สรุปสาระสำคัญจากภาพยนตร์สนทนา “80 ปี พระเจ้าช้างเผือก” ถึงแง่มุมประวัติศาสตร์ สารที่ยังคงทันสมัย และเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ยังรอคอยการร้อยเรียงและค้นพบ
------------------
โดย เมธากุล ชาบัญ นักศึกษาฝึกงานหอภาพยนตร์
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดฉายมรดกภาพยนตร์ของชาติเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี วันแรกฉาย พร้อมสนทนาหลังชมภาพยนตร์กับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์, กษิดิศ อนันทนาธร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “80 ปี พระเจ้าช้างเผือก”
“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นภาพยนตร์เสียง ขาว-ดำ อำนวยการสร้างและเขียนเรื่องโดย ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้นำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์คือสงครามช้างเผือกและสงครามยุทธหัตถี มาผูกเป็นเรื่องราวระหว่าง พระเจ้าจักราแห่งอโยธยา กับ พระเจ้าหงสา แม้จะแสดงโดยนักแสดงไทยทั้งหมด แต่ทุกตัวละครในล้วนพูดภาษาอังกฤษ โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังคุกรุ่น รวมถึงแสดงเจตนารมณ์ว่าคนไทยกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับลัทธิชาตินิยมของผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนั้น ที่กำลังนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม โดยภาพยนตร์ได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ พร้อมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484
“พระเจ้าช้างเผือก” นับเป็นภาพยนตร์ไทยขนาดยาวที่เก่าแก่ที่สุด ที่ยังคงหลงเหลืออยู่อย่างครบสมบูรณ์ ปัจจุบัน ฟิล์มภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ของ “พระเจ้าช้างเผือก” ได้รับการอนุรักษ์อยู่ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในมรดกภาพยนตร์ของชาติชุดแรก เมื่อปี 2554
“พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายครั้งแรกที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 ผมเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2484 พระเจ้าช้างเผือก ลงโรง 1 เดือน กับอีก 2 วันก่อนผมเกิด พระเจ้าช้างเผือกอายุ 80 ผมก็อายุ 80” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึงความเกี่ยวเนื่องกันโดยบังเอิญระหว่างตนกับภาพยนตร์เรื่องนี้และได้เล่าย้อนไปว่า ตนได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2515 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจเป็นอย่างมาก จึงเขียนจดหมายมาบอกเล่ากับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนเจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง จากนั้น สุชาติ ได้นำเรื่องราวมาตีพิมพ์ลงในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ คนไทยจึงได้รู้จักกับภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก อีกครั้ง หลังจากที่เลือนหายไปจากความทรงจำพร้อม ๆ กับการลี้ภัยทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ จนนำมาสู่การกลับมาฉายในประเทศไทยอีกหลายครั้งในวาระต่าง ๆ และชาญวิทย์ก็มักจะได้ไปข้องเกี่ยวกับการฉายในแต่ละครั้งอยู่เสมอ ๆ เช่นเดียวกับในโอกาสนี้
ภาพ: ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์
ชาญวิทย์ได้ชวนมองภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบกับบริบทโลกว่าเมื่อปี 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้นแล้วในทวีปยุโรป และเมื่อพิจารณาภาพยนตร์ที่ออกมาในช่วงนั้นจะพบว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นหนังร่วมรุ่นกับภาพยนตร์เรื่อง The Great Dictator (2483) ที่มีเนื้อหาล้อเลียนอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จอมเผด็จการแห่งนาซี หนึ่งในผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2, Gone with the Wind (2482) ภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกัน ที่มีฉากหลังเป็นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาสงครามการเมือง และ เรื่อง The Wizard of Oz (2482) “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ ขึ้นต้นฉายออกมาเป็นหนังขาวดำ พอนางเอกโดเรทีไปถึงดินแดนของพ่อมดออซหนังเปลี่ยนเป็นสี นางเอกพระเจ้าช้างเผือก (ไอรีน นิลเสน) บอกว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นหนังสีด้วย แต่ผมก็ยังไม่มีหลักฐานนะ” ชาญวิทย์กล่าวเสริมถึงเกร็ดที่ตัวเองได้รับรู้มา
และเมื่อย้อนกลับมาที่บริบทภายในประเทศ ไม่เพียงแต่ปรีดี พนมยงค์เท่านั้น ที่สร้างภาพยนตร์ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้สร้างภาพยนตร์ออกมาด้วยเช่นกัน โดยในปี 2478 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง เลือดทหารไทย ภายหลังการปราบกบฏบวรเดชได้ 2 ปี และในปี 2485 ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา แต่ปัจจุบันฟิล์มของภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ไม่มีหลงเหลือแล้ว
นอกจากนี้ ชาญวิทย์ให้ความเห็นว่าการที่ พระเจ้าช้างเผือก ได้ออกฉายรอบปฐมทัศน์ พร้อมกัน 3 ประเทศในปี 2484 นั้น เป็นความตั้งใจของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่รักสันติและเป็นกลาง ดังนั้น จึงถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ช่วยรักษาไว้ซึ่งเอกราชของประเทศไทยเมื่อครั้งต้องเผชิญภัยในสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพ: กษิดิศ อนันทนาธร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
ด้าน กษิดิศ อนันทนาธร กล่าวว่า ตนได้ดู พระเจ้าช้างเผือก ครั้งแรกเมื่อปี 2554 ที่หอภาพยนตร์ และเมื่อได้ชมแล้วเกิดความรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สงครามย้อนยุคที่ผิดแผกไปจากภาพจำของหนังในแนวเดียวกันพอสมควร เช่น การปราศจากฉากสู้รบอันหวือหวา การประชุมสงครามที่น่ากดดันและระทึกใจ แต่กลับประกอบไปด้วยรายละเอียดต่าง ๆ อย่างการยืนเข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ในท้องพระโรงโดยไม่มีการหมอบคลาน การนำเสนอฉากร้องเพลง ฉากรับประทานอาหาร หรือการเปิดเรื่องด้วยภาพกรุงเทพฯ ในปี 2484 ซึ่งเป็นปีปัจจุบันเมื่อครั้งสร้างภาพยนตร์ ทั้งที่เนื้อเรื่องว่าด้วยยุคสมัยเมื่อ 400 ปีที่แล้ว
“แน่นอน เราเข้าใจว่ามันต้องการพูดประเด็นเรื่องสันติภาพ เรื่องต่อต้านสงคราม แต่ว่าในรายละเอียดปลีกย่อยเรารู้สึกว่า มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลในบางอย่างเวลาเราดู ทำไมต้องมีฉากแบบนี้ ทำไมไม่มีฉากแบบนั้น” กษิดิศกล่าว
กษิดิศ มองว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์ที่มีประเด็นทางการเมืองอย่างชัดเจน “ผมอยากจะเน้นย้ำว่านี่เป็นหนังที่ต้องการสื่อสารวาระทางการเมืองอย่างชัดเจนมาก ๆ เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่อยู่ดี ๆ ต้องเปิดฉากประเทศไทยในปี 2484 ให้ดู เพราะว่าหนังพูดถึงเรื่อง 400 ปีก่อน เพราะฉะนั้นการที่ฉายประเทศไทยในปัจจุบันก่อนฉายประเทศไทยในอดีต ผมเข้าใจว่านี่คือสารที่ต้องการสื่อว่าประเทศไทยหน้าตาเป็นยังไงให้สังคมโลกรู้จัก”
และเมื่อพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยละเอียดแล้วจะพบว่า ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำการเชื่อมสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ คือเรื่องราวยุทธหัตถีในสมัยกรุงศรีอยุธยามาเชื่อมกับวัฒนธรรมร่วมสมัยหลาย ๆ อย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอารยะของประเทศไทย จุดยืนทางการเมืองในสงครามที่ยึดมั่นในสันติภาพ ตลอดจนการสอดแทรกคติประชาธิปไตย การคำนึงถึงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นหลัก และคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ ผ่านฉากต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งถึงแม้จะผ่านกาลเวลามากว่า 80 ปี แต่สารในภาพยนตร์ยังคงทันสมัยมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์
ขณะที่ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ออกตัวก่อนว่า โดยปกติแล้วในฐานะของหอภาพยนตร์ผู้ที่จะต้องมาพูดถึง พระเจ้าช้างเผือก คือ โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ชลิดาถือว่าโดมเป็นผู้นำแสงสว่างมาสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้และเป็นผู้สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแท้จริง โดยมักจะคอยแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก จนบางครั้งตนก็แอบคิดว่าโดมพูดเกินจริงไปหรือไม่ แต่สุดท้ายตนก็ได้พิสูจน์ด้วยตาของตัวเอง
“ครั้งแรกที่ได้ดู ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบแล้วก็มาช่วยงานอนุรักษ์ ตอนนั้นเราก็ยังถือว่าค่อนข้างเด็ก แต่ด้วยความเป็นนักเรียนภาพยนตร์เราก็เห็นว่า หนังเรื่องนี้ในแง่มุมมองของภาพยนตร์มันก็มีหลายอย่างที่เราไม่เคยเห็นในหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ในเรื่องของการถ่ายทำหลาย ๆ อย่าง ที่เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นสากล ที่เรารู้สึกทึ่งได้ในแง่นั้น ในแง่ประวัติศาสตร์เราอาจจะไม่ได้รู้มาก” ชลิดากล่าว
สำหรับแง่มุมของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต เล่าว่า พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์ได้นำมาบูรณะมากครั้งที่สุด เพราะหลายปีที่ผ่านมา ได้ทยอยพบสำเนาฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้หลายฉบับ และมีขนาด ความยาว หรือรายละเอียดที่ต่างกัน โดยเฉพาะฉบับล่าสุด เป็นฟิล์มเนกาติฟ 35 มม. ที่ได้จากครอบครัวพนมยงค์ ซึ่งใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด แต่มีจำนวนไม่ครบ และเส้นเสียงเสื่อมสภาพ ทำให้ต้องใช้เวลาในการบูรณะอีกพอสมควร นอกจากนี้ในกระบวนการแต่ละครั้งก็จะค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ ให้ได้ประหลาดใจอยู่เสมอ เช่นครั้งนี้ที่ได้ไปค้นคว้าเอกสารที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเตรียมจัดกิจกรรม ก็ได้พบจดหมายเหตุที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะบันทึกข้อบกพร่อง ของ พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเขียนโดยปรีดีเอง ทำให้ได้ตอบคำถามหลายอย่างที่ค้างคาใจมานาน ชลิดาจึงเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงรอคอยการค้นพบสิ่ง ๆ ใหม่ ๆ เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวให้ออกมาสมบูรณ์
“ภาพยนตร์ก็ถือว่าเป็นจดหมายเหตุอย่างหนึ่ง แต่ว่าความสำคัญของจดหมายเหตุมันเป็นชิ้นส่วนที่จะทำให้การเข้าใจประวัติศาสตร์มันสมบูรณ์มากขึ้น แล้วทุกอย่างมันก็มาบรรจบกันในวันนี้อย่างประหลาด” ชลิดากล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
รับชมบันทึกภาพยนตร์สนทนา “80 ปี พระเจ้าช้างเผือก” ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/80yearwhiteelephant
อ่านบทความ The King of the White Elephant and i พระเจ้าช้างเผือก สามัญภาพยนตร์เพื่อชาติไทยและมนุษยชาติ ได้ที่