อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก: ฆาตกรรมรำลึก

สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายในกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก × Cinema Lecture: Vertigo”  โดย ประวิทย์ แต่งอักษร ที่พาผู้ชมร่วมสำรวจและรำลึก ผลงานและตัวตนของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์ระทึกขวัญ

…………………………………



โดย อธิพันธ์ สิมมาคำ

ที่มาภาพปก: https://www.parkcircus.com/film/114360-Vertigo


วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2564 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม “ทึ่ง! หนังโลก x Cinema Lecture” ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Vertigo ผลงานเรื่องสำคัญปี 1958 ของเจ้าพ่อหนังระทึกขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ที่ชนะการโหวตให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกในประวัติศาสตร์จากนิตยสารภาพยนตร์ Sight & Sound ในปี 2012 ซึ่งเดิมมีกำหนดการจัดฉายตั้งแต่เดือนมกราคม แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องเลื่อนการจัดงานมาในเดือนเมษายน 


ในวันดังกล่าว หลังจบการฉายภาพยนตร์ ได้มีการบรรยายพิเศษจาก ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์และอาจารย์สอนภาพยนตร์ ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาผลงานของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ซึ่งได้พาผู้ชมไปพบกับแง่มุมสำคัญและคุณูปการต่าง ๆ จากผู้กำกับชั้นครูคนนี้ ผ่านการบรรยายอย่างเต็มอิ่มเกือบ 2 ชั่วโมง ในหัวข้อ “ALFRED HITCHCOCK: RETROSPECTIVE สำรวจ ตรวจสอบ รำลึก คารวะ” และนี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของการบรรยายจากกิจกรรมในวันนั้น


ทำไมต้องศึกษาฮิตช์ค็อก?



 

อ.ประวิทย์ เกริ่นนำหัวข้อการบรรยายด้วยการหยิบยกคำพูดของ บองจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ เจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ซึ่งกล่าวยกย่องอัลเฟรด ฮิตช์ค็อกว่า "เขาเป็นคนทำหนังที่ให้กำเนิดแนวทางเฉพาะขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ผลงานที่ใกล้เคียงกับความเป็น Pure Cinema ในแง่ที่ภาพบนจอสื่อสารความหมายต่าง ๆ ในตัวมันเอง”


อ.ประวิทย์ กล่าวถึงที่มาและองค์ประกอบที่มักพบเจอในผลงานของฮิตช์ค็อก ทั้งการที่เขานำรากฐานของความกลัวของมนุษย์มาบอกเล่าผ่านตัวละครนำของเรื่อง เช่น การกลัวความสูงใน Vertigo (1958) การกลัวตำรวจใน North by Northwest (1959) และการกลัวที่แคบใน Rear Window (1954) 


นอกจากนี้ ฮิตช์ค็อกมักนำเสนอเนื้อหาที่ประกอบด้วยเรื่องราวลึกลับ ตื่นเต้น เขย่าขวัญ หรือมีพล็อตเกี่ยวกับตัวละครผิดฝาผิดตัว ฆาตกรรมสมบูรณ์แบบ เล่นกับปมผิดบาป อดีตที่ตามหลอกหลอน และการใช้องค์ประกอบที่เรียกว่า “MacGuffin” แปลได้ประมาณว่า เหตุผลหรือแรงกระตุ้นบางประการที่มีความหมายต่อตัวละคร ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เนื้องเรื่องเดินไปข้างหน้า แม้สิ่งที่เป็น MacGuffin นั้นอาจไม่ได้เป็นแก่นสารหรือสาระอย่างจริง ๆ จัง ๆ ของเรื่อง 


อ. ประวิทย์ บรรยายต่อถึงลักษณะของตัวละคร (Characterization) ในหนังของฮิตช์ค็อก ที่มักประกอบด้วย ตัวละครที่มีด้านมืด  ตัวร้ายที่มีเสน่ห์ ตัวละครที่มีอำนาจแบบแม่ และผู้หญิงผมบลอนด์ (Blonde Girls) ซึ่งทั้งหมดนี้มีให้เห็นในหนังของเขาแทบทุกเรื่อง 



ภาพ: คิม โนแวค จาก Vertigo

ที่มา: https://www.parkcircus.com/film/114360-Vertigo


ลายเซ็นของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก


ลำดับถัดมา อ.ประวิทย์บรรยายถึง “เทคนิคและสไตล์การนำเสนอของฮิตช์ค็อก” ที่แสดงให้เห็นถึงความเจนจัดในฝีไม้ลายมือ จนต่อมาได้รับการพัฒนากลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของสุดยอดผู้กำกับท่านนี้


เริ่มต้นจากความเป็น “Pure Cinema” หรือ การที่ฮิตช์ค็อกใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการสื่อสารผ่านกลวิธีเฉพาะของภาพยนตร์โดยตรง ทั้งด้านภาพ เสียง การตัดต่อ ดนตรีประกอบ เสื้อผ้า งานสร้าง อันเป็นการแสดงถึงศิลปะของภาพยนตร์โดยบริสุทธิ์ ผ่านเทคนิคต่าง ๆ เช่นการตัดต่อแบบ Montage ซึ่งหมายถึง การตัดต่อภาพช็อตสั้น ๆ ต่อกันเพื่อสื่อความหมายที่อยากนำเสนอ หรืออาจก่อให้เกิดความหมายใหม่ รวมถึงเทคนิคการจางภาพ (Dissolve) หรือการซ้อนภาพจากซีนหนึ่งเชื่อมไปอีกซีนหนึ่ง


ฮิตช์ค็อกมักใช้ภาพแทนสายตาของตัวละคร และการใช้ภาพที่เลียนแบบถ้ำมอง หรือการแอบดู (Voyeurism) เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างคนดูและตัวละครที่กำลังทำการแอบดู เพราะการดูหนังก็เป็นการแอบมองแบบหนึ่ง อ.ประวิทย์ กล่าวเสริมว่า “มีการประมาณว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของช็อตทั้งหมดในหนังฮิตช์ค็อก เป็นการถ่ายแบบแทนสายตาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างคนดูกับตัวละคร เช่น ในกรณีของ Rear Window  และ Psycho (1960) ภาพแทนสายตา หรือ POV ถูกใช้เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมถ้ำมองของคนดู” ทั้งนี้ อ. ประวิทย์อธิบายว่า การชมภาพยนตร์ในโรง คล้ายกับพฤติกรรมถ้ำมองที่ผู้ชมนั่งอยู่ในความมืด ตัวละครบนจอไม่รับรู้การมีอยู่ของเรา และเราได้รับความสุขจากสิ่งที่มอง



ภาพ: เจมส์ สจ๊วร์ต จาก Rear Window

ที่มา: https://www.parkcircus.com/film/114327-Rear-Window


นอกจากนี้ฮิตช์ค็อกมักมีฉากที่ถ่ายทำในสถานที่คับแคบหรือพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ที่อึดอัด กดดัน จนมุม จนคนดูรับรู้ถึงความกดดันได้เช่นเดียวกับตัวละคร ผลงานที่ใช้ประโยชน์จากเทคนิคนี้ได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ Lifeboat (1944) ซึ่งเป็นหนังที่ทั้งเรื่องเกิดเหตุการณ์ในเรือชูชีพ Rear Window และ North by Northwest 


สุดท้ายคือการจัดแสงแบบ Expressionist หรือการจัดแสงที่เน้นประโยชน์จากการใช้แสงเงา ซึ่งแสงเงานั้นจะบิดเบือนรูปทรงและรูปลักษณ์ ทั้งกับสิ่งของและตัวละคร โดยในการบิดเบือนนั้นกลับทำให้เห็นความหมายที่แท้จริง และเน้นสิ่งที่คนทำหนังต้องการจะสื่อสาร


จงถ่ายฉากฆาตกรรมให้เหมือนเลิฟซีน และจงถ่ายฉากเลิฟซีนให้เหมือนการฆาตกรรม!

 


ภาพ: เจมส์ สจ๊วร์ตและคิม โนแวค จาก Vertigo

ที่มา: https://www.parkcircus.com/film/114360-Vertigo


อ.ประวิทย์ ยกคำพูดของฮิตช์ค็อกดังกล่าวข้างต้นมาเพื่ออธิบายความสำคัญของการใช้ฉากรักโรแมนติกในหนังของเขา โดยเสริมว่า “หนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราวในภาพยนตร์ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก คือเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ หรือความโรแมนติก แต่ความรักในหนังของฮิตช์ค็อก ไม่ใช่รักแบบหวานซึ้งหรือเฉลิมฉลองคู่รักแต่อย่างใด ฮิตช์ค็อกใช้ความรักเพื่อนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายตามมาที่เกิดขึ้นกับตัวละคร โดยหนทางหนึ่งที่ทำให้คนดูเชื่อในการทุ่มเทและอุทิศตนของตัวละคร คือการนำเสนอฉากเลิฟซีนอย่างดูดดื่ม จนเป็นที่มาของฉากพลอดรักอันลือลั่นจากผลงานหลายเรื่อง ทั้งฉากเปิดเรื่องใน Rear Window และฉากจูบใน Notorious (1946)” 


อารมณขันร้าย ๆ ของฮิตช์ค็อก


 

ภาพ: การปรากฏตัวของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก จาก Rear Window

ที่มา: https://www2.bfi.org.uk/news-opinion/news-bfi/quiz-name-hitchcock-cameos


แม้จะได้รับการยกย่องให้เป็นราชาหนังสยองขวัญ แต่ผู้กำกับชาวอังกฤษคนนี้ ก็มีความตลกในรูปแบบของเขาเช่นกัน โดย อ.ประวิทย์ เสริมว่า “อารมณ์ขันในหนังของฮิตช์ค็อก ถูกใช้เพื่อผ่อนคลายความกดดันให้กับผู้ชม” โดยอาจจำแนกได้ใน 4 ลักษณะ คือ อย่างแรกเป็นอารมณ์ขันที่มาจากการปรากฏตัวของฮิตช์ค็อกเองในฉาก (Humor in the Cameo) สองคืออารมณ์ขันที่ล้อเลียนลักษณะเฉพาะของตัวละคร (Humor in the Stereotype) เช่น ความเย่อหยิ่งแบบชนชั้นผู้ดีอังกฤษ ความแห้งแล้งเย็นชาแบบคนเยอรมัน อารมณ์ขันที่แฝงนัยยะทางเพศที่บ่งบอกความเป็นคนสัปดนของฮิตช์ค็อก (Humor of Sexual Innuendo) เช่นในภาพยนตร์เรื่อง The 39 Steps (1935) Rear Window และฉากจบใน Stranger on the Train (1951) 


และสุดท้ายคือ อารมณ์ขันที่โยงอยู่กับเรื่องคอขาดบาดตาย (Humor of the Macabre) เช่น เรื่องวุ่นวายที่เกี่ยวข้องกับศพที่ไม่มีใครรู้ว่าตายเพราะอะไรใน The Trouble with Harry (1955) หรือฉากไคลแม็กซ์ The Man Who Knew Too Much (1956) ที่เกี่ยวข้องกับการตีฉาบครั้งสำคัญ


มรดกตกทอดและสัมผัสแบบฮิตช์ค็อกในภาพยนตร์ร่วมสมัย

 


ภาพ: Tenet ผลงานการกำกับของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

ที่มา: https://www.warnerbros.com/movies/tenet


ในช่วงท้ายของการบรรยาย อ.ประวิทย์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมทั้งที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ และรับชมผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของหอภาพยนตร์ สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คืออิทธิพลของฮิตช์ค็อกต่อคนทำหนังรุ่นหลัง ทั้งกับคำถามที่ว่า “มีผู้กำกับรุ่นหลังคนไหนบ้างที่ได้รับอิทธิพลจากผลงานของฮิตช์ค็อก?” โดย อ.ประวิทย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ผู้กำกับที่ได้รับอิทธิพลจากฮิตช์ค็อก ล้วนงอกเงยจากพื้นฐานทางภาพยนตร์ที่ฮิตช์ค็อกทำเอาไว้ อาทิ ไบรอัน เดอ พัลมา, สตีเวน สปีลเบิร์ก, เดวิด ฟินเชอร์ และคริสโตเฟอร์ โนแลน” ก่อนจะเสริมต่อว่า “ถ้าฮิตช์ค็อกยังมีชีวิตอยู่ แล้วได้ดู Tenet (2020) ของโนแลน จะต้องภูมิใจ เพราะเป็นหนังที่มีส่วนผสมระหว่างการเป็นสายลับ การหักหลัง ยอกย้อน มีความโบรแมนซ์ระหว่างตัวละคร และเป็นเรื่องของผู้หญิงผมบลอนด์ ผลงานของโนแลนเรื่องนี้ เหมือนแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ฮิตช์ค็อกหว่านเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง มันงอกเงยยังไง”


อีกคำถามจากผู้ชมคือ “ผลงานของฮิตช์ค็อกมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ไทยเรื่องใดบ้าง?”  อ.ประวิทย์ กล่าวว่า “ถ้าให้นึกถึงหนังไทยที่มีสไตล์แบบฮิตช์ค็อกไปเลย อาจจะยากมาก แต่ถ้าถามว่าหนังเรื่องไหนที่มีส่วนผสมและสัมผัสแบบหนังของฮิตช์ค็อก อาจมี โรงแรมนรก (พ.ศ. 2500) ที่มีเงินเป็น MacGuffin ในการดำเนินเรื่อง มีสถานการณ์จนมุม และมีการจัดแสงแบบ Expressionist รวมถึง เรื่องตลก 69 (พ.ศ. 2542) ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่มีเงินเป็น MacGuffin มีอารมณ์ขันร้าย ๆ และมีหญิงสาวเผชิญวิบากกรรม คนกินเมีย (พ.ศ. 2517) ที่เป็นหนังไทยแนวฆาตกรต่อเนื่องเรื่องแรก ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโฮโมเซ็กชวลที่เป็นธีมหลักในหนังของฮิตช์ค็อก และ 13 เกมสยอง (พ.ศ. 2549) ที่เป็นหนังแนวตื่นเต้นระทึกขวัญที่น่าสนใจเฉกเช่นผลงานของฮิตช์ค็อก”


 

ภาพ: โรงแรมนรก ผลงานการกำกับของ รัตน์ เปสตันยี


Vertigo ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก?

 


ภาพ: คิม โนแวคและอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ขณะถ่ายทำ Vertigo

ที่มา: https://monovisions.com/vertigo-1958-behind-the-scenes-alfred-hitchcock/


อ.ประวิทย์ ปิดท้ายการบรรยายถึง Vertigo ภาพยนตร์ที่จัดฉายในงาน ต่อคำถามที่ว่า “คิดว่าเพราะอะไรถึงทำให้ Vertigo ได้รับชนะการโหวตจากนิตยสาร Sight and Sound ให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก” โดย อ.ประวิทย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า 


Vertigo เป็นภาพยนตร์ที่มาก่อนกาลเวลา ตอนที่ออกฉายครั้งแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เสียงวิจารณ์ในตอนนั้นออกมาในเชิงลบหมด หนังอาจต้องใช้เวลาบ่มเพาะ เพราะวิธีและท่วงท่าการเล่าเรื่องค่อนข้างแตกต่างจากหนังในยุคเดียวกัน เลยทำให้หนังถูกลืมเลือนตามกาลเวลา แต่ด้วยในยุคหลังมีการนำ Vertigo มาบูรณะใหม่และเผยแพร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง พอคนอีกรุ่นได้ดูจึงมองเห็นสุนทรียศาสตร์ในทางศิลปะ ความแยบยลเชิงกวี มองเห็นความซับซ้อนในความลุ่มหลงของมนุษย์ รวมทั้งภาพยนตร์ศึกษาเป็นศาสตร์ที่แพร่หลายมากขึ้น จึงมีหลายปัจจัยที่ทำให้  Vertigo ได้รับการยกย่องต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน”



 

 


หนัง 14 ตุลาคม : การเขียนประวัติศาสตร์ประชาชน...

14 ต.ค. 64  บทความ

เบื้องหลังการถ่ายหนังบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของ ชิน คล้ายปาน และ ทวีศักดิ์ วิรยศิริ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ที่หอภาพยนตร์ และต่อมาภาพย...

อ่านรายละเอียด

หลายชีวิต อดีตคนทำหนังสั้น กับความทรงจำและควา...

23 ก.ย. 64  บทความ

สรุปสาระสำคัญจากการสนทนากับคนทำหนังที่มีจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการส่งผลงานประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ยุคเลขตัวเดียว ถึงบทบาทที่หลากหลายแตกต่...

อ่านรายละเอียด

ภาพยนตร์อัฟกันภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน

16 ก.ย. 64  บทความ

เรื่องราวของภาพยนตร์และงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของอัฟกานิสถาน ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดสามทศวรรษจากสงครามกลางเมืองและการปกครองของตาลีบัน และล่าสุดยังคงเผชิญก...

อ่านรายละเอียด

ภาพเคลื่อนไหวอาจารย์ศิลป์กับงานศิลปะเรื่องเดี...

15 ก.ย. 64  บทความ

แม้ว่าเรื่องราวและภาพถ่ายของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะมีการเผยแพร่อย่างมากมาย แต่ภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการทำงานศิลปะนั้นไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน...

อ่านรายละเอียด

สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว...

14 ก.ย. 64  บทความ

สรุปเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยจากเสวนาออนไลน์เรื่อง “นางสาวสุวรรณ หรือ โชคสองชั้น: ถกประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยหนังไทยเรื่องแรก?”----------โดย...

อ่านรายละเอียด

จาก เชิด ทรงศรี ถึง ทมยันตี

13 ก.ย. 64  บทความ

นอกจากจะมีนวนิยายที่ที่ชื่อเสียงมากมายหลายเล่ม  คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ยังถือเป็นนักเขียนที่มีผลงานได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่...

อ่านรายละเอียด