นิทรรศการเสมือนบนแพลตฟอร์ม Google Arts and Culture

ช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ ชวน "เที่ยว” หอภาพยนตร์ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และนิทรรศการทั่วโลก ผ่านหน้าจอด้วย Google Arts and Culture

-----------

 

 

โดย ก้อง ฤทธิ์ดี

พิมพ์ครั้งแรกในจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ 62 มีนาคม-เมษายน 2564

 

การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์จะอิ่มเอิบด้วยผัสสะอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ชมอยู่ในสถานที่จริง เห็นภาพเขียนหรือวัตถุจัดแสดงจริง ได้เห็นสี เห็นปูน เห็นร่องรอยแห่งกาลเวลาจริงบนชิ้นงาน (ถึงแม้จะไม่สามารถสัมผัสชิ้นงานได้ก็ตามที) แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบออนไลน์กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในรอบหลายปีหลัง และยิ่งมาทวีคูณด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางของคนทั้งโลกหยุดชะงัก และคงยังเป็นเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ ความนิยมของนิทรรศการออนไลน์เริ่มต้นจากเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถจำลองความรู้สึกการไปชมพิพิธภัณฑ์ได้แบบน่าตื่นตาตื่นใจโดยไม่ต้องเดินทางไปจริง ๆ  อีกทั้งพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลกต่างสบโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อประชาสัมพันธ์คอลเลกชันและงานศิลปะที่ตนเองจัดแสดงให้แก่ผู้ชมในส่วนอื่นของโลกที่อาจไม่สามารถมาเยือนสถานที่จริง เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์



ภาพ : ภาพปะติมากรรม Mona Lisa ผ่านโปรเจกต์ Art Projector ในแอปของ Google Arts and Culture



Google Arts and Culture เป็นแพลตฟอร์มของบริษัท Google ที่รวบรวมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์สำคัญ ๆ ของโลกหลายพันพิพิธภัณฑ์ไว้ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถ “ไปเที่ยว” พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ชมภาพเขียน ประติมากรรม ชิ้นงาน หรือชมนิทรรศการออนไลน์ได้ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ในปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครสามารถเดินทางไปชมภาพ Mona Lisa ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ได้บ่อย ๆ หรือใครจะอยากฝ่าฝูงชน (แม้เมื่อหมดโควิด) ไปดูภาพ Starry Night ของวินเซนต์ แวนโกะห์ แต่ด้วย Google Arts and Culture ภาพเขียน และงานศิลปะอื่น ๆ มากมาย จะถูกยกมาตั้งไว้ในห้องของผู้ชมได้ในแบบ virtual หรือเสมือนจริง ด้วยความละเอียดสูงผ่านเทคโนโลยีเช่น Augmented Reality (AR) รวมทั้งการซูมเข้าไปดูรายละเอียดแบบระยะเผาขน ภาพ 360 องศา หรือ Street View ที่จำลองเส้นทางการเดินชมนิทรรศการจริง ๆ หรือแม้กระทั่งการเปิดเสียงบรรยายไปพร้อมกัน

 

ในปีที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เข้าร่วมกับ Google Arts and Culture เพื่อจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ โดยในขณะนี้มีสองนิทรรศการ ได้แก่ บันทึกหนังไทยผ่านภาพถ่ายของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร และ เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ไทย โดยทั้งสองนิทรรศการเป็นการแสดงภาพความละเอียดสูงพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อเผยแพร่งานอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์ไปสู่ผู้ชมและผู้สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั่วโลก ในปีนี้ หอภาพยนตร์มีโครงการจะเพิ่มนิทรรศการออนไลน์ในช่องทาง Google Arts and Culture อีกหลายนิทรรศการ ในที่นี้จึงสบโอกาสในการแนะนำแพลตฟอร์มอันมีสีสันน่าสนใจและให้ความรู้นี้แก่ผู้อ่านของเรา

 

เปิดขุมสมบัติโลก

 

เริ่มต้นง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่ https://artsandculture.google.com/ หรือจะเสิร์ช Google Arts and Culture ก็ได้ จากนั้นเมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ ผู้ชมสามารถค้นต่อได้ว่าจะไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่ไหน เช่นใส่คำค้น Thai Film Archive หรือ “หอภาพยนตร์” เพื่อเข้าสู่หน้าของหอภาพยนตร์อีกที หรือผู้ชมอาจจะลองเล่นกับนิทรรศการหรือไฮไลต์อื่น ๆ ที่ Google Arts and Culture ยกมาใส่ไว้ในหน้าแรกก็สนุกไม่น้อยเช่นกันขุมสมบัติทางศิลปะของโลกจำนวนมหาศาลถูกรวมอยู่ใน Google Arts and Culture ผ่านทางพิพิธภัณฑ์ในเครือข่าย ดังนั้นไม่ว่า ผู้ชมจะลองค้นหาภาพเขียน ประติมากรรม หรือชื่อศิลปินคนใด ก็จะมีงานปรากฏให้เข้าไปดู พิพิธภัณฑ์ระดับสุดยอดของโลกอย่าง The Louvre ในปารีส Rijksmuseum ในอัมสเตอร์ดัม The State Hermitage Museum ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก The Tokyo National Museum of Modern Art ในโตเกียว MoMA The Museum of Modern Art และ THE MET ในนครนิวยอร์ก Uffizi Gallery ในฟลอเรนซ์ และอื่น ๆ อีกมาก ล้วนแต่นำเสนอคอลเลกชันของตนในแพลตฟอร์มนี้

 

หลาย ๆ พิพิธภัณฑ์มีภาพ 360 องศา ที่จำลองเส้นทางการเดินจริงมาให้ แต่ที่ให้ความรู้และอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ต่างจากการชมงานศิลปะแบบของจริง คือลูกเล่น AR ที่ทำให้เราสามารถยกงานศิลปะมา “ตั้ง” ดูในห้องได้แบบภาพเสมือน ที่สำคัญคือซูมได้ใกล้มาก ๆ แบบที่ถ้าไปดูของจริง คนเฝ้าคงตะเพิดเพราะเราชะโงกหน้าเข้าไปติดผ้าใบขนาดนั้น นอกจากนี้งานศิลปะหลายชิ้นยังมาพร้อมกับลูกเล่นในการซูมพร้อมให้คำบรรยาย เช่นในกรณีของภาพเขียนคลาสสิกที่มีเรื่องราว เราสามารถซูมเข้าไปที่ใบหน้าของคนในภาพโดยคำอธิบายจะปรากฏโดยอัตโนมัติเพื่อบอกว่าใครเป็นใคร สำคัญอย่างไร หรือศิลปินจัดองค์ประกอบภาพนี้อย่างไร 

 

ลองเล่นกันดูเพียงใส่คำค้นเป็นชื่อภาพเขียน งานศิลปะ หรือใส่ชื่อศิลปินเลยก็ได้ โดยไม่ต้องไปจำว่างานดังกล่าวอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ใด

 

หอภาพยนตร์บน Google Arts



ภาพ: วัตถุจัดแสดงและมุมมองของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการของหอภาพยนตร์ใน Google Arts and Culture

นอกจากหอภาพยนตร์ของไทยแล้ว หอภาพยนตร์หลายแห่งในโลกก็ร่วมจัดนิทรรศการและแสดงคอลเลกชันวัตถุผ่านแพลตฟอร์ม Google Arts and Culture เช่น หอภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Archive) หอภาพยนตร์โปแลนด์ (Filmoteka Narodowa) หอภาพยนตร์ฝรั่งเศส (Cinémathèque Française) และอื่น ๆ

 

ผลงานที่นำมาจัดแสดงมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่ต้องอ่านเพื่อความเข้าใจ หรือแค่ชมภาพสวย ๆ ก็ได้เช่นกัน อาทิ Korean Film Archive คึกคักมากและมีหลายนิทรรศการ เช่น การจัดแสดงโปสเตอร์หนังเกาหลีคลาสสิก นิทรรศการแนะนำดาราคนสำคัญของเกาหลี และแนะนำผู้กำกับเกาหลีที่โด่งดังในต่างประเทศ ส่วน หอภาพยนตร์โปแลนด์ จัดแสดงนิทรรศการที่เล่าขั้นตอนการบูรณะภาพยนตร์เงียบโปแลนด์ ที่น่าสนใจมากเช่นกันคือ Cinémathèque Françaiseของฝรั่งเศส ที่มีทั้งนิทรรศการประวัติชีวิตและผลงานของฌอร์ฌ เมเลียส ผู้กำกับในยุคบุกเบิก รวมทั้งมีภาพเคลื่อนไหวแทรกอยู่ในนิทรรศการด้วย อีกทั้งมีนิทรรศการกล้อง 70 มม. ในยุคเริ่มต้น และมีทัวร์ 360 องศา ที่พาไปชมคอลเลกชันกล้องถ่ายภาพยนตร์จำนวนมากในคลังอนุรักษ์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติฝรั่งเศสแห่งนี้



ภาพ: หน้า Google Arts and Culture หอภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Archive)




สำหรับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นอกจากนิทรรศการยานอวกาศบ้านนาบัว นิทรรศการภาพถ่ายของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร และนิทรรศการเครื่องแต่งกายจากหนังไทยที่ออนไลน์อยู่แล้ว เตรียมพบกับนิทรรศการอื่น ๆ เช่น  นิทรรศการหนังถ้ำมอง ที่กำลังจะนำมาเผยแพร่ให้ผู้ชมทั่วโลกได้ชมกันผ่านช่องทาง Google Arts and Culture

ติดตาม Google Arts and Culture หอภาพยนตร์ <<คลิก>>


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด