาพยนตร์ไปแล้ว มองเห็นว่าวิชานี้จะสามารถช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้สุนทรียะของภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น จึงได้เปิดวิชาภาพยนตร์เป็นวิชาเพิ่มเติมรองรับนักเรียน 24 คน และได้รับความสนใจจากนักเรียนอย่างดียิ่ง ทำให้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนครบถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว  ในรูปแบบการเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ของอาจารย์มานนท์นั้น  ได้นำแผนการสอนของหอภาพยนตร์มาปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้ากับบริบทของนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ และได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์คู่กับห้องเรียนแบบปกติในปีการศึกษา 2563 ผลตอบรับของนักเรียนนั้น พบว่านักเรียนมีความสนใจและสนุกสนานกับการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ยังได้นำนักเรียนมาศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน ณ หอภาพยนตร์เพิ่มเติม หลังจากวัดผลแล้วพบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม มีความรู้ความเข้าใจตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามเกณฑ์การวัดและประเมินผลทุกข้อ ซึ่งเป็นผลตอบรับที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่งในมุมมองของอาจารย์มานนท์ 


นอกจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์แล้ว จากการสำรวจเบื้องต้นของหอภาพยนตร์ยังพบว่ามีครูผู้เข้าร่วมอบรมอีกบางส่วนที่ได้นำเนื้อหาวิชาภาพยนตร์ไปปรับใช้ในวิชาของตนเอง เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร  โรงเรียนดอนยางวิทยา จ.เพชรบุรี และโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จ.ตราด 


ร่วมเปิดสอนวิชาภาพยนตร์


เพื่อที่จะขยับขยายขอบเขตการเรียนรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ในช่วงวัยมัธยมศึกษาให้มากกว่าการเรียนรู้ด้านการผลิตไปสู่การเรียนรู้ในทุกแง่มุมของภาพยนตร์ หอภาพยนตร์ขอเชิญชวนบุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ ทุกท่านที่สนใจเปิดสอนวิชาภาพยนตร์ในโรงเรียน ได้นำชุดเครื่องมือวิชาภาพยนตร์นี้ ไปเป็นเครื่องมือเริ่มต้นสำหรับออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มนักเรียนของท่าน โดยสามารถแจ้งความจำนงขอรับหนังสือวิชาภาพยนตร์และแผนการจัดการเรียนรู้พร้อมทั้งรายชื่อภาพยนตร์แนะนำสำหรับใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้ได้ที่ ฝ่ายเผยแพร่ โทรศัพท์ 02 482 2013-15  ต่อ 1308 หรืออีเมล faschoolcinema@fapot.org  นอกจากนี้ท่านสามารถติดตามข่าวสารการอบรมครูวิชาภาพยนตร์และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.fapot.or.th   

------------------
วิชาภาพยนตร์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้ภาพยนตร์ในห้องเรียน” ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เเละโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดรับสมัครครูระดับชั้นมัธยมศึกษาที่สนใจการใช้ภาพยนตร์ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2564 นี้ ณ โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จ.พิษณุโลก  ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรม
สนใจสารถสมัครเข้าร่วมอบรมได้ที่ https://fapot.or.th/main/news/704


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด